เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีอาการอย่างไร
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีวิธีการรักษาอย่างไร
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic sinusitis) คือ ภาวะที่เนื้อเยื่อโพรงจมูกเกิดอาการอักเสบ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ขึ้นไป บริเวณโพรงจมูก หรือไซนัส เป็นตำแหน่งข้างๆโพรงจมูกทำหน้าที่ในการขับน้ำมูก เมื่อเกิดอักเสบ จึงก่อให้เกิดอาการปวด บวมในบริเวณจมูก หน้าผาก ไปจนถึงรอบดวงตา และเกิดการกีดขวางการขับออกของน้ำมูก ทำให้หายใจลำบาก และคัดจมูก ทั้งนี้ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีอาการอย่างไร
การติดเชื้อส่งผลให้เกิดน้ำมูกเหนียวข้น ซึ่งอาจออกจากจมูกส่วนหน้า หรือไหลลงบริเวณลำคอ และเกิดอาการคัดแน่นจมูกซึ่งพบเป็นปกติในคนไข้ที่มีภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง คนไข้มักมีอาการเจ็บ ปวด และบวมในบริเวณจมูก หน้าผาก แก้มและตา ซึ่งอาจเจ็บลามมาจนถึงบริเวณหู กรามและฟันได้ อาการระคายคอ รวมถึงมักพบอาการไอ กระแอม และคันคอร่วมด้วย คนไข้ที่มีภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังมักมีกลิ่นลมหายใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมของของเหลวเหนียวข้นในบริเวณโพรงจมูกที่ไม่สามารถระบายออกได้ นอกจากนี้ยังพบว่าคนไข้มักมีอาการอ่อนเพลียอีกด้วย
โดยทั่วไปมักเกิดความสับสนระหว่างความแตกต่างของภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic Sinustisis) และภาวะไซนัสอักเสบฉับพลัน (Acute Sinustisis) ภาวะไซนัสอักเสบฉับพลันนั้นมีความสัมพันธ์กับอาการหวัด ส่งผลให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูกไซนัสชั่วคราว โดยอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะไซนัสอักเสบฉับพลัน ในขณะที่ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังนั้นจะต้องมีอาการอักเสบที่โพรงจมูกไซนัส และแสดงอาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป อย่างไรก็ดี ภาวะไซนัสอักเสบฉับพลัน สามารถพัฒนาเป็นภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
แนะนำให้พบแพทย์หากมีภาวะไซนัสอักเสบเกิดขึ้นซ้ำหลายครั้ง และไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาการของภาวะไซนัสอักเสบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 วันมีแนวโน้วว่าจะกลายเป็นภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังได้ นอกจากนี้ควรพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการปวมแดงบริเวณรอบดวงตาและหน้าผาก ร่วมกับมีไข้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คอแข็ง หรืออาการที่คนไข้ไม่สามารถก้มศีรษะได้ แต่อาจยังแหงน หรือเอียงคอไปทางซ้ายและขวาได้บ้าง หากเกิดอาการมึนงงหรือคุณภาพการมองเห็นที่ลดลง เป็นสัญญาณเตือนว่า ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังรุนแรงได้เกิดขึ้นแล้ว และควรต้องพบแพทย์โดยทันที
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร
มีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง รวมไปถึงการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ หรือริดสีดวงจมูก (nasal polyps) ที่กีดขวางบริเวณโพรงจมูกหรือไซนัส ภาวะผนังกั้นช่องจมูกคดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พบในคนไข้บางราย กระดูกหรือกระดูกอ่อนที่กั้นกลางระหว่างช่องจมูกสองข้างมีลักษณะคด หรืองอ ทำให้ช่องจมูกข้างหนึ่งเล็กกว่าอีกข้างหนึ่ง ทำให้เกิดการกีดขวางบริเวณโพรงจมูกและมีอาการไซนัสอักเสบเกิดขึ้นได้
นอกจากภาวะข้างต้นแล้ว ภาวะและโรคอื่น ๆ ก็อาจก่อให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เอชไอวี (HIV), โรคหลอดลมพอง (Cystic fibrosis), โรคหืด, โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจ ยกตัวอย่างเช่น โรคหวัด ซึ่งเป็นตัวนำทำให้เยื่อบุโพรงจมูกก่อตัวหนาขึ้น จนเกิดอาการอักเสบ และติดเชื้อจนกีดขวางและรบกวนการระบายน้ำมูกที่อยู่ภายในโพรงจมูก การติดเชื้อดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา
การใช้ยาบางชนิด ก็ส่งผลให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังได้เช่นกัน พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างภาวะไซนัสอักเสบ กับความไวต่อแอสไพริน (Aspirin Sensitivity) อีกทั้งยังพบว่าปัญหามลภาวะ รวมไปถึงควันบุหรี่ก็เป็นตัวปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง
โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร
ในขั้นแรกของการวินิจฉัย แพทย์จะทำการประเมินอาการของภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังเบื้องต้น โดยการสัมผสดูอาการกดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในบริเวณจมูกและใบหน้า ก่อนที่จะตรวจดูภายในโพรงจมูก โดยอาจใช้วิธีอื่นร่วมในการวินิจฉัย ดังต่อไปนี้
- การตรวจสอบรูปถ่ายทางการแพทย์ (Imaging Test)
- การตรวจโพรงจมูกไซนัส
แพทย์ทำการตรวจภายในโพรงจมูกไซนัส โดยวิธีการสอดท่อยืดหยุ่นขนาดเล็กที่มีเส้นใยแก้วนำแสง (fiber-optic light) ติดอยู่ ผ่านเข้าไปในโพรงจมูก
- การทดสอบภูมิแพ้ (Allergy Test)
เนื่องจากอาการแพ้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง การทดสอบภูมิแพ้จึงมีความจำเป็นเพื่อทดสอบหาอาการแพ้ที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะไซนัสอักเสบ โดยแพทย์มักจะแนะนำวิธีการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test) เพราะมีความปลอดภัยสูง และได้ผลที่รวดเร็ว
- การตรวจเพาะเชื้อจากตัวอย่างสารคัดหลังในโพรงจมูก
ในกรณีที่อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพทย์อาจนำตัวอย่างสารคัดหลั่งในโพรงจมูกไปเพาะเชื้อ เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราที่เป็นต้นเหตุของภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังต่อไป
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีวิธีการรักษาอย่างไร
การรักษาภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง รวมไปถึงการใช้ยา การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) และการผ่าตัด
การใช้ยารักษาไซนัสอักเสบเรื้อรัง
- ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก (Nasal corticosteroids)
วัตถุประสงค์ของยาเพื่อป้องกันและรักษาอาการอักเสบในโพรงจมูก ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกที่นิยมใช้ ยกตัวอย่างเช่น fluticasone, triamcinolone, beclomethasone, budesonide และ mometasone
- การล้างจมูก (Nasal Irrigation)
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือทางการแพทย์ เป็นวิธีที่ใช้เพื่อระบายและทำความสะอาดโพรงจมูก จากอาการแพ้และระคายเคือง แพทย์อาจแนะนำให้ผสมน้ำเกลือกับยาบางชนิด เช่น ยา Budesonide เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดอาการแพ้และระคายเคือง
- ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน หรือฉีด (Oral or injested corticosteroids)
- การขจัดภูมิไวต่อแอสไพริน (Aspirin Desensitization)
ในคนไข้ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง ที่เป็นผลมาจากความไวต่อแอสไพริน (Aspirin Sensitivity) การขจัดภูมิไวต่อแอสไพริน (Aspirin Desensitization)โดยการให้ยาแอสไพรินในจำนวนมาก เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดปัจจัยกระตุ้นที่เป็นเหตุให้เกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังได้
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
หากภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อใช้ในการรักษา โดยอาจจ่ายร่วมกับยาชนิดอื่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และแก้ไขต้นเหตุของการเกิดภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง อย่างตรงต้นเหตุ
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นวิธีการรักษา ที่มุ่นเน้นเพื่อลดปฏิกริยาของร่างกาย ต่อตัวกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ที่นำไปสู่ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง
การผ่าตัดโพรงจมูกและไซนัสด้วยกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic Sinus Surgery)
การผ่าตัดเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับรักษาภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง โดยมักใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น การผ่าตัดขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรังในคนไข้แต่ละราย โดยอาจผ่าตัดเพื่อขยายโพรงจมูกไซนัสที่แคบให้สามารถถ่ายเทอากาศได้ดีขึ้น หรืออาจผ่าตัดเพื่อตัดเนื้อเยื่อหรือติ่งเนื้อที่กีดขวางช่องจมูก โดยทั่วไปการผ่าตัดไซนัสมักใช้วิธีการผ่าตัดด้วยกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic Sinus Surgery)