มะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย ปัจจุบันเรายังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค อายุที่มากขึ้น หรือการมีประวัติคนในครอบครัวที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดมะเร็ง การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ว่าวิธีการใด จึงถือเป็นวิธีที่ช่วยในการคัดกรอง และทำให้สามารถตรวจเจอมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ดีและเร็วที่สุด โดยเฉพาะยิ่ง หากพบตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกโอกาสหายขาดยิ่งมากขึ้น
โดยทั่วไปแล้วการรักษาด้วยการผ่าตัดยังถือเป็นการรักษาหลักของมะเร็งไส้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้ป่วยระยะที่ 1-3 ซึ่งเป็นระยะที่ไม่มีการกระจายของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น แต่ในกรณีผู้ป่วยระยะที่ 4 ที่มีการกระจายของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น เช่น ตับ ปอด การรักษาด้วยยา (Systemic Treatment) ถือเป็นการรักษาหลัก แต่โดยส่วนใหญ่แพทย์จะวางแผนแนวทางการรักษาร่วมกันทั้งศัลยแพทย์และอายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคมะเร็ง
ยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีหลายกลุ่ม เช่น เคมีบำบัด (Chemotherapy) ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) และยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุกคนจะได้รับยารักษาเหมือนกันทุกราย ในปัจจุบันมีการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นตรวจการกลายพันธุ์จากชิ้นเนื้อมะเร็ง หรือจากเลือดของผู้ป่วย เพื่อช่วยในการตัดสินใจและเลือกยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด
โดยมีเป้าหมายคือการรักษาต้องมีประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงที่น้อย รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนต่อคุณภาพชีวิตของคนป่วย โดยยากลุ่มต่างๆดังกล่าว สามารถใช้ร่วมกันเพื่อเสริมประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงจากตัวยาใดตัวยาหนึ่งได้ด้วย
ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งไส้ใหญ่ (Systemic Treatment)
- ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นยาที่มีกลไกลการออกฤทธิ์ตอนที่เซลล์แบ่งตัว เซลล์มะเร็งถือเป็นเซลล์ที่มีอัตราการแบ่งตัวสูง จึงโดนผลโดยตรงจากยาเคมีบำบัดเหล่านี้ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า เซลล์ร่างกายของคนปกติบางตำแหน่งก็มีอัตราการแบ่งตัวสูงด้วยเหมือนกัน เช่น เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร ผม เล็บ จึงทำให้เซลล์ที่อวัยวะเหล่านี้ ได้รับผลกระทบจากยาเคมีบำบัดไปด้วย ยาเคมีบำบัดมีหลายชนิด และหลายรูปแบบ ยาเคมีบำบัดมีทั้งแบบกิน และแบบฉีดเข้าเส้นเลือด ซึ่งการเลือกใช้ยาชนิดใดและรูปแบบใด จะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น จากตัวคนไข้ โรคประจำตัว และระยะของโรค
- ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) คือยาที่มีการออกฤทธิ์ จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งมากขึ้น โดยคาดหวังว่าเซลล์ปกติจะไม่โดนผลกระทบไปด้วย แต่ไม่ใช่ทุกกรณีที่ผู้ป่วยสามารถให้ยากลุ่มนี้ได้ บางครั้งต้องมีการตรวจก่อนเริ่มยา เช่นการตรวจหายีนต์กลายพันธุ์ RAS mutation ก่อนเริ่มยาในกลุ่ม Anti-EGFR antibody ข้อดีของยากลุ่มนี้คือมีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงที่น้อย ยามุ่งเป้านี้มีหลายชนิด มีทั้งรูปแบบยากินและยาฉีดเข้าเส้นเลือด การเลือกใช้ยาชนิดใด จะขึ้นกับดุลยพิจนิจของแพทย์ ปัจจุบันแพทย์สามารถให้ยามุ่งเป้าร่วมกับยาเคมีบำบัดได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
- ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) คือการรักษาที่ออกฤทธิ์ที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น เม็ดเลือดขาว ให้มีความสามารถมากขึ้น มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะไปทำลายสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย เช่น เซลล์มะเร็ง เป็นที่น่าสังเกตว่ายาไม่ได้ออกฤทธิ์ไปทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง โดยทั่วไปแล้วเซลล์เม็ดเลือดขาวของมนุษย์เรานั้น สามารถตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็งได้ แต่บางครั้งมีการทำงานที่ไม่สมบูรณ์จึงทำให้เกิดก้อนมะเร็งขึ้นมา ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดเหล่านี้จะไปเสริมประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาว เช่น Tcell lymphocyte , NK cell ให้ตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็ง ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างของยากลุ่มนี้คือ ผลข้างเคียงไม่มาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะทนยาได้ดี