เลือกหัวข้อที่อ่าน
- อาการโรคหูดที่พบได้บ่อย
- สาเหตุที่เป็นหูด
- ปัจจัยที่ทำให้เป็นหูด
- การตรวจวินิจฉัยโรคหูด
- การรักษาหูด
- การดูแลตัวเองที่บ้านเมื่อเป็นหูด
หูดธรรมดา ที่พบได้บ่อย
หูดธรรมดา หรือหูดที่พบได้บ่อย (verruca vulgaris) คือ ตุ่มนูนผิวขรุขระและมีจุดเล็กสีดําในเนื้อหูด เกิดขึ้นได้ในร่างกายทุกส่วน แต่ส่วนใหญ่มักขึ้นที่มือและนิ้วมือ สาเหตุหลักของหูดคือการสัมผัสกับเชื้อไวรัส HPV ซึ่งอาจใช้เวลาเพาะเชื้อถึง 6 เดือนกว่าที่จะแสดงอาการ โดยปกติแล้วหูดธรรมดานั้นไม่อันตรายแต่อาจมีขนาดใหญ่ขึ้นได้หากไม่รักษา และติดต่อได้ผ่านการสัมผัส
อาการโรคหูด
มีตุ่มผิวขรุขระขนาดเล็กพร้อมจุดสีดำหรือน้ำตาลซึ่งเกิดจากการที่เส้นเลือดขนาดเล็กในผิวหนังอุดตัน บนมือหรือนิ้วมือ
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร
- รู้สึกเจ็บและทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่สะดวก
- รูปร่างหรือสีของหูดเปลี่ยนไป
- หูดแพร่กระจายหรือเป็นซ้ำ ซึ่งอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ไม่แน่ใจว่าเป็นหูดหรือไม่
สาเหตุที่เป็นหูด
เชื้อไวรัส human papillomavirus (HPV) เป็นสาเหตุหลักของหูดธรรมดา การติดเชื้อไวรัสอาจเกิดขึ้นได้ผ่านรอยแผลบนผิวหนัง เช่น รอยข่วนหรือหนังบริเวณเล็บที่ลอกออก การสัมผัสกับหูดหรือการใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว กับผู้ติดเชื้ออาจทําให้ติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตามการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงอาจไม่เป็นหูดแม้จะสัมผัสกับเชื้อไวรัส HPV
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นหูด
- อายุ: เด็กเล็กมีแนวโน้มที่จะเกิดหูดธรรมดาเนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่พัฒนาเต็มที่
- ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง: ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ มีเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน
การป้องกันการเกิดหูด
เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดหูดธรรมดา สามารถปฏิบัติตัวได้ดังต่อไปนี้
- ไม่จับหรือแกะหูด หลีกเลี่ยงการปัดหรือหรือโกนผิวรอบ ๆ หูด
- ใช้ตะไบเล็บแบบใช้แล้วทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหูด
- ไม่นำกรรไกรตัดเล็บที่สัมผัสกับหูดมาตัดเล็บที่ไม่เป็นหูด
- ไม่กัดเล็บเพราะไวรัสสามารถเข้าสู่รอยแยกของผิวหนังได้
- บำรุงผิวบริเวณมือเท้าให้ชุ่มชื้นแข็งแรง ลดการรับเชื้อหูดผ่านรอยแตกของผิว
การตรวจวินิจฉัยโรคหูด
โดยทั่วไปสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายแต่ในบางครั้งตุ่มมีลักษณะนูนหนาไม่ชัดเจน แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม โดยสกิดผิวด้านบนหูดออกเพื่อดูว่ามีจุดสีดํา ซึ่งเป็นลักษณะของหูดธรรมดาหรือไม่ แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อยืนยันว่าไม่ได้เป็นตุ่มผิวหนังประเภทอื่น ๆ
การรักษาโรคหูด
การรักษาที่เหมาะสมสามารถกําจัดหูดและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายเพื่อไปต่อสู้กับเชื้อไวรัส วิธีการรักษาที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับตําแหน่งและจำนวนของหูด อาการและความต้องการของผู้เข้ารับการรักษา
- การลอกชั้นผิวด้วยกรดซาลิไซลิกและกรดอื่น ๆ : กรดซาลิไซลิกจะค่อยสลายชั้นผิว อาจทำให้รู้สึกแสบร้อน ผู้เข้ารับการรักษาต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทุกสัปดาห์ วิธีการรักษานี้ได้ผลดีเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาด้วยความเย็น
- การรักษาด้วยความเย็น: แพทย์จะทาไนโตรเจนเหลวบนหูด ทำให้เกิดความเย็นจัดบริเวณใต้และรอบหูด จนผิวหนังตายหลุดลอกออก การรักษาด้วยความเย็นยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส HPV วิธีนี้เจ็บและอาจทำให้สีผิวเปลี่ยน จึงไม่แนะนําให้ใช้ในเด็กเล็ก
- การผ่าตัด: เป็นการตัดหูดออก แต่อาจทําให้เกิดแผลเป็นได้ ใช้ในกรณีที่หูดมีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้
- การจี้ด้วยไฟฟ้า: เนื้อเยื่อที่ถูกจี้จะตายและลอกออก แต่วิธีนี้อาจทำให้รู้สึกเจ็บและทิ้งรอยแผลเป็นได้ รวมถึงต้องดูแลแผลหลังจี้ไฟฟ้าเป็นระยะเวลานานกว่าจี้ด้วยความเย็น
การดูแลตัวเองที่บ้าน
ผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานหรือมีภาวะระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สามารถลองวิธีเหล่านี้ได้
- ใช้แผ่นแปะ ขี้ผึ้ง หรือยาน้ำที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิกทุกวันเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ควรแช่หูดในน้ำอุ่นก่อนทายา ใช้ตะไบเล็บแบบใช้แล้วทิ้งขัดเอาผิวหนังที่ตายแล้วออก หากเกิดอาการระคายเคืองควรเว้นระยะห่างในการทายาให้นานขึ้น หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
- ใช้ไนโตรเจนเหลวแบบสเปรย์หรือยาน้ำ
- ใช้แผ่นแปะปิดหูดเป็นเวลา 6 วัน จากนั้นแช่หูดในน้ำอุ่นและขัดผิวที่ตายแล้วออกด้วยตะไบเล็บแบบใช้แล้วทิ้ง ปล่อยให้หูดได้สัมผัสกับอากาศเป็นเวลา 12 ชั่วโมง แล้วจึงติดแผ่นแปะอีกครั้ง
การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
ก่อนที่จะไปพบแพทย์ จดยาที่ใช้และคําถามที่ต้องการถามแพทย์ เช่น
- อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เป็นหูด
- ควรทำการรักษาอย่างไร มีผลข้างเคียงหรือไม่
- จะป้องกันไม่ให้เป็นหูดซ้ำได้อย่างไร
แพทย์อาจถามคําถาม เช่น
- มีหูดมานานเท่าไรแล้ว
- เคยเป็นมาก่อนหรือไม่ เคยรักษาด้วยวิธีอะไรบ้าง
- หูดรบกวนการใช้ชีวิตประจําวันหรือไม่