เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ไอเป็นเลือด คืออะไร
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไร
- ไอเป็นเลือด มีสาเหตุเกิดจากอะไร
- ไอเป็นเลือด มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- ไอเป็นเลือด มีวิธีการรักษาอย่างไร
ไอเป็นเลือด
ไอเป็นเลือด Hemoptysis (Coughing Up Blood) คืออาการที่ไอแล้วมีเลือดสด หรือ มูกเลือดออกมา โดยเลือดดังกล่าวเป็นเลือดจากทางเดินหายใจส่วนล่าง อันได้แก่ หลอดลมและปอด
ไอเป็นเลือด แตกต่างจากอาการอาเจียนเป็นเลือด เลือดจากอาการไอเป็นเลือดมักเป็นฟองและมูก ในขณะที่อาการอาเจียนเป็นเลือดจะอาเจียนเลือดจำนวนมากจากภาวะเลือดออกภายในทางเดินอาหารส่วนบน
ควรไปพบแพทย์เมื่อใด
- ไอออกมาเป็นเลือดจำนวนมากกว่า 2-3 ช้อนชา
- ไอเป็นเลือดจํานวนเล็กน้อยแต่นานกว่าหนึ่งสัปดาห์
- เมื่อไอเป็นเลือดพร้อมมีอาการดังต่อไปนี้
- เลือดในปัสสาวะหรืออุจจาระ
- เจ็บหน้าอก
- วิงเวียนศีรษะ
- มีไข้
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- หายใจถี่
- น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
ไอเป็นเลือด เกิดจากอะไร
โดยปกติแล้วสาเหตุของอาการไอเป็นเลือดนั้นไม่ร้ายแรงและสามารถรักษาให้หายได้ แต่การไอเป็นเลือดอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งปอดหรือการติดเชื้อรุนแรง การสูญเสียเลือดมากเกินไปอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตและต้องได้รับการดูแลรักษาฉุกเฉิน
การติดเชื้อเนื่องจากหลอดลมอักเสบ ปอดบวม และวัณโรคเป็นสาเหตุของอาการไอเป็นเลือดที่พบได้บ่อย
สาเหตุที่ไอเป็นเลือดอื่น ๆ ได้แก่
- หลอดลมโป่งพอง
- โรคซิสติกไฟโบรซิส
- โรคหลอดเลือดอักเสบ
- การใช้โคเคน
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคลูปัส
- หัวใจล้มเหลว
- การบาดเจ็บที่เส้นเลือดในปอด
- อาการระคายเคืองจากการตัดชิ้นเนื้อหลอดลม
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ไอมากเกินไป
- โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
- การสูดสำลัก
- มะเร็งปอด
- เลือดกำเดาหรือเลือดออกที่ต่อมทอนซิลหรือเหงือกไหลลงคอ
- สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นในทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็ก
ไอเป็นเลือด มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- ซักประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกาย: แพทย์จะถามเกี่ยวกับปริมาณเลือดที่ไอออกมา ความถี่ของอาการไอเป็นเลือด และระยะเวลาของอาการ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่
- เอกซเรย์ทรวงอก
- ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก
- ส่องกล้องหลอดลมเพื่อหาจุดที่เลือดออก
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อหาสัญญาณการติดเชื้อ
- เพาะเชื้อเสมหะในปอด เพื่อตรวจดูว่าอาการไอเป็นเลือดเกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย
- ตรวจวัดการแข็งตัวของเลือด
- ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดแดงปอด
- ตรวจปัสสาวะ เพื่อแยกแยะสาเหตุที่เป็นไปได้อื่นๆ
แพทย์จะเลือกวิธีการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากสาเหตุที่แพทย์สงสัยว่าทำให้เกิดอาการ
ไอเป็นเลือด มีวิธีการรักษาอย่างไร
- การใช้ยาปฏิชีวนะสําหรับโรคปอดติดเชื้อหรือวัณโรคปอด
- การใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการอักเสบที่เป็นสาเหตุของอาการไอเป็นเลือด
- การผ่าตัดและการรักษาโรคมะเร็งหากสาเหตุของอาการเกิดจากเนื้องอกที่เป็นมะเร็ง
หากอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูเพื่อหยุดเลือดก่อนที่แพทย์จะทำการวินิจฉัยและระบุสาเหตุได้ แพทย์อาจทําการส่องกล้องหลอดลมเพื่อกําจัดลิ่มเลือด และทำการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดในหลอดลมและทำการอุดเส้นเลือดเพื่อหยุดเลือดในหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของภาวะเลือดออก ในบางรายแพทย์อาจทำการรักษาโดยให้ยา Tranexamic acid เพื่อหยุดเลือดเช่นกัน