เลือดเป็นกรด (Diabetic ketoacidosis)

ภาวะเลือดเป็นกรด DKA (Diabetic ketoacidosis) เกิดขึ้นเมื่อระดับอินซูลินในร่างกายต่ำมาก ทำให้น้ำตาลในเลือดไม่สามารถเข้าไปในเซลล์ เพื่อถูกนำไปใช้เป็นพลังงาน ร่างกายจะย่อยไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงานแทนน้ำตาล

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


เลือดเป็นกรด DKA (Diabetic ketoacidosis)

ภาวะเลือดเป็นกรด DKA (Diabetic ketoacidosis) เกิดขึ้นเมื่อระดับอินซูลินในร่างกายต่ำมาก ทำให้น้ำตาลในเลือดไม่สามารถเข้าไปในเซลล์ เพื่อถูกนำไปใช้เป็นพลังงาน ผลที่ตามมา คือ ร่างกายจะย่อยไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงานแทนน้ำตาล ซึ่งกระบวนการนี้อาจส่งผลให้เกิดการสะสมของกรดที่ชื่อ คีโตน ในกระแสเลือด หากปล่อยทิ้งไว้ คีโตนที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จะก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า เลือดเป็นกรด

ผู้ที่อาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรด DKA ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานประเภท 1 ผู้ที่เป็นเบาหวานแต่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และผู้ป่วยบางคนที่เป็นเบาหวานชนิด Ketosis Prone ภาวะเลือดเป็นกรด DKA เกิดได้กับทุกวัย โดยประมาณ 20-40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรด DKA นั้น เป็นผู้ป่วยใหม่ของโรคเบาหวานประเภท 1 ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานประเภท 2 ยังอาจมีภาวะเลือดเป็นกรด DKA ได้ ถึงแม้จะเป็นไปได้ยาก

เลือดเป็นกรด มีสาเหตุเกิดจากอะไร

เลือดเป็นกรด เกิดขึ้นเมื่อระดับอินซูลินในร่างกายต่ำมาก ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนมาเผาผลาญไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงานแทนน้ำตาล ทำให้ร่างกายสร้างกรดคีโตนขึ้นมา ภาวะเลือดเป็นกรดอาจเกิดขึ้นจากภาวะต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปอดอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ รวมถึงหัวใจวาย นอกจากนี้ หากฮอร์โมนอย่างอะดรีนาลีนหรือคอร์ติซอลมีระดับสูง อาจลดการหลั่งอินซูลิน ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้ ทั้งนี้ ผู้ที่ตั้งครรภ์ เสพยาเสพติด เช่น โคเคน กัญชา หรือใช้ยาบางประเภท เช่น ยาขับปัสสาวะและยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ อาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้เช่นกัน

เลือดเป็นกรด มีอาการอย่างไร

อาการของ ภาวะเลือดเป็นกรด DKA อาจแสดงภายใน 24 ชั่วโมง โดยบางอาการอาจเป็นสัญญาณเตือนโรคเบาหวานเช่นกัน ภาวะเลือดเป็นกรด DKA มีอาการดังนี้

  • ปวดศีรษะ
  • กระหายน้ำมาก
  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
  • ปวดปัสสาวะบ่อย
  • ขาดน้ำ
  • หายใจลึกขึ้น
  • ปวดท้อง
  • ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้
  • อ่อนล้ามาก
  • คลื่นไส้ อาเจียน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด

ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด DKA ได้ ได้แก่ มีคนในครอบครัวที่เคยเป็นเบาหวานหรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง รวมถึงควบคุมโรคเบาหวานประเภท 1 หรือประเภท 2 ได้ไม่ดี

ควรพบแพทย์เมื่อใด

แนะนำให้พบแพทย์ทันทีเมื่ออาเจียนหรือกลืนอาหารหรือของเหลวไม่ได้ นอกจากนี้ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 300 mg/dL ร่วมกับอาการที่กล่าวไว้ข้างต้น ให้รีบเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุด หากไม่รักษาภาวะเลือดเป็นกรด อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้;

เลือดเป็นกรด มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร

แพทย์มักวินิจฉัยภาวะเลือดเป็นกรด DKA ด้วยการตรวจร่างกายและตรวจเลือด การตรวจเลือดจะวัดทั้งระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคีโตน และค่าความสมดุลกรดด่างของเลือด นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ตรวจวัดระดับสารละลายสื่อนำไฟฟ้าในเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

เลือดเป็นกรด มีวิธีการรักษาอย่างไร

หากตรวจเจอว่าเป็น ภาวะเลือดเป็นกรด DKA ได้เร็วตั้งแต่เนิ่น ๆ จะให้ผู้ป่วยรักษาที่บ้านตามคำแนะนำจากแพทย์ได้ วิธีดูแลตัวเองที่บ้านเมื่อมีภาวะ DKA ได้แก่

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์: เช่น รับประทานยาที่แพทย์สั่ง หรือฉีดอินซูลินในปริมาณที่แพทย์กำหนด
  • งดออกกำลังกาย: การออกกำลังกายบางประเภทอาจเพิ่มระดับน้ำตาลและคีโตนในเลือดได้
  • ดื่มน้ำบ่อย ๆ: ผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรด DKA ควรดื่มน้ำ เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล หรือทานซุปเพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกไม่สบายหรืออาเจียน
  • ตรวจระดับน้ำตาลและคีโตนบ่อย ๆ: ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดทุก ๆ ชั่วโมง รวมถึงตรวจวัดระดับคีโตนด้วยชุดเครื่องตรวจ เพื่อดูว่าวิธีที่ใช้รักษาได้ผลหรือเปล่า
  • รับประทานอาหารตามปกติ: รับประทานอาหารตามปกติ โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกไม่สบาย

อาการเลือดเป็นกรดรุนแรงที่ควรเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

หากมีอาการรุนแรง ควรเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยขณะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ฉีดอินซูลิน: อาจฉีดอินซูลินเข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
  • ให้น้ำเกลือ: วิธีนี้จะช่วยขจัดคีโตนผ่านทางปัสสาวะ ช่วยให้เกลือแร่ในเลือดสมดุล และป้องกันภาวะขาดน้ำได้

แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ตามความรุนแรงของอาการ ทั้งนี้ เลือดจะหายเป็นกรดเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 200 mg/dL และค่า pH ของเลือดสูงกว่า 7.3

อาการแทรกซ้อนของภาวะเลือดเป็นกรด

อาการแทรกซ้อนของภาวะเลือดเป็นกรด DKA อาจสัมพันธ์กับวิธีที่ใช้รักษา อาการแทรกซ้อนของภาวะเลือดเป็นกรด DKA ได้แก่ ระดับน้ำตาลและคีโตนในเลือดสูง ระดับโพแทสเซียมต่ำ และสมองบวม

เลือดเป็นกรด มีวิธีการป้องกันอย่างไร

ภาวะเลือดเป็นกรด DKA ป้องกันได้หลายวิธี เช่น

  • ควบคุมเบาหวาน: ให้อยู่ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
  • ปรับขนาดอินซูลิน: ปรึกษาแพทย์ว่าควรปรับขนาดอินซูลินอย่างไรเพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในค่าปกติ
  • ตรวจวัดระดับน้ำตาลและคีโตนในเลือด: ตรวจระดับน้ำตาลและคีโตนในเลือดเมื่อรู้สึกไม่สบายหรือเครียด หากผู้ป่วยเบาหวานมีระดับคีโตนสูง เป็นสัญญาณว่าควรได้รับอินซูลินเพิ่ม
  • ห้ามหยุดยาฉีดอินซูลินเอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน

เตรียมตัวก่อนพบแพทย์

หากมีอาการของภาวะเลือดเป็นกรด DKA เกิดขึ้น แม้จะไม่รุนแรง แต่ก็ควรเข้ารับการรักษาทันที และควรโทรเรียกรถฉุกเฉิน (เช่น 1669) หากอาการทรุดหรือรุนแรง ทั้งนี้ แพทย์อาจถามคำถามเพื่อทราบอาการผู้ป่วย ตัวอย่างคำถามที่แพทย์อาจถาม ได้แก่

  • กลืนอาหารหรือของเหลวได้หรือเปล่า
  • เมื่อไม่นานมานี้ได้ตรวจวัดระดับน้ำตาลและคีโตนในเลือดบ้างไหม
  • ผู้ป่วยเป็นเบาหวานหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานหรือไม่
  • มีอาการภาวะเลือดเป็นกรด DKA ตอนไหน
  • ก่อนมีอาการภาวะเลือดเป็นกรด DKA ควบคุมเบาหวานได้ดีแค่ไหน

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

ภาวะเลือดเป็นกรด DKA เป็นภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิต จึงควรรับการรักษาทันทีเมื่อมีอาการ หากเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะรักษาได้ง่ายกว่า และเนื่องจากโรคเบาหวานเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด DKA ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจึงควรควบคุมโรคให้ดีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด DKA และอาการแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 20 มิ.ย. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ธีรวุฒิ คลังเจริญชัย

    นพ. ธีรวุฒิ คลังเจริญชัย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
  • Link to doctor
    พญ. ฐิตินันท์ อนุสรณ์วงศ์ชัย

    พญ. ฐิตินันท์ อนุสรณ์วงศ์ชัย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    พญ. ณิชกานต์ หลายชูไทย

    พญ. ณิชกานต์ หลายชูไทย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    โรคต่อมหมวกไต, ความผิดปกติของแคลเซียมและกระดูก, อินซูลินปั๊ม, โรคต่อมไร้ท่อทั่วไป, ไขมันในเลือดสูง, โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน, โรคต่อมใต้สมอง, โรคไทรอยด์
  • Link to doctor
    พญ. ปฐมา จรรย์แสง ผ่องสุวรรณ

    พญ. ปฐมา จรรย์แสง ผ่องสุวรรณ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    ไทรอยด์ และมะเร็งไทรอยด์
  • Link to doctor
    พญ. วชรพรรณ อัสนุเมธ

    พญ. วชรพรรณ อัสนุเมธ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. อมรพรรณ เลิศฤทธิ์

    นพ. อมรพรรณ เลิศฤทธิ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    โรคต่อมไร้ท่อทั่วไป
  • Link to doctor
    พญ. ศศิภัสช์ ช้อนทอง

    พญ. ศศิภัสช์ ช้อนทอง

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    โรคความผิดปกติของต่อมหมวกไต, โรคทางเมแทบอลิก, ความดันโลหิตสูงจากภาวะผิดปกติของต่อมไร้ท่อ, ความผิดปกติ แปรปรวนของสภาวะสารน้ำและเกลือแร่, โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน, โรคต่อมใต้สมอง, โรคไทรอยด์, เนื้องอกและมะเร็งต่อมไทรอยด์
  • Link to doctor
    พญ.  ปิยนุช  ปิยสาธิต

    พญ. ปิยนุช ปิยสาธิต

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    อายุรกรรมทั่วไป, โรคต่อมไร้ท่อทั่วไป, อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
  • Link to doctor
    ผศ.พญ. ธัชนันท์ พรธารักษ์เจริญ

    ผศ.พญ. ธัชนันท์ พรธารักษ์เจริญ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
    โรคต่อมไร้ท่อทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. วิน ภาคสุข

    นพ. วิน ภาคสุข

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม