โรคคอตีบ เป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก แต่ในประเทศไทยถือว่าพบได้ค่อนข้างน้อย โดยในปี 2562 พบว่ามีผู้ป่วยทั้งหมด 18 ราย พบเยอะที่สุดที่ภาคใต้ เช่น ที่จังหวัด สตูล สงขลา ปัตตานีเป็นต้น ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ประเทศพม่า ก็มีการระบาดในกลุ่มชนอพยพเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ทั่วโลกก็ยังพบการระบาดของโรคนี้เป็นระยะๆอยู่ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการที่เด็กได้รับวัคซีนไม่ครบตามคำแนะนำของแต่ละประเทศนั่นเอง แม้ว่าโรคนี้จะพบได้ไม่บ่อย แต่โรคนี้ก็สามารถทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้
โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Corynebacterium diphtheriae ซึ่งเชื้อนี้สามารถติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และสารคัดหลั่งทางระบบทางเดินหายใจได้ พบว่า หากมีผู้ป่วย 1 คน ที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยรายนั้นจะสามารถแพร่เชื้อต่อไปให้คนอื่นได้มากถึง 6-7 คน การติดเชื้อนั้น สามารถทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจได้ และบางรายอาจจะมีอาการที่ผิวหนังก็ได้ ในรายที่รุนแรง อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) หรือไตวาย (Renal failure) และถึงแก่ชีวิตได้
อาการ
ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการหลังจากที่ได้รับเชื้อไปแล้วประมาณ 2-5 วัน อาการช่วงแรกมักจะไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยมักจะมี ไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว เจ็บคอ เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายผู้ป่วยในระยะแรก ก็จะพบว่ามีคอแดงและต่อมน้ำเหลืองโต หลังจากนั้น ผุ้ป่วยก็จะเริ่มมีอาการเสียงแหบหรือหายใจลำบากมากขึ้น และเมื่อการติดเชื้อลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเกิดคราบหรือจุดสีขาวเทา (Pseudomembrane) เกาะแน่นในคอหรือระบบทางเดินหายใจส่วนต่าง ๆ เช่น หลังโพรงจมูกหรือหลอดลม เป็นต้น คราบนี้เกิดจากการที่เชื้อโรคหลั่งสารพิษออกมา และทำให้เกิดความเสียหายแก่เนื้อเยื่อในบริเวณนั้น เกิดเป็นเนื้อเยื่อตายและรวมกันเป็นคราบในที่สุด โดยคราบนี้จะเกาะแน่น หากไปสะกิดหรือแกะ ก็จะทำให้เกิดเลือดออกได้ แพทย์ที่มีประสบการณ์และมีความรู้ความชำนาญ เมื่อเห็นลักษณะของคราบดังกล่าว ก็จะสามารถช่วยในการวินิจฉัยได้
ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก คราบนี้อาจจะไปอุดกั้นทางเดินหายใจได้และทำให้ถึงกับชีวิต และนอกจากนั้น พิษของเชื้อโรคนี้ นอกจากในระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังสามารถเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดปกติ (Arrhythmia) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) และปลายประสาทอักเสบ (Neuritis) ได้ด้วย
การรักษา
การรักษาแพทย์สามารถให้ยาฆ่าเชื้อ และยาต้านพิษโรคคอตีบ (diphtheria antitoxin) ซึ่งผู้ป่วยโดยมากจะตอบสนองกับการให้การรักษาดี นอกจากนั้น แพทย์จะให้การตรวจรักษาผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยด้วย เพื่อสังเกตอาการหรือให้การรักษา และป้องกันไม่ให้เกิดโรคคอตีบขึ้นมา
การป้องกัน
สำหรับการป้องกัน การฉีดวัคซีนสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคคอตีบได้เป็นอย่างดี ในยุคก่อนที่จะมีวัคซีน โรคนี้เคยเป็นปัญหาสำคัญ และเคยเกิดการระบาดใหญ่หลายครั้ง แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ การเกิดโรคนี้ ก็พบได้น้อยลงเรื่อยๆเช่นกัน อย่างไรก็ตาม วัคซีนในเด็ก ไม่สามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต ในประเทศไทย มีคำแนะนำให้ผู้ใหญ่ ได้รับวัคซีนคอตีบ เพือเสริมภูมิคุ้มกันทุกๆ 10 ปี ส่วนในเด็กนั้น ให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ในช่วงอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 18 เดือน 4-6 ปี และ 11-12 ปี