เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ทำไมต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK
- กระจกตาเสื่อม มีสาเหตุจากอะไร
- กระจกตาเสื่อม มีอาการอย่างไร
- DSAEK รักษาโรคอะไร
- ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK มีขั้นตอนอย่างไร
- ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK
- ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK มีโอกาสประสบความสำเร็จแค่ไหน
- ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK โรงพยาบาลเมดพาร์ค
ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK (Descemet’s stripping automated endothelial keratoplasty) คือ การผ่าตัดนำกระจกตาส่วนหลังที่เสื่อมสภาพหรือมีรอยโรคออก และปลูกถ่ายกระจกตาสภาพดีที่ได้รับจากผู้บริจาคเข้าไปแทนที่ การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK เหมาะสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของกระจกตาเฉพาะส่วนหลัง (ชั้นที่ 4-5) แต่มีกระจกตาส่วนหน้าเป็นปกติ (ชั้นที่ 1-3) จักษุแพทย์จะใช้เทคนิคการอัดฟองอากาศเพื่อดันให้กระจกตาส่วนหน้าเข้าไปแนบชิดติดกับกระจกตาส่วนหลัง เซลล์เนื้อเยื่อกระจกตาจะค่อย ๆ ประสานติดกัน กระจกตาชั้นเนื้อเยื่อรองรับเซลล์ด้านใน (Descemet’s membrane) จะค่อย ๆ ดูดน้ำออกจากกระจกตาขุ่นมัว ช่วยให้กระจกตากลับมาใส ไม่บวมน้ำ และมองเห็นได้ชัดอีกครั้ง
ทำไมต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK
ในอดีต แพทย์จะรักษากระจกตาขุ่นจากโรคกระจกตาบวมน้ำ โรคกระจกตาเสื่อม โรคกระจกตาชั้นในผิดปกติจากพันธุกรรมโดยกำเนิด หรือแผลเป็นที่กระจกตาส่วนหลังจากการติดเชื้อหรือได้รับบาดเจ็บ โดยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาทั้งชั้นความหนา (Penetrating keratoplasty: PKP) ทำให้มีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ที่หายช้า ต้องเย็บแผลผ่าตัดหลายตำแหน่ง และใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูดวงตานาน ส่งผลกระทบต่อค่าสายตา และมีอัตราการติดเชื้อจากแผลผ่าตัดสูง
DSAEK ผ่าตัดเอาเฉพาะกระจกตาส่วนหลังชั้นที่ 4-5 ออก และปลูกถ่ายกระจกตาของผู้บริจาคเข้าไปแทนที่ผ่านแผลผ่าตัดด้านข้างขนาดเล็กเพียง 3-4 มม. 1 ตำแหน่งโดยไม่ต้องลอกกระจกตาออกทั้งชั้นความหนา ช่วยรักษากระจกตาสภาพดีเอาไว้ เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ไม่ต้องเย็บแผลแต่อย่างใด ใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูร่างกายสั้น กระทบต่อค่าสายตาน้อย ลดอัตราการติดเชื้อจากแผลผ่าตัดได้เป็นอย่างดี และช่วยให้มีประสิทธิภาพในการมองเห็นได้เร็ว
กระจกตาเสื่อม มีสาเหตุจากอะไร
- อายุที่เพิ่มขึ้น
- พันธุกรรม
- การบาดเจ็บที่ดวงตา
- การบาดเจ็บภายหลังการผ่าตัดตา
- โรคหรือความผิดปกติของกระจกตาชั้นใน
- แผลเป็นที่กระจกตาที่เกิดจากการติดเชื้อกระจกตา หรือการบาดเจ็บที่กระจกตา
กระจกตาเสื่อม มีอาการอย่างไร
- ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด
- มองเห็นไม่ชัดเป็นบางเวลา โดยมักมีอาการพร่ามัวในตอนเช้าและดีขึ้นในเวลาต่อมา
- ตาสู้แสงไม่ได้
- เห็นแสงแตกกระจาย มีปัญหาในการขับรถตอนกลางคืน
- ไม่สบายตา เจ็บตา
- เคืองตา เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในตา
DSAEK รักษาโรคอะไร
DSAEK ช่วยรักษาภาวะเซลล์เยื่อบุกระจกตาส่วนหลังที่เกิดการเสื่อมสภาพจากโรคหรือความผิดปกติของดวงตา ดังต่อไปนี้
- โรคกระจกตาเสื่อม
- กระจกตาขุ่นจากโรคกระจกตาบวมน้ำ
- กระจกตาเสื่อมเป็นตุ่มน้ำใส
- กระจกตาบวมหลังการผ่าตัดดวงตา
- โรคกระจกตาชั้นในที่ผิดปกติจากพันธุกรรมโดยกำเนิด
- แผลเป็นที่กระจกตาส่วนหลังจากการติดเชื้อ หรือได้รับบาดเจ็บ
- การปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่ายจากการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาครั้งก่อนหน้า
การวินิจฉัยก่อนการทำ DSAEK มีวิธีการอย่างไร
จักษุแพทย์จะตรวจวินิจฉัยโรคของดวงตาโดยการซักประวัติทางการแพทย์ และทำการตรวจดวงตาอย่างละเอียดด้วยกล้องจุลทรรศน์และเครื่องมืออื่น ๆ เพิ่มเติมทั้งการตรวจสุขภาพกระจกตา วัดความหนาของกระจกตา และการสแกนดูภาพตัดขวางบริเวณส่วนหน้าของลูกตาโดยละเอียด เพื่อพิจารณาว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาส่วนหลังด้วยวิธี DSAEK
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK มีขั้นตอนอย่างไร
ขั้นตอนก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK
- เมื่อจักษุแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมและสามารถรักษาโรคได้ด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK ทางโรงพยาบาลจะทำการจองกระจกตาบริจาคเพื่อรอรับการบริจาคกระจกตาจากศูนย์ดวงตาทันที ในกรณีเร่งด่วน ทางโรงพยาบาลอาจพิจารณาจัดซื้อและนำเข้ากระจกตาบริจาคจากต่างประเทศแทน
- เมื่อได้รับการยืนยันว่าได้รับกระจกตาบริจาคและกระจกตามีคุณภาพดีและความสมบูรณ์ ทางโรงพยาบาลจะแจ้งผู้รอรับการผ่าตัดให้ทราบและนัดหมายวันและเวลาที่จะทำการผ่าตัด
- จักษุแพทย์เตรียมการผ่าตัดโดยทำนัดยิงเลเซอร์ที่ม่านตาเพื่อช่วยระบายน้ำในลูกตา และเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดความดันลูกตาสูงหลังผ่าตัด
- ก่อนวันผ่าตัด โรงพยาบาลจะแจ้งนัดหมายให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดเข้ามาตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ดังนี้
- การตรวจเลือด (Blood Tests)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG/ECG (Electrocardiogram)
- การตรวจเอกซเรย์ปอด (Chest X ray)
ขั้นตอนระหว่างการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK
- จักษุแพทย์ทำการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK โดยการผ่าตัดเอาเฉพาะกระจกตาส่วนหลัง (ชั้นที่ 4-5) ที่เสื่อมสภาพหรือมีรอยโรคออกผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็กด้านข้างกระจกตาคล้ายแผลผ่าตัดต้อกระจก และทำการปลูกถ่ายกระจกตาของผู้บริจาคเข้าไปแทนที่ โดยในการผ่าตัด จักษุแพทย์จะคัดเลือกเฉพาะส่วนบาง ๆ ของกระจกตาชั้นที่ 3 และกระจกตาชั้นที่ 4-5 เต็มชั้น มาทำการปลูกถ่าย
- กระจกตาใหม่จะยึดติดแนบสนิทกับกระจกตาส่วนหน้าเป็นแผ่นราบเรียบด้วยแรงดันตามธรรมชาติของลูกตา และด้วยเทคนิคการอัดฟองอากาศหรือแก๊สเข้าทางช่องด้านหน้าม่านตา เพื่อดันให้กระจกตาส่วนหน้าเข้าไปแนบชิดติดกับกระจกตาส่วนหลัง ทั้งนี้ ฟองอากาศจะช่วยเร่งให้แผลสมานตัวได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องเย็บแผลแต่อย่างใด ทั้งนี้ฟองอากาศจะค่อย ๆ หายไปเองภายใน 3-4 วัน DSAEK ใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของแต่ละบุคคลและโรคร่วม
ขั้นตอนหลังการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK
- เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น จักษุแพทย์จะปิดตาด้วยผ้าก๊อซปิดตาและใส่ที่ครอบตาเอาไว้
- จักษุแพทย์และพยาบาลคอยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด 1 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดจำเป็นต้องนอนท่าราบ 1 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด เพื่อให้ฟองอากาศลอยตัวขึ้นสู่ด้านบน และดันให้กระจกตาใหม่แนบชิดติดกับกับกระจกตาชั้นนอก
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถลุกเข้าห้องน้ำ ยืดแขนขา และสามารถทานอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ช่วงวันแรก ๆ หลังการผ่าตัด แพทย์จะยังคงแนะนำให้นอนท่าราบให้ได้มากที่สุด เพื่อให้กระจกตาใหม่แนบติดสนิทดี
- โดยทั่วไป 1 วัน หลังการผ่าตัด ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะยังคงรู้สึกตาพร่ามัว เนื่องจากยังคงมีฟองอากาศหรือแก๊สหลงเหลืออยู่ในลูกตา โดยอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในวันต่อ ๆ มา
การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK
- จักษุแพทย์จะทำนัดเพื่อติดตามอาการในวันถัดไป
- ผู้เข้ารับการผ่าตัดจำเป็นต้องนอนหงาย 3-4 วัน ถึง 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับปริมาณฟองอากาศภายในลูกตา
- จักษุแพทย์อาจนัดหมายให้มาฉีดอัดฟองอากาศซ้ำตลอด 2-3 วัน หลังการผ่าตัด
- ปิดที่ครอบตาทั้งเวลากลางวันและเวลานอนตอนกลางคืนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการขยี้ตาโดยไม่ตั้งใจ
- หยอดยาตาตรงเวลาทุกครั้งตามแพทย์สั่ง
- หลีกเลี่ยงการดูจอหรือการใช้สายตาเป็นเวลานาน ๆ ควรพักสายตาเป็นระยะ
- งดการล้างหน้า การขยี้ตา การบีบตา เป็นเวลา 1 สัปดาห์
- งดกิจกรรม หรือการออกกำลังกายที่อาจทำให้มีเหงื่อไหลเข้าตาเป็นเวลา 1 สัปดาห์
- สามารถออกกำลังกายที่ไม่หนักได้ เช่น การเดิน ในช่วงสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
- งดการวิ่ง และยกเวท เป็นเวลา 3-4 สัปดาห์
- พบจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้งเพื่อติดตามอาการและประเมินผลหลังการรักษา
ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK พักฟื้นกี่วัน
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK ใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกายเต็มที่ภายใน 2-3 สัปดาห์ และสามารถมองเห็นได้ชัดขึ้นภายใน 3 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลและปัจจัย เช่น โรค ความรุนแรงของโรค และระยะเวลาของอาการกระจกตาบวมหลังการผ่าตัด ซึ่งต่างจากการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาแบบเดิมที่ใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปีเพื่อที่จะมีการมองเห็นได้อย่างเต็มที่
ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK
- แผลผ่าตัดเล็กมาก: การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK มีขนาดแผลผ่าตัดด้านข้างกระจกตาขนาดเล็กมากเพียง 3-4 มม. เท่านั้น ช่วยให้แผลหายเร็ว และฟื้นตัวได้ไว
- ไม่ต้องเย็บแผล: DSAEK เป็นเทคนิคการผ่าตัดที่ไม่ต้องเย็บแผล โดยกระจกตาจะประสานติดกันได้เองด้วยแรงดันธรรมชาติของลูกตา และแรงดันจากฟองอากาศหรือแก๊สหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากไหมเย็บ ลดการติดเชื้อ และลดการเกิดภาวะสายตาเอียงหลังการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี
- ฟื้นตัวเร็ว: DSAEK ใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimally invasive surgery: MIS) ที่รักษากระจกตาส่วนหน้าสภาพดีเอาไว้ ช่วยให้แผลหายไว ลดการเกิดภาวะสายตาเอียงที่กระจกตาหลังผ่าตัด และช่วยให้กลับมามองเห็นได้เร็ว ภายใน 3 เดือนแรกหลังการผ่าตัด
- การปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่ายต่ำ: DSAEK ใช้เทคนิคปลูกถ่ายกระจกตาเฉพาะส่วนหลังเท่านั้น (Posterior corneal layers) โดยไม่ต้องลอกและปลูกถ่ายกระจกตาออกทุกชั้นแบบวิธีดั้งเดิม ใช้เนื้อเยื่อกระจกตาบริจาคน้อยกว่า และไม่ต้องเย็บกระจกตาบริจาคให้ติดกับกระจกตาเดิม ทำให้มีความเสี่ยงต่ำที่ร่างกายจะเกิดการต่อต้านอวัยวะปลูกถ่าย
- ภาวะแทรกซ้อนต่ำ: DSAEK เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบไม่เปิดฝากระจกตา ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น การติดเชื้อ เลือดออกที่จอตา (Suprachoroidal hemorrhage) หรืออาการกระจกตาเคลื่อนหลังการผ่าตัด
- ช่วยคงความแข็งแรงของกระจกตา: DSAEK คงกระจกตาเดิมสภาพดีตรงส่วนหน้าเอาไว้ กระทบกระเทือนต่อกระจกตาน้อย ช่วยรักษาความแข็งแรงและคงความโค้งตามธรรมชาติของกระจกตาเอาไว้ได้มากที่สุด
- ช่วยรักษาโรคได้ทันที: DSAEK ผ่าตัดกระจกตาส่วนที่เสื่อมสภาพหรือมีรอยโรคออกได้ทันที กระจกตาใหม่จะค่อย ๆ ดูดน้ำออกจากกระจกตาขุ่นมัว ช่วยให้กระจกตากลับมาใส และสามารถมองเห็นได้ชัดอีกครั้ง
- ช่วยให้มองเห็นได้เร็ว: เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาออกทุกชั้นที่ใช้ระยะเวลานานหลายเดือนหรือแรมปีกว่าที่จะมองเห็นได้ชัด การผ่าตัดด้วยวิธี DSAEK ร่นระยะเวลาในการฟื้นฟู ผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถมองเห็นได้ชัดภายใน 3 เดือน
ข้อเสียของการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK
- ร่างกายปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่าย: การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะประเภทหนึ่งที่ร่างกายมีโอกาสปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่ายได้ ผู้เข้ารับการผ่าตัดจึงจำเป็นจะต้องหยอดยาตาตามจักษุแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และมาพบจักษุแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่จักษุแพทย์พบข้อบ่งชี้ที่อาจเกิดการปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่าย จักษุแพทย์จะทำการรักษาทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดการปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่าย
- กระจกตาเคลื่อน: อาการกระจกตาเคลื่อนหลังการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK อาจเกิดขึ้นได้ โดยจักษุแพทย์จะทำการรักษาโดยการจัดตำแหน่งของกระจกตาปลูกถ่ายใหม่และฉีดอัดฟองอากาศหรือแก๊สเพื่อให้กระจกตาบริจาคแนบสนิทอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
- การติดเชื้อ: เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิด การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดด้วยวิธี DSAEK มีขนาดแผลผ่าตัดเล็กมาก และไม่เปิดฝากระจกตาจึงมีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ต่ำมากเพียง 1 ใน 1,000 เคสเท่านั้น
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK มีโอกาสประสบความสำเร็จแค่ไหน
จากผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ทำการการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK ไปแล้วเป็นเวลา 3 ปี มีอัตราความสำเร็จหลังการผ่าตัดสูงถึงร้อยละ 94 ผู้รับการรักษามีค่าสายตา 20/30 ที่ 3 เดือน และ 20/25 ที่ 6 เดือนหลังการผ่าตัด ทำให้ DSAEK เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาที่ให้ผลการรักษาที่เหนือกว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาแบบดั้งเดิม
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK ช่วยรักษาสุขภาพได้อย่างไร
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาส่วนหลังด้วยวิธี DSAEK ช่วยรักษากระจกตาสภาพดีเอาไว้ ใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูสั้น ลดความเสี่ยงการปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่าย ลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ กระจกตายึดติดกันแน่น ผิวกระจกตาประสานเรียบสนิท ช่วยให้มองเห็นได้เร็ว ระดับค่าสายตาดีขึ้น ความสว่างในการมองเห็นดีขึ้น เห็นภาพได้ชัดขึ้น เห็นขนาดวัตถุไม่ผิดเพี้ยน และช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา DSAEK โรงพยาบาลเมดพาร์ค
ศูนย์จักษุ รพ.เมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ระดับประเทศและนานาชาติ มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคจักษุ ภาวะสายตาผิดปกติแบบทั่วไป และที่มีความยากซับซ้อน โดยการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาทั้งชั้น PRP หรือบางส่วน DMEK, DSAEK และ DALK เพื่อรักษาและฟื้นฟูการมองเห็นโดยการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมด้วยมาตรฐานการดูแลเอาใจใส่ ช่วยให้การรักษาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้การติดตามผลหลังการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ช่วยให้มองเห็นได้เร็ว และช่วยให้มีสุขภาพดวงตาที่แข็งแรงยาวนาน