เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ทำไมต้องพยุงชีพด้วย ECMO
- เครื่องเอคโม่ ใช้รักษาโรคอะไร
- ขั้นตอนการพยุงชีพด้วยเครื่อง ECMO
- เมื่อไหร่ จึงจะหยุดใช้เครื่อง ECMO
- ข้อดีของการใช้เครื่อง ECMO
- ECMO รพ. เมดพาร์ค
ECMO เครื่องเอคโม่ หัวใจเทียม ปอดเทียมพยุงชีพ
เครื่องเอคโม่ (ECMO) คือ เครื่องหัวใจและปอดเทียม ที่ทำหน้าที่แทนหัวใจและปอดในผู้ที่มีภาวะหัวใจหรือปอดล้มเหลวรุนแรง โดยการใช้เครื่องเอคโม่ฟอกเลือด เพิ่มออกซิเจน ขับคาร์บอนไดออกไซด์ และฉีดเลือดกลับเข้าสู่ร่างกาย เอคโม่ ช่วยรักษาชีวิตผู้ที่มีภาวะการทำงานของหัวใจหรือปอดล้มเหลวชนิดรุนแรงจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรค COVID 19 ที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา การใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือการช่วยชีวิตแบบมาตรฐานทั่วไป เอคโม่ พยุงการทำงานของหัวใจและปอด ในภาวะที่ร่างกายไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามปกติ ช่วยรักษาชีวิตในระหว่างที่แพทย์ทำการรักษา และช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต
ทำไมต้องพยุงชีพด้วย ECMO
ผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันบางราย ที่มีการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ หัวใจไม่บีบตัว หรือหัวใจหยุดเต้นทันทีโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า หัวใจและอวัยวะภายในไม่มีเลือดไปเลี้ยง มีภาวะช็อก และหมดสติ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น การทำ CPR การใส่ท่อช่วยหายใจ หรือการให้ยาบีบหลอดเลือดและยากระตุ้นหัวใจ อาจไม่ตอบสนองต่อการรักษา เอคโม่ ทำหน้าที่แทนหัวใจในการพยุงความดันโลหิต เพิ่มอัตราการบีบตัวของหัวใจให้เร็วขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยวิกฤตรอดชีวิต
ในผู้ป่วย COVID 19 ขั้นวิกฤต ที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะหายใจลำบากเฉียบพลันรุนแรง (ARDS) มีค่าออกซิเจนในเลือดต่ำรุนแรง (ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94) มีภาวะช็อก โคม่า มีไข้สูงกว่า 39 องศา ร่างกายไม่รู้สึกตัวจากภาวะพร่องออกซิเจนรุนแรงเนื่องจากเนื้อปอดถูกทำลาย เอคโม่ ทำหน้าที่แทนปอด ช่วยรักษาระดับออกซิเจนในเลือด ช่วยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะร่างกาย เช่น สมอง และหัวใจในระหว่างที่แพทย์รักษา จนสามารถรอดชีวิตและหายจากโรค COVID 19 ได้
เครื่องเอคโม่ ใช้รักษาโรคอะไร
- ภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะช็อกจากโรคหัวใจ หรือภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ
- ภาวะหายใจล้มเหลว ปอดไม่สามารถรักษาระดับออกซิเจนและไม่สามารถกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกได้ เช่น ภาวะปอดอักเสบรุนแรง ภาวะหายในลำบากเฉียบพลันรุนแรง ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือการติดเชื้อในกระแสเลือดที่ส่งผลต่อปอด
- หลังการผ่าตัดใหญ่ ผู้ที่ต้องการฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัดใหญ่ ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอมาก ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะหัวใจและปอดล้มเหลวหลังการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดบายพาสหัวใจ ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ หรือผ่าตัดปลูกถ่ายปอด
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจขั้นรุนแรง เช่น การติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ A ไวรัสโรคเมอร์ส หรือไวรัสโรค COVID 19 ที่ทำให้เนื้อปอดถูกทำลายเสียหายมาก มีอาการปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิต
ข้อบ่งชี้การใช้งานเครื่อง ECMO
แพทย์จะพิจารณาการใช้งานเครื่องเอคโม่ (Extracorporeal Membrane Oxygenation: ECMO) เพื่อรักษาการทำงานของหัวใจและปอดในผู้ป่วยวิกฤติที่ระบบหัวใจและปอดล้มเหลว โดยมีข้อบ่งชี้การใช้งานเครื่อง ECMO ตามระบบการใช้งาน ดังนี้
- ระบบ Veno-Arterial (VA) ใช้ในผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรง หรือทั้งปอดและหัวใจล้มเหลว โดยการใส่สายออกซิเจนแคนูล่าที่เชื่อมเข้ากับเครื่องเอคโม่ 2 สาย 2 ตำแหน่ง สายหนึ่งที่หลอดเลือดดำใหญ่บริเวณขาหนีบข้างหนึ่ง และอีกสายหนึ่งที่หลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบอีกข้างหนึ่ง โดยแพทย์จะพิจารณาการใส่สายออกซิเจนแคนูล่าที่หลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบสำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต และที่ลำคอในเด็กเล็ก เพื่อถ่ายเลือดออก เติมออกซิเจน ขับคาร์บอนไดออกไซด์ และฉีดเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่
- ระบบ Veno-venous (VV) ใช้ในผู้ที่มีภาวะหายใจล้มเหลวชนิดรุนแรงเป็นหลัก โดยการใส่สายออกซิเจนแคนูล่าที่เชื่อมเข้ากับเครื่องเอคโม่ 2 สายคู่กัน ผ่านหลอดเลือดดำใหญ่เพียงหลอดเดียว หรือใส่สายออกซิเจนแคนูล่า 2 สาย ผ่านหลอดเลือดดำใหญ่ 2 หลอดในตำแหน่งที่ต่างกัน เพื่อถ่ายเลือดออก เติมออกซิเจน ขับคาร์บอนไดออกไซด์ และฉีดเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายผ่านหลอดเลือดดำใหญ่
ขั้นตอนการพยุงชีพด้วยเครื่อง ECMO
- วิสัญญีแพทย์ให้ยาระงับความรู้สึก ยาแก้ปวด และยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือดทางหลอดเลือดดำเพื่อระงับความรู้สึก และป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
- ศัลยแพทย์เจาะเข็มใส่สายสวนออกซิเจนแคนูล่าที่เชื่อมต่อเข้ากับเครื่องเอคโม่ 2 ตำแหน่ง ไปตามแนวหลอดเลือดดำใหญ่บริเวณขาหนีบ และ/หรือลำคอ และแขน ขึ้นไปจนถึงหัวใจ
- เครื่องเอคโม่จะทำหน้าที่แทนหัวใจและปอดในการแลกเปลี่ยนก๊าซ โดยการถ่ายเลือดออกผ่านสายสวนออกซิเจนแคนูล่าให้ไปฟอกเลือดที่เครื่องเอคโม่ เครื่องเอคโม่จะฟอกเลือดโดยการเติมออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือด พร้อมกับขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากกระแสเลือด ก่อนฉีดเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายผ่านสายสวนออกซิเจนแคนูล่า
- เลือดที่ได้รับการฟอกแล้วจะไหลเวียนกลับเข้าสู่ร่างกาย ช่วยให้ผู้ป่วยมีออกซิเจนที่เพียงพอไปหล่อเลี้ยงอวัยวะร่างกาย และสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาวะที่ร่างกายอ่อนแอและไม่รู้สึกตัว
- ในระหว่างที่เครื่องเอคโม่ทำหน้าที่แทนหัวใจและปอด แพทย์จะให้การรักษาอาการต่าง ๆ อย่างเต็มที่ จนเมื่ออาการต่าง ๆ ค่อย ๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยพ้นจากภาวะวิกฤต มีความปลอดภัยและสามารถหายใจได้เอง ทั้งหัวใจและปอดสามารถทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซในสภาวะปกติได้อย่างพอเพียง แพทย์จะค่อย ๆ ลดการพึ่งพาเครื่องเอคโม่ และหยุดการใช้งานไปในที่สุด
- หลังหยุดใช้งานเครื่องเอคโม่ แพทย์จะให้ใส่เครื่องช่วยหายใจต่อจนกระทั่งผู้ป่วยสามารถหายใจได้เอง แพทย์จึงจะถอดเครื่องช่วยหายใจออก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจมีความจำเป็นต้องนอนพักฟื้นที่ รพ. ต่ออีกสักระยะจนกว่าสัญญาณชีพจะคงที่ โดยแพทย์จะให้ฝึกทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อ และอรรถบำบัดเพื่อช่วยฟื้นฟูระบบหายใจ
ระยะเวลาในการใช้เครื่อง ECMO
ระยะเวลาในการใช้เครื่องเอคโม่ของแต่ละบุคคลไม่เท่ากันขึ้นอยู่อาการ การรักษา และระยะเวลาในการฟื้นตัว ผู้เข้ารับการรักษาบางคนอาจใช้เครื่องเอคโม่เพียง 2-3 ชม. ในขณะที่บางคนอาจมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องโม่ช่วยพยุงชีพเป็นระยะเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
เมื่อไหร่ จึงจะหยุดใช้เครื่อง ECMO
แพทย์จะพิจารณาการหยุดใช้เครื่องเอคโม่ก็ต่อเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่า การหยุดใช้เครื่องเอคโม่กับผู้ป่วยนั้นมีความปลอดภัยผู้ป่วยสามารถหายใจได้เองโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทั้งหัวใจและปอดสามารถทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซได้อย่างพอเพียง และร่างกายสามารถฟื้นฟูตนเองได้ดีตามลำดับ โดยเมื่อผู้ป่วยสามารถดำรงชีพอยู่ได้โดยปราศจากการพึ่งพาเครื่องเอคโม่แล้ว แพทย์จะค่อย ๆ ลดการใช้งานเครื่องเอคโม่ลงทีละน้อยจนกระทั่งหยุดการใช้งานไปในที่สุด
การใช้เครื่อง ECMO มีความเสี่ยงหรือไม่
โดยปกติ แพทย์จะใช้เครื่องเอคโม่ในผู้ที่อยู่ในภาวะวิกฤตที่ร่างกายมีความอ่อนแอมากอยู่แล้วจากสาเหตุหัวใจและปอดล้มเหลวรุนแรงที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเป็นอย่างมาก ในระหว่างการใช้เครื่องเอคโม่จึงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ดังนี้
- เลือดออก เนื่องจากยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือดที่ได้รับทั้งก่อนและระหว่างการใช้งานเครื่องเอคโม่
- ภาวะติดเชื้อ การติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณจุดเข็มเจาะในระหว่างการใช้เครื่องเอคโม่
- ไตวาย ในบางกรณี เลือดอาจไหลเวียนไปเลี้ยงไตไม่พอเพียงทำให้ไตวาย ซึ่งอาการจะดีขึ้นหลังการฟอกไต และหยุดการใช้เครื่องเอคโม่
- โรคหลอดเลือดสมอง พบได้ยากมาก ที่อาจเกิดลิ่มเลือดเล็ก ๆ อุดตันในหลอดเลือดสมอง โดยแพทย์จะเร่งให้การรักษาโดยเร็ว
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด พบได้น้อยมาก ที่อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด โดยแพทย์จะเร่งให้การรักษาโดยเร็ว
ข้อดีของการใช้เครื่อง ECMO
- ช่วยพยุงชีพในระหว่างที่แพทย์ให้การรักษาภาวะหัวใจและปอดล้มเหลว ทำให้หัวใจและปอดได้ฟื้นฟูตนเองอย่างเต็มที่
- ทำหน้าที่แทนหัวใจและปอดที่อ่อนแอ หลังการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การผ่าตัดบายพาสหัวใจ หรือการผ่าตัดปอด
- ช่วยรักษาชีวิตในขณะรอการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น หัวใจ หรือ ปอด เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต และลดอัตราการเสียชีวิต
- ช่วยทารกที่มีความผิดปกติของหัวใจและปอดแต่กำเนิด หรือทารกคลอดก่อนกำหนดที่หัวใจและปอดยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่
- ช่วยพยุงชีพในระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยฉุกเฉิน และช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตในระหว่างการเคลื่อนย้าย
- ช่วยยื้อชีวิตในผู้ป่วยโคม่า เพื่อที่แพทย์จะให้การรักษาได้อย่างเต็มที่ ให้เวลาสมาชิกในครอบครัวได้ตัดสินใจร่วมกันหากต้องยุติการรักษา
ข้อจำกัดการใช้เครื่อง ECMO
- ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
- ผู้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจมาเป็นเวลานาน
- ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (Aortic dissection)
- ภาวะเลือดออกที่ควบคุมไม่ได้
- ผู้ที่มีภาวะเลือดออกในโพรงสมองรุนแรง สมองเสียหายรุนแรงที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้
การพยุงชีพด้วย ECMO มีอัตราการรอดชีวิตแค่ไหน
จากสถิติผู้ป่วยวิกฤตที่ใช้เครื่องเอคโม่พยุงการทำงานของหัวใจและปอด โดยภาพรวมมีอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 33-62.9 ในกลุ่มผู้ใหญ่มีอัตราการรอดชีวิตที่ร้อยละ 57-66 กลุ่มเด็กมีอัตราการรอดชีวิตที่ร้อยละ 57-67 และกลุ่มทารกมีอัตราการรอดชีวิตที่ร้อยละ 74-84 ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้ที่ใช้เครื่องเอคโม่ช่วยพยุงชีพกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ พบว่า กลุ่มผู้ที่ใช้เครื่องเอคโม่พยุงชีพ มีอัตราการรอดชีวิตที่มากถึงร้อยละ 90 เลยทีเดียว
ECMO รพ. เมดพาร์ค
ศูนย์ดูแลผู้ป่วยวิกฤต รพ. เมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมแพทย์ และพยาบาลเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินที่มีประสบการณ์ในการช่วยชีวิต มีความพร้อมรับมือในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือทารกคลอดก่อนกำหนดที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ตลอด 24 ชม. ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น เครื่อง ECMO เครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูง เครื่องเฝ้าติดตามสัญญาณชีพ ห้อง Hybrid OR ที่สามารถวินิจฉัยและรักษาได้พร้อมกัน ห้อง Negative pressure เพื่อควบคุมการติดเชื้อ พร้อมทั้งหอพักผู้ป่วยวิกฤต ICU/CCU ที่มีพยาบาลเฝ้าหน้าห้องแบบ 1:1 หรือ 1:2 ตลอด 24 ชม. เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือทันทีในกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้รับการรักษาได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะพ้นจากภาวะวิกฤติได้โดยเร็ว และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ