การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า
การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า เป็นการวินิจฉัยโรคทางเส้นประสาทและกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดต่าง ๆ เป็นการตรวจที่ช่วยประเมินอาการ บ่งบอกการพยากรณ์โรค และติดตามการตอบสนองหลังการรักษา
การตรวจพิเศษทางไฟฟ้านี้สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมจากประวัติและการตรวจร่างกาย และเป็นการตรวจที่จำเป็นต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถให้ผลการตรวจที่ถูกต้องแม่นยำ
ประโยชน์ของการตรวจด้วยไฟฟ้า
- เพื่อวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย ผู้ป่วยอาจมีอาการชาหรืออ่อนแรง การตรวจจะช่วยระบุตำแหน่งของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อที่ก่อโรค ในบางครั้งอาจพบรอยโรคได้หลายตำแหน่ง
- บ่งบอกสาเหตุของรอยโรคหลังการวินิจฉัย
- บ่งบอกความรุนแรงและระยะเวลาในการเกิดของโรคที่พบ
- ช่วยในการเลือกแนวทางการรักษาของผู้ป่วย
- สามารถใช้ช่วยระบุตำแหน่งกล้ามเนื้อที่ต้องให้การรักษาด้วย Botox
กลุ่มโรคที่ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า
- โรคเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral nerve disorder ) ผู้ป่วยอาจมีอาการชาหรือรู้สึกยิบ ๆ บางรายจะมีอาการอ่อนแรง ตัวอย่างโรคดังกล่าว เช่น
- พังผืดกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือหรือข้อศอก (carpal tunnel syndrome, cubital tunnel syndrome)
- เส้นประสาทอักเสบปลายมือปลายเท้า (polyneuropathy)
- เส้นประสาทอักเสบหลายตำแหน่ง (mononeuritis multiplex)
- โรคกล้ามเนื้อ (myopathy) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อหรืออ่อนแรง ตัวอย่างโรคดังกล่าว เช่น
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการอักเสบ (inflammatory myopathy, necrotizing myopathy)
- กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากพันธุกรรม (hereditary myopathy)
- โรคปมประสาทเสื่อม (motor neuron disease) ผู้ป่วยอาจมีอาการกล้ามเนื้อลีบหรืออ่อนแรง ตัวอย่างโรคดังกล่าว เช่น Amyotrophic lateral sclerosis
- โรคของรอยต่อเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (neuromuscular junction) ผู้ป่วยอาจมีอาการตาตก กลืนลำบาก หรืออ่อนแรง ตัวอย่างโรคดังกล่าว เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (myasthenia gravis)
- กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ ชา กล้ามเนื้อเกร็ง ตะคริว หรือกล้ามเนื้อกระตุกผิดปกติ
- กลุ่มอาการบาดเจ็บหลังเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ
วิธีการตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า
สามารถแบ่งออกได้เป็น
- Nerve Conduction Study
เป็นการตรวจโดยใช้ไฟฟ้ากระตุ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกคล้ายมีไฟฟ้าวิ่งไปที่กล้ามเนื้อและมีการบีบตัวของกล้ามเนื้อในบริเวณที่รับสัญญาณ การตรวจประเภทนี้สามารถวินิจฉัยส่วนของเส้นประสาทรับความรู้สึกและเส้นประสาทสั่งการ
- Electromyography
เป็นการตรวจเพื่อฟังเสียงสัญญาณกล้ามเนื้อ โดยแพทย์จะใช้เข็มในการตรวจ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเล็กน้อยเมื่อมีการขยับเข็ม ผู้ป่วยจำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการออกแรงหรือขยับเปลี่ยนท่าทางระหว่างการตรวจ
สำหรับการตรวจข้างต้น แพทย์ผู้ตรวจจะทำการเลือกตำแหน่งในการตรวจ เช่น มือ แขน หรือขา แตกต่างกันในแต่ละบุคคล บางรายอาจต้องได้รับการตรวจทั้งด้านซ้ายและขวา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการ สภาพร่างกาย และโรคที่ต้องการวินิจฉัย การตรวจนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง
- การตรวจพิเศษเพิ่มเติมแบบอื่น ๆ
- การตรวจกระตุ้นประสาทซ้ำในกล้ามเนื้ออ่อนแรง ( repetitive nerve stimulation )
- การตรวจประเมินเส้นประสาทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (quantitative sensory testing ) เป็นการตรวจประเมินความรู้สึกร้อนเย็น ความเจ็บ และการสั่นสะเทือน
- การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic testing) เป็นการตรวจเพื่อประเมินอาการวิงเวียน หน้ามืดเมื่อมีการเปลี่ยนท่า หรือ ในผู้ป่วยที่มีอาการระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่องจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น จากโรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาทชนิดต่าง ๆ
- การตรวจศักย์ไฟฟ้าวัดระบบประสาท (evoked potential) เป็นการตรวจเพื่อดูการทำงานของเส้นประสาทส่วนปลายและระบบประสาทส่วนกลาง
การตรวจวินิจฉัยกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า เป็นการตรวจที่ละเอียดและซับซ้อน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการตรวจเพื่อสอบถามอาการและตรวจร่างกาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการใช้แปลผลควบคู่กับผลการตรวจทางไฟฟ้า ทั้งนี้ การตรวจดังกล่าวสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทส่วนปลาย เพื่อนำไปสู่การรักษาและบ่งบอกการพยากรณ์โรคได้อย่างถูกต้อง
บทความโดย
พญ.มนัสวรรณ์ สันทนานุการ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา
เฉพาะทางด้านประสาทวิทยาโรคกล้ามเนื้อและเส้นประสาทไฟฟ้าวินิจฉัย
ประวัติแพทย์