เลือกหัวข้อที่อ่าน
- โรคถุงลมโป่งพอง
- โรคถุงลมโป่งพอง มีกี่ระยะ
- โรคถุงลมโป่งพอง มีอาการอย่างไร
- โรคถุงลมโป่งพอง มีสาเหตุเกิดจากอะไร
- โรคถุงลมโป่งพอง มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- โรคถุงลมโป่งพอง มีวิธีการรักษาอย่างไร
- โรคถุงลมโป่งพอง มีวิธีการป้องกันอย่างไร
โรคถุงลมโป่งพอง
โรคถุงลมโป่งพอง อยู่ในกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อถุงลมขนาดเล็กในปอด ทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้น โดยปกติแล้วคนเรามีถุงลมประมาณ 300 ล้านถุงในปอดแต่ละข้าง เมื่อหายใจเอาอากาศเข้าไป ถุงลมเหล่านี้จะขยายตัวรับอากาศเข้าไป ก๊าซออกซิเจนจะถูกส่งผ่านเข้าไปในเลือด และเมื่อหายใจออก ถุงลมจะหดตัวและขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย ในผู้ที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองถุงลมดังกล่าวจะถูกทำลายทำให้พื้นที่ในปอดลดลง ปอดจะได้รับอากาศและก๊าซออกซิเจนไม่เพียงพอและไม่สามารถกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจะเริ่มหายใจหอบเหนื่อย ซึ่งเป็นสัญญาณแรกของโรคถุงลมโป่งพอง ปอดที่ได้รับความเสียหายจากโรคถุงลมโป่งพองไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นเช่นเดิมได้และมักแย่ลงเรื่อย ๆ การได้รับการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
โรคถุงลมโป่งพอง มีกี่ระยะ
Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease (GOLD) ได้แบ่งระยะของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) ออกเป็น 4 ระยะ โดยจะใช้เกณฑ์ดังกล่าวอธิบายความรุนแรงของโรคถุงลมโป่งพองด้วยเช่นกัน โดยเปรียบเทียบการทํางานของปอดของผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองกับปอดของผู้ที่มีสุขภาพดีที่เพศ อายุ และส่วนสูงเดียวกัน
- ระยะที่ 1 (ไม่รุนแรง) การทํางานของปอดอยู่ที่ 80% ขี้นไป
- ระยะที่ 2 (ปานกลาง) การทํางานของปอดอยู่ที่ 50% - 79%
- ระยะที่ 3 (รุนแรง) การทํางานของปอดอยู่ที่ 30% - 49%
- ระยะที่ 4 (รุนแรงมาก) การทํางานของปอดน้อยกว่า 30%
ผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 50 ถึง 70 ปี มักจะได้รับผลกระทบจาก โรคถุงลมโป่งพอง
ถุงลมโป่งพอง มีอาการอย่างไร
สัญญาณแรกของโรคถุงลมโป่งพองคือรู้สึกเหนื่อยล้าและหายใจหอบ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการจนกว่าเนื้อเยื่อปอดจะถูกทำลายมากกว่า 50% (ระยะที่ 2) อาการอื่น ๆ ของโรคถุงลมโป่งพอง ได้แก่ ไอเรื้อรัง หายใจเสียงหวีด แน่นหน้าอกหายใจลําบาก มีเสมหะ นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า และน้ำหนักลด
ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอักเสบ (pneumonia) หลอดลมอักเสบ และโรคติดเชื้อในปอดอื่น ๆ สูงขึ้น
ควรไปพบแพทย์เมื่อใด
ควรปรึกษาแพทย์ของหากเริ่มหายใจไม่สะดวกหรือมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น หากมีอาการหายใจหอบถี่รุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที
ถุงลมโป่งพอง มีสาเหตุเกิดจากอะไร
- การสูบบุหรี่ ซิการ์ บุหรี่ไฟฟ้า หรือกัญชาเป็นเวลานานหลายปี
- มลพิษทางอากาศในบ้านหรือที่ทํางาน เช่น ฝุ่นละอองและไอระเหยของสารเคมี
- ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น ร่างกายไม่มีเอนไซม์ alpha-1 antitrypsin
- การติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ
สาเหตุหลักของโรคถุงลมโป่งพองมาจากควันบุหรี่ ซึ่งจะไปทําลายเนื้อเยื่อปอด เมื่อสูดดมควันบุหรี่จะทำให้ทางเดินหายใจระคายเคืองและบวม ร่างกายจะผลิตเสมหะ ทำให้หายใจได้ลำบาก จนเกิดอาการหายใจหอบถี่
โรคถุงลมโป่งพอง มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร
- ตรวจร่างกาย รวมถึงการใช้หูฟังเพื่อฟังเสียงในปอด หากมีอากาศค้างอยู่ด้านในปอด แพทย์จะได้ยินเสียงปอดเบาลงหรือได้ยินเสียงหวีด แพทย์จะให้ทำการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองหรือไม่
- เอกซเรย์ทรวงอก มีประโยชน์ในการเปรียบเทียบภาพปอดของผู้ป่วยกับภาพปอดของผู้ที่มีสุขภาพดี การเอกซเรย์สามารถตรวจวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพองระดับปานกลางและรุนแรงได้
- ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (Cheat CT Scan) จะแสดงภาพปอดที่มีความละเอียดมากขึ้น
- ตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary function testing) เพื่อวัดปริมาณอากาศจากการหายใจเข้าและหายใจออกที่เป่าไปในปอด ด้วยเครื่องสไปโรมิเตอร์ (spirometer)
- เจาะหลอดเลือดแดงเพื่อวิเคราะห์ก๊าซในเลือดแดง (Arterial blood gas: ABG) เพื่อวิเคราะห์ปริมาณออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดแดง
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อแยกสาเหตุอื่น ๆ ของอาการหายใจหอบถี่ เช่น โรคหัวใจ
- ตรวจเลือดและการทดสอบทางพันธุกรรม เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าร่างกายขาดเอนไซม์ alpha-1 antitrypsin หรือไม่ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคถุงลมโป่งพอง
ถุงลมโป่งพอง มีวิธีการรักษาอย่างไร
จุดมุ่งหมายของการรักษาผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองคือการชะลอการดำเนินของโรคและเพิ่มสมรรถภาพของปอด
- การเลิกสูบบุหรี่ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการชะลอการดำเนินของโรคในผู้ที่สูบบุหรี่
- ยาพ่นขยายหลอดลม มีประสิทธิภาพมากกว่ายารับประทาน ในการลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหายใจนำอากาศเข้าและออกจากปอดได้มากขึ้น
- ยาเสตียรอยด์ชนิดรับประทาน ใช้ในผู้ป่วยที่อาการกำเริบ
- ยาเสตียรอยด์ชนิดสูดพ่น ช่วยลดอาการบวมของทางเดินหายใจและลดการผลิตเสมหะ
- ยาปฏิชีวนะ รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในปอด เช่น หลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ
- ยาลดการอักเสบ ช่วยลดอาการอักเสบของทางเดินหายใจ
- การบําบัดด้วยออกซิเจน สำหรับผู้ที่มีภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด
- การผ่าตัดเพื่อลดปริมาตรปอด (Lung volume reduction surgery: LVRS)เป็นการตัดเนื้อเยื่อปอดส่วนที่เป็นโรคออกไปบางส่วนเพื่อบรรเทาแรงกดบนกล้ามเนื้อหายใจและเพิ่มความสามารถในการขยายตัวของปอดที่เหลือ โดยแพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยเหมาะกับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้หรือไม่
- การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อลดปริมาตรปอด (Bronchoscopic lung volume reduction)เพื่อลดปริมาณอากาศที่ค้างอยู่ในปอดเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้ดีขึ้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถรับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้หรือไม่
- การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด (Lung transplant) เป็นการผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายปอดจากการได้รับบริจาคอวัยวะ เพื่อยืดอายุผู้ป่วย
โรคถุงลมโป่งพอง มีวิธีการป้องกันอย่างไร
- เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง (secondhand smoke)
- สวมหน้ากากป้องกันเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศ ไอระเหยจากสารเคมี หรือฝุ่นละออง
- เปิดหน้าต่างเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศภายในบ้านหรืออาคารเพื่อระบายก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในปอด
- ใช้เครื่องฟอกอากาศ HEPA เพื่อให้คุณภาพอากาศภายในบ้านสะอาดมากยิ่งขึ้น
การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตและการดูแลรักษาตนเองที่บ้าน
- ทําความสะอาดบ้านให้สะอาดเพื่อลดการกักเก็บฝุ่น
- เปลี่ยนไส้กรองอากาศในเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศเป็นประจํา
- หลีกเลี่ยงไอระเหยจากสารเคมีและไอเสียรถยนต์ซึ่งอาจทําให้ระบบทางเดินหายใจระคายเคือง
- ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความจุของปอด
- ป้องกันตัวเองจากอากาศเย็น ซึ่งอาจทําให้หลอดลมหดเกร็งได้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบและไข้หวัดใหญ่ตามคําแนะนําของแพทย์
โรคโควิด-19 และโรคถุงลมโป่งพอง
แม้ว่าจะเกิดขึ้นได้น้อยราย แต่โรคโควิด-19 อาจเป็นสาเหตุของโรคถุงลมโป่งพองยักษ์หรือโรคเนื้อปอดหาย โดยถุงลมจะมีขนาดใหญ่จนไปอุดกั้น 1 ใน 3 ของเนื้อที่ในปอดหนึ่งข้างหรือทั้งสองข้าง