ภาวะชักจากไข้ เป็นภาวะชักร่วมกับการเกิดไข้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 5 ปี และมักจะพบเมื่อไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ถึงแม้ภาวะชักจากไข้จะดูรุนแรงแต่ภาวะดังกล่าวไม่ส่งผลเสียต่อระดับสติปัญญาและการทำงานของสมองหากอาการชักเกิดขึ้นและจบลงในเวลาสั้น ๆ
สาเหตุ
สาเหตุของภาวะชักจากไข้นั้นยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่มีความเกี่ยวข้องกับเด็กที่มีประวัติคนในครอบครัวมีอาการชักจากไข้มาก่อน และจะต้องทำการตรวจร่างกายเพื่อแยกภาวะที่เกิดการการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
ภาวะชักจากไข้นั้นมักพบร่วมกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ดังนี้
- การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย อาทิเช่น ไวรัส HHV-6 ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคผื่นกุหลาบ หรือส่าไข้ (Roseola infantum) เด็กจะมีไข้สูงลอย โดยไม่ค่อยมีอาการร่วมอื่น ๆ
- การได้รับวัคซีนบางชนิด ได้แก่ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดเต็มเซลล์ วัคซีนโรคหัดคางทูม หัดเยอรมัน (MMR) หรือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ที่มักจะทำให้เกิดไข้ร่วมด้วยภายหลังการฉีดวัคซีน
อาการแสดง
อาการชักจากไข้มักพบร่วมกับการมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียสภายใน 24 ชั่วโมงแรก โดยจะแบ่งลักษณะการเกิดออกได้เป็น 2 แบบ ดังนี้
- ภาวะชักจากไข้แบบธรรมดา (Simple febrile seizure) เป็นภาวะชักจากไข้ที่พบได้มากที่สุด มักจะเกิดการชักเกร็งทั่วตัวเป็นเวลาสั้นๆ และมักจะหยุดชักเองภายใน 15 นาที (ส่วนมากมักไม่เกิด 5 นาที) หลังหยุดชักเด็กอาจจะมีอาการตัวอ่อน นอนหลับไปได้ แต่หลังจากนั้นจะต้องตื่นดี และไม่มีอาการอ่อนแรง
- ภาวะชักจากไข้แบบซับซ้อน (Complex febrile seizure) เป็นภาวะชักที่พบได้ไม่บ่อย มักชักนานกว่า 15 นาที หรือชักสั้น ๆ หลายครั้งติด ๆกัน หรือชักแล้วซึมหลับไม่ยอมตื่น หรือหลังชักมีอาการทางระบบประสาทผิดปกติร่วมด้วย เช่นอาการอ่อนแรง ซึ่งการชักแบบนี้มักจะต้องหาสาเหตุอย่างอื่นเพิ่มเติม
อาการชักจากไข้แบบธรรมดามักไม่เป็นอันตราย เนื่องจากเป็นการชักสั้น ๆ ที่ไม่ส่งผลต่อสมองและระดับสติปัญญา แต่ 30-35% อาจมีโอการชักซ้ำได้ โดยเฉพาะเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 เดือน มีประวัติคนในครอบครัวเคยชักจากไข้มาก่อน หรือเด็กที่มีอาการชักโดยมีไข้ต่ำ ๆ โดยการชักซ้ำไม่จำเป็นต้องมีไข้สูงเท่ากับครั้งแรกที่เกิดอาการ จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
แนวทางการรักษาอาการชักจากไข้
การชักจากไข้โดยทั่วไปนั้นมักไม่ต้องได้รับการรักษานอกเหนือจากการลดไข้อย่างรวดเร็ว แต่ในกรณีที่ไม่หยุดชักเองภายใน 5 นาที แพทย์จะให้ยาหยุดชัก เพื่อควบคุมไม่ให้มีผลต่อระบบหายใจ และป้องกันความเสียหายต่อระบบประสาท หลังจากนั้นจะให้ยากันชักหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย
เด็กบางรายหากไม่มีปัจจัยเสี่ยงอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอื่นๆ หรือการส่งตรวจเพิ่มเติม แต่ในรายที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือเป็นการชักแบบซับซ้อน อาจจะพิจารณาส่งตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือ MRI เพิ่มเติมเมื่อมีข้อบ่งชี้
การช่วยเหลือเด็กในกรณีที่เกิดการชักที่บ้าน
- ผู้ปกครองควรตั้งสติ และพาเด็กมานอนบนพื้นราบ อยู่ห่างจากสิ่งที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติม หลังจากเด็กนอนราบแล้วควรจับนอนตะแคงใบหน้าไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อป้องกันการสำลัก
- ห้าม! พยายามล้วงมือ หรือใส่สิ่งของใดๆ เข้าไปในปากเด็กโดยเด็ดขาด เพราะอาจหลุดเข้าไปปิดกั้นทางเดินหายใจได้
- พยายามคลายเสื้อผ้าออก เช็ดตัวลดไข้เท่าที่ทำได้
- หากไม่หยุดชักภายใน 3-5 นาที ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
- หากหยุดชักเอง ควรอยู่กับเด็ก และสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น หลังจากนั้นพาไปพบแพทย์เพื่อทำการประเมินหาสาเหตุเพิ่มเติม
- หากเคยมีอาการชักจากไข้มาก่อน และมีอาการชักซ้ำ ผู้ป่วยบางคนอาจได้ยาหยุดชักไว้ที่บ้าน สามารถให้ผู้ป่วยได้ตามขนาดและวิธีการที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยที่ไม่ควรให้มากกว่า 1 ครั้ง หากยังไม่หยุดชักควรรีบพาไปพบแพทย์โดยทันที
การป้องกัน
หากมีไข้ควรให้ยาลดไข้ และเช็ดตัวลดไข้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ควรใช้น้ำเย็นเช็ดตัวเด็ก เนื่องจากจะทำให้รูขุมขนหดตัว และลดการระบายความร้อนออกจากร่างกายได้
หากไม่สบาย แต่ไม่มีไข้ ไม่ควรกินยาลดไข้เพื่อป้องกันการเกิดไข้ และไม่ควรกินยาหยุดชักหากไม่มีอาการ เนื่องจากการให้ยาไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดไข้ และภาวะชักจากไข้