ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นภาวะที่มีอาการปวดเรื้อรังตามกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนทั่วร่างกาย มีอาการหลัก 3 ประการ ได้แก่
- ปวดเนื้อตัวกระจายหลายแห่ง โดยเฉพาะคอ บ่า ไหล่ ศีรษะ และหลัง (Widespread pain) ลักษณะปวดตื้อ ๆ หนัก ๆ ตามบริเวณทั้งเหนือเอวและต่ำกว่าเอว มักเป็นทั้งสองข้างของร่างกาย และเป็นเรื้อรังนานกว่าสามเดือน
- อาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้า (Fatigue) หลับไม่สนิท หรือแม้จะนอนหลับเป็นเวลาหลายชั่งโมงแต่กลับตื่นขึ้นแบบไม่สดชื่น
- ความคิดอ่านช้าลง สมาธิและความจำถดถอยหรือที่เรียกกันในหมู่ผู้ป่วยว่า Fibro fog
อาการร่วมอื่นที่อาจพบได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดกราม ชาหรือซ่าตามมือเท้า อาการทางระบบทางเดินอาหาร ตลอดจนอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า
ความชุกของ ไฟโบรมัยอัลเจีย
สถิติความชุกเฉลี่ยทั่วโลกเท่ากับ 2.7% สำหรับประเทศไทยได้มีการสำรวจประชากรในกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2554 พบความชุกน้อยกว่าในต่างประเทศ คือพบได้ประมาณ 0.6%
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
จากการศึกษาวิจัยในระยะ 30 ปีมานี้เชื่อว่า ผู้ป่วยไฟโบรมัยอัลเจียมีปัจจัยหลายอย่างชักนำให้ระบบประสาทส่วนกลางทั้งสมองและไขสันหลัง มีความไวต่อความปวดมากกว่าปกติ และมีระดับของสารเคมีในสมองและไขสันหลังผิดปกติเหนี่ยวนำให้ตอบสนองต่อความปวดมากกว่าปกติด้วย
ปัจจัยเสี่ยง: พบได้ในทุกช่วงอายุ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และหากมีโรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรค SLE ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะเป็นไฟโบรมัยอัลเจียมากขึ้นไปด้วย
การวินิจฉัย
เนื่องจากไฟโบรมัยอัลเจียมีอาการและอาการร่วมหลากหลายจึงทำให้ผู้ป่วยมักได้รับการวินิจฉัยโรคช้า มักผ่านการตรวจหลายอย่างและพบแพทย์หลายท่าน อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยไฟโบรมัยอัลเจียอาศัยการซักประวัติตรวจร่างกาย ตรวจเลือดและตรวจทางรังสีวิทยาเพื่อค้นหาโรคอื่นๆที่มีอาการซ้ำซ้อนกัน ตลอดจนติดตามการรักษาระยะหนึ่งก็จะให้การวินิจฉัยได้
การรักษา
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการรักษาไฟโบรมัยอัลเจียคือการให้ความรู้ความเข้าใจ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน กลัวและวิตกกังวล หรือท้อแท้ ผู้ป่วยควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาในแต่ละขั้นตอนโดยมีเป้าหมายเพื่อลดอาการปวด ปรับปรุงสุขภาพกายโดยรวมและดูแลสุขภาพจิตใจ สู่คุณภาพชีวิตที่ดี
การรักษาด้วยยา
ยามีบทบาทในการลดอาการปวด มีให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมแล้วแต่อาการหลักอันไหนเด่น เช่น ยาแก้ปวด ยาต้านเศร้า ยากันชัก ซึ่งมีบทบาทในการจัดการกับความไวของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น พาราเซตามอล (paracetamol) ทรามาดอล (tramadol) กาบาเพนติน (gabapentin) พรีกาบาลิน (pregabalin) อะมิทริปไทรีน (amitriptyline) ดูล็อกซิทีน (duloxetine) เวนลาฟาซีน (venlafaxine) เป็นต้น ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหายามารับประทานเอง
การรักษาโดยไม่ใช้ยา
ผลการศึกษาพบว่าในไฟโบรมัยอัลเจีย การรักษาโดยไม่ใช้ยามีความสำคัญไม่แพ้การใช้ยาและแนะนำให้ใช้ก่อนหรือร่วมไปกับการใช้ยา เช่น การออกกำลังกายทั้งบนบกและในน้ำ โยคะ ชี่กง การรำมวยจีน กายภาพบำบัด การนวด การฝึกสมาธิ ตลอดจนจิตบำบัด เพื่อรับมือกับความปวดเรื้อรัง
การดูแลรักษาไฟโบรมัยอัลเจีย ไม่ได้มีความยุ่งยาก ไม่ต้องใช้เครื่องมือซับซ้อนใดๆ หากแต่เป็นงานร่วมกันของแพทย์กับผู้ป่วย และต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งก็จะสามารถทำให้อาการสงบลงจนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ