เลือกหัวข้อที่อ่าน
- สาเหตุที่ปวดไหล่ ยกไหล่ไม่ขึ้น เกิดจากอะไร?
- ปวดไหล่ ยกไหล่ไม่ขึ้น มีอาการอย่างไร?
- ปวดไหล่ ยกไหล่ไม่ขึ้น มีวิธีการรักษาอย่างไร?
ปวดไหล่ ยกไหล่ไม่ขึ้น
ปวดไหล่ ยกไหล่ไม่ขึ้นสาเหตุแบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ
- การบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ (Trauma) เช่น ประตูกระแทก หรืออุบัติเหตุล้มไหล่กระแทกพื้น เป็นต้น หากไม่รุนแรง อาจมีแค่ผิวหนังฟกช้ำ กล้ามเนื้อช้ำ เอ็นเคล็ด หรือรุนแรงจนกระดูกร้าว แตก หัก
- ปวดไหล่โดยไม่มีประวัติการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ (Non-trauma) อยู่ ๆ ก็มีอาการเจ็บขึ้นมา อาการเจ็บค่อย ๆ มากขึ้น จนอาจยกไหล่หรือแขนไม่ขึ้น ในบางรายอาจมีอาการปวดเสียวในหัวไหล่จนนอนหลับผิดปกติ หรือ นอนไม่หลับ
กรณีปวดไหล่หรือยกไหล่และแขนไม่ขึ้นหลังจากอุบัติเหตุ เป็นการปวดอย่างตรงไปตรงมา โดยทั่วไปหลังพักทานยาแก้ปวด นวดยา อาการมักหายได้เอง หากไม่แน่ใจหรืออาการไม่ดีขึ้นควรไปปรึกษาแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (แพทย์ทางกระดูกและข้อ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงและมีอาการปวดมาก อาจรุนแรงจนมีกล้ามเนื้อฉีก เส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดหรือกระดูกร้าวหรือหัก
กรณีปวดไหล่หรือยกไหล่และแขนไม่ขึ้น เกิดเองโดยไม่มีประวัติการเกิดอุบัติเหตุ (Non-trauma) โดยมีอาการไม่นานแล้วค่อยๆเป็นมากขึ้นจนเป็นสัปดาห์หรือเดือน โดยอาการปวดค่อย ๆ เป็นมากขึ้นจนยกไหล่หรือแขนไม่ขึ้น อาจมีจุดกดเจ็บหรือปวดร้าวทั่วไหล่โดยอาการปวดไหล่นี้อาจเกิดในคนที่ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำแต่เพิ่มความแรงหรือนานขึ้น อาจเกิดในคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนแล้วเพิ่งมาออก หรือเกิดในคนที่ทำงานในลักษณะซ้ำ ๆ (Repetitive activity) เช่น ทำงานโรงงาน ล้างรถที่ต้องมีการแกว่งแขนไปมาหรือไม่ได้ออกกำลังกายแต่ใช้ไหล่ในตำแหน่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น ยกกล่องหนักไว้หน้าลำตัว
ปวดไหล่ ยกไหล่ไม่ขึ้น มีอาการอย่างไร?
อาการปวดไหล่หรือยกไหล่และแขนไม่ขึ้น พบมากในผู้สูงอายุและเกิดได้ง่ายแม้ไม่มีประวัติออกกำลังกายอะไร แค่เพียงใช้แขนผิดท่าก็อาจเจ็บได้ ทั้งนี้เพราะกล้ามเนื้อและเอ็นในผู้สูงอายุ มีความยืดหยุ่นน้อยกว่าในเด็กหรือคนหนุ่มสาว
ข้อไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดของร่างกาย มีกล้ามเนื้อและเอ็นจำนวน 8 ชิ้น ควบคุมการเคลื่อนไหวทำให้ข้อไหล่ซับซ้อน จึงมีโอกาสที่จะได้รับการบาดเจ็บหรืออักเสบได้ง่าย
พยาธิสภาพรอบข้อไหล่ที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดไหล่หรือยกไหล่และแขนไม่ขึ้น (โดยไม่นับสาเหตุจากอุบัติเหตุ – Non-Trauma) มีดังนี้
- กล้ามเนื้อล้าหรือมีการฉีกขาดระดับจุลภาค เกิดจากการใช้งานมากเกินไป การใช้งานซ้ำๆ การใช้งานในลักษณะที่ไม่เคยใช้งานมาก่อน เช่น การยกของหรือจัดหนังสือบนหิ้ง การใช้เหวี่ยงไหล่ล้างรถนาน การเอี้ยวไหล่ไปหยิบของหลังเบาะรถ อาการเจ็บปวดจากการใช้งานกล้ามเนื้อในลักษณะนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
- เอ็นหรือเยื่อหุ้มเอ็นของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ที่มายึดตรงกระดูกข้อไหล่ เกิดการอักเสบ (เอ็นอักเสบ หรือ เยื่อหุ้มเอ็นอักเสบ)
- ถุงน้ำ ที่แทรกระหว่างเอ็นหรือกล้ามเนื้อหรือกระดูก เกิดการอักเสบ ถุงน้ำนี้มีลักษณะเป็นถุงบาง ๆ แบน ๆ ภายในมีน้ำไขข้อ ซึ่งมีหน้าที่ช่วยลดการเสียดสีระหว่างเอ็น กล้ามเนื้อ หรือกระดูก ที่อยู่ชิดกันเวลาขยับ หากข้อไหล่มีการขยับซ้ำ ๆ มากเกินไป ถุงน้ำนี้จะอักเสบ ทำให้มีอาการเจ็บและยกไหล่ไม่ขึ้น
- เยื่อหุ้มภายในข้อไหล่เองก็สามารถอักเสบได้ พบได้ในโรครูมาตอยด์ โรคเก๊าต์ เป็นต้น
- เอ็นยึดข้อไหล่ขาดจากการใช้งานหนัก เช่น หิ้วของหนักเกินกำลัง หรือมีการเสื่อมตามอายุร่วมด้วย
- ข้อไหล่เสื่อม นั่นคือกระดูกอ่อนที่เคลือบหัวกระดูกภายในข้อสึกและบางลงจนกระดูกเสียดสีกัน พบในบางคนที่มีข้อเสื่อมเร็วกว่าปกติ เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเก๊าท์ หรือในคนสูงอายุที่มีการใช้ข้อไหล่หนัก ๆ มาเป็นเวลานาน
- พังผืดยึดข้อ ข้อไหล่จะยึดติดขยับได้น้อย อาจเกิดจากการบาดเจ็บ หรือเกิดในผู้สูงอายุ
ปวดไหล่ ยกไหล่ไม่ขึ้น มีวิธีการรักษาอย่างไร?
ในกรณีไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ
- พักหรือลดการใช้งาน
- ทานยาแก้ปวดหรือยาลดการอักเสบ ร่วมกับการลดการใช้งาน
- การฉีดยาสเตียรอยด์ ในบางรายที่มีอาการปวดไหล่มาก ยกไหล่หรือแขนไม่ไหว และอาจมีอาการปวดเสียวบริเวณไหล่จนนอนไม่หลับ การฉีดยานี้เข้าไปในบริเวณกล้ามเนื้อ รอบเอ็น ถุงน้ำที่อักเสบ หรือเข้าข้อ (ในกรณีข้อเสื่อม) จะช่วยลดการอักเสบและอาการปวดไหล่หรือยกแขนไม่ขึ้นได้เป็นอย่างดี ในการฉีดนี้ควรฉีดโดยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เพื่อความปลอดภัย และจะดียิ่งขึ้น ควรฉีดโดยการมองผ่านเครื่องอัลตราซาวนด์ เพราะจะสามารถฉีดได้ตรงตำแหน่งที่ต้องการและไม่ฉีดเข้าไปในเส้นเอ็น
- กรณีเอ็นยึดข้อไหล่ฉีกขาด การฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณดังกล่าว อาจช่วยลดอาการปวดได้ชั่วคราว แต่การรักษาที่ดีสุดคือการผ่าตัดเย็บซ่อมเอ็นที่ขาดผ่านกล้อง โดยแพทย์ด้านออร์โธปิดิกส์
- ในกรณีข้อไหล่เสื่อม ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป็นการรักษาตามอาการ เช่น ทานยาลดการอักเสบ หรือฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ แต่ในบางกรณีอาจรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่เทียม
- กรณีพังผืดยึดข้อ จะค่อย ๆ รักษาโดยการดัดข้อตามคำแนะนำของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และฝึกทำเองที่บ้าน ทานยาลดการปวดการอักเสบ บางครั้งโรคนี้จะหายได้แต่ต้องใช้เวลาและความอดทนอาจต้องใช้เวลา 3 - 6 เดือน บางราย 1 - 2 ปี ในบางกรณีที่เป็นมากและพยายามดัดมานานแล้วไม่ค่อยดีขึ้น การส่องกล้องเพื่อเลาะพังผืดจะได้ผลดีและเร็วขึ้น
หากมีอาการปวดไหล่และยกไหล่ไม่ขึ้น สามารถรับการปรึกษาและรักษาได้ที่ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ชั้น 5 เคาน์เตอร์ A หรือโทร 02-090-3116 เพื่อนัดหมายแพทย์