ตรวจยีน โรคทางพันธุกรรม (Genetic Testing)

ตรวจยีน โรคทางพันธุกรรม (Genetic Testing) ยีนก่อมะเร็ง ยีนแพ้ยา

ตรวจยีน หรือตรวจโรคทางพันธุกรรม (Genetic Testing) คือ การตรวจหายีนผิดปกติ หรือ ยีนกลายพันธุ์ ใน DNA เพื่อคัดกรองพาหะโรคทางพันธุกรรม ประเมินความเสี่ยงการเกิดโรค และป้องกันการส่งต่อโรคสู่ลูกหลาน การตรวจยีน

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ตรวจยีน โรคทางพันธุกรรม (Genetic Testing)

ตรวจยีน หรือตรวจโรคทางพันธุกรรม (Genetic Testing) คือ การตรวจหายีนผิดปกติ หรือ ยีนกลายพันธุ์ ใน DNA เพื่อคัดกรองพาหะโรคทางพันธุกรรม ประเมินความเสี่ยงการเกิดโรค และป้องกันการส่งต่อโรคสู่ลูกหลาน การตรวจยีน ช่วยค้นหายีนผิดปกติที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของรหัสพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก เช่น ยีนพาหะธาลัสซีเมีย ยีนก่อมะเร็ง ยีนแพ้ยา หรือยีนความเสี่ยงโรคหัวใจ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจโรคทางพันธุกรรม โรคหายาก หรืออาการเจ็บป่วยเรื้อรังรักษาไม่หายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยพยากรณ์การเกิดโรคล่วงหน้า ช่วยวางแผนการรักษาที่ตรงกับโรค และชี้แนวทางในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในระยะยาว

ทำไมต้องตรวจยีน

โรคทางพันธุกรรมและโรคหายากมีมากกว่า 7,000 ชนิด โรคที่พบได้บ่อย เช่น ธาลัสซีเมีย หูหนวกแต่กำเนิด หรือภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด ส่งผลให้เด็กที่เกิดมามีสุขภาพไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน และมีความจำเป็นต้องให้การรักษาไปตลอดชีวิต การตรวจยีน ช่วยคัดกรองพาหะโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากยีนเดี่ยวแบบครอบคลุม (Expanded carrier screening) ช่วยพยากรณ์โรค และประเมินความเสี่ยงในการเป็นพาหะส่งต่อโรคสู่ลูก

ในผู้ที่เป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อย มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งหลายคน เป็นมะเร็งหลายชนิดหรือหลายตำแหน่งแม้ไม่ได้เป็นพร้อมกัน หรือเป็นมะเร็งที่อวัยวะคู่พร้อมกัน เช่น มะเร็งเต้านมทั้ง 2 ข้าง การตรวจยีนก่อมะเร็ง ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษามะเร็งให้หายขาดได้ในกรณีที่ตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

สำหรับกลุ่มผู้ที่เป็นโรคลมชัก โรคเกาต์ วัณโรค หรือติดเชื้อเอชไอวี การทานยาต้านกลุ่มอาการจากโรคเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ผื่นแพ้ยาชนิดกลุ่มอาการ Stevens-Johnson syndrome (SJS) หรือ Toxic epidermal necrolysis (TEN) ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การตรวจยีนแพ้ยา ช่วยให้แพทย์เลือกใช้ยาและปรับขนาดยาให้ปลอดภัย ช่วยป้องกันกลุ่มอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ลดอาการแพ้ยา และลดอัตราการเสียชีวิต

ตรวจยีน โรคทางพันธุกรรม (Genetic Testing)

การตรวจยีน มีกี่แบบ

การตรวจยีน หรือการตรวจโรคทางพันธุกรรมมีหลายแบบ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการตรวจที่มีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการเฉพาะบุคคลให้ได้มากที่สุด การตรวจยีนที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่

  1. การตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด (Newborn screening) เป็นการตรวจคัดกรองโรคหรือกลุ่มโรคที่เป็นสาเหตุของภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ความพิการ หรือการเสียชีวิต เช่น กลุ่มโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด หรือโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) การตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด ช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาล่วงหน้า ช่วยลดอาการ และความรุนแรงของโรคได้ เช่น ในปัจจุบัน หากแพทย์สงสัยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก แพทย์อาจส่งตรวจสารเคมีในเลือด แล้วจึงตรวจยีนเพื่อยืนยันผลวินิจฉัย
  2. การตรวจคัดกรองพาหะโรคทางพันธุกรรม (Carrier testing) เป็นการตรวจหายีนพาหะโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงทางพันธุกรรม การตรวจคัดกรองพาหะโรคทางพันธุกรรม ช่วยตรวจหายีนแฝงหรือยีนพาหะก่อนตัดสินใจมีลูก ลดความเสี่ยงการส่งต่อโรคสู่ลูก และร่วมพิจารณาทางเลือกในการมีลูกด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว IVF หรือการทำ ICSI
  3. การตรวจความเสี่ยงโรคทางพันธุกรรมและการตรวจก่อนเกิดอาการ (Predictive and presymptomatic testing) เป็นการตรวจหายีนกลายพันธุ์ หรือยีนก่อโรคแฝงในร่างกายก่อนเกิดอาการในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคค่อนข้างแน่นอน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคชนิดนั้น เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือโรคทางระบบประสาท เช่น โรคฮันติงตัน
  4. การตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ (Pharmacogenomics testing) เป็นการตรวจยีนแพ้ยาและการตอบสนองต่อยา เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น กลุ่มผู้ที่เป็นโรคลมชัก โรคเกาต์ วัณโรค หรือติดเชื้อเอชไอวี เพื่อปรับขนาดยา บริหารยาให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการต้านโรคหรือกลุ่มอาการเหล่านั้นได้อย่างปลอดภัย
  5. การตรวจโครโมโซมตัวอ่อน (Preimplantation testing) เป็นการตรวจคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนในขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI) ก่อนย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ทารกที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง ปราศจากโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม เอ็ดเวิร์ดซินโดรม หรือเทอร์เนอร์ซินโดรม ทั้งยังเป็นการช่วยให้ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากสามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จ

การตรวจยีน คัดกรองโรคอะไร Genetic Testing Th 2

การตรวจยีน คัดกรองโรคอะไร

การตรวจยีน สามารถตรวจคัดกรองโรคหรือความผิดปกติที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หลายชนิด เช่น

  • ดาวน์ซินโดรม
  • ธาลัสซีเมีย
  • หูหนวกแต่กำเนิด
  • โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 
  • มะเร็งเต้านม
  • มะเร็งตับอ่อน
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
  • โรคการอักเสบแบบไม่ทราบสาเหตุ

ใครที่ควรตรวจยีน

  • ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหายาก หรือโรคทางพันธุกรรม
  • ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งหลายชนิด หรือหลายตำแหน่งพร้อมกันหรือไม่พร้อมกัน
  • ผู้ที่มียีนพาหะโรคทางพันธุกรรมที่ต้องการสร้างครอบครัวและมีลูก
  • ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยเป็น ๆ หาย ๆ หรือเจ็บป่วยเรื้อรังหาสาเหตุไม่ได้
  • พ่อแม่ที่เคยมีลูกเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว หรือ ธาลัสซีเมีย

ขั้นตอนการตรวจยีน Genetic Testing 2

ขั้นตอนการตรวจยีน

  1. เก็บตัวอย่างยีน  (Genes Collecting)
    แพทย์ด้านเวชพันธุศาสตร์เก็บตัวอย่างยีนเพื่อหายีนผิดปกติ ยีนที่เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือยีนกลายพันธุ์ เช่น เลือด น้ำลาย เส้นผม ผิวหนัง เนื้อเยื่อ เยื่อบุกระพุ้งแก้ม หรือการเจาะน้ำคร่ำตรวจ 
  2. ตรวจลำดับสารพันธุกรรม (DNA Sequencing)
    แพทย์จะนำตัวอย่างที่ได้ ส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อตรวจหายีนกลายพันธุ์ หรือยีนที่มีการแปรผันทางพันธุกรรมมากผิดปกติแบบลงลึกระดับ DNA โดยการใช้เทคโนโลยี Next Generation Sequencing (NGS) เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ ผ่านการตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
    • ตรวจลำดับพันธุกรรมเฉพาะเจาะจง (Targeted Variant Testing) เพื่อตรวจยีนโรคหายาก เช่น ตรวจการหายไปของยีน SMN1 ที่เป็นสาเหตุของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงทางพันธุกรรม หรือตรวจยีนแพ้ยา เช่น ยีน HLA-B*5801 เพื่อป้องกันการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดกลุ่มอาการ SJS หรือ TEN ในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคเกาต์ ก่อนการสั่งยา Allopurinol หรือการตรวจยีน HLA-B*1502 ในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคลมชัก ก่อนสั่งกลุ่มยากันชัก Carbamazepine
    • ตรวจลำดับพันธุกรรมในกลุ่มยีนก่อโรค (Multi-Genes Panel Sequencing) ตรวจหายีนผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มยีนก่อมะเร็ง เช่น ยีน BRCA1 และ BRCA2 เพื่อหาความเสี่ยงมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือยีน MYBPC3 และ MYH7 เพื่อหาความเสี่ยงโรคหัวใจ
    • ตรวจลำดับพันธุกรรมเฉพาะส่วน Exon ทั้งหมด (Whole Exome Sequencing: WES) ในกรณีที่ไม่ปรากฎกลุ่มโรคหรือกลุ่มอาการเฉพาะที่ชัดเจน แพทย์อาจพิจารณาการตรวจ WES เพื่อหายีนโรคทางพันธุกรรมหายากบางชนิดที่อาจพบความผิดปกติได้ในส่วนของ Exon แม้เป็น DNA เพียง 1.5-2% ของจีโนมทั้งหมดก็ตาม การตรวจ WES ในทุก ๆ Exon ช่วยให้แพทย์ค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของโรคได้มากถึงกว่า 80%
    • ตรวจลำดับพันธุกรรมทั้งหมดของ DNA (Whole Genome Sequencing: WGS) เป็นการตรวจลำดับพันธุกรรม 3,000 ล้านคู่ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของร่างกายในคราวเดียวกัน และทำการตรวจหายีนกลายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคทางพันธุกรรม โรคหายาก หรืออาการเจ็บป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ยีนกลายพันธุ์ไม่ได้อยู่ในส่วนของ Exon การตรวจ WGS เพื่อหาลำดับพันธุกรรมทั้งหมดของ DNA ช่วยให้พบยีนกลายพันธุ์ได้
  3. วิเคราะห์ลำดับสารพันธุกรรม (DNA Analyzing)
    ระบบคอมพิวเตอร์จะประมวลผลข้อมูลโดยการอ่านลำดับพันธุกรรมจำนวนมาก ๆ พร้อมกัน (Massive parallel sequencing) ในขณะสังเคราะห์สารพันธุกรรม แล้วจึงนำข้อมูลที่ได้ไปประมวลผลทางชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) เพื่อเรียงลำดับโมเลกุล DNA ทั้งหมดขึ้นมา และหาความแตกต่างทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดโรค
  4. รายงานผลการตรวจ (Results Reporting) 
    เมื่อการตรวจยีนเสร็จสิ้น นักวิทยาศาสตร์พันธุศาสตร์จะส่งผลการตรวจที่แสดงรายละเอียดของลำดับพันธุกรรมให้แพทย์ทราบ เพื่อให้แพทย์สรุปและรายงานผลการตรวจให้ผู้เข้ารับการตรวจทราบ เพื่อวางแนวทางในการรักษา การป้องกัน และการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลต่อไป

ผลการตรวจยีน บอกอะไร Genetic Testing 3

ผลการตรวจยีน บอกอะไร

ผลการตรวจยีน สามารถแปลผลออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. ผลการตรวจเป็นบวก (Positive result) 
    ผลการตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของยีน ยีนพาหะ หรือยีนกลายพันธุ์ 1 ยีน หรือมากกว่า ผู้เข้ารับการตรวจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคทางพันธุกรรม หรือถ่ายทอดยีนพาหะสู่ลูกหลาน ผลการตรวจเป็นบวก ทำให้ทราบถึงสถานะการมียีนพาหะแฝงในร่างกาย ช่วยหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วย และช่วยกระตุ้นเตือนให้สมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว เข้ารับการตรวจยีนเพื่อหายีนพาหะหรือสถานะความเสี่ยง
  2. ผลการตรวจเป็นลบ (Negative result) 
    ผลการตรวจไม่พบการเปลี่ยนแปลงของยีน ยีนพาหะ หรือยีนกลายพันธุ์ เป็นผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางพันธุกรรม หรือถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมสู่ลูกหลาน อย่างไรก็ตาม การตรวจไม่พบยีนกลายพันธุ์ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะไม่เป็นโรคทางพันธุกรรมในอนาคต แพทย์จึงแนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
  3. แปลผลได้ไม่ชัดเจน (Variant of uncertain significant: VUS) 
    ผลการตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของยีน ยีนพาหะ หรือยีนกลายพันธุ์ 1 ยีน หรือมากกว่า แต่ไม่อาจระบุได้ว่ายีนกลายพันธุ์นั้นเป็นยีนก่อโรค หรือยีนปกติที่มีความหลากหลายตามธรรมชาติ ในผู้ที่มีผลการตรวจไม่ชัดเจน แพทย์จะทำการตรวจจำเพาะเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถสรุปผลการตรวจได้ เนื่องจากในระยะยาว ผลการตรวจที่ไม่ชัดเจน อาจมีการเปลี่ยนแปลงผลการตรวจเป็นบวกหรือเป็นลบได้

การตรวจยีน ใช้เวลากี่วัน

โดยทั่วไป การตรวจยีนเดี่ยว หรือยีนกลุ่มเล็ก ๆ สามารถทราบผลการตรวจได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ ในขณะที่การตรวจแบบ WES หรือ WGS หรือการตรวจประเภทอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อน อาจใช้เวลาในการตรวจเพิ่มขึ้น 1-2 เดือน เพื่อให้สามารถประมวลผลและสรุปผลการตรวจได้

การตรวจยีน มีความแม่นยำแค่ไหน

การตรวจยีนช่วยให้ทราบถึงสถานะการมียีนพาหะ ยีนกลายพันธุ์ หรือยีนที่มีการแปรผันทางพันธุกรรมมากผิดปกติได้อย่างแม่นยำ แม้ว่าจะไม่สามารถยืนยันผลได้ 100% แต่สำหรับผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคมะเร็ง โรคหายาก หรือมีอาการเจ็บป่วยที่หาสาเหตุไม่ได้ การตรวจยีน อาจช่วยให้พบยีนกลายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุแห่งโรค นำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม และช่วยวางแผนการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในระยะยาว

ข้อดีของการตรวจยีน Genetic Testing Th 1

ข้อดีของการตรวจยีน

  • ช่วยให้ทราบข้อมูลสุขภาพสำคัญ (Inform crucial health information) โดยทั่วไป ร้อยละ 5 ของประชากรมักเจ็บป่วยด้วยโรคหายากชนิดใดชนิดหนึ่ง การตรวจยีน อาจช่วยให้ตรวจพบยีนกลายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคหายาก รวมถึงยีนก่อมะเร็ง หรือยีนต้านมะเร็ง ทำให้ทราบข้อมูลสุขภาพสำคัญส่วนบุคคล และให้แนวทางการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม
  • ช่วยประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) การตรวจยีน ช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรค และให้แนวทางการตัดสินใจทางการแพทย์ในการรับการรักษาเพื่อลดความเสี่ยง เช่น ผู้หญิงที่มีประวัติคุณแม่ พี่สาว น้องสาว คุณย่า หรือคุณยายเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ การตรวจพบยีน BRCA1 หรือ BRCA2 กลายพันธุ์ ช่วยชี้แนวทางในการตัดสินใจตัดเต้านมออกหรือรังไข่ออก เพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ที่อาจเกิดขึ้น
  • วางแผนการรักษาล่วงหน้า (Advance treatment planning) การตรวจยีน ช่วยให้ทราบสาเหตุของความผิดปกติ และอธิบายที่มาของกลุ่มอาการบางอย่าง ช่วยให้แพทย์วางขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมล่วงหน้าได้เร็ว เช่น ในเด็กที่เป็นออทิสติก หรือมีพัฒนาการล่าช้า การตรวจพบยีน FMR1 กลายพันธุ์ ช่วยให้พ่อแม่ทราบสาเหตุของพฤติกรรม และช่วยให้เด็กได้รับการบำบัดรักษาอาการได้เร็ว
  • ให้การรักษาตรงจุด (Provide precision treatment) ผู้ที่มียีนแพ้ยา มีความเสี่ยงต่อการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดกลุ่มอาการ SJS หรือ TEN มากกว่าผู้ที่ไม่มียีนแพ้ยาถึง 55 เท่า การตรวจพบยีน HLA-B*1502 กลายพันธุ์ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยาที่เป็นอันตราย ช่วยให้แพทย์จัดยาได้ถูกต้อง และช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้เป็นอย่างมาก
  • ป้องกันโรคเชิงรุก (Proactive disease prevention) การตรวจยีน ช่วยกระตุ้นการดูแลสุขภาพเชิงรุก ในผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด การตรวจยีนเพื่อวัดคะแนนความเสี่ยงแบบพหุปัจจัย (Polygenetic risk score: PRS) ช่วยค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือภาวะหัวใจห้องบนเต้นระรัว กระตุ้นการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิต เช่น การหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการทานอาหารไขมันสูง งดการดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกสูบบุหรี่ รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด
  • เวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive medicine) การตรวจยีน เป็นเวชศาสตร์ป้องกันที่อาจช่วยให้พบยีนกลายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในอนาคต นำไปสู่การวางแผนการตรวจคัดกรองมะเร็งที่เหมาะสมตามความเสี่ยงเฉพาะบุคคล เช่น อายุที่ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็ง วิธีที่เหมาะสม และความถี่ในการตรวจคัดกรอง

นพ.ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ ตรวจยีน โรคทางพันธุกรรม รพ. เมดพาร์ค

ตรวจยีน โรคทางพันธุกรรม รพ. เมดพาร์ค

ศูนย์เวชศาสตร์จีโนม รพ. เมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์ที่มีประสบการณ์ด้านการตรวจยีน ตรวจลำดับสารพันธุกรรมโรคทางพันธุกรรม โรคหายาก และตรวจโครโมโซมที่มีความผิดปกติ ร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์พันธุศาสตร์ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มาตรฐาน ISO ในการตรวจยีน และแปลผลลำดับพันธุกรรมที่มีความยากซับซ้อนด้วยเทคโนโลยี Next Generation Sequencing (NGS) ที่ทันสมัย เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่มีความถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ นำไปสู่การวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง ฉับไว และมีประสิทธิภาพ พร้อมด้วยทีมเภสัชกรด้านเภสัชพันธุศาสตร์ ที่ช่วยปรับขนาดยาตามแพทย์สั่งเพื่อให้มีความเหมาะสมเฉพาะบุคคลมากที่สุด ช่วยป้องกันอาการแพ้ยา ลดภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ผู้รับการรักษามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีโอกาสหายขาดจากโรค

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 21 ก.พ. 2025

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ

    นพ. ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ

    • อายุรศาสตร์
    • เวชพันธุศาสตร์
    เวชพันธุศาสตร์, อายุรกรรมทั่วไป