เลือกหัวข้อที่อ่าน
- กรดไหลย้อนเกิดจาก
- กรดไหลย้อนอาการ
- กรดไหลย้อน รักษา
- ภาวะแทรกซ้อนโรคกรดไหลย้อน
- กรดไหลย้อน ป้องกันอย่างไร
กรดไหลย้อน (GERD)
กรดไหลย้อน (GERD) คือ โรคที่เกิดจากน้ำย่อย กรด หรือแก๊ซในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหารซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง จนส่งผลให้เกิดการระคายเคืองที่เยื่อบุหลอดอาหาร ลิ้นปี่ หรือลำคอ ทำให้รู้สึกแสบร้อนกลางอก รู้สึกเปรี้ยว ขมคอ เหมือนมีอาหารย้อนขึ้นมาในลำคอ จนทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณหลอดอาหาร กล่องเสียง หรือลำคอ อาการกรดไหลย้อนจะปรากฎชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาตอนกลางคืน หรือในขณะนอนราบ ผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อน ควรพบแพทย์เพื่อรักษา ก่อนที่โรคจะพัฒนาเข้าสู่ระยะเรื้อรัง จนอาจทำให้เป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ในที่สุด
กรดไหลย้อนเกิดจาก
กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease) เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนปลาย หรือกล้ามเนื้อ LES ที่มีลักษณะเป็นวงแหวนกลมและมีแรงบีบของกล้ามเนื้อหูรูดต่ำ ทำให้หูรูดคลายตัว หูรูดเปิดออกบ่อยกว่าปกติ หรือปิดไม่สนิท ทำให้น้ำย่อย กรด และแก๊ซในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนขึ้นไปสู่หลอดอาหาร และทำให้เกิดกรดไหลย้อน โดยสาเหตุหลักของความผิดปกติดังกล่าวอาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ การดื่มน้ำอัดลม การทานอาหารทานไขมันสูง ทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด หรือการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก ได้แก่
- โรคไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatus hernia) เป็นโรคที่เกิดจากการที่กระเพาะอาหารส่วนต้นเคลื่อนที่ขึ้นไปเหนือกระบังลม ทำให้อาหารบางส่วนและน้ำย่อย ไหลย้อนกลับไปที่ทรวงอก
- ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร ทำให้อาหารที่รับประทาน เคลื่อนที่ลงสู่กระเพาะอาหารช้ากว่าปกติ หรือเกิดจากน้ำย่อยอาหารไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารและติดค้างอยู่ที่บริเวณหลอดอาหารนานกว่าปกติ
- การทานอาหารมากเกินไป จนทำให้กระเพาะอาหารขยายตัว กระเพาะอาหารยืดออก ส่งผลให้แรงดันของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายหรือกล้ามเนื้อ LES ลดต่ำ และทำให้หูรูดปิดไม่สนิท
- ความผิดปกติในการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ที่กระเพาะอาหารนานกว่าปกติ ซึ่งเกิดการรับประทานอาหารไขมันสูง อาหารทอด อาหารมัน หรือการทานช็อคโกแลตในปริมาณมาก ๆ
- ทานอาหารใกล้เวลานอน ทำให้อาหารยังคงตกค้างในกระเพาะอาหารเมื่อถึงเวลาเข้านอน ทำให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหารและลำคอ ทำให้เกิดอาการแสบร้อน และระคายเคือง
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาพ้นรักษาโรคหอบหืด ยาแอสไพริน ยารักษาความดันบางชนิด ยารักษาโรคซึมเศร้า
- ภาวะเครียด ทำให้หลอดอาหารมีความไวต่อกรด และมีอาการแสบร้อนระคายเคืองหลอดอาหารทันทีเมื่อมีกรดไหลย้อน
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคอ้วน โรคผิวหนังแข็ง และการตั้งครรภ์
กรดไหลย้อนอาการ
- แสบร้อนกลางอก ลิ้นปี่ หรือลำคอหลังทานอาหาร หรือขณะนอนราบ
- ไอต่อเนื่อง
- รู้สึกเปรี้ยวปาก ขมคอ
- รู้สึกเหมือนมีอาหารย้อนขึ้นมาในลำคอ
- รู้สึกจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- มีอาการเรอเปรี้ยว มีกรดหรือน้ำย่อยรสเปรี้ยวหรือรสขม ย้อนขึ้นมาที่ลำคอและปาก
- รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียนหลังทานอาหาร
กรดไหลย้อนเรื้อรังอาการ
- เจ็บหน้าอกคล้ายอาการของโรคหัวใจ
- ไอเรื้อรัง เสียงแหบแห้ง
- กล่องเสียงอักเสบ เสียงเปลี่ยน
- มีภาวะกลืนลำบาก
- มีกลิ่นปาก ฟันผุ
- ในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด อาจทำให้อาการแย่ลง
- ในผู้ที่มีอาการขย้อนน้ำย่อยหรืออาหารขึ้นมาอย่างแรง อาจทำให้เกิดการสำลักน้ำย่อยเข้าไปในปอด และทำให้ปอดอักเสบ
อาการกรดไหลย้อนในเด็กเล็ก และทารก
- อาเจียนบ่อย ๆ สำลัก
- ร้องไห้บ่อย ไม่อยากทานอาหาร
- หายใจลำบาก
- รู้สึกเปรี้ยวปากหรือขมคอ ในขณะนอนราบ
- เสียงแหบแห้ง
- นอนหลับยากหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในเด็กทารก
กรดไหลย้อน วินิจฉัยอย่างไร
แพทย์จะทำการวินิจฉัยกรดไหลย้อนโดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจดูอาการแสดงของผู้เข้ารับการตรวจ หากเข้าข่ายเป็นกรดไหลย้อน และวินิจฉัยระยะของโรคว่าอยู่ในระยะแรกเริ่มหรือเรื้อรัง ในการตรวจเบื้องต้น หากแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคได้ แพทย์อาจขอให้มีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังนี้
- ส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ส่วนต้น (Gastroscopy: EDG) โดยการส่องกล้อง Endoscope ผ่านเข้าทางปาก ลำคอ และหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น เพื่อตรวจหาสาเหตุ หากมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ซึ่งหากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติ แพทย์อาจพิจารณาตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) เพื่อตรวจพยาธิสภาพต่อไป
- Upper GI X-rays เป็นการตรวจโดยการให้กลืนสารทึบรังสีเคลือบทางเดินอาหารส่วนบน เพื่อช่วยให้แพทย์มองเห็นการตีบตัน หรือแผลบริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ส่วนต้น เพื่อหาสาเหตุของกรดไหลย้อนต่อไป
- ตรวจสอบค่า pH หรือค่าความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร เพื่อวัดความถี่และเวลาที่เกิดกรดไหลย้อนในหลอดอาหารผ่านสายสวน (Catheter) โดยค่าความเป็นกรด-ด่างจะปรากฎบนจอภาพเพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้
- การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear imaging examination) เป็นการตรวจการทำงานของอวัยวะภายใน เพื่อวินิจฉัยโรค แยกโรค โดยสามารถหาความผิดปกติของโรคได้ถึงระดับโมเลกุล ช่วยให้หาความผิดปกติของโรคได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
- ตรวจวัดการทำงานของหลอดอาหาร (Esophageal Manometry) ทดสอบการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารทั้งส่วนบนและล่าง วัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารขณะกลืนอาหารเพื่อตรวจภาวะกลืนลำบาก หรืออาการเจ็บหน้าอก รวมถึงการทำงานของหลอดอาหารที่ผิดปกติ
กรดไหลย้อน รักษา
การรักษากรดไหลย้อนสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แนวทาง คือ 1.) รักษาด้วยยา ควบคู่กับ 2.) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต 3.) การผ่าตัด และ 4.) การส่องกล้องเย็บหูรูดหลอดอาหาร ในกรณีที่โรคกรดไหลย้อนไม่ตอบสนองตอการรักษาได้ด้วยยา หรือมีอาการของโรคกรดไหลย้อนระดับรุนแรง
การรักษาด้วยยา กลุ่มยาลดกรดและเคลือบแผลในกระเพาะอาหาร ยาลดการผลิตกรด หรือยาลดการคลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหาร เพื่อยับยั้งการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ลดการอักเสบของหลอดอาหาร หรือป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อน กลับขึ้นไปยังหลอดอาหารได้ โดยกลุ่มยารักษาโรคกรดไหลย้อน ให้ผลการรักษาที่ดี และช่วยให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วหลังเริ่มทานยา
การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม
- ทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่ควรทานอาหารแล้วเข้านอนทันที
- เว้นระยะห่างระหว่างมื้ออาหาร และการเข้านอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารจนอิ่มมากเกินไป
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ควรลดน้ำหนัก
- หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน ชา กาแฟ น้ำอัดลม
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด ของทอด อาหารไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด เค็มจัด หวานจัด
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือ 2
- ปรับหมอนหนุนให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว
- ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดรูปมากจนเกินไป
- ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การรักษาด้วยการผ่าตัดนำกระเพาะอาหารมารัดรอบกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารหูรูดส่วนปลาย (Esophageal sphincter surgery) เพื่อซ่อมแซมให้หูรูดหลอดอาหารรัดตัว หรือบีบตัวได้ดีขึ้น
การส่องกล้องเย็บหูรูดหลอดอาหารด้วยเทคนิค TIF (Transoral incisionless fundoplication) สำหรับผู้ที่มีอาการของกรดไหลย้อนอักเสบรุนแรง ที่การรักษาด้วยยาไม่สามารถทำให้อาการทุเลาลงได้ หรือผู้ที่ไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยารักษาโรคกรดไหลย้อนได้ แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยวิธีการส่องกล้องเย็บหูรูดหลอดอาหารผ่านทางปากด้วยเทคนิค TIF ผ่านการส่องกล้องทางปาก ไปยังหลอดอาหารเพื่อเย็บหูรูดหลอดอาหารใหม่ ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไม่สามารถไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหารได้ โดยเป็นการรักษาที่มีความปลอดภัย ฟื้นตัวไว ให้ผลในการรักษาที่ดี และไม่มีแผลผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนโรคกรดไหลย้อน
- การอักเสบของหลอดอาหาร (Esophagitis) เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารกัดเนื้อเยื่อในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดการอักเสบ เลือดออก หรือเป็นแผลพุพอง การอักแสบของเนื้อเยื่อหลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารอักเสบ เป็นสาเหตุของภาวะกลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บ และเจ็บหน้าอก
- ภาวะหลอดอาหารตีบตัน (Esophageal stenosis) การอักเสบของแผลที่บริเวณหลอดอาหารส่วนปลายที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารอาจทำให้เกิดการอักเสบ ตีบตัน และทำให้ทางเดินอาหารตีบแคบ ส่งผลให้มีภาวะกลืนลำบาก
- โรค Barrett’s esophagus และมะเร็งหลอดอาหาร โรคกรดไหลย้อนเรื้อรังทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์เยื่อยบุปลายหลอดอาหาร และทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรค Barrett’s esophagus และมะเร็งหลอดอาหาร
กรดไหลย้อน ป้องกันอย่างไร
- ทานอาหารให้เป็นเวลา ไม่ทานอาหารใกล้เวลานอน
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในค่ามาตรฐาน
- หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด มันจัด เผ็ดจัด
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำอัดลม การสูบบุหรี่
- สวมเสื้อผ้าให้พอดี ไม่รัดแน่นจนเกินไป
- ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
กรดไหลย้อน อาการแสบร้อน ที่รักษาได้
กรดไหลย้อน สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการทานอาหาร การนอน และการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคกรดไหลย้อนอันอาจส่งเสียต่อสุขภาพร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวัน
โรคกรดไหลย้อนระยะแรกเริ่มสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยา อย่างไรก็ตาม หากมีอาการของโรคกรดไหลย้อนรุนแรงต่อเนื่องเกินกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และมีอาการร่วม เช่น ปวดกราม เจ็บหน้าอกร้าวไปแขน มีภาวะกลืนลำบาก หรือหายใจลำบาก ควรรีบพบแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับที่มีความชำนาญและประสบการณ์เพื่อทำการวินิจฉัย หาสาเหตุ และรักษาอาการกรดไหลย้อนให้หายดีโดยเร็ว