อาการ สาเหตุ และวิธีรักษาโรคเกาต์ (Gout)

โรคเกาต์

โรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยเกิดขึ้นได้ในทุกเพศและทุกวัย ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการปวดที่เกิดขึ้นเร็ว บวมแดง และแสบร้อนข้อต่อในร่างกาย

แชร์

โรคเกาต์ คือโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยเกิดขึ้นได้ในทุกเพศและทุกวัย ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการปวดที่เกิดขึ้นเร็ว บวมแดง และแสบร้อนข้อต่อในร่างกาย แต่โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ข้อนิ้วหัวแม่เท้า โรคเกาต์สามารถกำเริบขึ้นได้ทุกเวลาซึ่งทำให้ตื่นกลางดึกด้วยความปวดร้อนบริเวณนิ้วหัวแม่เท้าเหมือนถูกไฟลวก  ความรุนแรงของอาการโรคเกาต์อาจมีสลับหนักเบา  อย่างไรก็ตามมีวิธีจัดการและป้องกันอาการเหล่านี้ได้

อาการที่พบได้
ข้อที่อักเสบจากโรคเกาต์จะร้อนและปวดรุนแรง จนไม่สามารถทนแม้แต่แรงกดจากน้ำหนักของผ้าปูที่นอน อาการเจ็บปวดมักจะรุนแรงในช่วง 4-12 ชั่วโมงแรก ส่งผลให้เคลื่อนไหวขยับข้อได้ค่อนข้างจำกัด ผิวหนังบริเวณข้อมีสีแดงและแวววาวขึ้น เนื้อเยื่อรอบข้อบวมขึ้น

อาการปวดข้ออาจเกิดขึ้นตั้งแต่ 2-3 วันจนถึง 2-3 สัปดาห์และจะค่อย ๆ ทุเลาลงตามลำดับ ซึ่งอาการที่กำเริบซ้ำในอนาคตมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นและเกิดในข้ออื่นได้เพิ่มขึ้น

ควรพบแพทย์เมื่อไร
หากเกิดอาการเจ็บปวดอย่างฉับพลันบริเวณข้อต่อใดก็ตามควรพบแพทย์โดยเร็ว ทั้งนี้ โรคเกาต์ที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สุขสบายและข้อต่อถูกทำลายให้เสียหายได้  และหากพบว่ามีไข้ แสบร้อนและบวมแดงบริเวณข้อต่ออาจเป็นจากการติดเชื้อในข้อได้ ควรพบแพทย์ทันทีเพื่อจำกัดความเสียหายต่อข้อนั้น

สาเหตุ
การสะสมตัวของกรดยูริกในกระแสเลือดส่งผลให้เกิดโรคเกาต์ได้ ร่างกายสร้างกรดยูริกจากการสลายตัวของสารเพียวรีนในอาหารและเครื่องดื่มที่รับประทานและจากแหล่งภายในร่างกายเอง อาหารที่มีสารเพียวรีนสูงได้แก่ เนื้อแดง เครื่องใน เช่นตับ และอาหารทะเล เช่น เคย ปลาซาร์ดีน หอยแมลงภู่ หอยเชลล์ ปลาเทราต์ และปลาทูน่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลฟรุกโตสจะเพิ่มระดับกรดยูริกในร่างกายได้

ปกติร่างกายจะขับกรดยูริกออกทางไตผ่านทางปัสสาวะ เมื่อร่างกายสร้างกรดยูริกมากเกินไป หรือขับออกทางไตได้น้อยเกินไป

ระดับกรดยูริกในเลือดจะสูงขึ้น จนเกิดการตกผลึกของกรดยูริกภายในข้อต่อได้ ผลึกที่มีรูปร่างคล้ายเข็มเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเป็นโรคเกาต์ อย่างไรก็ตามกรดยูริกที่สูงเกินมาตรฐานอาจไม่ทำให้เกิดโรคเกาต์เสมอไป ขึ้นอยู่กับร่างกายแต่ละบุคคล

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค
ระดับกรดยูริกในร่างกายที่สูงเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีโอกาสเป็นโรคเกาต์ได้มากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารเพียวรีนสูงรวมทั้งเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล  ผู้ชายมี่ความเสี่ยงเกิดโรคเกาต์มากกว่าสตรี 4-10 เท่า

การมีน้ำหนักเกินมาตรฐานส่งผลให้ร่างกายสร้างกรดยูริกเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นโรคเกาต์ได้เร็วขึ้นในอายุน้อย โอกาสเป็นโรคเกาต์สูงขึ้นในคนเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน กลุ่มอาการทางเมตาบอลิซึม โรคหัวใจและ โรคไต ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเกาต์

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยโรคเกาต์อาจมีปัญหาที่รุนแรงตามมา เช่น เป็นโรคเกาต์ที่กำเริบขึ้นซ้ำ ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ยาอาจป้องกันการเกิดโรคเกาต์ซ้ำ ๆ ได้ แต่หากละเลยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ข้อต่อถูกกันกร่อนทำลายจนเกิดความเสียหายที่รุนแรงได้ นอกจากนี้อาจมีการสะสมของผลึกยูเรต ใต้ผิวหนังเป็นก้อนที่เรียกว่า Tophi ซึ่งก้อน Tophi สามารถพบได้ทั้งบริเวณนิ้ว มือ เท้า ข้อศอก และเอ็นร้อยหวายหลังข้อเท้า โดยทั่วไปแล้วก้อน Tophi ใม่มีอาการเจ็บ แต่อาจเกิดอาการบวมและเจ็บขึ้นเมื่อโรคเกาต์กำเริบ

 การวินิจฉัยโรค

  • หากมีอาการที่รุนแรง แพทย์อาจวินิจฉัยให้ทำการรักษาโดยใช้เข็มเจาะบริเวณข้อต่อที่มีอาการเพื่อนำของเหลวออกโดยตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
  • การตรวจเลือดเพื่อวัดระดับความเข้มข้นของกรดยูริกในเลือด
  • การเอ็กซเรย์ข้อต่อเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ของการอักเสบ
  • การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์จะช่วยตรวจจับผลึกเกลือยูเรตในข้อต่อได้
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบ DECT (Dual energy CT scan) ประกอบภาพเอ็กซ์เรย์จากมุมต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อวิเคราะห์ผลึกเกลือยูเรตในข้อต่อ

การรักษา
ยารักษาโรคเกาต์มี 2 ประเภท โดยแต่ละประเภทมีเป้าหมายในการรักษาที่แตกต่างกัน

  1. ยาประเภทแรกช่วยลดการอักเสบและความรู้สึกไม่สบายตัวที่มาพร้อมกับโรคเกาต์
  2. ยาประเภทที่สองช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเกาต์โดยลดระดับกรดยูริกในเลือดให้สมดุล

ทั้งนี้ชนิดยาที่ควรรับประทานนั้นขึ้นอยู่กับความถี่และความรุนแรงของอาการที่เป็น

 การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการดูแลรักษาตัวที่บ้าน
การรักษาด้วยยาเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการรักษาโรคเกาต์ รวมถึงการป้องกันอาการกำเริบซ้ำ อย่างไรก็ตามการปรับวิถีชีวิตประจำวันก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน  หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่เป็นปัญหา เช่น ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทรายและน้ำตาลฟรุกโตส และควรดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
แพทย์อาจจะถามคำถามดังต่อไปนี้

  • มีอาการอย่างไรบ้าง
  • มีอาการเหล่านี้ครั้งแรกเมื่อไร
  • อาการเหล่านี้เป็น ๆ หาย ๆ หรือเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน
  • มีอะไรที่ส่งผลให้อาการแย่ลงหรือไม่ เช่น อาหารหรือความเครียด
  • มีโรคประจำตัวอื่นที่ต้องได้รับการรักษาหรือไม่
  • มีญาติหรือคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ หรือ พี่น้องเป็นโรคเกาต์หรือไม่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ถ้าดื่ม ดื่มบ่อยแค่ไหน

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 20 ก.ค. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. สุดอำไพ จารุกิจโสภา

    พญ. สุดอำไพ จารุกิจโสภา

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม
    โรคเกาต์, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคแพ้ภูมิตัวเอง, โรคแพ้ภูมิตัวเอง, กล้ามเนื้ออักเสบ, โรคข้อเสื่อม
  • Link to doctor
    พญ. นันทรัตน์ วงษ์วรอาภรณ์

    พญ. นันทรัตน์ วงษ์วรอาภรณ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม
    อายุรกรรมทั่วไป, เวชศาสตร์ป้องกัน
  • Link to doctor
    นพ. วิรัตน์ ภิญโญพรพานิช

    นพ. วิรัตน์ ภิญโญพรพานิช

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม
    โรคเกาต์, โรคกระดูกพรุน, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคแพ้ภูมิตัวเอง