เลือกหัวข้อที่อ่าน
- การตรวจการได้ยินคืออะไร
- ตรวจการได้ยิน มีวิธีอย่างไร
- ใครเป็นผู้ตรวจการได้ยิน
- ตรวจการได้ยิน มีขั้นตอนอย่างไร
- ผู้ใหญ่และเด็กควรเข้ารับการตรวจการได้ยินบ่อยแค่ไหน
- จะป้องกันการสูญเสียการได้ยินได้อย่างไร
ตรวจการได้ยิน
การทดสอบการได้ยินหรือการตรวจการได้ยินเป็นการประเมินสมรรถภาพการได้ยินของแต่ละบุคคล เป็นการตรวจคัดกรองเพื่อประเมินความสามารถในการได้ยินหรือตรวจวินิจฉัยปัญหาการได้ยิน การตรวจการได้ยินเป็นการตรวจที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและผู้มารับการตรวจไม่ต้องเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ
การตรวจการได้ยินคืออะไร
การตรวจการได้ยินเป็นการประเมินว่าผู้มารับการตรวจสูญเสียการได้ยินหรือไม่และสูญเสียมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตรวจในแต่ละครั้งอาจใช้เทคนิคการตรวจแตกต่างกันไป วิธีที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ได้แก่ การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry) ซึ่งใช้กราฟ Audiogram แสดงผล การตรวจการได้ยินนั้นไม่เจ็บและไม่ต้องเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ ยกเว้นการตรวจบางชนิด ในเด็กเล็กบางรายอาจต้องให้ยานอนหลับโดยอยู่ในความดูแลของแพทย์
แพทย์จะตรวจการได้ยิน โดยมีจุดประสงค์เพื่อตรวจคัดกรองหรือตรวจวินิจฉัย หากผู้เข้ารับการตรวจไม่ผ่านการทดสอบ จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมโดยนักแก้ไขการได้ยินเพื่อประเมินประเภทและความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยิน
ตรวจการได้ยิน มีวิธีอย่างไร
- การตรวจการได้ยินโดยใช้เสียงบริสุทธิ์ (Pure-tone Testing) เป็นประเมินระดับเสียงที่เบาที่สุดที่ผู้มารับการตรวจสามารถได้ยินในแต่ละความถี่ทุ้มแหลม Pure- tone Testing มีการนำเสียงได้ 2 แบบ คือ Air Conduction การนำเสียงทางอากาศผ่านหูฟัง และ Bone Conduction การนำเสียงทางกระดูก ผ่านทาง Bone Vibrator หรือ Bone conductor
- การตรวจการได้ยินด้วยคำพูด (Speech Testing) ผู้เข้ารับการตรวจจะฟังและพูดทวนคำที่ได้ยินเพื่อประเมินระดับเสียงที่เบาที่สุดและความสามารถการฟังเข้าใจคำพูด.
- การตรวจประเมินการทำงานของหูชั้นกลาง (Tests of Middle Ear) เพื่อวัดการเคลื่อนไหวของเยื่อแก้วหูและหูชั้นกลางที่มีต่อแรงดันอากาศและเสียงดัง เช่น ดูว่าแก้วหูฉีกขาด มีน้ำมีหนองหรืออักเสบติดเชื้อของหูชั้นกลาง ท่อระบายความดันในหูชั้นกลางทำงานผิดปกติ หรือมีขี้หูตันหรือรูหูตีบหรือไม่ เป็นต้น
- การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง Auditory Brainstem Response (ABR) เป็นการประเมินเส้นประสาทระหว่างหูชั้นในกับก้านสมอง นอกจากนี้ ABR ยังเป็นการตรวจคัดกรองการได้ยินและระดับการสูญเสียการได้ยินในเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถตรวจด้วยการตรวจการได้ยิน Pure-tone Audiometry ได้ หรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ส่งผลต่อการได้ยินหรือในรายที่แพทย์สงสัยว่ามีความผิดปกติของเส้นประสาทการได้ยิน หรือมีเนื้องอกของเส้นประสาท
- การตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นใน (Otoacoustic Emissions Test: OAE) เพื่อประเมินการทำงานของหูชั้นใน และเป็นการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดด้วย นอกจากนี้ยังช่วยคาดคะเนระดับการได้ยิน รวมถึงประเมินและเฝ้าระวังการได้ยินจากการได้รับยาหรือสารเคมีที่เป็นพิษต่อหูชั้นใน
ใครเป็นผู้ตรวจการได้ยิน
แพทย์ทั่วไปสามารถตรวจคัดกรองการได้ยินได้ แต่การตรวจวินิจฉัยมักทำโดยนักแก้ไขการได้ยินหรือนักโสตสัมผัสวิทยา (Audiologist)
ขั้นตอนการตรวจการได้ยินแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง
1. การตรวจการได้ยินโดยใช้เสียงบริสุทธิ์ (Pure-tone Testing)ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด
- Air Conduction Testing ผู้เข้ารับการตรวจจะใส่หูฟังและนั่งในห้องเก็บเสียง
- นักแก้ไขการได้ยินใช้เครื่องวัดการได้ยิน (Audiometer) ส่งสัญญาณเสียงในคลื่นความถี่ทุ้มแหลม และความดังต่าง ๆ กัน
- เมื่อได้ยินเสียง ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องกดปุ่ม หรือ ยกมือ หรือตอบว่า “ได้ยิน”
- นักแก้ไขการได้ยินจะบันทึกการตอบสนองลงในกราฟ audiogram
- Bone Conduction Testing การตรวจการได้ยินทางกระดูก
- นักแก้ไขการได้ยินจะติดอุปกรณ์เล็ก ๆ ที่ด้านหลังใบหูหรือบนหน้าผากของผู้เข้ารับการตรวจ
- อุปกรณ์จะส่งเสียงทำให้กะโหลกสั่นเบา ๆ การสั่นนั้นจะเข้าไปทางหูชั้นใน ไม่ผ่านหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง
- เมื่อได้ยินเสียง ก็ตอบสนองโดยการกดปุ่ม หรือ ยกมือ หรือพูดว่าได้ยิน
- นักแก้ไขการได้ยินจะบันทึกการตอบสนองลงในกราฟ audiogram
2. การตรวจการได้ยินด้วยคำพูด (Speech Testing)
- นักแก้ไขการได้ยินมักจะทำการตรวจวิธีนี้ควบคู่กับการตรวจแบบ Pure-tone Testing เพื่อประเมินความสามารถในการได้ยินและความสามารถในการพูดตาม
- ผู้รับการตรวจจะสวมหูฟัง และนักแก้ไขการได้ยินจะพูดคำ 2 พยางค์ ที่ระดับความเสียงแตกต่างกันไป และผู้เข้ารับการตรวจจะต้องพูดตาม
- นักแก้ไขการได้ยินจะบันทึกเสียงพูดที่เบาที่สุดที่ผู้เข้ารับการตรวจสามารถพูดตาม 2 พยางค์ได้ถูกต้อง
- นักแก้ไขการได้ยินจะใช้ความดังที่ฟังดังสบายแล้วให้พูดตามชุดคำพูดพยางค์เดียว (1 syllable word) แล้วลงบันทึกเปอร์เซ็นต์ที่พูดได้ถูกต้อง (0 - 100%)
3. การตรวจเพื่อประเมินการทำงานของหูชั้นกลาง (Tests of Middle Ear)
เยื่อแก้วหูเป็นเยื่อระหว่างหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง เมื่อคลื่นเสียงจากหูชั้นนอกไปถึงเยื่อแก้วหู จะเกิดการสั่นสะเทือน ซึ่งจะผ่านไปยังหูชั้นกลางและหูชั้นในเพื่อส่งสัญญาณไปยังสมองและแปลออกมาเป็นเสียง การตรวจประเภทนี้จะทดสอบว่าเยื่อแก้วหูตอบสนองแรงดันอากาศและเสียงดังได้ดีเท่าไร
- Tympanometry เป็นการทดสอบว่าการเคลื่อนไหวของเยื่อแก้วหู นอกจากนี้ยังช่วยทดสอบว่าท่อระบายความดันในหูชั้นกลางทำงานผิดปกติหรือไม่
- Acoustic Reflex Measures เป็นการทดสอบการตอบสนองของกล้ามเนื้อในหูชั้นกลางต่อเสียงดังในแต่ละความถี่ (500-4000 เฮิรตซ์)
- Static Acoustic Measures เป็นการทดสอบว่ามีปริมาตรอากาศในรูหู เพื่อดูว่ามีการอุดตันตีบของรูหู เยื่อแก้วหูทะลุ ท่อที่แพทย์สอดไว้ที่เยื่อแก้วหูตันหรือไม่
ตรวจการได้ยิน มีขั้นตอนอย่างไร
-
- นักแก้ไขการได้ยินจะใส่หัวตรวจที่คล้ายหูฟังและมียางนิ่ม ๆ ใส่เข้าไปในรูหูผู้เข้ารับการตรวจ
- จากนั้นจะเหมือนมีลมดันเข้าหูเล็กน้อยและมีเสียงดังเข้าหูเป็นช่วงๆ โดยผู้ถูกตรวจต้องนิ่ง ไม่พูด ไม่กลืนน้ำลาย และหายใจตามปกติ
- เครื่องมือจะดันอากาศเข้าไปในหูและมีเสียงดังแต่ละโทน แสดงผลออกมาเป็นกราฟเรียกว่า Tympanogram ที่แสดงการเคลื่อนไหวของเยื่อแก้วหู รวมทั้งตัวเลขและตารางแสดงการทำงานของหูชั้นกลาง
4. การตรวจ Auditory Brainstem Response (ABR)
เป็นการประเมินเส้นประสาทระหว่างหูชั้นในกับสมอง ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องพูดตอบสนองใด ๆ
- ผู้เข้ารับการตรวจจะใส่หูฟังที่เป็นโฟมนิ่ม ๆ ใส่เข้าไปในรูหูผู้เข้ารับการตรวจ
- นักแก้ไขการได้ยินจะติดขั้วนำไฟฟ้าบนหน้าผาก ด้านหลังใบหูหรือติ่งหูทั้งสองข้างของผู้เข้ารับการตรวจ ซึ่งขั้วนำไฟฟ้าจะบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองที่ตอบสนองต่อเสียงที่ใช้ตรวจ
- คอมพิวเตอร์จะแสดงคลื่นไฟฟ้าสมองและนักแก้ไขการได้ยินจะแปลผลที่ได้
5. การตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นใน (Otoacoustic Emissions Test: OAE)
เป็นการตรวจการทำงานของหูชั้นใน ผ่านเสียงสะท้อนของเซลล์ขนภายในหูชั้นใน ซึ่งเซลล์ขนจะสั่นสะเทือนเมื่อเสียงคลื่นเสียงมากระทบ ในผู้ที่สูญเสียการได้ยิน เซลล์ขนในหูชั้นในจะทำงานไม่ปกติ
- ผู้เข้ารับการตรวจจะใส่หัวตรวจมีปลายเป็นยางนิ่ม ๆ ซึ่งหัวตรวจจะส่งสัญญาณและวัดเสียงที่สะท้อนกลับมา
- โดยผู้ถูกตรวจไม่ต้องทำอะไร แค่นิ่ง ๆ สักครู่ ผลตรวจก็จะแสดงออกทางหน้าจอเครื่องเลย
เมื่อไรถึงจะทราบผลการตรวจการได้ยิน
โดยปกติผลจะออกทันทีหลังการตรวจ โดยแพทย์จะเป็นผู้อธิบายผลให้ทราบ
ขั้นตอนต่อไป คืออะไร
หากผู้มารับการตรวจมีขี้หูอุดตันรูหูหรือมีน้ำมีหนองในหูชั้นกลาง แพทย์ทั่วไปจะแนะนำให้พบกับแพทย์เฉพาะทางด้านหูคอจมูกเพื่อนำสิ่งที่อุดกั้นออก ก่อนที่จะส่งตรวจการได้ยิน
หากการตรวจการได้ยินโดยใช้เสียงบริสุทธิ์ (Pure-tone Testing) แสดงผลว่ามีการสูญเสียการได้ยิน แพทย์จะเป็นผู้อธิบายผลให้ทราบและดำเนินการต่อ ดังต่อไปนี้
- แจ้งให้ผู้มารับการตรวจทราบถึงระดับการสูญเสียการได้ยินว่าไม่รุนแรง ปานกลาง หรือรุนแรง รวมทั้งชนิดและสาเหตุของการสูญเสียการได้ยิน
- แนวทางการรักษา เช่น การกินยา การหยอดยา การดูดขี้หู การผ่าตัด การใส่เครื่องช่วยฟัง ฝังประสาทหูเทียม เป็นต้น
- หากจำเป็น อาจส่งต่อนักแก้ไขการได้ยิน เพื่อปรึกษาเรื่องเครื่องช่วยฟังและทดลองฟังเสียงจากเครื่องช่วยฟัง พร้อมทั้งช่วยเลือกเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับผู้ใส่แต่ละคน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและเข้ากับรูปแบบของชีวิตประจำวันแต่ละคน
- นัดติดตามอาการหรือส่งต่อเพื่อใส่ประสาทหูเทียมหรือฝึกฟังฝึกพูด
ผู้ใหญ่และเด็กควรเข้ารับการตรวจการได้ยินบ่อยแค่ไหน
- เด็ก: เด็กแรกเกิดจะได้รับการตรวจการได้ยินหลัง 24 ชั่วโมงหรือก่อนกลับบ้าน สำหรับเด็กบางรายที่ไม่ได้คลอดที่โรงพยาบาล ควรเข้ารับการตรวจการได้ยินให้เร็วที่สุด โดยเด็กทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินให้แล้วเสร็จเมื่ออายุ 1 เดือน
ความบกพร่องทางการได้ยินอาจทําให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็กไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านภาษาหรือการพูด พูดไม่ชัด ผลการเรียนที่ไม่ดี การปรับตัวที่ไม่เหมาะสมส่วนบุคคลและสังคม และการรบกวนทางอารมณ์และจิตใจ
เมื่อเข้าโรงเรียน โรงเรียนอาจจัดให้มีการตรวจการได้ยินด้วยการตรวจการได้ยินโดยใช้เสียงบริสุทธิ์ (Pure-tone Testing) ซึ่งอาจแสดงผลว่าผ่านหรือไม่ผ่าน หากผลออกมาว่าไม่ผ่าน ควรพาบุตรหลานไปตรวจเพิ่มเติม
- ผู้ใหญ่: ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ไม่มีปัญหาเรื่องการได้ยินและไม่มีความเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจการได้ยินทุก 10 ปี และผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจทุก 3 ปี หากทํางานหรือสัมผัสเสียงที่มีระดับเสียงดังเกิน 85 dBA ควรตรวจการได้ยินทุกปี และผู้ที่สัมผัสเสียงดังที่ระดับ 100 dBA ขึ้นไป ควรตรวจการได้ยินทุก 6 เดือน
วิธีการรักษาการสูญเสียการได้ยินขึ้นอยู่กับสาเหตุ แม้ว่าจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถจัดการภาวะดังกล่าวได้ การรักษาที่มักนิยมใช้ได้แก่ การใช้เครื่องช่วยฟัง การผ่าตัดประสาทหูเทียมชนิดนำเสียงผ่านกระดูก (Auditory Osseointegrated Implants ) การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (Cochlear implants) การใส่ท่อในหู (Tympanostomy tubes) การส่องกล้องผ่าตัดหู (Endoscopic ear surgery) และการฟื้นฟูสมรรถภาพการฟัง (Aural rehabilitation)
จะป้องกันการสูญเสียการได้ยินได้อย่างไร
- เมื่ออายุมากขึ้น คนเราจะเริ่มสูญเสียการได้ยินทีละน้อย อันเกิดจากความเสื่อมถอยตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามเราสามารถชะลอการสูญเสียการได้ยินได้โดย หลีกเลี่ยงและจํากัดเวลาที่ใช้ในการทํากิจกรรมที่มีเสียงดัง
- หากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสียงดัง ควรใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ที่อุดหูหรือที่ครอบหูลดเสียง
- ตรวจสอบระดับการฟังที่ปลอดภัย เช่น หูฟังเครื่องเสียง ควรตั้งค่าระดับเสียงไม่เกิน 60% ของระดับเสียงสูงสุดและจํากัดการใช้ให้น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ควรใช้แอปพลิเคชันที่ช่วยตรวจสอบและเตือนหากเกินขีดจํากัด (80 dBA เป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)
- สังเกตอาการเตือนของการสูญเสียการได้ยิน เช่น การได้ยินแย่ลง ความยากลําบากในการทําความเข้าใจคําพูดโดยเฉพาะทางโทรศัพท์หรือโทรทัศน์ ต้องเปิดความดังมากขึ้น และการติดตามการสนทนาในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง เสียงรบกวนในหู (Tinnitus) ปวดหู มีเลือดมีหนองไหลออกจากหู หูอื้อ เวียนหัวบ้านหมุน เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์
- ตรวจคัดกรองการได้ยินเป็นประจําเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพด้านอื่นๆประจำปี เพื่อค้นหาปัญหาของการสูญเสียการได้ยินในระยะแรกและแก้ไขอย่างทันท่วงที
หากสงสัยหรือว่าเริ่มมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ควรนัดพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุของอาการ
คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
การตรวจการได้ยินมีประสิทธิภาพในการประเมินการสูญเสียการได้ยิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตามอายุที่มากขึ้น หากสงสัยหรือมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ควรขอรับคำปรึกษาจากแพทย์และนักแก้ไขการได้ยินที่มีความชำนาญการ