การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูง (Hemodialysis)
การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูง (Hemodialysis) คือ หนึ่งใน วิธีการรักษาโรคไตวาย (Kidney failure) หรือ โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease) โดยการขจัดของเสียในเลือดและของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย ผ่านทาง dialyzer ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกรองของเสียออกจากเลือดตาม “หลักการแพร่” (diffusion) และ หลักการพา” (Convection) ของเสียในของเหลวที่สกัดออกจากตัวกรอง (dialysate) จะถูกเครื่องทิ้งไป และทดแทนด้วยน้ำที่มีความบริสุทธิ์สูง (Ultra-pure water) เข็มที่สวนเข้าเส้นเลือดดำเป็นเส้นทางนำเลือดออกจากร่างกายเข้าไปในเครื่องไตเทียมเพื่อฟอกเลือดให้สะอาดและดึงน้ำส่วนเกินออก แล้วไหลผ่านเข็มอันที่สองกลับสู่ร่างกายเพื่อกลับมาหมุนเวียนใช้งานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไต
ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ไตทำหน้าที่ในการกรองของเสียจากกระแสเลือดออกทางปัสสาวะ ทั้งยังช่วยปรับสมดุลแร่ธาตุ ความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย ช่วยรักษาระดับความดันโลหิต เป็นอวัยวะสำคัญในการผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ รวมถึงสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และมวลกระดูก หากไตเสื่อมประสิทธิภาพการทำหน้าที่ในการกรองของเสีย ก็อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะไตวายได้
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อไตไม่ทำงาน?
เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ร่างกายจะเต็มไปด้วยของเหลวส่วนเกินและของเสียสะสมที่คั่งค้างอยู่ภายใน ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ไม่มีแรง ผิวแห้ง เป็นตะคริว หายใจไม่ถนัด ปัสสาวะลด นอนไม่หลับ ตัวบวม ตาบวม ความดันโลหิตสูง ตัวซีด โลหิตจาง ไม่มีแรง จนอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะไตวาย แพทย์จะพิจารณาทางเลือกในการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต ซึ่งมี 3 วิธี ได้แก่
- การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
- การฟอกไตทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis)
- การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation)
ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ไตวายระยะสุดท้าย หรือไตไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูงจะช่วยแก้ไขปัญหาอิเล็กโทรไลต์ หรือภาวะความไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย หรือปรับความเป็นกรด-ด่าง และยังช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ทำให้เลือดของผู้ป่วยสะอาดขึ้น
การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูง (Hemodialysis)
การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูงเหมาะกับใคร?
- ผู้ที่เป็นโรคไตวาย โรคไตวายเรื้อรัง หรือไตเสื่อมประสิทธิภาพไม่สามารถทำหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากร่างกายได้
- ผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือไม่สะดวกที่จะล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองที่บ้าน
- ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดช่องท้องมาก่อน
- ผู้ที่สามารถเดินทางมาฟอกเลือดที่โรงพยาบาล 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 4-5 ชั่วโมง
ขั้นตอนการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูงมีวิธีการอย่างไร?
ขั้นตอนการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูง มีวิธีการดังนี้
- แพทย์จะทำการผ่าตัดหลอดเลือดดำต่อเข้ากับหลอดเลือดแดง (Arteriovenous Fistula) ที่บริเวณแขนเพื่อขยายขนาดเส้นเลือดดำให้มีขนาดและแรงดันที่มากพอที่จะทำการฟอกเลือดได้ โดยการผ่าตัดจะต้องกระทำล่วงหน้าก่อนการฟอกเลือด 2-3 เดือน เพื่อให้หลอดเลือดดำขยายตัวและมีความหนาที่เหมาะสมเพียงพอ
- แพทย์อาจพิจารณาวิธีการผ่าตัดหลอดเลือดดำต่อเข้ากับหลอดเลือดแดงโดยใช้หลอดเลือดเทียม (Arteriovenous Graft) โดยการผ่าตัดจะต้องกระทำก่อนล่วงหน้าก่อนการฟอกเลือด 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้หายจากอาการบวมของการผ่าตัดก่อน
- การใส่สายสวนเข้าทางหลอดเลือดดำขนาดใหญ่ที่ขาหนีบหรือลำคอ ที่ต่อตรงกับเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูง โดยสามารถใช้งานได้ทันทีหลังจากที่ทำการใส่สาย
ข้อดีของการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูง
การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูง (Hemodialysis with a high-performance hemodialysis machine) ด้วยสารน้ำที่มีความบริสุทธิ์สูง (Ultra-pure water system) ถือเป็นการบำบัดทดแทนไตที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากแพทย์สามารถให้การดูแลผู้ป่วยที่ทำการบำบัดรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนอวัยวะ ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ระบบสารน้ำที่มีความบริสุทธิ์สูง (Ultra-pure water system) เป็นระบบสารน้ำสำหรับการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานเดียวกับระบบสารน้ำที่ให้ทางหลอดเลือด มีความปลอดภัยสูงด้วยการใช้ทองแดงบุพื้นผิวในการกรองเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทำให้มีประสิทธิภาพในการขับของเสียออกจากร่างกาย ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น มีความดันโลหิตคงที่มากขึ้น อ่อนเพลียน้อยลง และมีผิวพรรณที่แลดูสดใสยิ่งขึ้น
การเตรียมตัวฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูง และการดูแลตนเอง
การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประสิทธิภาพสูง เป็นการบำบัดในความดูแลของแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญสหสาขา โดยแพทย์จะทำการตรวจวัดความดันโลหิต ปริมาณเกลือแร่ในร่างกาย และจังหวะการเต้นของหัวใจของผู้บำบัดเป็นระยะเพื่อประเมินอาการ และความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคไตทุกประเภท ควรปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการดูแลตนเอง ควรรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ ลดอาหารรสหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข