เลือกหัวข้อที่อ่าน
- อากาศร้อนจัด สาเหตุ
- อากาศร้อนจัด อาการ
- การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โรคจากความร้อน
- กลุ่มเสี่ยง โรคจากความร้อน
- วิธีดูแลตัวเอง เมื่อเจออากาศร้อนจัด
อากาศร้อนจัด โรคจากความร้อน (Hot weather | Hyperthermia)
อากาศร้อนจัด ส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะตัวร้อนเกิน (Hyperthermia) จากการที่ร่างกายได้รับความร้อนสูงเกินไป และไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทัน จนทำให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยจากความร้อน เช่น โรคผื่นร้อน โรคตะคริวแดด โรคเพลียแดด หรือโรคลมแดดที่เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ อาการเจ็บป่วยจากความร้อนระดับเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ ปัสสาวะสีเข้ม อ่อนเพลีย หรือผื่นแดงบนผิวหนัง ระดับรุนแรง เช่น อาการของโรคโรคฮีทสโตรก (โรคลมแดด) ที่ทำให้ระบบประสาทส่วนกลางถูกทำลาย สมองได้รับความเสียหาย อวัยวะภายในหยุดทำงาน และอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง
อากาศร้อนจัด สาเหตุ
อากาศร้อนจัด เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความกดอากาศสูง ที่ทำให้โลกไม่สามารถระบายความร้อนที่ได้รับจากรังสีดวงอาทิตย์ออกไปได้ตามปกติ ทำให้อุณภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดคลื่นความร้อน (Heat wave) และทำให้อากาศร้อนจัดหรือร้อนอบอ้าว นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการกระทำของมนุษย์ เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า ยิ่งส่งผลให้เกิดการกักเก็บความร้อน และทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสภาพอากาศโลก ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น เกิดคลื่นความร้อนบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น
โรคจากความร้อน สาเหตุ
อุณหภูมิที่สูงกว่าปกติในฤดูร้อน ความชื้น การออกแรงหนัก และการอยู่ในที่ร้อนจัด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยจากความร้อนและนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยปกติ เมื่อร่างกายสัมผัสกับความร้อน กลไกการปรับตัวต่อความร้อนของร่างกายจะทำหน้าที่ปรับลดอุณหภูมิเพื่อระบายความร้อนโดยการเพิ่มอัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ถ่ายเทการไหลเวียนโลหิตจากอวัยวะภายในไปยังอวัยวะรอบนอก ขยายขนาดหลอดเลือดผิวหนังเพื่อเร่งระบายความร้อน และขับเหงื่อให้ระเหยออกทางผิวเพื่อให้ผิวเย็นลง
โรคและอาการเจ็บป่วยจากความร้อน เกิดจากกลไกการปรับตัวต่อความร้อนของร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการถ่ายเทความร้อนและปรับลดอุณหภูมิร่างกายให้เป็นปกติ เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงกว่าอุณหภูมิผิวหนัง (โดยปกติ 32 เซลเซียส) จึงส่งผลให้ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินกว่าที่ร่างกายถ่ายเทออกไป และเมื่อความชื้นเพิ่มสูงจนถึงจุดที่เหงื่อไม่สามารถระเหยออกจากผิวหนังได้ จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับลดอุณหภูมิให้เย็นลง ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ และทำให้เกิดโรคและอาการเจ็บป่วยจากความร้อน
อากาศร้อนจัด อาการ
อากาศร้อนจัด ส่งผลให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยจากความร้อนจากการที่ร่างกายพยายามรักษาอุณหภูมิให้คงที่ หรือการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่อความร้อนได้ โดยจะแสดงออกซึ่งอาการตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงระดับรุนแรง แตกต่างกันตามสุขภาพและสภาพแวดล้อมรอบตัวของแต่ละบุคคล โรคและอาการเจ็บป่วยจากความร้อน ได้แก่
บวมจากความร้อน (Heat edema)
อาการ: บวมที่ขา หลังมือ แขน เท้า โดยเฉพาะข้อเท้า ปวดบริเวณที่บวม ผิวหนังอุ่น สีแดง
โรคผื่นร้อน หรือผดผื่นจากความร้อน (Heat rash)
อาการ: ผื่นแดงหรือตุ่มแดงขึ้นบนใบหน้า ผิวหนัง ลำคอ หน้าอกส่วนบน ข้อพับ คันและระคายเคืองผิวหนัง รู้สึกไม่สบายตัว
โรคตะคริวแดด หรือตะคริวจากความร้อน (Heat cramps)
อาการ: ปวดกล้ามเนื้อจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เป็นตะคริวที่ต้นขา แขน ท้อง
ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
อาการ: กระหายน้ำ ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย ปัสสาวะสีเข้ม อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบายตัว วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว หายใจเร็วและตื้น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ชัก หน้ามืด เป็นลม
ลมแดด (Heat syncope)
อาการ: วิงเวียนศีรษะ สับสนมึนงง ผิวหนังชื้น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำเฉียบพลัน กระสับกระส่าย เป็นลมจากความร้อน อาจเกิดเลือดคั่งบริเวณขา
โรคเพลียแดด (Heat exhaustion)
อาการ: อุณหภูมิร่างกายสูง 38-40 เซลเซียส ภาวะขาดน้ำ อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าอย่างรวดเร็ว ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ สับสน คลื่นไส้ อาเจียน รูม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วและตื้น ผิวชื้น อุณหภูมิผิวหนังปกติ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว เป็นลมจากความร้อน
โรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat stroke)
อาการ: สับสน มึนงง และชัก ตัวร้อนจัดหรือมีไข้สูง อุณหภูมิร่างกายสูง 40 องศาหรือมากกว่า ผิวหนังร้อน แดง และแห้ง กระหายน้ำมาก เหงื่อออกท่วมหรือไม่มีเหงื่อออก สับสน มึนงง ซึมลง เดินโซเซ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ อ่อนเพลีย พูดไม่รู้เรื่อง ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน ชัก เป็นลม หมดสติ เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง
หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โรคจากความร้อน
หลักการสำคัญของการปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ที่มีอาการจากโรคหรือความเจ็บป่วยจากความร้อน คือ การเร่งลดอุณหภูมิความร้อนในร่างกายของผู้ป่วยโดยเร็ว ก่อนเร่งนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ตามขั้นตอนดังนี้
ย้ายผู้ป่วยออกจากความร้อน
- ย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทสะดวก ใช้พัดลมเป่าลมเย็น หรือย้ายเข้าห้องปรับอากาศที่มีความเย็น
- จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนราบ และเปิดทางเดินหายใจ (นอนยกขาสูงเล็กน้อยในกรณีบวมจากความร้อน หรือโรคเพลียแดด)
ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออก
- คลายเสื้อผ้าหนาชิ้นหรือรัดแน่นให้หลวม ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออก
ประคบเย็น
- ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบเย็นตามลำตัวทั่วร่างกาย ตามซอกคอ ลำตัว แขนขา ขาหนีบ รักแร้
- เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำทวนรูขุมขนขึ้นไปทางเดียวกันให้ทั่วทั้งตัว
ให้จิบน้ำ
- หากผู้ป่วยมีสติรู้สึกตัว ให้จิบน้ำ น้ำเกลือแร่ หรือเครื่องดื่มอิเล็กโทรไลต์ เพื่อทดแทนภาวะร่างกายขาดน้ำ (งดให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำอัดลม)
เฝ้าระวังผู้ป่วย
- ไม่ทิ้งผู้ป่วยไว้ลำพัง หมั่นสังเกตอาการและสัญญาณชีพเป็นระยะ
- หมั่นตรวจสอบทางเดินหายใจให้เปิดออก เพื่อป้องกันการอุดกั้นทางเดินหายใจ
ขอความช่วยเหลือทางการแพทย์
- ขอความช่วยเหลือที่ใกล้ที่สุด โทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินโดยเร็ว
- รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของโรคฮีทสโตรก เพื่อช่วยชีวิตให้ผู้ป่วยได้รอด
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โรคจากความร้อน
โรคและอาการเจ็บป่วยจากความร้อน มีอาการร่วมที่ทั้งเหมือนกันและต่างกัน สิ่งสำคัญ คือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการเร่งนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อที่แพทย์จะให้การรักษาที่ตรงกับโรค หรือเข้าสู่ขั้นตอนการช่วยชีวิตผู้ป่วยต่อไป การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโรคหรืออาการเจ็บป่วยจากความร้อน แบ่งตามโรค มีดังนี้
บวมจากความร้อน (Heat edema)
First Aid: ย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่มและเย็น ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออก ประคบด้วยผ้าชุบน้ำเย็นทั่วร่างกาย ซอกคอ ลำตัว แขนขา ข้อพับ ขาหนีบ รักแร้ ใช้พัดลมเป่าลมเย็น ให้ดื่มน้ำหรือน้ำผสมเกลือแร่ นอนยกขาสูงเล็กน้อย นอนพักผ่อนให้มาก อาการสามารถหายได้เอง
โรคผื่นร้อน หรือผดผื่นจากความร้อน (Heat rash)
First Aid: ย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่มและเย็น อาบน้ำ แช่น้ำเย็น หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบ ซับให้แห้งแทนการถู สวมเสื้อผ้าเนื้อบาง ทายาแก้คัน ใช้พัดลมเป่าลมเย็น ดื่มน้ำให้เพียงพอ หากผด หรือผื่นร้อนรุนแรง แพร่กระจาย และมีไข้ร่วม ให้พบแพทย์
โรคตะคริวแดด หรือตะคริวจากความร้อน (Heat cramps)
First Aid: ย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่มและเย็น ให้ดื่มน้ำหรือน้ำผสมเกลือแร่ ยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นตะคริว ค่อย ๆ เพิ่มแรงยืดทีละน้อยจนสุด ยืดค้างจนกว่ากล้ามเนื้อจะคลายตัว ไม่ควรยืดกล้ามเนื้อแบบกระตุก เพราะจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง งดการทำกิจกรรมหนักจนกว่าจะหายจากอาการตะคริว หากมีอาการต่อเนื่องหลายชั่วโมง ให้พบแพทย์
ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
First Aid: ย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่มและเย็น ให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ (งดแอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำอัดลม) นอนท่าราบ คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบที่ศีรษะ ลำตัว รักแร้ และซอกพับ หากมีไข้สูง วิงเวียนศีรษะ มึนงง หายใจเร็ว ให้รีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว
ลมแดด (Heat syncope)
First Aid: ย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่มและเย็น ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออก ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกขาสูงเล็กน้อย ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า และเช็ดตามลำตัวทั่วร่างกาย ใช้พัดลมเป่าลมเย็น ให้ยาดม ยาหม่อง หากผู้ป่วยรู้สึกตัว ให้จิบน้ำหรือน้ำผสมเกลือแร่ บีบนวดแขนและขา หมั่นสังเกตอาการและสัญญาณชีพเป็นระยะ หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว
โรคเพลียแดด (Heat exhaustion)
First Aid: ย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่มและเย็น ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออก ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกขาสูงเล็กน้อย ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบเย็นทั่วร่างกาย ตามซอกคอ ลำตัว ข้อพับ แขนขา ขาหนีบ รักแร้ ใช้พัดลมเป่าลมเย็น ค่อย ๆ ให้จิบน้ำหรือน้ำเกลือแร่ ตรวจสอบสัญญาณชีพเป็นระยะ หากหายใจเร็ว ใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะช็อก ให้รีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว
โรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat stroke)
First Aid: ลดอุณหภูมิความร้อนให้เร็วที่สุด เวลาเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสียหายของอวัยวะ ย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่มและเย็น ถอดเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบเย็นตามลำตัวทั่วร่างกาย ตามซอกคอ ลำตัว แขนขา ขาหนีบ รักแร้ หากผู้ป่วยรู้สึกตัว ให้จิบน้ำหรือน้ำผสมเกลือแร่ เพื่อทดแทนภาวะร่างกายขาดน้ำ (งดแอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำอัดลม) ไม่ทิ้งผู้ป่วยไว้ลำพัง หมั่นสังเกตอาการและสัญญาณชีพเป็นระยะ ขอความช่วยเหลือที่ใกล้ที่สุด โทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด
กลุ่มเสี่ยง โรคจากความร้อน
- ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งท่ามแดดร้อนจัด ทำงานใกล้กับแหล่งความร้อน เช่น เกษตรกร ช่างก่อสร้าง ช่างหลอมเหล็ก
- ทารก หรือเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
- ผู้สูงอายุ 65 ปี ขึ้นไป
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
- ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแดดจัดหรือสัมผัสความชื้นสูงที่ไม่สามารถขับเหงื่อออกได้ เช่น นักวิ่งมาราธอน นักปั่นจักรยาน
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 30 กิโลกรัม/ต่อตารางเมตร
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคติดเชื้อหรือเป็นไข้ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต ไทรอยด์เป็นพิษ โรคผิวหนัง ผื่นผิวหนัง แพ้แดด
- ผู้ที่ทานยารักษาโรคประจำตัว เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ ยาที่มีฤทธิ์ต้านโคลิเนอร์จิก ยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สุรา น้ำหวานจัด น้ำอัดลม ดื่มน้ำไม่เพียงพอ พักผ่อนไม่เพียงพอ ใส่เสื้อผ้าหนามิดชิดในหน้าร้อน
วิธีดูแล ตัว เอง เมื่อ เจอ อากาศร้อนจัด
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในระหว่างวัน ไม่ควรรอจนกระทั่งกระหายน้ำแล้วจึงค่อยดื่มน้ำ
- สังเกตสีปัสสาวะ หากสีเหลืองเข้ม ปัสสาวะออกน้อย ร่างกายอาจเกิดภาวะขาดน้ำ
- ในหน้าร้อนที่อุณหภูมิร้อนจัด อาบน้ำบ่อย ๆ เช็ดตัว หรือแช่น้ำเย็น เพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น
- อยู่ในที่ร่ม หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางแดดร้อนจัด งดการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน ๆ
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันความร้อนหากต้องอยู่กลางแจ้ง สวมผ้าปิดแขน สวมหมวก กางร่ม ใช้พัดลมเป่าเย็นแบบพกพา
- ใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ สบาย ๆ ไม่รัดแน่น เนื้อผ้าไม่หนา สีผ้าอ่อน ๆ ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกายมิดชิดจนเกินไป
- พบแพทย์ทันที หากมีอาการของโรคหรือความเจ็บป่วยจากความร้อนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ทำงานกลางแดด
- ติดตามอุณหภูมิสูงสุดรายวัน อยู่ในห้องที่มีการระบายอากาศที่ดี หรือห้องปรับอากาศในวันที่อากาศร้อนจัดอุณหภูมิตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป และให้งดการออกแดดระหว่างเวลา 12.00-16.00 น.
อากาศร้อนจัด โรคและความเจ็บป่วยจากความร้อน ต้องระวัง
อากาศร้อนจัดในฤดูร้อน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน และเป็นเหตุให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตในทุก ๆ ปี ทั้งนี้ อุณหภูมิความร้อนมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนนับเป็นภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนต้องเฝ้าระวังอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ หรือผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง
อาการเจ็บป่วยจากความร้อนเบื้องต้นที่สามารถสังเกตได้ เช่น ปวดศีรษะ ปัสสาวะสีเข้ม เวียนศีรษะ สับสน มึนงง ผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง และเบื่ออาหาร ที่อาจเป็นสัญญาณนำไปสู่โรคหรืออาการเจ็บป่วยจากความร้อนในระดับอันตราย เช่น ภาวะตัวร้อนเกิน หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน ชัก และหมดสติ ผู้ที่มีอาการดังกล่าว ควรรีบให้การช่วยเหลือเบื้องต้น และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันภัยโรคจากความร้อนที่อาจทำให้เสียชีวิต