สาเหตุ อาการ วิธีการรักษาเลือดออกในสมอง (Intracerebral hemorrhage/Brain bleeds)

เลือดออกในสมอง

เลือดออกในสมอง คือภาวะที่หลอดเลือดในสมองแตกทำให้เลือดไหลออกไปกดเนื้อเยื่อสมองทำให้สมองขาดออกซิเจนจนไม่สามารถทำหน้าที่ของสมองส่วนนั้นได้

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


เลือดออกในสมอง

เลือดออกในสมอง (Intracerebral hemorrhage/Brain bleeds) คือ ภาวะที่หลอดเลือดในสมองแตก ทำให้เลือดไหลออกไปกดเนื้อเยื่อสมอง ทำให้สมองขาดออกซิเจนและไม่สามารถทำหน้าที่ของสมองส่วนนั้นได้ ภาวะเลือดออกในสมองเป็นอันตรายถึงชีวิต และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์โดยเร็วที่สุด

เลือดออกในสมองมีสาเหตุเกิดจากอะไร?

เลือดออกในสมองมีสาเหตุจากหลากหลายปัจจัยดังนี้

  • การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ (Head trauma) อันเนื่องมาจากการได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์ อุบัติเหตุทางกีฬา การถูกกระทำด้วยของแข็งที่ศีรษะ หรือการการสะดุดลื่นหกล้มศีรษะกระแทกพื้นอันเป็นเหตุให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน
  • ความดันโลหิตสูง (Hypertension) ต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานทำให้ผนังหลอดเลือดได้รับความเสียหายและทำให้เลือดออกในสมอง
  • หลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ไขมันเกาะจับเส้นโลหิต เกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดง
  • ลิ่มเลือดอุดตัน (Blood clot) ในสมอง ซึ่งอาจเป็นลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในสมองเองหรือมาจากส่วนอื่นในร่างกาย การอุดตันของลิ่มเลือดที่สมองทำให้หลอดเลือดแดงได้รับความเสียหายและอาจทำให้มีเลือดออกในสมองตามมา
  • ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm) เกิดจากการเสื่อมสภาพของผนังหลอดเลือดบางส่วนทำให้เส้นเลือดโป่งพองและแตกออกจนเกิดการสะสมคั่งค้างของเลือดในสมองทำให้สมองบวม
  • ผนังหลอดเลือดในสมองเปราะ (Cerebral amyloid angiopathy) เกิดจากการสะสมและตกตะกอนของโปรตีนอะไมลอยด์ (Amyloid protein) ของผนังหลอดเลือดแดงในสมอง มักพบในผู้สูงอายุที่เส้นเลือดในสมองเสื่อมลงตามวัยและมีความดันโลหิตสูงโดยอาจเกิดขึ้นได้หลาย ๆ จุดพร้อมกันทำให้มีเลือดออกในสมองมาก
  • โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติแต่กำเนิดหรือโรคสมองผิดปกติเอวีเอ็ม (Cerebral arteriovenous malformation: AVM) เป็นโรคซับซ้อนที่พบได้ยาก อันเกิดจากการเชื่อมกันที่ผิดปกติระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำในสมอง โดยเรียกทางเชื่อมที่ผิดปกตินี้ว่า “รูปผิดปกติของหลอดเลือดเลือดแดงและดำ” (AVM) การฉีกขาดของหลอดเลือดที่เป็น AVM ทำให้เลือดออกในสมองได้
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ (Bleeding disorders) เช่น โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) หรือมีการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด (Anticoagulant medications) ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้เลือดออกง่าย
  • เนื้องอกในสมอง (Brain tumor) เนื้องอกขยายตัวกดทับเนื้อเยื่อในสมองทำให้มีเลือดออกในสมอง
  • การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก และการใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน (Cocaine) ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดในสมองโป่งพอง เสื่อมสภาพ และทำให้มีเลือดออกในสมอง
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก (Eclampsia) เป็นการชักในสตรีมีครรภ์ทำให้มีอาการเกร็ง ชัก หมดสติ และมีทำให้มีเลือดออกในสมอง
  • ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง (Neonatal intraventricular hemorrhage) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม เป็นภาวะที่มีเลือดออกในบริเวณรอบ ๆ โพรงช่องว่างในสมองซึ่งอาจทำให้พิการและเสียชีวิตได้
  • การก่อตัวที่ผิดปกติของคอลลาเจนในผนังหลอดเลือด (Abnormal collagen formation) จนทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฉีกขาดและมีเลือดออก

อาการของเลือดออกในสมองเป็นอย่างไร?

อาการของเลือดออกในสมองขึ้นอยู่กับบริเวณที่เลือดออกภายในสมองและกะโหลกศีรษะ ทั้งนี้อาการโดยทั่วไปของเลือดออกในสมองมีดังต่อไปนี้

  • ปวดหัวรุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Thunderclap) เป็นอาการแสดงของของภาวะเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง (Subarachnoid hemorrhage) รู้สึกวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • รู้สึกเจ็บแปลบคล้ายเข็มทิ่มตำ อ่อนแรง เหน็บชา หรือเป็นอัมพาตที่ด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า แขนหรือขา
  • คอแข็งเกร็ง มีภาวะกลืนลำบาก หายใจลำบาก
  • ตาพร่ามัว มีปัญหาในการมองเห็น ตาไม่สู้แสง การตอบสนองต่อรูม่านตาทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน
  • สูญเสียการทรงตัว ระบบประสาทการสั่งการและการประสานงานของร่างกายบกพร่อง
  • ภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร (Aphasia) พูดไม่รู้เรื่อง พูดไม่ชัดลิ้นแข็ง ไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ ไม่สามารถเขียนหรืออ่านหนังสือได้
  • รู้สึกสับสน สูญเสียระดับความตื่นตัว ไม่มีชีวิตชีวา ง่วงซึม หรือมีสภาพไม่รู้สึกตัว
  • มีอัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ (กรณีเลือดออกอยู่ที่บริเวณก้านสมอง)
  • อาจมีอาการชัก

การวินิจฉัยเลือดออกในสมองมีวิธีการอย่างไร?

เลือดออกในสมองเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ทันทีที่นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจประเมินอาการเพื่อวินิจฉัยโรคเลือดออกในสมอง เช่น การปวดศีรษะรุนแรง ร่างกายอ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน มีอาการอัมพาตที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย มีอาการชักหรือป็นลมหมดสติ เป็นต้น โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียดด้วยวิธีการดังนี้

  1. การประเมินร่างกายเบื้องต้นโดยแพทย์
  2. การเอกซเรย์ CT scan เพื่อให้เห็นตำแหน่งเลือดออกในสมองหรือบริเวณที่สมองได้รับความเสียหาย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและแยกโรคเพื่อเป็นแนวทางในการหาสาเหตุของภาวะเลือดออกในสมอง
  3. การทำ MRI Scan หรือ การตรวจหลอดเลือดโดยใช้เครื่องถ่ายภาพสนามแม่เหล็ก ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง โดยการทดสอบจะระบุตำแหน่ง ขอบเขต และอาจรวมถึงระบุสาเหตุของเลือดออกในสมอง
  4. การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง EEG (Electroencephalography) เพื่อตรวจการทำงานของเซลล์ประสาทสมองในผู้ที่ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือวินิจฉัยโรคลมชัก (Epilepsy)
  5. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC (Complete blood count)
  6. การเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal tap test) เพื่อตรวจสอบภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง (Hydrocephalus)
  7. การตรวจสอบภาวะเส้นเลือดแดงโป่งพอง (Aneurysm) หรือตรวจภาวะหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำผิดรูป (Arteriovenous malformations)

การรักษาภาวะเลือดออกในสมองมีวิธีการอย่างไร?

การรักษาภาวะเลือดออกในสมองขึ้นอยู่กับปริมาณเลือดที่ออกในสมอง สาเหตุ ตำแหน่งและรวมถึงขอบเขตที่เลือดออก การรับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นที่สมองและช่วยให้สามารถฟื้นตัวจากภาวะเลือดออกในสมองได้เร็ว โดยแพทย์จะทำการเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลดังนี้

  1. การผ่าตัด (Surgery) หากเลือดออกในสมองเป็นบริเวณกว้าง มีการคั่งค้างของเลือดในสมองจนทำให้สมองบวม แพทย์อาจใช้วิธีทำการผ่าตัดชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อลดอาการสมองบวม เช่น
    • การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ (Craniectomy incision) เพื่อนำลิ่มเลือดหรือก้อนเลือดอุดตันอันเป็นสาเหตุที่ทำให้สมองบวมออกและช่วยลดความดันในสมอง
    • การผ่าตัดใส่สายระบายเลือดและน้ำจากโพรงสมอง (Burr hole procedure) เพื่อทำการระบายเลือดที่คั่งในสมองให้ไหลออก
    • การผ่าตัดโดยใช้คลิปหนีบที่บริเวณเส้นเลือดโป่งพอง (Clipping) หลอดเลือดสมองโป่งพองที่ยังไม่แตกแพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดใช้คลิปหนีบที่บริเวณเส้นเลือดโป่งพอง ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาฉีดสารทึบรังสี (Angiography) ที่เส้นเลือดพร้อมกับเอกเรย์บันทึกภาพของหลอดเลือดสมองไว้เพื่อการพยากรณ์โรคในอนาคต
    • การผ่าตัด รูปผิดปกติของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ AVM (Arteriovenous malformation: AVM) ที่ยังไม่แตก โดยจะทำการผ่าตัดดูดเอาก้อนเลือดภายในเส้นเลือด AVM ออก โดยใช้ระบบภาพนำวิถีช่วยเพื่อปิดหลอดเลือดที่ผิดปกติ และใช้กาวชนิดพิเศษหรือสารพิเศษที่ช่วยปิดกั้นการไหลเวียนของเส้นเลือดขนาดเล็กที่นำเลือดเข้าสู่เส้นเลือด AVM โดยจะเป็นการผ่าตัดที่ปราศจากแผลผ่าตัด

  2. การรักษาโดยการใช้ยา (medications treatment) หากบริเวณเลือดออกในสมองเป็นจุดเล็ก ๆ และไม่มีอาการอื่นร่วม แพทย์อาจพิจารณาให้ยาควบคุมความดันโลหิต ยาลดสมองบวมเพื่อลดอาการบวมและลดความเสียหายจากภาวะเลือดออกในสมอง ยาคลายเครียด (Anti-anxiety medicine) ยากันโรคลมชัก (Anti-epileptic medicine) ยาบรรเทาอาการปวดหัวรุนแรง หรือยาช่วยให้อุจจาระอ่อนนิ่มเพื่อป้องกันไม่ให้ท้องผูกและเกิดการเบ่งอุจจาระ ทั้งนี้แพทย์อาจทำ CT Scan สมองเป็นระยะเพื่อประเมินผลการรักษา

  3. การปรับยา/และสั่งยาใหม่ (Medication adjustment or new prescriptions) ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องทานยาต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด และมีภาวะเลือดออกในสมอง แพทย์อาจพิจารณาปรับยาหรือสั่งยาใหม่เพื่อไม่ให้มีเลือดออก

การฟื้นฟูหลังการรักษาเลือดออกในสมอง

เป้าหมายของการฟื้นฟูร่างกายในระยะยาวหลังรับการรักษาภาวะเลือดออกในสมองคือการช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขดังเดิมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะเลือดออกในสมองเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต ทั้งนี้ระยะเวลาในการฟื้นฟูของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันไปตามขนาดความเสียหายและอาการ  โดยการบำบัดฟื้นฟูมีดังนี้

  • การทำกายภาพบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
  • อรรถบำบัด (Speech therapy) หรือการบำบัดด้วยการพูด หรือการสื่อสาร
  • กิจกรรมบำบัด (Occupational therapy)
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเลือดออกในสมอง

การป้องกันเลือดออกในสมองมีวิธีการอย่างไร?

  • สวมหมวกกันน็อคและคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่มีการขับขี่หรือเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยงในการได้รับแรงกระแทก
  • รักษาระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ
  • ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดน้ำหนักส่วนเกิน เพื่อป้องกันไขมันในเลือดสูง
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หยุดสูบบุหรี่ และไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน
  • หากมีการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรใช้อย่างระมัดระวังเพื่อรักษาค่าเลือดให้เป็นปกติ และแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการใช้ยาทุกครั้งที่พบแพทย์
  • ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีเพื่อป้องกันภาวะผิดปกติอันอาจนำไปสู่ภาวะเลือดออกในสมองได้

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

  1. คำถาม: เลือดออกในสมอง คืออะไร?
    คำตอบ: เลือดออกในสมอง คือ ภาวะที่หลอดเลือดในสมองแตก ทำให้เลือดไหลออกไปกดเนื้อเยื่อสมอง ทำให้สมองขาดออกซิเจนและไม่สามารถทำหน้าที่ของสมองส่วนนั้นได้ ภาวะเลือดออกในสมองเป็นอันตรายถึงชีวิต และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์โดยเร็วที่สุด

  2. คำถาม: เลือดออกในสมอง มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
    คำตอบ: เลือดออกในสมองมีสาเหตุจากหลากหลายปัจจัย เช่น การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดแดงแข็ง ลิ่มเลือดอุดตัน เนื้องอกในสมอง ภาวะครรภ์เป็นพิษรุนแรงและมีภาวะชัก ลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น

  3. คำถาม: อาการของเลือดออกในสมองเป็นอย่างไร?
    คำตอบ: อาการของเลือดออกในสมองขึ้นอยู่กับบริเวณที่เลือดออกภายในสมองและกะโหลกศีรษะ แต่อาการทั่วไปจะปวดหัวรุนแรงอย่างเฉียบพลัน รู้สึกเจ็บแปลบคล้ายเข็มทิ่มตำ อ่อนแรง เหน็บชา ด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า แขนหรือขา คอแข็งเกร็ง มีภาวะกลืนลำบาก ตาพร่ามัว มีปัญหาในการมองเห็น สูญเสียการทรงตัว ภาวะบกพร่องทางการสื่อสาร พูดไม่รู้เรื่อง มีอัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ และอาจมีอาการชัก เป็นต้น

  4. คำถาม: การวินิจฉัยเลือดออกในสมองมีวิธีการอย่างไร?
    คำตอบ: เลือดออกในสมองเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน นอกจากประวัติของผู้ป่วยและการประเมินอาการแล้ว แพทย์จะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียดด้วยวิธี CT scan ทำ MRI Scan หรือ การตรวจหลอดเลือดโดยใช้เครื่องถ่ายภาพสนามแม่เหล็ก ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง EEG ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC เจาะน้ำไขสันหลัง และตรวจสอบภาวะเส้นเลือดแดงโป่งพอง

  5. คำถาม: การรักษาภาวะเลือดออกในสมองมีวิธีการอย่างไร?
    คำตอบ: การรักษาภาวะเลือดออกในสมองขึ้นอยู่กับปริมาณเลือดที่ออกในสมอง สาเหตุ ตำแหน่งและรวมถึงขอบเขตที่เลือดออก การรับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นที่สมองและช่วยให้สามารถฟื้นตัวจากภาวะเลือดออกในสมองได้เร็ว โดยแพทย์จะทำการเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ การผ่าตัดใส่สายระบายเลือดและน้ำจากโพรงสมอง การผ่าตัดโดยใช้คลิปหนีบที่บริเวณเส้นเลือดโป่งพอง หรือการผ่าตัด “รูปผิดปกติของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ” เป็นต้น

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 17 ก.พ. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. วสันต์ อัครธนวัฒน์

    นพ. วสันต์ อัครธนวัฒน์

    • ประสาทวิทยา
    • ประสาทวิทยา
    โรคระบบประสาท, Interventional Neuroradiology, โรคหลอดเลือดสมอง
  • Link to doctor
    นพ. ปกฤษณ์ จิตตภิรมย์ศักดิ์

    นพ. ปกฤษณ์ จิตตภิรมย์ศักดิ์

    • ศัลยกรรมประสาท
    เทคโนโลยีเพื่อผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองตีบ, เทคนิคร่วมรักษาโรคหลอดเลือดสมอง, หลอดเลือดสมองผิดปกติ
  • Link to doctor
    นพ. ปโยธร เดชะรินทร์

    นพ. ปโยธร เดชะรินทร์

    • ศัลยกรรมประสาท
    • รังสีร่วมรักษาระบบประสาท
  • Link to doctor
    น.อ.นพ. อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น.

    น.อ.นพ. อุดม สุทธิพนไพศาล ร.น.

    • ประสาทวิทยา
    • โรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต)
    • รังสีร่วมรักษาระบบประสาท
    โรคทางสมองและระบบประสาท, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคความผิดปกติของหลอดเลือดสมองและคอ, โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง , ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง คอและไขสันหลังจากโรคหรืออุบัติเหตุ
  • Link to doctor
    พญ. เพชรพลอย ภูวคีรีวิวัฒน์

    พญ. เพชรพลอย ภูวคีรีวิวัฒน์

    • เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
    ฝังเข็ม, โรคหลอดเลือดสมอง, ฉีดยาและฝังเข็มลดอาการปวดกล้ามเนื้อ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. มณฑล ว่องวันดี

    ผศ.นพ. มณฑล ว่องวันดี

    • ประสาทวิทยา
    ภาวะสมองเสื่อม, โรคปวดศีรษะ, ไมเกรน, โรคหลอดเลือดสมอง, อาการสั่น, โรคพาร์กินสัน, อาการเวียนศีรษะ, บ้านหมุน
  • Link to doctor
    นพ. พีรพงศ์ เหลืองอาภาพงศ์

    นพ. พีรพงศ์ เหลืองอาภาพงศ์

    • ศัลยกรรมประสาท
    เทคนิคร่วมรักษาโรคหลอดเลือดสมอง, โรคหลอดเลือดสมอง