Cold or Allergy Banner 1.jpg

หวัดหรือภูมิแพ้กันแน่...

อาการดังกล่าวอาจจะไม่ได้เกิดจากการเป็นหวัดเพียงอย่างเดียว สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กมีอาการดังกล่าวและพบได้บ่อย ได้แก่ โรคแพ้อากาศ และโรคภูมิแพ้ของเยื่อบุตาขาว

แชร์

หลาย ๆ ท่านคงเคยสังเกตว่าลูกหลานของท่านมีอาการจาม น้ำมูกใส ๆ คันจมูก คัดจมูก หรือคันตา ในช่วงหัวค่ำหรือหลังจากตื่นนอนตอนเช้า ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นหวัดอีกแล้วหรือว่าทำไมถึงเป็นหวัดบ่อยจัง ซึ่งอาการดังกล่าวอาจจะไม่ได้เกิดจากการเป็นหวัดเพียงอย่างเดียว สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กมีอาการดังกล่าวและพบได้บ่อย ได้แก่ โรคแพ้อากาศ และโรคภูมิแพ้ของเยื่อบุตาขาว เป็นต้น เพื่อให้ทุกท่านสามารถสังเกตได้ชัดเจนมากขึ้นว่าอาการดังกล่าวเกิดจากโรคหวัดหรือโรคภูมิแพ้กันแน่ วันนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคแพ้อากาศกันนะครับ

โรคแพ้อากาศ
โรคแพ้อากาศหรือโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้คือ โรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้บริเวณเยื่อบุโพรงจมูก และทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่บริเวณดังกล่าว ในปัจจุบันโรคแพ้อากาศเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กที่พบได้บ่อยที่สุด อัตราการเป็นโรคดังกล่าวอาจสูงถึงร้อยละ 50 ในประชากรเด็กไทย อย่างไรก็ตามเรามักพบโรคแพ้อากาศร่วมกับโรคภูมิแพ้อื่น ๆ ด้วย ได้แก่ โรคเยื่อบุตาขาวอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคหืด เป็นต้น

อาการของโรคแพ้อากาศ
เด็กที่เป็นโรคแพ้อากาศจะมีอาการคันจมูก จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา และมีน้ำตาไหล อาการเหล่านี้มักเป็นเรื้อรัง เด็กส่วนใหญ่จะมีอาการมากในช่วงหัวค่ำหรือเช้ามืด ซึ่งอาจจะเป็นเพราะอากาศในช่วงเวลาดังกล่าวค่อนข้างเย็น และเด็กอาจมีอาการนอนกรนเสียงดังผิดปกติร่วมด้วย อาการของโรคแพ้อากาศมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไปในเด็กแต่ละคน ตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการมากที่ก่อให้เกิดความรำคาญและมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

โรคนี้จะเป็นในเด็กหรือผู้ใหญ่
สามารถพบโรคแพ้อากาศได้ในผู้ป่วยทุกเชื้อชาติและทุกอายุ แต่มักจะไม่ค่อยพบโรคนี้ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีเนื่องจากเด็กจะแสดงอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ๆ ได้มักต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ภายหลังการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น ๆ ทำให้ส่วนใหญ่เด็กจะเริ่มแสดงอาการในวัยเรียนหรือวัยรุ่น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบโรคแพ้อากาศในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีมากขึ้น ซึ่งมลพิษทางอากาศอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เด็กอายุดังกล่าวแสดงอาการของโรคแพ้อากาศได้เร็วขึ้น

โรคแพ้อากาศต่างจากโรคไข้หวัดอย่างไร
โรคไข้หวัดเป็นโรคในกลุ่มโรคติดเชื้อ ฉะนั้นเด็กมักจะมีอาการร่วมอื่น ๆ นอกจากอาการน้ำมูกไหลที่บ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อภายในร่างกายด้วย ได้แก่ อาการไข้ ไอ เจ็บคอ ร่วมกับสีของน้ำมูกหรือเสมหะเป็นสีเขียวหรือเหลือง ในขณะที่เด็กที่เป็นโรคแพ้อากาศจะไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น และมักจะมีน้ำมูกใส ๆ ร่วมกับอาการคันหรือเคืองตา

ความรุนแรงของโรคแพ้อากาศ
โดยทั่วไปโรคแพ้อากาศไม่ได้ทำอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่ถ้าเด็กไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ได้แก่ โรคโพรงไซนัสอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคต่อมอะดีนอยด์อักเสบ รวมถึงทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในอวัยวะอื่น ๆ ตามมาในภายหลัง ได้แก่ โรคภูมิแพ้ของเยื่อบุตาขาว หรือโรคหืด เป็นต้น รวมถึงเด็กจะมีผลการเรียนที่ตกต่ำหรือไม่ร่าเริงจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอได้

สารก่อภูมิแพ้ที่พบเป็นสาเหตุของโรคแพ้อากาศได้บ่อยคืออะไร
ไรฝุ่นและอุจจาระของไรฝุ่น เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยของเด็กที่เป็นโรคแพ้อากาศ รวมถึงโรคหืดและโรคเยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ สามารถพบไรฝุ่นได้บ่อยบริเวณที่นอน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้านวม ตุ๊กตา พรม หรือบริเวณที่มีอากาศเย็นและความชื้นที่เหมาะสม ได้แก่ ห้องนอน ห้องรับแขก เป็นต้น

วิธีการควบคุมและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่น
วิธีการควบคุมและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นสามารถทำได้ดังนี้

  1. การซักล้าง เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเนื่องจากสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่น ได้แก่ อุจจาระของไรฝุ่นนั้นจัดเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สามารถละลายได้ในน้ำ ดังนั้นการชักล้างเครื่องนอนด้วยน้ำที่อุณหภูมิใด ๆ จะสามารถกำจัดสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นได้เป็นส่วนใหญ่แต่ไม่สามารถฆ่าตัวไรฝุ่นได้ พบว่าการซักล้างเครื่องนอนด้วยน้ำที่อุณหภูมิประมาณ 55-60 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที สามารถฆ่าตัวไรฝุ่นได้ ดังนั้นจึงควรซักล้างเครื่องนอนด้วยน้ำที่อุณหภูมิดังกล่าวเป็นประจำอย่างน้อยทุก ๆ 2-4 สัปดาห์ เพื่อที่จะสามารถกำจัดสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นและฆ่าตัวไรฝุ่นได้
  2. การคลุมเครื่องนอน การคลุมเครื่องนอนด้วยผ้าคลุมป้องกันไรฝุ่นสามารถลดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นได้ โดยป้องกันการฟุ้งกระจายของสารดังกล่าวจากที่นอน หมอน หรือผ้านวม เป็นต้น ควรเลือกซื้อผ้าคลุมป้องกันไรฝุ่นชนิดเนื้อผ้าทอแน่น โดยที่รูระหว่างเส้นใยผ้ามีขนาดเล็กพอที่จะป้องกันการลอดผ่านของตัวไรฝุ่นที่มีขนาด 300 ไมครอน หรือสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่น ได้แก่ อุจจาระของไรฝุ่นที่มีขนาด 10-40 ไมครอน ได้
  3. การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ สามารถลดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นได้ โดยการฉีดล้างสารดังกล่าวที่ตกค้างภายในโพรงจมูก เป็นวิธีการรักษาโรคแพ้อากาศที่สำคัญอีกวิธีหนึ่งนอกเหนือจากการรับประทานยาหรือการใช้ยาพ่นจมูก
  4. การใช้เครื่องฟอกอากาศ เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นมีปริมาณสูงเฉพาะที่ (ที่นอน หมอน) และฟุ้งกระจายเมื่อมีแรงมากระทบเท่านั้น และจากการที่สารดังกล่าวมีอนุภาคขนาดใหญ่จึงทำให้ตกลงสู่พื้นภายในเวลา 5 นาทีหลังการฟุ้งกระจาย ดังนั้นการใช้เครื่องฟอกอากาศดักจับในระยะห่างจึงได้ผลน้อย แต่สารก่อภูมิแพ้ประเภทอื่น ๆ ได้แก่ เกสรดอกหญ้า สปอร์ของเชื้อรา หรือขนสุนัข ขนแมว เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่มีอนุภาคขนาดเล็กสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานจึงสามารถดักจับได้ดีโดยเครื่องฟอกอากาศ
  5. การปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน พบว่าพรมเป็นแหล่งสะสมสารก่อภูมิแพ้ภายในบ้านที่สำคัญ โดยเฉพาะตัวไรฝุ่นที่ชอบอาศัยอยู่ตามเส้นใยของพรม  ในปัจจุบันยังไม่พบวิธีที่มีประสิทธิภาพในการขจัดสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นภายในพรมให้หมดไปได้ นอกจากการรื้อถอนเอาพรมออก นอกจากนั้นการเช็ดถูทำความสะอาดห้องนอนด้วยผ้าเปียกจะสามารถขจัดสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นได้มากกว่าการเช็ดถูด้วยผ้าแห้ง และควรจัดห้องนอนให้โล่งโปร่ง แสงแดดส่องถึง ไม่ควรเก็บสิ่งของหรือหนังสือที่เป็นอาจเป็นแหล่งสะสมสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นภายในห้องนอน และเฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ของใช้ ของเล่นเด็กและตุ๊กตาไม่ควรเป็นชนิดมีเส้นใย

แนวทางการรักษาโรคแพ้อากาศ
แนวทางการรักษาโรคแพ้อากาศที่สำคัญคือ

  • 1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่เด็กแพ้ กรณีที่ไม่ทราบชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่เด็กแพ้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเลือดหรือทำการทดสอบภูมิแพ้ที่ผิวหนัง
  • 2. ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาโรคแพ้อากาศ ได้แก่
    • ยารักษาภูมิแพ้ชนิดรับประทาน
      • ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการช่วยลดอาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหล หรืออาการคันตา ยาต้านฮิสตามีนในปัจจุบันมีพัฒนาการที่ดี สามารถรับประทานวันละ 1 ครั้ง และไม่มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึมระหว่างวัน ยามีทั้งในรูปแบบของยาเม็ดและยาน้ำทำให้สะดวกในการเลือกใช้กับเด็กในแต่ละช่วงอายุ
      • ยาต้านลิวโคไตรอิน (Antileukotriene) ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการต้านการออกฤทธิ์ของสารลิวโคไตรอิน ซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกมาจากเซลล์ที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก มักใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาต้านฮีสตามีนและยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกในการรักษาเด็กที่มีอาการของโรคแพ้อากาศอย่างรุนแรง ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการช่วยลดอาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหล รวมถึงอาการคัดจมูก และสามารถเลือกใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ที่อาจต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก
    • ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติรักษาโรคแพ้อากาศที่พยาธิสภาพของโรคโดยตรง เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นสามารถช่วยลดอาการของเด็กได้เหมือนกับยารักษาภูมิแพ้ชนิดรับประทาน แต่มีคุณสมบัติเพิ่มเติมคือ สามารถช่วยลดอาการคัดแน่นจมูกของเด็กได้ด้วย และผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกนั้นน้อยมาก เนื่องจากเป็นการใช้ยาในเฉพาะบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกที่มีการอักเสบ ซึ่งต่างจากยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานที่สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงกับเด็กในอวัยวะอื่น ๆ ได้

วิธีการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก

  1. เขย่าขวดก่อนใช้ยา เปิดฝาครอบออก
  2. กรณีเปิดใช้ยาครั้งแรกต้องกดไล่อากาศออกจากขวดยาประมาณ 3-5 ครั้ง จนกระทั่งยาถูกพ่นออกมาในลักษณะที่เป็นละอองฝอยละเอียด กรณีที่ไม่ได้ใช้ยานานกว่า 2 สัปดาห์ ควรเขย่าขวดแล้วพ่นยาทิ้ง 1 ครั้ง เพื่อเป็นการปรับหัวสเปรย์
  3. ควรล้างจมูกด้วยน้ำเกลือก่อนการใช้ยาพ่นจมูกทุกครั้ง และเช็ดรูจมูกให้สะอาดก่อนพ่นยา
  4. จับขวดยาตั้งขึ้น โดยให้นิ้วชี้และนิ้วกลางอยู่ที่บริเวณไหล่ขวด ส่วนนิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ก้นขวด ใส่หัวสเปรย์เข้าไปในรูจมูกและให้หัวสเปรย์ชี้ไปทางหัวตาข้างเดียวกัน ก้มศีรษะลงเล็กน้อยเพื่อให้ยาถูกพ่นเข้าสู่โพรงจมูก โดยใช้มือข้างขวาสำหรับการพ่นยาเข้าสู่โพรงจมูกด้านซ้าย และใช้มือข้างซ้ายสำหรับการพ่นยาเข้าสู่โพรงจมูกด้านขวา
  5. หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกประมาณ 15 นาที ภายหลังการพ่นยา
  6. หลังจากการใช้งานให้ปิดฝาครอบขวดไว้อย่างเดิม
  7. หลีกเลี่ยงการกลืนน้ำลายและควรบ้วนปากภายหลังการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกทุกครั้ง
    • ยาลดอาการคัดจมูกชนิดรับประทานหรือชนิดหยอดหรือพ่น ยากลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการลดอาการคัดจมูกเท่านั้น ไม่มีคุณสมบัติในการลดอาการจาม คันจมูก น้ำมูกไหล หรืออาการคันตา และไม่มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก การใช้ยาในรูปแบบของยาหยอดหรือพ่นสามารถช่วยลดอาการข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรับประทานยา ได้แก่ อาการกระวนกระวาย ใจสั่น เป็นต้น
    • การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ คือ การทำความสะอาดโพรงจมูกโดยการฉีดล้างหรือหยอดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูก เป็นวิธีการรักษาที่สำคัญในเด็กที่เป็นโรคแพ้อากาศ ประโยชน์ของการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ได้แก่
      • ช่วยลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่น
      • ช่วยชะล้างน้ำมูกเหนียวข้นที่ไม่สามารถระบายออกได้เอง
      • ช่วยลดจำนวนเชื้อโรคในโพรงจมูก
      • ช่วยระบายหนองออกจากโพรงไซนัส
      • ข่วยให้ความชุ่มชื้นและบรรเทาอาการระคายเคืองในโพรงจมูก
      • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก
    อุปกรณ์สำหรับล้างจมูก
    • น้ำเกลือปลอดเชื้อ
    • น้ำเกลือที่เตรียมเอง สามารถเตรียมโดยใช้น้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาดสำหรับดื่มปริมาตร 750 ซีซี ผสมกับเกลือแกงปริมาณ 1 ช้อนชา เขย่าให้เข้ากันดีก่อนนำไปใช้
    • กระบอกฉีดยาสำหรับล้างจมูกขนาด 35 ซีซี

    วิธีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

    1. เทน้ำเกลือปลอดเชื้อใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ ใช้กระบอกฉีดยาสำหรับล้างจมูกดูดน้ำเกลือจนเต็มกระบอก
    2. ยืนหรือนั่งโดยโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อยเหนือต่ออ่างล้างหน้าหรือภาชนะบรรจุน้ำ แนบจุกยางที่หุ้มปลายกระบอกฉีดยาเข้ากับรูจมูก โดยปิดรูจมูกให้สนิท
    3. กลั้นหายใจ พร้อมกับค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงจมูกจนน้ำเกลือไหลออกมาจากโพรงจมูกอีกข้างหนึ่ง โดยใช้เวลาประมาณ 10 วินาทีต่อการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือปริมาตร 35 ซีซี
    4. สั่งน้ำมูกเบา ๆ ออกจากโพรงจมูกทั้ง 2 ข้าง บ้วนน้ำเกลือและน้ำมูกส่วนที่ไหลลงคอทิ้ง
    5. ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในโพรงจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูกไหลออกมาหรือไม่มีอาการคัดจมูกแล้ว โดยให้ล้างโพรงจมูกสลับข้างขวาและซ้าย และหลีกเลี่ยงการล้างโพรงจมูกข้างใดข้างหนึ่งซ้ำกันหลาย ๆ ครั้งเพราะอาจจะทำให้เกิดอาการปวดหูได้

    ข้อควรระวัง

    • ไม่ควรฉีดล้างน้ำเกลือด้วยความแรงเข้าไปในโพรงจมูก
    • ควรสั่งน้ำมูกเบา ๆ ภายหลังการล้างจมูก
    • ไม่ควรล้างจมูกด้วยวิธีฉีดล้างกรณีที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือเพราะอาจทำให้เกิดการสำลักน้ำเกลือได้
    • ควรใช้น้ำเกลือที่เตรียมเองภายใน 2 ชั่วโมงหลังการเตรียม
    • ไม่ควรใช้น้ำเปล่าหรือน้ำต้มสุกในการล้างจมูก เนื่องจากน้ำดังกล่าวไม่มีความเข้มข้นที่เหมาะสมกับเยื่อบุโพรงจมูก
    • ไม่ควรล้างจมูกในขณะที่จมูกมีเลือดออกได้ง่าย หรือในกรณีที่แพทย์ไม่แนะนำให้ล้างจมูก

      วิธีทำความสะอาดอุปกรณ์ล้างจมูก

      1. ล้างกระบอกฉีดยาสำหรับล้างจมูกหลังการใช้ทุกครั้งด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน แล้วล้างด้วยน้ำประปาจนสะอาดและนำไปผึ่งให้แห้งในที่ร่ม
      2. ไม่ควรต้มหรือลวกกระบอกฉีดยาสำหรับล้างจมูกด้วยน้ำร้อน เพราะจะทำให้อุปกรณ์ชำรุดได้

      ควรล้างจมูกบ่อยแค่ไหน

      • ควรล้างจมูกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ภายหลังตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน
      • ควรล้างจมูกเมื่อมีอาการน้ำมูกข้นหรือคัดจมูก
      • ควรล้างจมูกก่อนการใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูกทุกครั้ง

      การล้างจมูกมีอันตรายหรือไม่
      การล้างจมูกที่ถูกวิธีจะไม่ทำอันตรายต่อเด็กควรล้างจมูกในขณะท้องว่าง หรือภายหลังรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลักอาหารขณะล้างจมูก

      • 3. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โรคแพ้อากาศส่วนใหญ่รักษาไม่หายขาด เด็กอาจจะมีอาการกลับเป็นซ้ำได้บ่อยหากสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือมีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตามหากเด็กสามารถปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถดำเนินชีวิตและเรียนหนังสือได้ตามปกติเหมือนเด็กแข็งแรงทั่ว ๆ ไป






      บทความโดย
      นพ.ปรีดา สง่าเจริญกิจ
      แพทย์ผู้ชำนาญการด้านกุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
      ประวัติแพทย์ คลิก

      บทความโดย

      เผยแพร่เมื่อ: 18 พ.ค. 2022

      แชร์

      แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

    • Link to doctor
      นพ. ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ

      นพ. ประสิทธิ์ เผ่าทองคำ

      • อายุรศาสตร์
      • เวชพันธุศาสตร์
      เวชพันธุศาสตร์, อายุรกรรมทั่วไป
    • Link to doctor
      MedPark Hospital Logo

      ศ.นพ. ขจร ตีรณธนากุล

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โรคไต
      อายุรศาสตร์โรคไต, อายุรกรรมทั่วไป
    • Link to doctor
      MedPark Hospital Logo

      พญ. วรวรรณ ศิริชนะ

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
      เวชบำบัดวิกฤต, อายุรกรรมทั่วไป, อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ
    • Link to doctor
      พญ.  ศิรญา ไชยะกุล

      พญ. ศิรญา ไชยะกุล

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
      โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
    • Link to doctor
      ผศ.นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

      ผศ.นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

      • อายุรศาสตร์
      • เวชศาสตร์การนอนหลับ
      • เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
      • อายุรศาสตร์โรคปอด
      เวชศาสตร์การนอนหลับ, อายุรศาสตร์โรคปอด, อายุรกรรมผู้สูงอายุ, อายุรกรรมทั่วไป
    • Link to doctor
      พญ. ประภาพร พิมพ์พิไล

      พญ. ประภาพร พิมพ์พิไล

      • อายุรศาสตร์
      โรคเบาหวาน, อายุรกรรมทั่วไป, โรคความดันโลหิตสูง, โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน, โรคกระดูกพรุน, สุขภาพนักเดินทาง การให้วัคซีน และประเมินสุขภาวะก่อนและหลังกลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง
    • Link to doctor
      พญ.  ปิยนุช  ปิยสาธิต

      พญ. ปิยนุช ปิยสาธิต

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
      อายุรกรรมทั่วไป, โรคต่อมไร้ท่อทั่วไป, อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
    • Link to doctor
      พญ. ฐิตินันท์ อนุสรณ์วงศ์ชัย

      พญ. ฐิตินันท์ อนุสรณ์วงศ์ชัย

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
      อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม, อายุรกรรมทั่วไป
    • Link to doctor
      นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

      นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
      โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
    • Link to doctor
      พญ. ณิชา สมหล่อ

      พญ. ณิชา สมหล่อ

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โภชนศาสตร์คลินิก
      Adult Gastroenterology (Nutrition), โภชนาการคลินิก, อายุรกรรมทั่วไป, โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน
    • Link to doctor
      รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

      รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ
      • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
      อายุรกรรมทั่วไป, อายุรกรรมผู้สูงอายุ
    • Link to doctor
      ผศ.นพ. ชายวุฒิ สววิบูลย์

      ผศ.นพ. ชายวุฒิ สววิบูลย์

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โรคปอด
      • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
      อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ, เวชบำบัดวิกฤต, อายุรกรรมทั่วไป
    • Link to doctor
      พญ. นันทรัตน์ วงษ์วรอาภรณ์

      พญ. นันทรัตน์ วงษ์วรอาภรณ์

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม
      อายุรกรรมทั่วไป, เวชศาสตร์ป้องกัน
    • Link to doctor
      พญ. ภาวินี น้อยนารถ

      พญ. ภาวินี น้อยนารถ

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โรคเลือด
      อายุรศาสตร์โรคเลือด, อายุรกรรมทั่วไป
    • Link to doctor
      พญ.   ปัทมา ริมมากุลทรัพย์

      พญ. ปัทมา ริมมากุลทรัพย์

      • อายุรศาสตร์
      อายุรกรรมทั่วไป
    • Link to doctor
      นพ. ณัฐภาคย์ ประทักษ์พิริยะ

      นพ. ณัฐภาคย์ ประทักษ์พิริยะ

      • อายุรศาสตร์
      อายุรกรรมทั่วไป
    • Link to doctor
      นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

      นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
      โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
    • Link to doctor
      พญ. อัญชนา สุรอมรรัตน์

      พญ. อัญชนา สุรอมรรัตน์

      • อายุรศาสตร์
      อายุรกรรมผู้สูงอายุ, อายุรกรรมทั่วไป
    • Link to doctor
      พญ. วชรพรรณ อัสนุเมธ

      พญ. วชรพรรณ อัสนุเมธ

      • อายุรศาสตร์
      • อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม
      อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม, อายุรกรรมทั่วไป