เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ตรวจการทำงานของไตคืออะไร?
- ทำไมต้องตรวจการทำงานของไต?
- ตรวจการทำงานของไต มีวิธีตรวจอย่างไร?
- ตรวจระดับไนโตรเจนจากสารยูเรียในเลือด (BUN)
- ตรวจวัดค่าครีเอตินินในซีรัม (Serum Creatinine)
- การวัดค่าประมาณอัตราการกรองของไต (eGFR)
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตรวจการทำงานของไต
- คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
การตรวจการทำงานของไตคืออะไร?
การตรวจการทำงานของไต (Kidney function tests) เป็นการตรวจเพื่อประเมินการทำงานและสุขภาพของไต การตรวจการทำงานของไตมีหลายชนิด โดยมักจะตรวจทางเลือดและปัสสาวะ
ทำไมต้องตรวจการทำงานของไต?
ไตเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อการทำหน้าที่ต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น การสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง สร้างฮอร์โมนที่รักษาความดันเลือด รวมถึงสังเคราะห์วิตามินดี อาการที่อาจสื่อได้ว่าไตมีปัญหา ได้แก่ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด (Dysuria) ปัสสาวะบ่อย รวมถึงปัสสาวะไม่ออก นอกจากนี้ โรคบางโรค เช่น ความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานยังอาจส่งผลต่อการทำงานของไตได้ การตรวจการทำงานของไตจึงมีประโยชน์เพราะช่วยในการติดตามโรคเหล่านั้นได้
ตรวจการทำงานของไต มีวิธีตรวจอย่างไร?
การตรวจการทำงานของไตแบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ การตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ
- วิธีตรวจการทำงานของไตด้วยการตรวจเลือด ได้แก่
- การตรวจระดับไนโตรเจนจากสารยูเรียในเลือด (Blood Urea Nitrogen หรือ BUN)
- การตรวจระดับครีเอตินินในซีรัม (Serum Creatinine)
- การตรวจค่าประมาณอัตราการกรองของไต (Estimated Glomerular Filtration Rate หรือ eGFR)
- วิธีตรวจการทำงานของไตด้วยการตรวจปัสสาวะ ได้แก่
- การตรวจระดับไมโครอัลบูมิน (Microalbumin)
- การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis)
บทความนี้จะเน้นไปที่การตรวจวัดค่า BUN การตรวจระดับครีเอตินินในซีรัม และการตรวจวัดค่า eGFR เป็นหลัก
การตรวจระดับไนโตรเจนจากสารยูเรียในเลือด (Blood Urea Nitrogen)
การตรวจระดับไนโตรเจนจากสารยูเรียในเลือด หรือการตรวจหาค่า BUN เป็นการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับไนโตรเจนจากสารยูเรียที่อยู่ในเลือด ยูเรียเป็นของเสียจากร่างกาย โดยทั่วไป ร่างกายจะขับยูเรียออกจากกระแสเลือดได้ดีหากไตทำงานปกติ นั่นหมายความว่า หากในกระแสเลือดมีระดับยูเรียที่สูงขึ้น อาจบ่งบอกได้ว่าไตมีปัญหา
ค่ามาตรฐานของค่า BUN
เกณฑ์ปกติของค่า BUN จะอยู่ในช่วง 6 ถึง 24 mg/dL อย่างไรก็ดี ค่าปกติอาจแตกต่างกันไปตามค่าอ้างอิงที่ใช้
ค่า BUN ที่สูงอาจสื่อว่าไตทำงานผิดปกติ แต่ยังอาจมีสาเหตุจากสิ่งต่อไปนี้
- อาหารที่รับประทานมีโปรตีนสูง
- ยาบางชนิดที่รับประทาน เช่น ยาปฏิชีวนะบางตัว
- ภาวะหัวใจล้มเหลวเลือดคั่ง
- ภาวะขาดน้ำ
- เลือดออกในทางเดินอาหาร
- แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกรุนแรง
- อาการช็อก
- ทางเดินปัสสาวะอุดตัน
นอกจากการตรวจวัดค่าไนโตรเจนจากสารยูเรียแล้ว การวัดค่าครีเอตินินในเลือดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มักจะใช้เพื่อให้ได้ผลการตรวจการทำงานของไตที่ชัดเจนขึ้น ระดับของครีเอตินินในเลือดนั้นจะเหมือนกับค่า BUN กล่าวคือ หากระดับครีเอตินินสูง มักหมายความว่าการทำงานของไตมีปัญหา
การตรวจวัดค่าครีเอตินินในซีรัม (Serum Creatinine)
การตรวจวัดค่าครีเอตินินในซีรัมเป็นการตรวจเลือดอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ตรวจว่าไตทำงานได้ดีมากน้อยเพียงใด การตรวจนี้จะวัดค่าครีเอตินินที่อยู่ในเลือด โดยเฉพาะในซีรัม ครีเอตินินเป็นของเสียจากกล้ามเนื้อ ส่วนซีรัมนั้นเป็นส่วนประกอบของเลือดที่เป็นของเหลว เมื่อไตทำงานปกติ ครีเอตินินจะถูกกรองออกจากเลือดเหมือนกับสารยูเรีย เมื่อระดับของครีเอตินินในซีรัมสูง อาจบ่งบอกว่าไตทำหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
กรณีที่อาจจำเป็นต้องตรวจวัดค่าครีเอตินินในซีรัม ได้แก่
- มีอาการเตือนของโรคไต
- ผู้ป่วยเสี่ยงจะมีปัญหาเกี่ยวกับไต
- ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาเกี่ยวกับไตจำเป็นต้องรับการตรวจการทำงานของไต
- จำเป็นต้องตรวจการทำงานของไตที่ปลูกถ่าย
ค่ามาตรฐานของระดับครีเอตินินในซีรัม
เนื่องจากอัตราการกรองครีเอตินินของไตมักคงที่ ระดับของครีเอตินินในซีรัมก็ควรจะคงที่เช่นกัน หากระดับของครีเอตินินในซีรัมสูงผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณว่าไตทำหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ค่ามาตรฐานของระดับครีเอตินินในซีรัม ได้แก่
- 0.74 ถึง 1.35 mg/dL สำหรับผู้ชาย
- 0.59 ถึง 1.04 mg/dL สำหรับผู้หญิง
ครีเอตินินในซีรัมยังช่วยในการประมาณค่าอัตราการกรองเลือดของไต (Glomerular Filtration Rate หรือ GFR) ได้ด้วย ถึงแม้ GFR จะวัดโดยตรงได้ แต่ทำได้ยาก ทำให้มักประมาณค่า GFR โดยอิงจากระดับของครีเอตินินในซีรัมแทน
การวัดค่าประมาณอัตราการกรองของไต (eGFR)
อัตราการกรองของไต เป็นค่าที่บ่งชี้การทำงานของไต การวัดค่า GFR จะวัดว่าไตสามารถกรองเลือดได้เท่าไรภายใน 1 นาที ดังที่กล่าวข้างต้น การวัดค่า GFR สามารถวัดได้โดยตรง แต่ทำได้ยาก ทำให้แพทย์นิยมกะประมาณค่า GFR โดยใช้ผลตรวจเลือดที่วัดระดับครีเอตินินในเลือดแทน โดยค่านี้เรียกว่า ค่าประมาณอัตราการกรองของไต (eGFR)
อาการของโรคไต เช่น ปัสสาวะบ่อยและกล้ามเนื้อกระตุก อาจไม่เกิดขึ้นจนกว่าการทำงานของไตจะลดลงเหลือต่ำกว่า 60% การวัดค่า eGFR จึงมีประโยชน์เพราะช่วยในการคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำให้ได้รับการรักษาได้ทันท่วงที
แพทย์อาจสั่งตรวจวัดค่า eGFR เพื่อดูสุขภาพไตของผู้ป่วยที่มีโรคหรืออาการต่อไปนี้
- ความผิดปกติตั้งแต่เกิดที่ส่งผลต่อการทำงานของไต
- โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
- โรคเบาหวาน
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไต
- ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง
- โรคหัวใจ
- เคยสูบบุหรี่
- ความดันโลหิตสูง
- โรคอ้วน
- ทางเดินปัสสาวะอุดตัน
ผลของค่า eGFR
ยิ่งค่า eGFR สูง แสดงว่าการทำงานของไตยิ่งดี โดยเกณฑ์ปกติของค่า eGFR จัดเป็นช่วงได้ดังนี้
- ค่า eGFR ตั้งแต่ 90 ขึ้นไป: ค่า eGFR ในช่วงนี้แสดงว่าไตทำงานปกติหรืออาจได้รับความเสียหายแต่ไม่รุนแรง
- ค่า eGFR ระหว่าง 60 ถึง 89: ค่า eGFR ในช่วงนี้แสดงว่าประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลงเล็กน้อย
- eGFR ระหว่าง 30 ถึง 59: ค่าในช่วงนี้แสดงว่าประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลงปานกลางจนถึงลดลงเป็นอย่างมาก อาการของโรคอาจเกิดขึ้นเมื่อมีค่า eGFR ในช่วงนี้
- ค่า eGFR ระหว่าง 15 ถึง 29: ค่าที่อยู่ในช่วงนี้แสดงว่าการทำงานของไตลดลงจนเหลือน้อยมาก
- ค่า eGFR ต่ำกว่า 15: ค่า eGFR ในช่วงนี้เป็นสัญญาณของไตวาย และแสดงว่าการทำงานไตลดลงเหลือต่ำกว่า 15% การมีค่า eGFR ในช่วงนี้ถือเป็นขั้นที่ร้ายแรงที่สุดและอาจส่งผลต่อชีวิตได้ โดยผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการปลูกถ่ายไตหรือฟอกไต
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตรวจการทำงานของไต
- นานเท่าไรจนกว่าจะรู้ผลตรวจการทำงานของไต?
ผลการตรวจการทำงานของไตอาจออกในวันเดียวกันกับวันที่ตรวจ อย่างไรก็ตาม บางแห่งอาจส่งไปตรวจที่ห้องแล็บและใช้เวลาประมาณ 2–3 วันกว่าจะได้ผล - หากผลที่ออกมาไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะเกิดอะไรขึ้น?
หากผลการตรวจการทำงานของไตไม่ปกติ แพทย์อาจสั่งให้ตรวจการทำงานมากขึ้นในอนาคต เพราะการตรวจการทำงานของไตเป็นประจำจะมีประโยชน์ในการติดตามสุขภาพของผู้ป่วย
คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
การตรวจการทำงานของไตช่วยบอกว่าไตทำงานได้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด วิธีที่มักจะใช้คือการตรวจเลือดและปัสสาวะ ทั้งนี้ เนื่องจากไตมีหน้าที่ที่สำคัญหลายประการ การตรวจการทำงานของไตจึงมีประโยชน์ในการติดตามอาการของโรคไต ช่วยให้รักษาผู้ป่วยได้ทันเวลา