เนื้องอกที่ไต
เนื้องอกที่ไต เป็นเรื่องที่พบบ่อยมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน เนื่องมาจากการเข้าถึงการตรวจสุขภาพที่ง่ายขึ้น เครื่องมือทางรังสีในการวินิจฉัยทันสมัย การตรวจคัดกรองหรือการวินิจฉัยจึงแม่นยำมากขึ้น ซึ่งเนื้องอกที่พบนั้นมีทั้งที่ไม่ใช่มะเร็งและเนื้องอกมะเร็ง ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเนื้องอกที่ไตจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและได้ประสิทธิภาพสูงสุด
เนื้องอกที่ไตชนิดไม่ร้าย ที่พบบ่อยคือถุงน้ำที่ไต ส่วนใหญ่ไม่อันตราย มักพบจากการตรวจอัลตราซาวด์โดยบังเอิญ ไม่ต้องทำการรักษาแต่ควรเฝ้าระวังขนาดและความเรียบของผนังเป็นระยะๆ เพราะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้แต่น้อยมาก นอกจากนั้นยังมีความจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของมะเร็งไตที่ซ่อนอยู่
การทำอัลตราซาวด์และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามารถแยกถุงน้ำได้ออกเป็นหลายชนิด และสามารถแยกก้อนเนื้อออกได้ชัดเจน
การจำแนกชนิดของถุงน้ำเพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งและผลแทรกซ้อน
ชนิดที่ 1 - 2 เป็นถุงน้ำผิวเรียบความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งไตต่ำ ใช้วิธีการเฝ้าระวังเป็นระยะๆ
ชนิดที่ 3 – 4 เป็นถุงน้ำผิวไม่เรียบและมีผนังมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งสูง จึงต้องตัดชิ้นเนื้อ หรือผ่าตัดออก
เนื้องอกที่ไตชนิดไม่ร้ายอื่น ๆ ที่พบบ่อยคือ Angiolipoma (AML) เนื้องอกของไขมันหลอดเลือดและกล้ามเนื้อเรียบ เนื้องอกชนิดนี้มักจะมีการฉีกขาดของหลอดเลือดเมื่อขนาดใหญ่กว่า 4 ซม. ทำให้เกิดอันตรายและภาวะแทรกซ้อนได้ จึงต้องทำการรักษาโดยการผ่าตัดออกหรือทำให้ฝ่อลง แต่ถ้าขนาดเล็กใช้วิธีการเฝ้าระวังขนาดเป็นระยะ ๆ โดยอัลตราซาวด์
เนื้องอกร้ายที่ไต “มะเร็งไต” เป็นโรคที่พบได้ไม่มากเมื่อเทียบกับมะเร็งอื่นๆ โดยพบผู้ป่วยมะเร็งไต 1.6 รายต่อประชากรแสนคน โดยพบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมักพบโรคนี้ในผู้ป่วยอายุ 50-70 ปี อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะพบโรคมะเร็งไตน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอันตราย เราจึงควรมาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งไต
มะเร็งไต แบ่งออกเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ ซึ่งได้แก่ การสูบบุรี่ ความอ้วน และโรคความดันโลหิตสูง ส่วนปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ พันธุกรรม ผู้ที่มีพ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติเป็นมะเร็ง ก็มีความเสี่ยงจะเป็นมากกว่าคนอื่น นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้สมุนไพรบางชนิด เช่น ไคร้เครือ เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง รวมทั้งการใช้ยาแก้ปวดบางชนิดนานเกินไป
อาการของมะเร็งไต
โรคมะเร็งไตในระยะแรกมักไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งเมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก คนไข้จึงจะมีอาการปวดเอว พบก้อนบริเวณเอว ปัสสาวะเป็นเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคมะเร็งไตพบระหว่างการตรวจสุขภาพประจำปี หรือการตรวจร่างกายเพื่อภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคและสมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกาย จากนั้นแพทย์จะส่งตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อประเมินการทำงานของไตและความแข็งแรงของร่างกาย สุดท้ายคือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อการวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
การรักษาโรคมะเร็งไต
มะเร็งไตที่ได้รับการวินิจฉัยเร็วและยังไม่ลุกลามจะง่ายต่อการรักษามากกว่า วิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับขนาดของโรคและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง การผ่าตัดเพื่อขจัดเซลล์มะเร็งเป็นทางเลือกการรักษาแรกที่มักนำมาใช้ในเกือบทุกกรณีโรคมะเร็งไตมีความแตกต่างกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่การรักษาด้วยเคมีบำบัดไม่ได้มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควรในการรักษาโรคมะเร็งไต อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ไม่ใช่การผ่าตัดอื่น ๆ สามารถนำมาใช้ได้ เช่น การรักษาด้วยรังสีรักษาหรือการรักษาด้วยยาเพื่อเจาะจงฆ่าเซลล์มะเร็งมักถูกนำมาใช้ในโรคระยะลุกลามมากขึ้นโดยเซลล์มะเร็งนั้นได้ลุกลามเกินขอบเขตของไตออกไปแล้ว
การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักวิธีเดียวที่ทำให้โรคมะเร็งไตระยะ 1-3 หายขาดได้ ซึ่งวิวัฒนาการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งไตในปัจจุบันมีความก้าวหน้า และมีประสิทธิภาพอย่างมาก
หลักการคือผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกจากตัวคนไข้ให้หมด ซึ่งต้องประเมินก่อนว่า ถ้าก้อนเล็ก สามารถตัดออกได้เฉพาะก้อนแล้วทำการเย็บไต แต่ถ้าก้อนใหญ่มาก มากกว่า 4 ซม. ก็ต้องตัดไตออกทั้งไต ซึ่งคนเรามีไต 2 ข้าง หากตัดไป 1 ข้าง ร่างกายก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
- การผ่าตัดแบบเปิด เป็นการรักษาที่มีมาแต่ดั้งเดิมจะผ่าเอามะเร็งออกตรงบริเวณชายโครง แผลจะค่อนข้างยาว คนไข้จะเสียเลือดค่อนข้างมาก และหลังจากผ่าตัดอาจทำให้หายใจไม่สุดเพราะเจ็บบริเวณชายโครง แผลอาจหายช้า ทำให้ฟื้นตัวช้า ส่วนข้อดีของการผ่าตัดแบบเปิดคือค่าใช้จ่ายไม่แพง
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ทำการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องเข้าไปในช่องท้องเพื่อเข้าไปผ่าตัดไต โดยการใส่ลมเข้าไปในช่องท้องเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับการผ่าตัด ข้อดีของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้คือ แผลเล็ก คนไข้เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว และไม่เจ็บแผลมาก เพราะสามารถเอาไตออกที่แผลบริเวณท้องน้อยด้านล่างได้
ซึ่งการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ศัลยแพทย์จะต้องมีความชำนาญในระดับหนึ่ง เพราะการผ่าตัดผ่านกล้อง อุปกรณ์ที่ใช้จะมีลักษณะเป็นแท่งยาว ไม่เหมือนมือของมนุษย์ปกติ นอกจากนี้ภาพที่เห็นจะต้องมองผ่านจอภาพ จึงต้องมีการประสานระหว่างการมองกับการควบคุมอุปกรณ์อย่างสอดคล้อง
การป้องกันโรคมะเร็งไต
เนื่องจากสาเหตุของโรคมะเร็งไตยังไม่ถูกทราบอย่างแน่ชัดจึงยังไม่มีวิธีใดที่สามารถป้องกันโรคดังกล่าวได้อย่างหายขาด อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีอาจช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งได้ การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยหลีกเลี่ยงการมีน้ำหนักเกิน หรือการเป็นโรคอ้วนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากของโรคมะเร็งไต หากคุณมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน คุณสามารถลดน้ำหนักและรักษาน้ำหนักที่เหมาะสมได้โดยการออกกำลังกายเป็นประจำควบคู่กับการรับประทานอาหารที่ควบคุมแคลอรี่
การพยากรณ์โรคมะเร็งไตเข้าพบแพทย์เมื่อใด
การพยากรณ์โรคมะเร็งไตมักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกเมื่อเซลล์มะเร็งยังคงจำกัดอยู่ภายในไตเท่านั้น มะเร็งไตมักจะรักษาให้หายขาดได้โดยการตัดไตออกบางส่วน หรือตัดไตข้างนั้นออกทั้งหมด เนื่องจากคนเราทั่วไปสามารถมีชีวิตสุขภาพดีและแข็งแรงได้โดยแม้มีไตเพียงข้างเดียว ประมาณหนึ่งในสามของมะเร็งไตที่ตรวจพบจะได้รับการวินิจฉัยว่าอยู่ในระยะเริ่มแรก ประมาณ 65-90% ของผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่อย่างน้อยห้าปีหลังจากได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งไตในระยะเริ่มแรก และมีผู้ป่วยจำนวนมากที่สามารถมีชีวิตอยู่อาศัยได้นานกว่านั้น แนวโน้มของโรคมะเร็งไตที่เริ่มแพร่กระจายลุกลามออกไปนอกไตเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก โดยมีเพียงประมาณ 40-70% ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งไตระยะลุกลามสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้อย่างน้อยห้าปีหลังจากได้รับการวินิจฉัย ในกรณีที่มะเร็งไตลุกลามมากขึ้นและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายจะทำให้เหลือเพียงประมาณ 10% ของผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่อย่างน้อยห้าปีหลังจากได้รับการวินิจฉัย
ควรเข้าพบแพทย์เมื่อใด
ควรเข้าพบแพทย์ทันที หากคุณมีอาการปวด บวมหรือคลำก้อนเนื้อที่บริเวณไต โดยทั่วไปจะพบเพียงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกายที่ระดับขอบล่างของซี่โครง ยิ่งไปกว่านั้นควรไปพบแพทย์เช่นกัน หากคุณพบเลือดปนในปัสสาวะ แม้ว่าอาการดังกล่าวอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งไต แต่อาจเกิดจากโรคอื่นที่รุนแรงน้อยกว่าแต่ต้องได้รับการรักษา เช่น ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือเนื้องอกเยื่อบุทางเดินปัสสาวะ