เลือกหัวข้อที่อ่าน
- กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) คืออะไร?
- กล่องเสียงอักเสบ มีอาการอย่างไร?
- กล่องเสียงอักเสบ มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
- กล่องเสียงอักเสบ มีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร?
- กล่องเสียงอักเสบ มีวิธีการรักษาอย่างไร?
- เมื่อกล่องเสียงอักเสบ ควรวิธีการดูแลรักษาตัวเองที่บ้านอย่างไร?
- วิธีป้องกันกล่องเสียงอักเสบ มีกี่วิธี อะไรบ้าง?
กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) คืออะไร?
กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis) ภายในกล่องเสียงของคนเราจะมีเส้นเสียงที่เปิดปิดได้ เมื่ออากาศผ่านเส้นเสียงจะเกิดการสั่นสะเทือน เกิดเป็นเสียงพูด เมื่อกล่องเสียงติดเชื้อ ระคายเคือง หรือมีการใช้เสียงมากเกินไป จะทำให้เส้นเสียงบวม เสียงแหบ เสียงหาย การติดเชื้อไวรัสไข้หวัดอาจทำให้กล่องเสียงอักเสบเฉียบพลันได้เช่นกัน
กล่องเสียง (Larynx) คืออะไร?
กล่องเสียง (Larynx) เป็นอวัยวะที่อยู่ใต้คอหอย เหนือหลอดลม ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้อาหารหลุดเข้าไปในหลอดลม และจำเป็นต่อการสร้างเสียงพูด หากเกิดการติดเชื้อที่กล่องเสียงหรือใช้เสียงมากเกินไป อาจทำให้กล่องเสียงอักเสบ
เราพูดได้อย่างไร?
เสียงเกิดจากการที่อากาศจากปอดผ่านไปยังหลอดลมและกล่องเสียง ทำให้เส้นเสียงสั่นสะเทือนจนเกิดเป็นเสียง กล้ามเนื้อที่ควบคุมเพดานปาก ลิ้น และริมฝีปากจะแปลงเสียงให้เป็นคำที่เราพูด
เส้นเสียงเปิดและปิด
เส้นเสียงเปิดเมื่อเราหายใจและปิดเพื่อสร้างเสียงโดยการสั่นสะเทือน
กล่องเสียงอักเสบต่างจากคออักเสบอย่างไร?
คออักเสบ คือ การที่คอหอยอักเสบ โดยคอหอยเป็นอวัยวะที่อยู่หลังโพรงจมูกยาวไปจนถึงกล่องเสียง กล่องเสียงอักเสบคือการอักเสบของกล่องเสียงซึ่งอยู่ติดกับคอหอย เหนือหลอดลม
กล่องเสียงอักเสบ มีอาการอย่างไร?
เมื่อกล่องเสียงอักเสบ ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบ เสียงหาย คอแห้ง ไอแห้ง คันคอ โดยกล่องเสียงอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมักดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพราะอาจมีสาเหตุมาจากโรคที่ร้ายแรงกว่าการติดเชื้อไวรัส
เมื่อมีอาการกล่องเสียงอักเสบ ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
ควรรีบไปพบแพทย์หากมีไข้นานไม่หาย หายใจลำบาก รู้สึกเจ็บคอมากกว่าเดิม ไอเป็นเลือด หากบุตรหลานหายใจมีเสียงหวีด น้ำลายไหลมากขึ้น กลืนหรือหายใจลำบาก มีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นข้อบ่งชี้ของการอักเสบเฉียบพลันบริเวณกล่องเสียงและหลอดลมใหญ่ (Croup) และฝาปิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน (Epiglottitis) การอักเสบเฉียบพลันบริเวณกล่องเสียงและหลอดลมใหญ่ที่ไม่รุนแรงอาจดูแลรักษาให้หายได้เองที่บ้าน แต่ถ้ามีอาการรุนแรงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และภาวะฝาปิดกล่องเสียงอักเสบเฉียบพลันเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
กล่องเสียงอักเสบ มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
- กล่องเสียงอักเสบเฉียบพลัน สามารถหายได้เอง มักมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสไข้หวัด การใช้เสียงมากหรือตะโกน กล่องเสียงอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นพบได้น้อย
- กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง คือการที่กล่องเสียงอักเสบนานกว่า 3 สัปดาห์ โดยอาจเกิดจากการสัมผัสกับสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ สารก่อภูมิแพ้ และไอจากสารเคมี โรคกรดไหลย้อน โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก การสูบบุหรี่ และการใช้เสียงดังเป็นประจำ เช่น นักร้องหรือเชียร์ลีดเดอร์ สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้น้อยกว่า ได้แก่ การติดเชื้อรา แบคทีเรีย และปรสิต อาการอักเสบเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดติ่งเนื้อหรือก้อนเนื้อที่เส้นเสียง
นอกจากนี้อาการเสียงแหบเรื้อรังอาจเป็นผลมาจากการที่สายเสียงโก่งตัว มะเร็ง เส้นเสียงเป็นอัมพาตจากการที่เส้นประสาทได้รับบาดเจ็บซึ่งอาจเกิดจากมะเร็ง ความผิดปกติของระบบประสาท การได้รับบาดเจ็บที่หน้าอกหรือคอ และการผ่าตัดบริเวณลำคอ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้กล่องเสียงอักเสบคืออะไร?
การอักเสบของกล่องเสียงเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในผู้ที่ต้องตะโกนหรือตะเบ็งเสียง สูบบุหรี่หรือสัมผัสกับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือมีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ เช่น ไซนัสอักเสบหรือหลอดลมอักเสบ นอกจากนี้ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอ ผู้ที่ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดยังมีความเสี่ยงที่จะเป็น กล่องเสียงอักเสบจากเชื้อรา
กล่องเสียงอักเสบ มีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร?
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย
- การส่องกล้องตรวจกล่องเสียง Laryngoscopy
แพทย์จะทำการตรวจเส้นเสียงโดยการส่องไฟฉายและใช้กระจกขนาดเล็กตรวจดูด้านในลำคอหรือใช้การตรวจด้วยกล้อง Fiberoptic Laryngoscope โดยแพทย์จะสอดกล้องผ่านทางจมูกหรือปากไปยังลำคอ เพื่อตรวจดูการเคลื่อนไหวของเส้นเสียงขณะพูด - การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
หากพบรอยโรคที่น่าสงสัย แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
กล่องเสียงอักเสบ มีวิธีการรักษาอย่างไร?
- ยาปฏิชีวนะ: ส่วนใหญ่แล้วกล่องเสียงอักเสบ มักมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส แต่ถ้าการอักเสบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ
- ยาคอร์ติสเตียรอยด์: ยาคอร์ติสเตียรอยด์ สามารถลดอาการอักเสบที่เส้นเสียง และมักใช้ลดอาการอักเสบที่เส้นเสียงในเด็กที่มีการอักเสบเฉียบพลันบริเวณกล่องเสียงและหลอดลมใหญ่ (Croup)
- การฝึกการใช้เสียง: การฝึกการใช้เสียง (Voice therapy) เพื่อปรับการใช้เสียงในชีวิตประจำวัน ช่วยลดความเสี่ยงที่กล่องเสียงจะอักเสบ
- การผ่าตัด: แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดในผู้ป่วยบางราย
เมื่อกล่องเสียงอักเสบ ควรวิธีการดูแลรักษาตัวเองที่บ้านอย่างไร?
- ดื่มน้ำมาก ๆ งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
- กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ อมยาอม เคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อให้คอชุ่มชื้น
- ใช้เครื่องสร้างความชื้นที่บ้านหรือที่ทำงาน
- สูดไอน้ำขณะอาบน้ำอุ่น หรือเทน้ำร้อนลงในภาชนะแล้วสูดไอน้ำ
- งดพูดคุยหรือร้องเพลงเสียงดัง ควรใช้ไมโครโฟน หรือโทรโข่งเมื่อต้องพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก
- หลีกเลี่ยงการกระซิบเพราะทำให้เส้นเสียงทำงานหนักขึ้น
- หลีกเลี่ยงยาแก้คัดจมูกเพราะทำให้คอแห้ง
วิธีป้องกันกล่องเสียงอักเสบ มีกี่วิธี อะไรบ้าง?
- เลิกสูบบุหรี่และอยู่ห่างจากควันบุหรี่มือสอง
- ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักและผลไม้จะช่วยให้เยื่อบุในลำคอแข็งแรง
- หลีกเลี่ยงการกระแอมในลำคอ เพราะอาจทำให้เส้นเสียงสั่นผิดปกติ บวม และระคายเคืองคอมากขึ้น
- งดการรับประทานอาหารรสเผ็ดซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคกรดไหลย้อน
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ
- ล้างมืออย่างถูกวิธี การล้างมือช่วยลดการสัมผัสกับเชื้อโรค เช่น เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด
- อยู่ห่างจากผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
ควรเตรียมตัวก่อนพบแพทย์เพื่อรักษากล่องเสียงอักเสบอย่างไร?
- จดอาการที่มี เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในชีวิตเมื่อไม่นานมานี้ ความเครียด รายชื่อยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทาน
- จดคำถามที่ต้องการถามแพทย์
ยกตัวอย่าง เช่น
- สาเหตุของอาการคืออะไร
- จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
- ควรรักษาด้วยวิธีใด
- จะจัดการโรคประจำตัวที่มีอยู่ได้อย่างไร
- มีข้อจำกัดที่ต้องปฏิบัติตามบ้างหรือไม่
- เตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่แพทย์อาจจะถาม
ยกตัวอย่าง เช่น
- เริ่มมีอาการเมื่อไร
- มีอาการตลอดเวลาหรือเป็นช่วง ๆ
- อะไรที่ให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง
- เมื่อไม่นานมานี้ป่วยเป็นไข้หวัดหรือไม่
- เมื่อไม่นานมานี้ต้องพูดเสียงดัง ตะโกน หรือร้องเพลงบ้างหรือไม่
- สูบบุหรี่หรือไม่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำหรือไม่
คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค
กล่องเสียงอักเสบ สามารถหายได้เอง แต่ถ้าเจ็บคอมากหรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม