Leukemia Banner 1.jpg

มะเร็งเม็ดเลือดขาว ลูคีเมีย (Leukemia)

มะเร็งเม็ดเลือดขาว ลูคีเมีย (Leukemia) คือ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูกหรือเซลล์ต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีหลายประเภท บางชนิดมักเกิดขึ้นในเด็กในขณะที่บางชนิดมักเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่

แชร์

มะเร็งเม็ดเลือดขาว ลูคีเมีย (Leukemia)

มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย (Leukemia) คือมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่สร้างเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูกหรือเซลล์ต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีหลายประเภท บางชนิดมักเกิดขึ้นในเด็กในขณะที่บางชนิดมักเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่

เซลล์เม็ดเลือดขาวปกติจะเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเมื่อระบบภูมิคุ้มกันระดมเซลล์เม็ดเลือดขาวไปตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อ เมื่อคนไข้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ไขกระดูกจะสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีความผิดปกติจำนวนมาก ที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เหมือนเซลล์ปกติ

การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะแตกต่างกันไปโดยอาจจะยากและซับซ้อน ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวและปัจจัยอื่นๆ

อาการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นอย่างไร?

อาการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณทั่วไปของมะเร็งเม็ดเลือดขาว

  • มีไข้สูงหรือรู้สึกหนาวสั่น
  • รู้สึกเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลียอย่างต่อเนื่อง
  • มีการติดเชื้อที่ต่อเนื่องหรือรุนแรง
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ตับหรือม้ามโต
  • ฟกช้ำหรือเลือดออกง่าย
  • เลือดกำเดาไหลบ่อยๆ
  • ปรากฎจุดแดงเล็กๆ บนผิวหนัง
  • เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะช่วงกลางคืน
  • ปวดหรือกดเจ็บที่กระดูก

อาการโรคมะเร็งเม็ดเลืดขาว เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

คนไข้ควรทำการปรึกษาแพทย์หากพบอาการที่น่าเป็นกังวล อาการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักมีความหลากหลาย และบางอย่างสามารถมองข้ามได้ง่าย เนื่องจากอาการอาจคล้ายกับไข้หวัดใหญ่หรือโรคอื่นๆ มะเร็งเม็ดเลือดขาวบางครั้งจะถูกพบเมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุโรคอื่น ๆ

มะเร็งเม็ดเลือดขาว มีสาเหตุเกิดจากอะไร?

มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคที่ยังไม่สามารถหาต้นเหตุการเกิดที่ชัดเจน แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่สัมพันธ์กับโรค เช่น การติดเชื้อ การได้รับสารเคมีบางอย่าง หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างไรก็ตามโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถจะพัฒนาได้จากปัจจัยทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม

ต้นกำเนิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

แพทย์เชื่อว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic stem cells) กลายพันธุ์ เซลล์ที่เกิดการกลายพันธุ์ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการเจริญเติบโตและแบ่งตัว

การจำแนกประเภทมะเร็งเม็ดเลือดขาว

มะเร็งเม็ดเลือดขาวถูกจำแนกตามรูปแบบที่กลายพันธุ์และความเร็วในการลุกลามของโรค เซลล์มะเร็งแบ่งตัวเร็วเพิ่มปริมาณเบียดแทนที่เซลล์ปกติในไขกระดูก ทำให้ไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดปกติได้ในปริมาณเพียงพอ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เกิดขึ้นเมื่อเซลล์เม็ดเลือดกลายพันธุ์เป็นเซลล์เม็ดเลือดที่ยังไม่โตเต็มที่ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อถูกปล่อยเข้าในกระแสโลหิต และจะเพิ่มจำนวนในอัตราที่ทำให้อาการคนไข้แย่ลงอย่างรวดเร็ว มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาเชิงรุกอย่างรวดเร็ว

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง – มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังมีหลายประเภท บางชนิดผลิตเซลล์มากเกินไป และบางชนิดผลิตเซลล์น้อยเกินไป ทำให้ในเลือดมีเซลล์มะเร็งมากเกินไปหรือทำหน้าที่ปกติได้สั้นลงโดยทำงานได้ดีเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังเหล่านี้ในบางครั้งไม่แสดงอาการในระยะแรกและมักไม่ได้รับการวินิจฉัยเป็นเวลาหลายปี

มะเร็งเม็ดเลือดขาวถูกจำแนกย่อยลงไปได้อีก ตามชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ได้กลายพันธ์ไป

  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบลิมโฟโซต์ เป็นมะเร็งชนิดที่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ในน้ำเหลืองและก่อตัวขึ้นในต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อของต่อมน้ำเหลืองช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างถูกต้อง
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดไมอิลอยด์ เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ส่งผลกระทบต่อเซลล์สายไมอิลอยด์ซึ่งช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ และเซลล์ผลิตเกล็ดเลือด

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ 

  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันกลุ่มลิมโฟซิติก (ALL) – มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้พบบ่อยที่สุด และมักเกิดขึ้นในเด็กเล็ก ในบางครั้งอาจเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบไมอิลอยด์ (AML) เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบไมอิลอยด์ (CML) - เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดที่มักเกิดกับผู้ใหญ่เป็นหลัก โดยคนไข้มักจะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเป็นเวลาหลายปีก่อนที่เซลล์ที่กลายพันธุ์จะเริ่มเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว
  • มะเร็งชนิดอื่นๆ – มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Hairy cell กลุ่มอาการของโรคมัยอีโลดีสพลาสติก (myelodysplastic syndrome) และโรคมัยอีโลโปรลิเฟอเรทีฟ ผิดปกติ (myeloproliferative disorders) เป็นตัวอย่างมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดที่พบได้น้อย

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

  • ประวัติการป่วยเป็นโรคมะเร็ง – ผู้ป่วยที่เคยได้รับเคมีบำบัดและการฉายรังสีสำหรับมะเร็งชนิดอื่น มีแนวโน้มมากยิ่งขึ้นที่จะเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม – ผู้ที่มีความผิดปกติของโครโมโซม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ มีโอกาสเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น
  • การสัมผัสกับสารเคมี – การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น เบนซิน มีความเชื่อมโยงกับโอกาสที่เพิ่มขึ้นของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • การสูบบุหรี่ - การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันแบบไมอิลอยด์
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว - หากสมาชิกในครอบครัวของคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว คนส่วนใหญ่ที่มีความเสี่ยงเหล่านี้มักไม่ค่อยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว และคนส่วนใหญ่ที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวก็อาจไม่พบมีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ลูคีเมีย

หากมีอาการที่เข้าได้กับอาการของโรคงมะเร็งเม็ดเลือดขาว แพทย์อาจแนะนำวิธีการวินิจฉัยโรค ดังต่อไปนี้

  • การตรวจร่างกาย – แพทย์จะตรวจหาอาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ผิวสีซีดที่เกิดจากภาวะโลหิตจาง ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ตับและม้ามโต
  • การตรวจเลือด – แพทย์สามารถตรวจพบและระบุจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงหรือเม็ดเลือดขาวหรือเกล็ดเลือด ที่ผิดปกติ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไม่
  • การตรวจไขกระดูก – แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำการตรวดไขกระดูกโดยการดูดเจาะตัวอย่างไขกระดูกออกจากกระดูกสะโพกโดยใช้เข็มขนาดเล็ก ตัวอย่างจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติ การตรวจนี้สามารถระบุตำแหน่งการกลายพันธ์ของยีนซึ่งช่วยกำหนดทางเลือกการรักษาที่เหมาะสม

การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ลูคีเมีย

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวขึ้นอยู่กับอายุ ภาวะสุขภาพโดยรวม ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง เป็นต้น

  • เคมีบำบัด – เป็นตัวเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ในบางครั้งคนไข้อาจได้รับยาตัวเดียวหรือหลายตัวรวมกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว และอาจมาในรูปแบบการฉีดเข้าเส้นเลือดหรือยารับประทาน
  • การรักษาแบบมุ่งเป้า – การรักษาประเภทนี้เน้นที่ความผิดปกติที่พบในเซลล์มะเร็ง การรักษาวิธีนี้จะมุ่งเน้นไปที่เซลล์มะเร็งและสกัดกั้นกลไกผิดปกติในเซลล์ซึ่งจะทำลายเซลล์มะเร็งในที่สุดโดยไม่กระทบกับเซลล์ปกติ
  • รังสีรักษา – การรักษาประเภทนี้ใช้รังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวและป้องกันไม่ให้เซลลมะเร็งเจริญเติบโต คนไข้อาจได้รับรังสีเฉพาะส่วนในร่างกาย หรือได้รับการฉายรังสีทั่วร่างกาย นอกจากนี้ยังใช้ในการเตรียมร่างกายก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก – หรือเรียกว่าการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ การรักษานี้ช่วยสร้างสเต็มเซลล์ที่แข็งแรงขึ้นใหม่ โดยแทนที่ไขกระดูกที่ไม่แข็งแรงด้วยสเต็มเซลล์ที่แข็งแรง ซึ่งจะช่วยสร้างไขกระดูกที่แข็งแรงขึ้นใหม่ ก่อนการปลูกถ่ายไขกระดูก ผู้ป่วยต้องได้รับยาคีโมบำบัดในปริมาณสูงหรือการฉายรังสีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวในไขกระดูกให้หมด หลังจากนั้น ผู้ป่วยอาจจะได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคอื่นหรือในบางครั้งใช้จากคนในครอบครัวในการรักษาขั้นตอนต่อไป
  • การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน – ทางเลือกการรักษานี้ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งโดยจะรบกวนกระบวนการผลิตโปรตีนที่เซลล์มะเร็งใช้ในการป้องกันไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเซลล์มะเร็ง
  • การเตรียมเซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว – นอกจากนี้ยังมีการรักษาเฉพาะทางที่เรียกว่าการบำบัดด้วยไคเมอริก แอนติเจน รีเซพเตอร์ (CAR)-T เซลล์ วิธีนี้จะนำ T-cell ของระบบภูมิคุ้มกันผู้ป่วยออกมาเปลี่ยนคุณสมบัติให้ต่อสู้กับมะเร็งได้ และหลังจากนั้นจะฉีดกลับเข้าร่างกายของคนไข้เพื่อลดปริมาณเซลล์มะเร็งลง

การเผชิญหน้ากับโรคร้าย

การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจทำให้ครอบครัวของคนไข้รู้สึกเหนื่อยล้าและท้อแท้ แต่ท้ายที่สุดคนไข้จะพบวิธีรับมือกับสถานการณ์และความไม่แน่นอนของโรค นี่คือคำแนะนำบางส่วนที่จะช่วยให้คนไข้เผชิญหน้ากับโรค:

  • ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเพื่อให้คุณทราบวิธีที่ดีที่สุดในการตัดสินใจรักษาโรค - ถามแพทย์เกี่ยวกับโรค ทางเลือกในการรักษา และการพยากรณ์โรค ยิ่งคนไข้มีความรู้เรื่องนี้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสามารถทำการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาได้มากขึ้น
  • รักษาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเพื่อนและครอบครัวของคุณ – ความสัมพันธ์นี้จะช่วยให้คุณจัดการกับโรคได้เนื่องจากครอบครัวและเพื่อนจะสามารถให้ความช่วยเหลือคุณได้
  • คุยกับใครซักคน – หาคนที่คุณสามารถคุยได้เกี่ยวกับความหวังและสิ่งที่คุณกลัว โดยอาจจะเป็นเพื่อนหรือครอบครัว หรือ ชมรมช่วยคนเป็นมะเร็ง
  • ดูแลตัวเอง – ควรดูแลตัวเองอย่างดีเสมอ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไม่ก็ตาม พยายามหาเวลาสำหรับงานอดิเรกที่ชอบ เช่น โยคะหรือทำอาหาร

การเตรียมตัวก่อนการนัดพบแพทย์

ปรึกษาแพทย์หากผู้ป่วยพบอาการที่ก่อให้เกิดความกังวล หากแพทย์สงสัยว่าคุณอาจเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว แพทย์อาจแนะนำให้คุณพบแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางโลหิตวิทยา คำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนพบแพทย์และสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถคาดหวังจากแพทย์ได้ มีตังต่อไปนี้

การเตรียมตัวก่อนการพบแพทย์

  • เข้าใจข้อจำกัด หรือข้อควรระวังก่อนการนัดหมายกับแพทย์ ให้ครบถ้วน หรือซักถามเกี่ยวกับข้อมูลคนไข้ที่จำเป็นต้องเตรียมก่อนการพบแพทย์ เช่น บันทึกประเภทของอาหาร หรือ วิถีการดำเนินชีวิต
  • จดบันทึกอาการทั้งหมด รวมทั้งอาการที่อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • จดข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งความเครียดหรือการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
  • จดรายชื่อยา วิตามิน หรืออาหารเสริมทั้งหมดที่คนไข้กำลังรับประทานอยู่
  • มาตามนัดกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเพื่อช่วยในการจำข้อมูลจากแพทย์

ตัวอย่างคำถามที่คุณควรถามแพทย์

  • อาการของฉันเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไม่
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ฉันเป็นคือประเภทใด
  • ฉันต้องได้รับการตรวจอื่นๆ อีกหรือไม่
  • จำเป็นต้องได้รับการรักษาทันทีหรือไม่
  • ทางเลือกในการรักษามีอะไรบ้าง
  • มีการรักษาใดบ้างที่สามารถรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวให้หายขาดได้
  • มีผลข้างเคียงจากการรักษาหรือไม่
  • มีการรักษาใดที่แพทย์คิดว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับฉัน
  • การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะส่งผลต่อชีวิตประจำวันของฉันอย่างไร เช่นการทำงานหรือไปโรงเรียน
  • ฉันจะจัดการโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้อย่างไร หากฉันมีภาวะทางสุขภาพอื่นๆด้วย
  • ค่ารักษามีมูลค่าเท่าไหร่ และประกันของฉันจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายหรือไม่

แพทย์อาจถามคำถามต่อไปนี้

  • ปัจจุบันมีอาการอะไรบ้าง
  • อาการเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด
  • อาการเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นชั่วครั้งชั่วคราวหรือต่อเนื่อง
  • อาการเหล่านี้มีความรุนแรงแค่ไหน
  • มีอะไรที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือไม่
  • มีอะไรที่ทำให้อาการทรุดลงหรือไม่
  • เคยมีผลตรวจเลือดที่ผิดปกติหรือไม่ เมื่อไหร่

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 15 เม.ย. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ภาวินี น้อยนารถ

    พญ. ภาวินี น้อยนารถ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคเลือด
    อายุรศาสตร์โรคเลือด, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    พญ. ชญาภา ทูคำมี

    พญ. ชญาภา ทูคำมี

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคเลือด
    อายุรศาสตร์โรคเลือด
  • Link to doctor
    นพ. อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์

    นพ. อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
    • อายุรศาสตร์โรคเลือด
    • การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
    มะเร็งทางโลหิตวิทยา, การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
  • Link to doctor
    พญ. ภัคทิพา ภัทรโกศล

    พญ. ภัคทิพา ภัทรโกศล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคเลือด
    อายุรศาสตร์โรคเลือด