ขั้นตอนและผลตรวจการเจาะชิ้นเนื้อตับ - Liver Biopsy: Procedure, Rusults and After

การเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจวินิจฉัย (Liver Biopsy)

การเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจ (Liver Biopsy) เป็นการใช้เข็มเฉพาะสำหรับการเจาะชิ้นเนื้อตับออกมา เพื่อให้นักพยาธิวิทยาศึกษาและตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ ทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาพตับของผู้เข้ารับการตรวจ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


การเจาะชิ้นเนื้อตับคืออะไร?

การเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจ (Liver Biopsy) เป็นการตัดเนื้อเยื่อตับออกมาตรวจด้วยการใช้เข็มเฉพาะที่สามารถตัดชิ้นเนื้อลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกเล็ก ๆ ออกมาได้ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและระบุระยะของโรคตับได้

ทำไมต้องเจาะชิ้นเนื้อตับ?

การเจาะชิ้นเนื้อตับ ถือเป็นมาตรฐานที่ดีที่สุดในการตรวจวินิจฉัยโรคตับและรอยโรคในตับ ช่วยในการประเมินระยะของโรคตับเรื้อรัง ประเมินพังผืดในตับ และระบุระดับพังผืดในตับ หรือประเมินระยะและชนิดของเนื้องอกในตับรวมถึงมะเร็งชนิดต่างๆด้วย ซึ่งสำคัญต่อการคาดการณ์การดำเนินโรค วางแผนวิธีการรักษา และประเมินประสิทธิภาพของวิธีการรักษา

การเจาะชิ้นเนื้อตับสามารถตรวจวินิจฉัยโรคตับ เช่น โรคไขมันพอกตับ โรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคเนื้องอกในตับชนิดต่าง ๆ รวมถึงมะเร็งตับ นอกจากนี้ยังช่วยระบุสาเหตุหรือชนิดของโรคตับได้ เช่น 

  • ตับแข็งเนื่องจากการบริโภคสุรา หรือจากสาเหตุอื่น ๆเช่น จากการใช้ยา หรือ การติดเชื้อ
  • ตับอักเสบจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง หรือจากไวรัสตับอักเสบชนิดต่าง ๆ หรือจากยาหรือสารพิษ
  • โรคกรรมพันธุ์แต่กำเนิดเกิดจากการที่มีไกลโคเจนไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายในจำนวนมากผิดปกติ
  • ภาวะธาตุเหล็กเกิน
  • เนื้องอกในตับชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งตับชนิด (HCC)  มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งระยะลุกลาม
  • ไขมันพอกตับ
  • ท่อน้ำดีอักเสบปฐมภูมิ
  • ท่อน้ำดีอักเสบตีบตันแบบปฐมภูมิ
  • วัณโรค
  • โรค Wilson's disease หรือ ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย

Liver Biopsy การเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจวินิจฉัยมีขั้นตอนอย่างไร?

การเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจวินิจฉัยมีขั้นตอนอย่างไร?

ประสบการณ์การเจาะชิ้นเนื้อตับจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับวิธีที่เลือกใช้ การเจาะตัดชิ้นเนื้อตับด้วยเข็มผ่านทางผิวหน้าท้อง (Percutaneous liver biopsy) เป็นวิธีที่นิยมทำมากที่สุด แต่วิธีนี้อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีลักษณะดังนี้

  • ไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้นาน ๆ
  • มีประวัติเลือดออกง่ายหรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าว
  • เนื้องอกบางชนิดที่มีผลต่อระบบหลอดเลือดในตับ
  • เป็นโรคท้องมาน
  • เป็นโรคอ้วน
  • ติดเชื้อที่ตับ

ก่อนการเจาะชิ้นเนื้อตับ

  • แพทย์จะทำการซักประวัติเกี่ยวกับการใช้ยา  กรุณาแจ้งให้ทราบหากกำลังรับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ อยู่ เพราะอาจจำเป็นต้องหยุดรับประทานยาที่เพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดออก เช่น กลุ่มยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น 
  • เข้ารับการตรวจเลือดเพื่อประเมินว่ามีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือดหรือไม่
  • ขอให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวมาขับรถให้ในวันที่เข้ารับการตรวจและอยู่เป็นเพื่อนในคืนแรกหลังเข้ารับการตรวจเสร็จ 
  • งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการเจาะชิ้นเนื้อ

ระหว่างการเจาะชิ้นเนื้อตับ

  • พยาบาลจะทำการเจาะเปิดเส้นเลือดดำที่แขน สำหรับให้ยาหรือสารน้ำหากจำเป็น
  • แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึก และหรือให้ยาชาเฉพาะที่

การเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจวินิฉัย มีกี่วิธี?

การเจาะตัดชิ้นเนื้อตับด้วยเข็มผ่านทางผิวหน้าท้อง

เป็นวิธีที่นิยมที่สุด เนื่องจากเตรียมตัวไม่ยาก และการทำหัตถการไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก ภาวะแทรกซ้อนต่ำมาก
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายหาตำแหน่งของตับโดยใช้การอัลตราซาวนด์ ผู้เข้ารับการตรวจจะนอนหงาย โดยวางแขนขวาอยู่เหนือศีรษะ แพทย์จะทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อก่อน และฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณที่จะเจาะ ก่อนใส่เข็มเจาะชิ้นเนื้อเข้าไป ซึ่งใช้เวลาสั้น ๆ ระหว่างที่เจาะชิ้นเนื้อ แพทย์จะขอให้ผู้เข้ารับการตรวจกลั้นหายใจทุกครั้งที่ตัดชิ้นเนื้อ การเจาะตรวจอาจจะทำ 2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อยเพื่อให้ได้ปริมาณชิ้นเนื้อเพียงพอต่อการนำไปตรวจทางพยาธิวิทยา
ในกรณีที่ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ เช่นในกลุ่มที่มีน้ำในช่องท้องมาก หรือ ท้องมาน อาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อโดยวิธีอื่น ๆ ต่อไป เช่น การเจาะตัดชิ้นเนื้อตับผ่านหลอดเลือดดำที่คอ หรือ การส่องกล้องผ่าตัดช่องท้อง

การเจาะตัดชิ้นเนื้อตับผ่านหลอดเลือดดำที่คอ

ผู้เข้ารับการตรวจจะนอนหงายบนเตียงเอกซเรย์ แพทย์จะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ บริเวณลำคอด้านหนึ่ง จากนั้นจะสอดสายสวนผ่านหลอดเลือดดำที่คอไปยังหลอดเลือดที่ออกจากตับ (hepatic vein) แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปที่สายเพื่อยืนยันตำแหน่งจากนั้นแพทย์จะสอดเข็มเจาะเข้าไปเก็บชิ้นเนื้อ นำสายสวนออกและปิดแผล 

การส่องกล้องผ่าตัดช่องท้อง

ผู้เข้ารับการตรวจจะนอนหงายบนเตียงผ่าตัด ได้รับยาระงับความรู้สึกโดยวิสัญญีแพทย์ ก่อนที่แพทย์จะกรีดแผลที่ท้อง จากนั้นแพทย์จะใส่เครื่องมือติดกล้องวิดีโอขนาดเล็กเพื่อฉายภาพบนจอมอนิเตอร์ ช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพอวัยวะภายในก่อนจะเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อตับ หลังจากนั้นแพทย์จะนำเครื่องมือออกและเย็บปิดแผล 

หลังการเจาะชิ้นเนื้อตรวจเพื่อตรวจวินิจฉัย

  • ผู้เข้ารับการตรวจจะพักฟื้นในห้องพักฟื้นเป็นเวลา 2-4 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้นสำหรับการเจาะตัดชิ้นเนื้อตับผ่านหลอดเลือดดำที่คอ อาจจำเป็นต้องเข้าพักในโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน หากจำเป็นหรือมีความเสี่ยง
  • อาจรู้สึกไม่สบายตัวหรือปวดแผลนานราวหนึ่งสัปดาห์
  • ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักมากกว่า 5 กิโลกรัมเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ 
  • ผู้เข้ารับการตรวจจะเริ่มกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ภายในหนึ่งสัปดาห์
  • นัดครั้งต่อไปแพทย์จะทำการอธิบายผลการตรวจ ระดับความรุนแรงของโรค และวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
  • หากมีอาการปวดรุนแรง มีไข้ อ่อนแรง หมดสติ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ตัวเหลือง ท้องบวมผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์

ความเสี่ยงของการเจาะชิ้นเนื้อตับมีอะไรบ้าง?

การเจาะชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจนั้นเป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัย อัตราความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้นต่ำมาก อย่างไรก็ตาม การเตรียมตัวที่ดีจะนำไปสู่การไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนได้

อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดและความดันโลหิตต่ำ

  • อาการปวด: อาการปวดบริเวณท้องด้านบนหรืออาการปวดที่ร้าวไปยังไหล่ขวาเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่มักจะไม่รุนแรงและจัดการได้ด้วยการรับประทานยา อาการปวดที่รุนแรงและไม่หายอาจเป็นข้อบ่งชี้ของภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ 
  • ความดันโลหิตต่ำ: ผู้เข้ารับการตรวจบางรายอาจมีภาวะความดันโลหิตต่ำ ทำให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะ ซึ่งเป็นอาการเพียงชั่วคราว ไม่น่ากังวล อย่างไรก็ตามหากความดันโลหิตลดต่ำมาก ตามด้วยอาการอ่อนแรงหรือเวียนศีรษะ อาจเป็นข้อบ่งชี้ของเลือดออกภายใน  

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบได้น้อยมาก จากการเจาะชิ้นเนื้อตับ

  • เลือดออกภายใน หากเลือดออกมากผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการให้เลือดหรือผ่าตัด
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย
  • อวัยวะภายใน เช่น ปอดหรือถุงน้ำดี ได้รับบาดเจ็บ นำไปสู่ภาวะท่อน้ำดีรั่วหรือปอดรั่ว

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

การเจาะชิ้นเนื้อตับ เพื่อการตรวจวินิจฉัยนั้นเป็นวิธีที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยโรคตับ และช่วยในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 31 มี.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. เอกอนงค์  วรกิตสิทธิสาธร

    พญ. เอกอนงค์ วรกิตสิทธิสาธร

    • รังสีวินิจฉัย
    • รังสีร่วมรักษาของลำตัว
    Interventional Oncology, Biliary Intervention, Gastrointestinal Intervention, Musculoskeletal Intervention, Spine Intervention, Arterial Intervention, Venous Intervention
  • Link to doctor
    พญ. อัญชลา บัวทรัพย์

    พญ. อัญชลา บัวทรัพย์

    • รังสีวินิจฉัย
    • รังสีร่วมรักษาของลำตัว
    รังสีวินิจฉัย, Body Interventional Radiology