สาเหตุ อาการ การรักษามาลาเรีย ไข้มาลาเรียหายได้ไหม - Malaria, Causes, Symptoms, Treatments, Curable?

มาลาเรีย (Malaria)

มาลาเรีย (Malaria) ไข้ป่า หรือไข้จับสั่น คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว (Protozoa) ในกลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) ที่มียุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะนำโรคไข้มาลาเรียสู่คนจากการเข้าป่าและถูกยุงกัดจนทำให้มีไข้สูง

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


มาลาเรีย (Malaria)

มาลาเรีย (Malaria) ไข้ป่า หรือไข้จับสั่น คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว (Protozoa) ในกลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) ที่มียุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะนำโรคไข้มาลาเรียสู่คนจากการเข้าป่าและถูกยุงกัดจนทำให้มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรคมาลาเรียอาจทำให้มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย ไข้มาลาเรียขึ้นสมองอาจทำให้มีอาการชักเกร็ง อวัยวะภายในล้มเหลวหลายระบบจนกระทั่งเสียชีวิต

มาลาเรีย สาเหตุเกิดจากอะไร?

มาลาเรีย (Malaria) มีสาเหตุเกิดจากยุงก้นปล่องเพศเมีย (Anopheles) ที่ออกหากินในเวลาพลบค่ำถึงเช้าตรู่ กัดและแพร่เชื้อ โดยวงจรชีวิตของมาลาเรียเริ่มจากยุงก้นปล่องพาหะไปกัดและดูดเลือดผู้ที่มีเชื้อไข้มาลาเรียในระยะ Gametocyte จนทำให้เชื้อแพร่กระจายเข้าสู่ตัวยุงและผสมพันธุ์กันจนเป็นตัวอ่อน ฝังตัวที่ผนังกระเพาะอาหารแล้วจึงแบ่งตัว เดินทางต่อไปยังต่อมน้ำลายของยุง โดยจะมีชีวิตอยู่ในตัวยุงประมาณ 10-12 วัน ในระยะนี้หากคนถูกยุงที่มีเชื้อมาลาเรียกัด เชื้อจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด และเข้าสู่ระยะฟักตัวภายใน 10-14 วัน แล้วจึงแสดงอาการไข้สูง หนาวสั่น แต่ในบางกรณี มาลาเรียอาจไม่แสดงอาการเฉียบพลัน โดยเฉพาะผู้ที่มีถิ่นอาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาด เช่น แนวตะเข็บชายแดนไทย พม่า หรือกัมพูชา เป็นต้น

มาลาเรีย มีกี่ชนิด?

เชื้อมาลาเรียชนิดก่อโรคในคนมี 5 ชนิด/สายพันธุ์ ได้แก่

  1. เชื้อมาลาเรียพลาสมาโมเดียมฟัลซิปารัม (Plasmodium falciparum: P.f) เป็นเชื้อมาลาเรียชนิดที่รุนแรงที่สุด เป็นสาเหตุของโรคไข้มาลาเรียขึ้นสมองที่เป็นเหตุให้เสียชีวิต โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน
  2. เชื้อมาลาเรียพลาสมาโมเดียม ไวแวกซ์ (Plasmodium vivax: P.v) เป็นเชื้อมาลาเรียชนิดที่มีอาการรุนแรงน้อยกว่าชนิดแรก แต่ก็มีรายงานว่าอาจทำให้มีอาการรุนแรงได้เช่นกัน โดยเชื้อนี้ หากไม่ได้รับการรักษาให้หาย เชื้อจะแฝงตัวอยู่ในตับไปได้นานหลายปี และสามารถกลับมาเป็นโรคซ้ำแบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยมีระยะเวลาฟักตัว 8-14 วัน
  3. เชื้อมาลาเรียพลาสมาโมเดียม มาลาเรียอิ (Plasmodium malariae: P.m) เป็นเชื้อมาลาเรียชนิดที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยมีระยะฟักตัวหลังติดเชื้อไปแล้วประมาณ 18-40 วัน
  4. เชื้อมาลาเรียพลาสมาโมเดียม โอวาเล (Plasmodium ovale: P.o) เป็นเชื้อมาลาเรียชนิดที่สามารถแฝงตัวอยู่ในตับได้นานหลายปีหลังการติดเชื้อครั้งแรก
  5. เชื้อมาลาเรียพลาสมาโมเดียม โนไซ (Plasmodium knowlesi: P.k) เป็นเชื้อมาลาเรียชนิดที่มีการดำเนินโรคและแสดงอาการได้อย่างรวดเร็ว เป็นเชื้อชนิดที่พบในลิงแสมที่ติดต่อสู่คนโดยมียุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียเป็นพาหะนำโรค

Malaria Banner 2

มาลาเรีย มีอาการอย่างไร?

ผู้ที่ถูกยุงก้นปล่องพาหะกัดจะมีอาการติดเชื้อเป็นไข้มาลาเรียภายใน 10-14 วัน จนถึงนานหลายสัปดาห์ โดยเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่แต่ไม่มีน้ำมูก มีไข้ หนาวสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร โดยอาการจะแตกต่างกันตามระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ที่ติดเชื้อ รวมถึงภูมิคุ้มกันร่างกายของแต่ละบุคคลตั้งแต่มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงมีอาการรุนแรง เชื้อมาลาเรียบางสายพันธุ์ สามารถซ่อนตัวอยู่ในตับได้โดยไม่แสดงอาการใด ๆ เป็นเวลานานหลายปีก่อนที่เชื้อจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงจนทำให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรีย อาการของโรคไข้มาลาเรียแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. ไข้มาลาเรียระยะแรก หรือระยะหนาว (Cold stage) ระยะนี้มีอาการประมาณ 15-60 นาที เป็นระยะที่เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกจนทำให้มีอาการจับไข้  หนาวสั่นจนขนลุก เนื้อตัวสั่นเทา ฟันกระทบเกร็ง ไอ หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตสูง ชีพจรเบาเร็ว ตัวเย็น คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย จากนั้นอุณหภูมิร่างกายจะค่อย ๆ สูงขึ้นเข้าสู่ระยะร้อน
  2. ไข้มาลาเรียระยะร้อน (Hot stage) ระยะนี้มีอาการประมาณ 2 ชั่วโมงหลังระยะแรก เป็นระยะที่อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูงที่ระหว่าง 39-40 องศาเซลเซียส มีไข้สูงลอย ตัวร้อนจัด ลมหายใจร้อนผ่าว ปากซีด กระหายน้ำ ชีพจรเต้นแรง ความดันโลหิตสูง หน้าแดง ผิวแดง ผิวแห้ง ปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะมาก กระสับกระส่าย อาจมีอาการไม่ได้สติ ในเด็กเล็กอาจมีอาการชักเกร็ง จากนั้นจะเข้าสู่ระยะเหงื่อออก
  3. ไข้มาลาเรียระยะเหงื่อออก (Sweating stage) ระยะนี้มีอาการประมาณ 1 ชั่วโมงหลังจากระยะที่สอง เป็นระยะที่ไข้ลด และเหงื่อเริ่มออกที่บริเวณขมับก่อนแล้วจึงมีเหงื่ออกทั้งตัว อุณหภูมิร่างกายจะลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยจะรู้สึกอ่อนเพลียมากและหลับไปในที่สุด จากนั้นจะเข้าสู่ระยะพัก โดยหากไม่รีบพบแพทย์เพื่อรักษาให้หาย อาการไข้มาลาเรียจะกลับมากำเริบที่ระยะแรกใหม่วนไปเรื่อย ๆ ตามวงจรชีวิตของเชื้อมาลาเรีย

การวินิจฉัยมาลาเรีย มีวิธีการอย่างไร?

แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยโรคไข้มาลาเรียโดยการซักประวัติหากถูกยุงก้นปล่องกัด มีประวัติเดินทางไปยังถิ่นระบาด หรือท่องเที่ยว ตั้งแคมป์ที่ลำธาร ป่าเขาลำเนาไพร และทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อประเมินอาการและแยกโรคไข้มาลาเรียออกจากโรคชนิดอื่นที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น ไข้หวัด ไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยา หรือไข้ซิก้า โดยแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยไข้มาลาเรียด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การตรวจสเมียร์เลือดด้วยฟิล์มหนาและบาง (Thick and Thin Blood Smear) เป็นการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจทางพยาธิวิทยาในห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิคการย้อมสีเลือด หรือสเมียร์เลือดด้วยสีไรท์-กีมซ่า (Wright-Giemsa) บนแผ่นฟิมล์หนา-บางเพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียในเลือด โดยเป็นการตรวจที่มีความไวและมีความจำเพาะต่อเชื้อสูง มีความรวดเร็วแม่นยำ สามารถจำแนกเชื้อมาลาเรียได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใด รวมทั้งตรวจนับจำนวนความหนาแน่นเชื้อ และแยกระยะต่าง ๆ ของเชื้อมาลาเรียได้
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count: CBC) เพื่อหาสารบ่งชี้ต่อการติดเชื้อโปรโตซัวในเลือด ตรวจวัดปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด
  • การตรวจยีน หรือตรวจรหัสทางพันธุกรรม (Gene test) เป็นการตรวจหาความผิดปกติหรือความเปลี่ยนแปลงของยีนระดับ DNA เพื่อตรวจหาสิ่งบ่งชี้การติดเชื้อมาลาเรียและระบุชนิดของเชื้อมาลาเรีย เมื่อวิธีการการตรวจอื่น ๆ ให้ผลเป็นลบ
  • การตรวจหาปริมาณภูมิคุ้มกันร่างกาย (Antibody level test) เป็นการตรวจหาแอนติบอดีจำเพาะที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียมหลังติดเชื้อ
  • การตรวจทางชีวโลเลกุล หรือการตรวจพีซีอาร์ (Polymerase chain reaction: PCR) เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อมาลาเรียในร่างกายพร้อมทั้งระบุชนิดของเชื้อ เมื่อวิธีการตรวจอื่นให้ผลเป็นลบ
  • การตรวจโดยใช้ชุดตรวจเร็ว (Rapid diagnostic tests: RDTs) เป็นการตรวจหาเชื้อมาลาเรียด้วยการใช้ชุดตรวจเร็วในกรณีที่ไม่สามารถส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยกล้องจุลทรรศน์ได้ เช่น ในพื้นที่ที่มีความห่างไกล เป็นชุดตรวจที่ใช้งานง่ายและให้ผลเร็ว แต่ผลการตรวจอาจไม่แม่นยำเท่าการส่งตัวอย่างตรวจที่ห้องปฏิบัติการ และไม่สามารถตรวจหาเชื้อมาลาเรียได้ครบทุกสายพันธุ์

Malaria Banner 3

การรักษามาลาเรีย มีวิธีการอย่างไร?

เมื่อผลการตรวจวินิจฉัยโรคยืนยันโรคไข้มาลาเรีย แพทย์จะทำการรักษาโดยการให้ยาต้านมาลาเรียเพื่อกำจัดเชื้อมาลาเรียออกจากกระแสเลือดและช่วยให้ร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากเชื้อไข้มาลาเรีย โดยในการให้ยา แพทย์จะพิจารณาจากสายพันธุ์มาลาเรีย ความรุนแรงของอาการ อายุ รวมถึงการตั้งครรภ์ก่อนการให้ยา

ยาต้านมาลาเรีย (Antimalaria drugs)

  • ยาคลอโรควิน (Chloroquine) เป็นยาฆ่าเชื้อมาลาเรียได้เฉพาะบางสายพันธุ์ ในขณะที่เชื้อบางสายพันธุ์อาจดื้อต่อยาชนิดนี้
  • ยาอาร์เทมิซินิน (Artemisinin) เป็นยาฆ่าเชื้อมาลาเรียที่ดีที่สุดโดยสามารถต้านเชื้อมาลาเรียได้ทุกสายพันธุ์รวมทั้งชนิดดื้อต่อยาอื่น โดยแพทย์จะให้ยาอาร์เทมิซินิน ผสมผสานร่วมกับยาชนิดอื่น 2 ชนิดหรือมากกว่า (Artemisinin-based combination therapies (ACTs) เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น เช่น ยา Coartem ซึ่งเป็นยาต้านมาลาเรียที่ผสมกันระหว่างยาอาร์เทมิเทอร์ และยาลูมีแฟนทรีน (Artemether-Lumefantrine) หรือยาอาร์เทซูเนท และยาเมโฟควิน (Artesunate-mefloquine)
  • ยามาลาโรน (Malarone) ที่เป็นยาต้านมาลาเรียที่ผสมกันระหว่างยาอะโตวาโควน และยาโปรควานิล (Atovaquone-proguanil)
  • ยาควินินซัลเฟต (Quinine sulfate) ร่วมกับยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline)
  • ยาพรีมาควินฟอสเฟต (Primaquine phosphate)

ภาวะแทรกซ้อน มาลาเรียเป็นอย่างไร?

อาการมาลาเรียระดับรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนโรคไข้มาลาเรีย ได้แก่

  • มาลาเรียขึ้นสมอง (Cerebral malaria) เกิดจากเชื้อไข้มาลาเรียในเซลล์เม็ดเลือดแดงอุดกั้นหลอดเลือดขนาดเล็กที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้สมองบวม สมองได้รับความเสียหาย และอาจทำเกิดอาการชักและเสียชีวิต
  • ภาวะปอดบวมน้ำ(Pulmonary edema) ซึ่งเกิดจากของเหลวสะสมในปอด ทำให้หายใจลำบาก
  • อวัยวะภายในล้มเหลว (Malaria-induced organ failure) เกิดจากเชื้อมาลาเรียทำลายตับ ไต และอาจทำให้ม้ามแตก ภาวะช็อก และเสียชีวิต
  • โรคโลหิตจาง (Anemia) เชื้อมาลาเรียทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจนทำให้เป็นโรคโลหิตจาง
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Low blood sugar level) ไข้มาลาเรียระดับรุนแรงที่ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) และอาจทำให้มีอาการเข้าขั้นวิกฤติและเสียชีวิต
  • การคลอดก่อนกำหนด (Premature birth) ไข้มาลาเรียในหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ และอาจทำให้เสียชีวิต

Malaria Banner 4

การป้องกัน มาลาเรียมีวิธีการอย่างไร?

  • ทายากันยุง ทาผลิตภัณฑ์ที่มีสารป้องกันยุง (Mosquito repellents) ที่มีส่วนผสมของสาร DEET เพื่อป้องกันยุง
  • ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมถุงเท้า ใส่เสื้อผ้าที่เคลือบสารกันยุง
  • นอนในมุ้งลวดเพื่อกันยุง ติดมุ้งลวดที่ประตู ปิดหน้าต่างไม่ให้ยุงเข้า
  • กำจัดแหล่งลูกน้ำ แหล่งน้ำขังรอบบริเวณบ้านหรือชุมชน ใช้ฝาปิดครอบภาชนะหรือถังขยะ
  • ผู้ที่ต้องเดินป่า ตั้งแคมป์ค้างคืนในป่าเขา หรือเดินทางไปยังถิ่นระบาดควรปรึกษาแพทย์ 2-3 เดือนล่วงหน้าก่อนการเดินทาง โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์

มาลาเรีย กี่วันหาย?

มาลาเรียสามารถหายได้ภายใน 2 สัปดาห์ หากได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคเร็วและรับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่หากไม่ได้รับการรักษาให้หาย ผู้ที่มีเชื้อไข้มาลาเรียอาจกลับมามีอาการซ้ำเป็นระยะ เช่น มีไข้ หนาวสั่น

มาลาเรีย ภัยจากยุงร้าย ที่รักษาให้หายได้

มาลาเรีย หรือ ไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ป้าง ไข้ดง ไข้ดอกสัก ไข้ร้อนเย็น เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่อาจทำลายอวัยวะภายในและเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเสียชีวิต ผู้ที่ถูกยุงก้นปล่องกัด ผู้ที่กลับจากการเดินป่าหรือการตั้งแคมป์ในป่า รวมถึงผู้ที่เดินทางกลับมาจากถิ่นระบาดที่มีอาการเบื้องต้น ควรรีบพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อตรวจวินิจฉัยอาการโดยละเอียด ผู้ที่กำลังวางแผนเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้า การรักษามาลาเรียในระยะแรกเริ่มย่อมให้ผลดีกว่าการรักษาในระยะที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนทั้งยังป้องกันไม่ให้เชื้อมาลาเรียแพร่กระจายลุกลามไปสู่ผู้อื่นได้

คำถามที่พบบ่อย

  • คำถาม: ไข้มาลาเรีย รักษาหายไหม?
    คำตอบ: ไข้มาลาเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาต้านเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์นั้น ๆ โดยควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องภายใต้การดูแลโดยแพทย์ การไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เชื้อดื้อยา ทำให้รักษาไม่หาย และเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 14 ส.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

    นพ. พีระวงษ์ วีรารักษ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์

    รศ.พญ. สิริอร วัชรานานันท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อในเวชบำบัดวิกฤต, โรคติดเชื้อหลังปลูกถ่ายอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูก, โรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อราลุกลามหรือไวรัส
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    ผศ.นพ. ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, วัคซีน, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สุขภาพนักเดินทาง การให้วัคซีน และประเมินสุขภาวะก่อนและหลังกลับจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง, โรคติดเชื้อทางเขตร้อน
  • Link to doctor
    นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

    นพ. จักกพัฒน์ วนิชานันท์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

    รศ.นพ. พอพล โรจนพันธุ์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    อายุรกรรมทั่วไป, อายุรกรรมผู้สูงอายุ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี

    ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, การจัดการโรคไวรัสตับอักเสบชนิดซีและการปฏิบัติตัว, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, การติดเชื้อในเวชบำบัดวิกฤต
  • Link to doctor
    รศ.พญ. มาเรีย นิน่า จิตะสมบัติ

    รศ.พญ. มาเรีย นิน่า จิตะสมบัติ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ รวมทั้งโรคแทรกซ้อน, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ, โรคติดเชื้อทางเขตร้อน, โรคติดเชื้อแทรกซ้อนหลังปลูกถ่ายอวัยวะ, โรคติดเชื้อในผู้ป่วยโรคมะเร็ง/ มะเร็งโรคเลือด
  • Link to doctor
    พญ.  ศิรญา ไชยะกุล

    พญ. ศิรญา ไชยะกุล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    โรคติดเชื้อทั่วไป, อายุรกรรมทั่วไป