Meniere 3.1

น้ำในหูไม่เท่ากัน (Ménière Disease) อาการ สาเหตุ การวินิจฉัยและการรักษา

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือ โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน ซึ่งส่งผลต่อการได้ยินและการทรงตัว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการมักจะค่อย ๆ แย่ลงจนไม่สามารถรักษาให้กลับมาดีอย่างเดิมได้

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ (โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน)

โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน ซึ่งส่งผลต่อการได้ยินและการทรงตัว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการมักจะค่อย ๆ แย่ลงจนไม่สามารถรักษาให้กลับมาดีอย่างเดิมได้

โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติคืออะไร

โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ (Meniere Disease หรือ Idiopathic Endolymphatic Hydrops) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน ซึ่งส่งผลต่อการได้ยินและการทรงตัว พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการมักจะค่อย ๆ แย่ลง ส่งผลให้สูญเสียการได้ยินอย่างถาวรและมีปัญหาเรื่องการทรงตัว การรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งสามารถช่วยบรรเทาอาการได้

น้ำในหูไม่เท่ากันอันตรายหรือไม่

โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือน้ำในหูไม่เท่ากันไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่เพราะอาการของโรคเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ไม่มีสัญญาณแจ้งเตือน จึงส่งผลต่อการทำกิจวัตรประจำวันและคุณภาพชีวิต

น้ำในหูไม่เท่ากันมีอาการอะไรบ้าง

  • เวียนศีรษะ บ้านหมุนบ่อย ๆ โดยอาจมีอาการนาน 20 นาทีถึง 12 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ตามด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • สูญเสียการได้ยินในหู 1 ข้าง การสูญเสียการได้ยินจะเริ่มเป็นที่ความถี่ต่ำ อาจได้ยินดีและแย่สลับกันไปในระยะแรก เมื่อเวลาผ่านไปการสูญเสียการได้ยินจะถาวร ไม่สามารถแก้ไขได้
  • ได้ยินเสียงในหู มีเสียงรบกวนในหู แน่นหู เป็น ๆ หาย ๆ

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร

ควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว

น้ำในหูไม่เท่ากัน มีสาเหตุเกิดจากอะไร

ของเหลวในเยื่อหูชั้นในทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ที่จำเป็นต่อการส่งสัญญาณการได้ยินและการทรงตัวไปยังสมอง เมื่อเกิดการสะสมของของเหลวในเยื่อหูชั้นในมากขึ้น กลไกการทำงานของระบบควบคุมการทรงตัวและการได้ยินจะถูกรบกวน สาเหตุที่ของเหลวในเยื่อหูชั้นในมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

น้ำในหูไม่เท่ากัน มีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร-What are the complications ofMeniere

น้ำในหูไม่เท่ากัน มีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร

น้ำในหูไม่เท่ากัน มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกาย

แพทย์จะซักถามผู้ป่วยถึงอาการบ้านหมุนว่าเกิดขึ้นบ่อยและนานเท่าไร เช่น เกิดขึ้นมากกว่า 2 ครั้ง นานเกิน 20 นาที ในช่วง 24 ชั่วโมงหรือไม่ มีอาการเสียงรบกวนในหู แน่นหูหรือไม่

  • การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry)

แพทย์จะทำการประเมินความสามารถในการได้ยินช่วงความถี่เสียงและความดังในระดับแตกต่างกันไป รวมถึงความสามารถในการแยกแยะคำที่ออกเสียงคล้ายคลึงกัน ผู้ป่วยมักจะมีปัญหาในการได้ยินเสียงที่มีความถี่ต่ำเพียงอย่างเดียวหรือเสียงความถี่ต่ำและสูง

  • การทดสอบสมรรถภาพการทรงตัว

ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะสามารถกลับมาเดินทรงตัวได้หลังมีอาการบ้านหมุน แต่บางรายอาจมีปัญหาเรื่องการทรงตัวอย่างต่อเนื่อง

  • การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพทางการแพทย์และการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ

เพราะอาการของโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือน้ำในหูไม่เท่ากันนั้นมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคอื่น ๆ  เช่น เนื้องอกและโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง แพทย์จึงอาจทำการการตรวจวินิจฉัยด้วยภาพทางการแพทย์และการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม

  • การตรวจประเมินการทำงานของหู
    • การตรวจการกระตุกหรือการเคลื่อนไหวของลูกตา (Electronystagmogram หรือ Videonystagmography) เป็นการตรวจประเมินการทรงตัวโดยวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของลูกตาผ่านการมองตามวัตถุและการขยับศีรษะ นอกจากนี้แพทย์อาจทำการตรวจ Caloric Test ซึ่งเป็นการหยอดน้ำ/ลมที่มีอุณหภูมิต่างจากร่างกายเข้าไปในหูเพื่อดูการตอบสนองของหูชั้นใน
    • การตรวจการทำงานของหูชั้นในแบบ Rotary-Chair Testing เป็นการตรวจการเคลื่อนไหวของลูกตาเพื่อประเมินการทำงานของหูชั้นในเช่นเดียวกับการตรวจ Electronystagmogram หรือ Videonystagmography โดยผู้ป่วยจะนั่งบนเก้าอี้ที่ควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ เก้าอี้จะหมุนไปมาเพื่อดูการตอบสนองของหูชั้นใน
    • การตรวจ Vestibular Evoked Myogenic Potentials (VEMP) Testing เป็นการใช้เสียงกระตุ้นหูชั้นในและบันทึกการตอบสนองของกล้ามเนื้อ ซึ่งผู้ป่วยโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติจะพบความผิดปกติหรือไม่มีการตอบสนองได้
    • การทดสอบการทรงตัวด้วยเครื่อง Computerized Dynamic Posturography (CDP) เป็นการทดสอบว่าระบบการทรงตัวของผู้ป่วยทำงานอย่างไร โดยปกติแล้วระบบการทรงตัวของร่างกายจะต้องอาศัยการมองเห็น การทำงานของหูชั้นใน การตอบสนองของผิวหนัง กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อร่วมกัน การทดสอบการทรงตัวด้วยเครื่อง Computerized Dynamic Posturography ช่วยให้ทราบว่าส่วนใดมีปัญหา โดยระหว่างการตรวจแพทย์จะให้ผู้ป่วยถอดรองเท้าและยืนบนตัวเครื่อง พร้อมกับรัดเข็มขัดนิรภัยขณะที่ต้องทรงตัว
    • การตรวจการเคลื่อนไหวของลูกตาเมื่อมีการเคลื่อนศีรษะอย่างรวดเร็ว (Video Head Impulse Test: vHIT) หากสายตาเคลื่อนจากจุดที่ต้องโฟกัส แสดงว่ามีความผิดปกติของระบบประสาทการทรงตัวที่หูชั้นใน
    • การตรวจประสาทหูชั้นใน (Electrocochleography: ECoG) เพื่อดูว่ามีของเหลวคั่งภายในหูชั้นในหรือไม่

วิธีการรักษาน้ำในหูไม่เท่ากัน-How is Meniere treated

น้ำในหูไม่เท่ากัน มีวิธีการรักษาอย่างไร

โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือน้ำในหูไม่เท่ากันไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะช่วยบรรเทาอาการบ้านหมุนและป้องกันการสูญเสียการได้ยินถาวร

ยาสำหรับอาการบ้านหมุน

  • ยาแก้เมารถ เช่น ยา Meclizine หรือยา Diazepam ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน
  • ยาแก้คลื่นไส้ เช่น ยา Promethazine
  • ยาขับปัสสาวะและยา Betahistine สามารถรับประทานร่วมกันหรือรับประทานเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งได้ ยาขับปัสสาวะจะช่วยลดการสะสมของน้ำในหูและยา Betahistine จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหู ลดการเกิดน้ำในหูชั้นใน

ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลานาน ร่วมกับการจำกัดการบริโภคโซเดียมเพื่อบรรเทาความรุนแรงและความถี่ของอาการบ้านหมุนจากโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ

การรักษาร่วม

  • การฟื้นฟูสมรรถภาพการทรงตัว
  • การใช้เครื่องช่วยฟัง

การฉีดยาเข้าไปในหูชั้นกลาง

  • ยา Gentamicin เป็นยาปฏิชีวนะที่จะไปทำลายการทำงานของหูชั้นในที่เป็นสาเหตุของอาการบ้านหมุน หลังจากนั้นอวัยวะส่วนอื่นที่เหลือจะปรับตัวและทำหน้าที่แทน อย่างไรก็ตามวิธีนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้สูญเสียการได้ยินเพิ่มขึ้น
  • ยาสเตียรอยด์ เช่น ยา Dexamethasone ช่วยบรรเทาอาการบ้านหมุนในผู้ป่วยบางรายได้ แม้ว่ายา Dexamethasone จะมีประสิทธิภาพในการรักษาน้อยกว่ายา Gentamicin แต่ความเสี่ยงของการสูญเสียการได้ยินน้อยกว่า

การผ่าตัด

แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยด้วยการผ่าตัดหากอาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

  • การผ่าตัดเพื่อระบายน้ำในหูชั้นในออก (Endolymphatic Sac Surgery) แพทย์จะทำการสอดท่อเข้าไประบายน้ำส่วนเกินเพื่อลดแรงกดที่เยื่อหูชั้นใน
  • การทำลายอวัยวะควบคุมการได้ยินและการทรงตัวในหูชั้นใน (Labyrinthectomy) เป็นการผ่าตัดทำลายหูชั้นในส่วนที่เกี่ยวกับการทรงตัว ทำให้หูข้างนั้นสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร และหูอีกข้างจะทำหน้าที่ส่งสัญญาณควบคุมการทรงตัวและการได้ยินไปยังสมองแทน วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการได้ยินหรือสูญเสียการได้ยินทั้งหมดในหูข้างที่น้ำในหูไม่เท่ากัน
  • การตัดเส้นประสาทการทรงตัว (Vestibular Nerve Section) เป็นการทำลายเส้นประสาทการทรงตัวเพื่อปิดกั้นการส่งสัญญาณการทรงตัวจากหูชั้นในไปยังสมอง ช่วยรักษาอาการบ้านหมุนและป้องกันไม่ให้สูญเสียความสามารถในการได้ยินไปมากกว่าเดิม การผ่าตัดจำเป็นต้องให้ยาระงับความรู้สึกผู้ป่วยจำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล

เราสามารถป้องกันโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้อย่างไร

โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติไม่สามารถป้องกันได้ ทั้งนี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติเพื่อแพทย์จะได้ติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด หากรู้สึกเวียนศีรษะบ่อย ๆ หรือสงสัยว่าเป็นโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม

วิธีการดูแลรักษาตนเองเพื่อลดอาการมีอะไรบ้าง

  • ลดการรับประทานอาหารรสเค็มเพื่อป้องกันการบวมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้อาการของโรคแย่ลง
  • จำกัดการรับประทานคาเฟอีน โดยเฉพาะในเครื่องดื่มชูกำลัง มีส่วนทำให้เกิดอาการบ้านหมุนจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากันบ่อยขึ้น
  • จัดการกับความเครียดที่มี เพราะความเครียดอาจไปกระตุ้นอาการของโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือน้ำในหูไม่เท่ากัน โดยอาจทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
  • พักผ่อนให้เพียงพอและนอนหลับอย่างมีคุณภาพ
  • ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล

เราควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนไปพบแพทย์

  • จดบันทึกอาการที่มี รวมถึงระยะเวลาและความถี่ของอาการ
  • จดบันทึกเรื่องที่ทำให้รู้สึกเครียด ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทาน
  • ควรพาเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวมาด้วยในวันที่เข้ารับการตรวจ
  • จดคำถามที่ต้องการถามแพทย์ ยกตัวอย่างเช่น
    • สาเหตุของโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือน้ำในหูไม่เท่ากันคืออะไร
    • จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
    • โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือน้ำในหูไม่เท่ากันสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
    • ควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีใด
    • ควรจัดการกับโรคประจำตัวที่มีอยู่อย่างไร
  • เตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่แพทย์อาจจะถาม ยกตัวอย่างเช่น
    • เริ่มมีอาการเมื่อไร
    • เวียนศีรษะบ้านหมุนหรือไม่ ระยะเวลาอาการบ้านหมุนนานกี่นาทีหรือนานเป็นชั่วโมง
    • มีอาการเป็นประจำหรือไม่
    • อะไรที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
    • อะไรที่ทำให้อาการดีขึ้นหรือแย่ลง
    • มีคนในครอบครัวเป็นโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือน้ำในหูไม่เท่ากันหรือไม่

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

การต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือน้ำในหูไม่เท่ากันอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลกับอาการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอาการจะเกิดขึ้นเมื่อไร ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติและสบายใจ อย่างไรก็ตามการเข้ารับการรักษากับแพทย์ผู้ชำนาญการสามารถช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นและกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 08 ก.ค. 2024

แชร์