ปวดกล้ามเนื้อ
อาการปวดกล้ามเนื้อ (Muscle Pain or Myalgia) อาจมีสาเหตุมาจากอาการบาดเจ็บ การติดเชื้อโรคต่าง ๆ หรือปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งอาการปวดกล้ามเนื้ออาจเป็นอาการชั่วคราว อาการเรื้อรัง ปวดเฉพาะที่หรือทั่วร่างกาย โดยความรุนแรงของอาการนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน อาการปวดกล้ามเนื้อนั้นเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ผู้ที่เริ่มออกกำลังกายรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยออกมาก่อนอาจเกิดอาการปวดระบมกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย (Delayed-onset muscle soreness: DOMS) ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอาการภายหลังจากออกกำลังกาย ปวดนาน 6 - 12 ชั่วโมง และอาจนานถึง 48 ชั่วโมง การที่รู้สึกปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากกล้ามเนื้อกำลังซ่อมแซมตัวเอง
อาการปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดระบมกล้ามเนื้อ
- เป็นตะคริว
- กล้ามเนื้อหดเกร็ง
- ปวดข้อ
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร
ควรไปพบแพทย์หากเริ่มมีไข้ เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือปวดมากขึ้นกว่าเดิม
สาเหตุของอาการปวดกล้ามเนื้อ
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคลูปัส กล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งรวมถึงอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ชนิด Inclusion body myositis และ Polymyositis
- การติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้มาลาเรีย โรคทริคิโนซิส โรคลายม์ โรคไข้รากสาดใหญ่ การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียทั่วไป ทำให้รู้สึกปวดเมื่อย พร้อมกับมีไข้ คลื่นไส้ หรือต่อมน้ำเหลืองโตได้
- อาการบาดเจ็บจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป อาจมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อช่องท้องหรือหลังเคล็ดเกร็ง โรคปวดพังผืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นอักเสบ อาการเอ็นเสื่อม
- ยาและการบำบัด เช่น ยาลดระดับคอเลสเตอรอลกลุ่มยาสแตติน (Statins) ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE Inhibitors เคมีบำบัด รังสีบำบัด อาจทำให้ปวดกล้ามเนื้อชั่วคราวหรือในระยะยาว โดยยาอาจทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ (myositis) และกระตุ้นใยประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Neuromuscular Disorders) เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากไขสันหลังเสื่อม (Spinal Muscular Atrophy) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia Gravis โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงดูเชนน์ (Duchenne Muscular Dystrophy) และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis)
- ปัจจัยด้านสุขภาพ เช่น ความเครียด ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์พร่อง โรคปวดเรื้อรังทั่วตัวไฟโบรมัยอัลเจีย ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง มะเร็งซาร์โคมา มะเร็งเม็ดเลือดขาว
การตรวจวินิจฉัยอาการปวดกล้ามเนื้อ
หากไม่ทราบสาเหตุของอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง แพทย์อาจให้เข้ารับการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้
- การตรวจเลือด ช่วยประเมินระดับเอนไซม์ ฮอร์โมน และเกลือแร่ในร่างกาย รวมถึงการตรวจหาสัญญาณการติดเชื้อ
- การทำ CT Scan หรือ MRI เพื่อหาบริเวณที่กล้ามเนื้อที่ถูกทำลาย
- การตรวจ Electromyography (EMG) เพื่อวัดสัญญาณไฟฟ้าในเส้นประสาทและกล้ามเนื้อและประเมินการทำงานของทั้งเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ
- การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
การตรวจวินิจฉัยเหล่านี้จะช่วยแพทย์ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ
อาการปวดกล้ามเนื้อแบบไม่เรื้อรังนั้นสามารถบรรเทาได้โดยการพักผ่อน ยืดเหยียด และรับประทานยาแก้ปวด
- พักผ่อนและยกบริเวณที่ปวดให้สูงขึ้น เพื่อลดภาวะบวมตัวของกล้ามเนื้อ
- ประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการอักเสบและประคบร้อนเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่ปวด
- อาบน้ำหรือแช่น้ำอุ่นเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาแอสไพริน ยาพาราเซตามอล ยาโอบูโปรเฟน และยานาพรอกเซนเพื่อลดปวดและการอักเสบ
- การใช้การแพทย์ทางเลือก เช่น การนวด การฝังเข็ม และนั่งสมาธิ เพื่อบรรเทาอาการและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
วิธีการรักษาเหล่านี้สามารถช่วยจัดการอาการปวดกล้ามเนื้อและช่วยเร่งให้อาการปวดหายได้เร็วขึ้น หากอาการปวดไม่หายหรือรุนแรงมากขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม