การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด
การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด เป็นการผ่าตัดโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม มาทำหน้าที่แทนหัวใจและปอด ขณะที่ผ่าตัด ศัลยแพทย์จะทำการหยุดหัวใจ ไม่ให้เลือดไหลเข้าไปในหัวใจเพื่อจะสามารถเปิดเข้าไปในหัวใจเพื่อแก้ไขสิ่งผิดปกติได้ การผ่าตัดหัวใจแบบเปิดนี้ทำเพื่อรักษาแก้ไขโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง โดยแพทย์จะทำการกรีดแผลยาวบริเวณหน้าอก เพื่อเปิดกระดูกหน้าอกออก ถ่างขยายหน้าอกทำให้สามารถเข้าไปแก้ไขหัวใจที่ผิดปกติได้ เช่น ทำบายพาส ต่อเส้นเลือดหัวใจ การเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจ การแก้ไขหัวใจพิการแต่กำเนิด ตัดต่อเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ฉีกขาดหรือโป่งพอง
โรคหัวใจที่ต้องผ่าตัดหัวใจแบบเปิด
ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดคือผู้ที่มีโรคต่าง ๆ เช่น
- โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ผนังกั้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจรั่ว ตีบ ช่องหัวใจออกผิดตำแหน่ง
- โรคลิ้นหัวใจตีบ รั่ว ติดเชื้อ
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ฉีกขาด
- เนื้องอกที่หัวใจ
- ต้องเปลี่ยนหัวใจ
ขั้นตอนการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด
ก่อนเข้ารับการผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด
แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยละเอียด ว่าเป็นโรคหัวใจชนิดไหน การตรวจโดยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซ์เรย์ปอดและหัวใจ ตรวจ Echocardiogram ฉีดเส้นเลือดหัวใจ ตรวจว่ามีโรคอะไรที่สำคัญอีกหรือไม่ เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง อัมพฤกษ์ อัมพาต ตรวจภาวะการแข็งตัวของเลือด ตรวจการทำงานของปอด
- ถ้าเป็นไปได้ ควรงดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ลดน้ำหนัก เพราะอาจจะไปเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน
- งดยาบางชนิด เช่น ยาละลายเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาบรรเทาอาการอักเสบ
- ในวันผ่าตัด ต้องงดอาหารและน้ำก่อนการผ่าตัด 8 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงของการสำลักอาหารและน้ำระหว่างดมยาสลบ
- เจ้าหน้าที่จะโกนขนหน้าอก หัวเหน่า แขนขา และจะให้สารน้ำและยาทางหลอดเลือดที่แขน
ระหว่างการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด
- การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด เป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน ใช้เวลาอย่างน้อย 4 ชั่วโมง แพทย์จะวางยาสลบเพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวระหว่างผ่าตัด
- ศัลยแพทย์จะทำการกรีดแผลยาว 6-8 นิ้วที่กลางหน้าอก ตัดกระดูกหน้าอก ขยายกระดูกหน้าอกออก
- ศัลยแพทย์จะทำการต่อหัวใจเข้ากับเครื่องปอดและหัวใจเทียม และจะให้ยาเพื่อหยุดการเต้นของหัวใจ
- ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดหัวใจตามแผนที่วางไว้โดยแพทย์ทำการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แก้ไขหัวใจที่พิการแต่กำเนิด ซ่อมหลอดเลือดโป่งพอง แล้วแต่กรณี
- เมื่อทำการผ่าตัดซ่อมแซมหัวใจเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศัลยแพทย์จะทำการฟื้นการไหลเวียนของโลหิต หัวใจจะเริ่มเต้นอีกครั้ง หากหัวใจยังเต้นผิดจังหวะ ศัลยแพทย์จะทำการช็อตด้วยไฟฟ้าอ่อน ๆ
- ทำการถอดสายเชื่อมต่อเครื่องหัวใจและปอดเทียม
- ศัลยแพทย์ทำการปิดกระดูกหน้าอกและแผลผ่าตัดด้วยลวดและไหมเย็บแผล
หลังการเข้ารับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิด
จะย้ายผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในห้องผู้ป่วยวิกฤติเพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เมื่อแข็งแรงดีแล้วจึงจะย้ายไปยังห้องผู้ป่วยปกติ เจ้าหน้าที่จะช่วยเหลือการไอ การลุกขึ้น ลุกจากเตียง เดินในห้อง นอกห้อง ขึ้นลงบันได หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะเจ็บแผล ไอบ่อย ปวดกล้ามเนื้อ มีรอยฟกช้ำ แผลผ่าตัดอาจบวม กระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานผิดปกติ ท้องผูก อารมณ์แปรปรวน ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ
ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้มีตั้งแต่ แพ้การดมยาสลบ เลือดออกผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย เช่น ปอดบวม น้ำท่วมปอด ท้องอืด ท้องผูก การติดเชื้อ เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ในผู้ป่วยที่อ้วน ปอดทำงานผิดปกติ เช่น ถุงลมโป่งพอง สูบบุหรี่ สภาพร่างกายผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยสูงอายุ จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น
การแก้ไขหัวใจผิดปกติด้วยวีอื่น ๆ
เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการผ่าตัดที่ทันสมัย ศัลยแพทย์อาจใช้การผ่าตัดแบบแผลเล็กแทนการผ่าตัดเปิดหน้าอก การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกโดยใช้สายสวน (TAVR) การขยายเส้นเลือดหัวใจโดยวิธีสวนหัวใจและใช้บอลลูนและขดลวด การปิดรูรั่วหัวใจโดยการใช้สายสวนหัวใจ การจี้หัวใจเพื่อรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ การแก้ไขเส้นเลือดแดงใหญ่ ฉีกขาดหรือโป่งพองโดยการใช้การสวนหัวใจและขดลวด แม้กระทั่งการใช้หุ่นยนต์มาช่วยผ่าตัด
การพักฟื้นหลังผ่าตัดหัวใจแบบเปิด
การพักฟื้นใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้ป่วย วิธีการผ่าตัดที่เลือกใช้ ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับทำงานหรือเริ่มออกกำลังกายประมาณ 1 เดือนหลังการผ่าตัด ในช่วง 6 สัปดาห์แรก ควรงดขับรถหรือยกของหนัก ร่างกายจะฟื้นตัวเต็มที่ประมาณ 3 เดือนหลังผ่าตัด
การดูแลแผลผ่าตัด
- ควรล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสบริเวณแผลผ่าตัด
- อาบน้ำฝักบัวได้แต่ไม่ควรเกิน 10 นาที เลี่ยงการฉีดน้ำตรงแผลโดยตรง ไม่ควรนอนแช่น้ำ
- พยายามให้แผลแห้ง สังเกตการติดเชื้อบริเวณแผล เช่น บวมแดง ร้อน แผลซึม มีไข้
การจัดการกับอาการปวด
แพทย์จะให้รับประทานยาบรรเทาอาการปวด การจัดการกับการปวดจะช่วยให้ฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ลิ่มเลือดอุดตัน
ปัญหาการนอนหลับ
การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว อาจใช้ยานอนหลับช่วย ผู้ป่วยบางรายมักจะนอนไม่หลับเวลากลางคืนแต่กลับมานอนหลับดีเวลากลางวัน ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ใช้หมอนช่วยพยุงร่างกายขณะนอนหลับ รับประทานยาแก้ปวดก่อนนอน ถ้ารู้สึกกังวล หดหู่ใจหลังผ่าตัดอาจใช้ยาช่วยหรืออาจต้องพึ่งจิตแพทย์เพื่อช่วยคลายกังวล
ควรกลับมาหาแพทย์เมื่อไร
เมื่อมีอาการผิดปกติ ไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยหอบ แผลแดง ซึม เจ็บหน้าอกผิดปกติ
คำแนะนำจากแพทย์ โรงพยาบาลเมดพาร์ค
การผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด เป็นการผ่าตัดใหญ่ มีความเสี่ยงจากการผ่าตัด ภาวะโรคแทรกซ้อน การพักฟื้นร่างกายจึงเป็นเรื่องจำเป็น ก่อนการผ่าตัดหากเตรียมตัวให้พร้อมจะช่วยให้การผ่าตัดปลอดภัยมากขึ้น เช่น ลดน้ำหนัก หยุดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายพอสมควร หากมีข้อสงสัย กังวลใจใด ๆ สามารถปรึกษาแพทย์ได้เสมอ