เลือกหัวข้อที่อ่าน
- ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
- ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน มีอาการอย่างไรบ้าง
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไร
- ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไว เกิดจากอะไร
- ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไว มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร
- ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไว มีวิธีการรักษาอย่างไร
- การป้องกันภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไว
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถผ่อนคลายเพื่อเก็บปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเกิดจากการบีบตัวก่อนถึงเวลาที่เหมาะสม ทําให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดหรือมีอาการปวดปัสสาวะฉับพลัน เมื่อมีอาการ ผู้ป่วยอาจรู้สึกวิตกกังวล เครียด และขาดความมั่นใจ ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไปอาจเกิดจากอายุที่มากขึ้น
โรคระบบประสาทเบาหวาน ยาบางชนิด คาเฟอีน แอลกอฮอล์ เป็นต้น ในประเทศสหรัฐอเมริกาผู้ชายราว 10-30% และผู้หญิงราว 10-40% มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน มีอาการอย่างไร
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะเร่งรีบ รู้สึกปวดปัสสาวะอย่างมากโดยเฉียบพลันไม่สามารถรอได้ ต้องรีบไปห้องน้ำทันที
- ปัสสาวะราด เข้าห้องน้ำไม่ทัน
- ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะอย่างน้อย 2 ครั้งต่อคืน
- ปวดปัสสาวะมากแต่ปัสสาวะออกมาได้ทีละน้อยในบางครั้ง
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป มักจะเป็น ๆ หาย ๆ อาการดีขึ้นหรือแย่ลงสลับกันไปแล้วแต่ช่วงเวลา ซึ่งยังมีสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อที่มีอาการคล้ายกันได้ ดังนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไว มีสาเหตุเกิดจากอะไร
- การตั้งครรภ์และการคลอดบุตรอาจทําให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานไม่แข็งแรง ควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ยาก
- เส้นประสาทได้รับความเสียหาย เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคพาร์กินสัน การผ่าตัดหลังหรืออุ้งเชิงกราน หรือการรักษาด้วยรังสี โดยสมองและกระเพาะปัสสาวะอาจรับสัญญาณได้ไม่ถูกต้อง จนไปกระตุ้นให้เกิดอาการ
- การใช้ยาบางชนิดหรือการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน กระเพาะปัสสาวะอาจเต็ม ล้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัสสาวะเล็ด
- ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ (UTI) ทําให้เส้นประสาทกระเพาะปัสสาวะระคายเคืองและกระเพาะปัสสาวะหดตัว
- น้ำหนักตัวที่มากเกินไปสร้างแรงกดทับกระเพาะปัสสาวะและอุ้งเชิงกราน
- วัยหมดประจําเดือนทําให้ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้อุ้งเชิงกรานอ่อนแอลง ส่งผลกระตุ้นให้เกิดอาการตามมาได้
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไว มีวิธีการวินิจฉัยอย่างไร
- การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินว่ามีเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และแบคทีเรียในปัสสาวะหรือไม่ ถ้ามี แสดงว่าอาจมีการติดเชื้อที่ทําให้เกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป
- Urodynamic testing เป็นการจำลองการทำงานของกระเพาะปัสสาวะตั้งแต่เริ่มเก็บน้ำปัสสาวะไปจนถึงขับถ่าย มักจะทำเฉพาะรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจช่วยวางแผนในการรักษาต่อไป
- การตรวจภาพทางรังสี เช่น Ultrasound, X-ray, CT scan เป็นต้นเพื่อค้นหาพยาธิสภาพที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการ เช่น นิ่ว เนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เป็นการใส่กล้อง cystoscope เข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อตรวจกระเพาะปัสสาวะ โดยแพทย์จะทายาชาเฉพาะที่ให้ผู้เข้ารับการตรวจเพื่อลดความรู้สึกเจ็บและระคายเคือง ในบางกรณีแพทย์อาจใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย มีข้อดีคือไม่รับรู้การเจ็บปวดขณะทำหัตถการ
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไว มีวิธีการรักษาอย่างไร
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน สามารถรักษาได้โดยการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต การใช้ยา และการกระตุ้นเส้นประสาท
การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ทําให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน อันได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ชา น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ช็อคโกแลต มะเขือเทศ อาหารหรือเครื่องดื่มที่ทําจากมะเขือเทศ อาหารรสเผ็ดหรือรสเปรี้ยว และสารให้ความหวาน
- รับประทานกากใยอาหารให้มากขึ้น ดื่มน้ำมาก ๆ และออกกําลังกายเพื่อป้องกันอาการท้องผูกซึ่งอาจส่งผลต่อกระเพาะปัสสาวะ การมีนิสัยการขับถ่ายที่ดีช่วยลดอาการของโรคได้
- ควบคุมหรือลดน้ำหนักตัวให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวไปสร้างแรงกดบนกระเพาะปัสสาวะ
- เลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากมีการศึกษาว่าการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
การฝึกกระเพาะปัสสาวะ
การฝึกกระเพาะปัสสาวะช่วยชะลอการปัสสาวะได้ โดยผู้ป่วยจะได้เรียนรู้วิธีอดทนต่อความรู้สึกปวดปัสสาวะ ปัสสาวะเป็นเวลา และแก้ไขปัญหาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
ขั้นตอนปฏิบัติเพื่อฝึกกระเพาะปัสสาวะ
- จดบันทึกว่าปัสสาวะบ่อยแค่ไหนเพื่อประเมินระยะเวลาก่อนจะรู้สึกปวดปัสสาวะ
- เมื่อทราบระยะเวลาก่อนจะรู้สึกปวดปัสสาวะของตนเองแล้ว เมื่อเกิดอาการปวด ให้อดทนรอไม่ไปปัสสาวะ ตัวอย่างเช่น หากปัสสาวะทุกชั่วโมง ให้ลองรออีก 5 นาทีก่อนไปเข้าห้องน้ำ และค่อย ๆ เพิ่มเวลา หากรู้สึกปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน รอไม่ได้ ควรพยายามผ่อนคลายด้วยการหายใจเข้าและออกลึก ๆ ทางปากจนกว่าจะรู้สึกไม่ปวด ไปปัสสาวะเมื่อรู้สึกว่าไม่ต้องรีบเข้าห้องน้ำ
- เมื่อร่างกายคุ้นเคยกับระยะเวลาในการปัสสาวะใหม่และไม่มีอาการปัสสาวะเล็ดเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ ให้รอนานขึ้นอีก 15 นาที และค่อย ๆ เพิ่มเวลามากขึ้นจนกว่าระยะเวลาในการปัสสาวะอยู่ที่ราว 2-4 ชั่วโมง
- ปัสสาวะตามตารางเวลาที่กำหนดเท่าที่จะทำได้
วิธีจัดการอาการปวดปัสสาวะในช่วงที่กําลังฝึกกระเพาะปัสสาวะ
- นั่งหรือยืนนิ่ง ๆ และฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegels exercise)
- หายใจเข้าลึก ๆ เพื่อผ่อนคลายร่างกาย ระงับความรู้สึกปวดปัสสาวะ และควรรอจนกว่าจะรู้สึกว่าไม่ต้องรีบไปเข้าห้องน้ำ
- ขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานขณะที่เดินไปห้องน้ำและควรเดินตามปกติ ไม่เร่งรีบ
การฝึกกระเพาะปัสสาวะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ จึงควรใจเย็นและอดทนรอเพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ควรพูดคุยปรึกษาแพทย์หากไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่คาดหวัง โดยแพทย์อาจให้รับประทานยาเพื่อช่วยระหว่างการฝึก
การป้องกันภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไว
เพื่อป้องกันภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการขมิบอุ้งเชิงกราน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันกระเพาะปัสสาวะระคายเคือง อย่างไรก็ตามหากบริโภคน้ำหรือของเหลวมากเกินไปอาจทำให้อาการแย่ลงได้
- จํากัดการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ
- ควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นมาก่อน เช่น กลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือโรคเบาหวาน
- หากผู้ป่วยต้องใช้ผลิตภัณฑ์รองซับปัสสาวะ ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำด้านล่างเพื่อความรู้สึกสบายตัวและสร้างความมั่นใจให้มากขึ้น
- ทาขี้ผึ้งหรือครีมป้องกันผื่นก่อนใช้หรือสวมใส่ผลิตภัณฑ์รองซับปัสสาวะ เพื่อป้องกันผิวไม่ให้ระคายเคือง
- เปลี่ยนผลิตภัณฑ์รองซับปัสสาวะ เช่น ผ้าอ้อมหรือแผ่นรองซับหลังมีอาการปัสสาวะเล็ดทันทีเพื่อลดกลิ่น ควรทําความสะอาดร่างกายก่อนสวมใส่แผ่นใหม่
- สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ และสีเข้มเพื่ออำพรางผลิตภัณฑ์รองซับปัสสาวะ เสื้อผ้าสีเข้มยังช่วยพรางรอยเปื้อนหรือคราบปัสสาวะได้อีกด้วย