ไอกรน Pertussis อาการไอกรน สาเหตุ การตรวจวินิจฉัย และการรักษา

ไอกรน ภัยเงียบที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย

ไอกรนเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเชื้อเเบคทีเรีย เมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือมีน้ำมูก ก็จะสามารถเเพร่เชื้อต่อไปยังคนอื่นๆ ได้

แชร์

ไอกรน หรือบางคนเรียกว่า ไอร้อยวัน (pertussis or whooping cough or 100-day cough) เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเชื้อเเบคทีเรีย เมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือมีน้ำมูก ก็จะสามารถเเพร่เชื้อต่อไปยังคนอื่น ๆ ได้

โรคนี้มีการรายงานค่อนข้างน้อยในประเทศไทย กล่าวคือ ปี 2561 ในประเทศไทย มีการรายงานโรคนี้ไปยังกรมควบคุมโรคเพียง 167 รายเท่านั้น เเต่อย่างไรก็ตาม ทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ทำการตรวจในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไอมากกว่า 7 วัน โดยไม่รวมเด็กที่เป็นวัณโรคหรือหอบหืด กลับพบมากถึงเกือบ 20% ของจำนวนผู้ป่วยเด็กทั้งหมด ดังนั้น การรายงานโรคดังกล่าว จึงน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นอย่างมาก

สาเหตุที่มีการรายงานในประเทศไทยค่อนข้างน้อยนั้น เป็นเพราะว่าโรคไอกรนวินิจฉัยยากเเละต้องใช้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มีเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น การเก็บตัวอย่างเชื้อต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ เเละเเพทย์ผู้ตรวจรักษา ยังต้องมีความตระหนักถึงโรคไอกรนอีกด้วย จึงเป็นสาเหตุที่โรคนี้ มักไม่ได้รับการวินิจฉัยในประเทศไทย

โรคนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 7-10 วัน เเต่บางครั้งอาจจะนานถึง 20 วันหรือมากกว่าก็ได้ เเละเมื่อปรากฏอาการ อาการจะเเบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้เเก่

  1. ระยะน้ำมูก (catarrhal stage) ระยะนี้อาการจะคล้ายๆไข้หวัด คือ ไอเล็กน้อย น้ำมูกเล็กน้อย อาจจะไม่มีไข้เลยหรือมีไข้ต่ำ ๆก็ได้ สิ่งที่ต่างไปจากไข้หวัดคือ อาการไอจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เเต่น้ำมูกจะพอ ๆ เดิม ระยะนี้จะนานประมาณ 1-2 สัปดาห์ เเละระยะนี้เป็นระยะที่สามารถเกิดการเเพร่กระจายโรคได้มากที่สุด
  2. ระยะไอรุนเเรง (paroxysmal stage) ในช่วงนี้อาการไอจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไอเเรงขึ้น ไอเป็นชุด ๆ ไอจนอาเจียน ไอจนเเทบจะไม่มีเวลาพักหายใจ ไอจนควบคุมไม่ได้ มีสิ่งกระตุ้นเพียงเล็กน้อยก็มีอาการไอเเล้ว เข่น หาวหรือหัวเราะ ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการไอที่รุนเเรงได้ นอกจากนี้ บางรายอาจเขียวได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ระยะนี้อาจกินเวลานานถึง 8 สัปดาห์
  3. ระยะฟื้นตัว (convalescent stage) ในระยะนี้ อาการไอจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ นับจนกว่าจะหยุดไอ อาจใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์

เมื่อนับรวมทั้งสามระยะ ในเด็กจะไอโดยเฉลี่ยประมาณ 112 วัน ภาวะเเทรกซ้อนหลายอย่างในเด็กที่เป็นโรคไอกรนนั้น ก็เกิดจากการไอที่รุนเเรงเเละยาวนานนั่นเอง เช่น ซี่โครงร้าว หรือเส้นเลือดในตาเเตก ปวดหลัง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นต้น

  • ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี อาการอาจจะรุนเเรงกว่าเด็กโตได้ บางรายอาจมีอาการชัก ปอดอักเสบ สมองอักเสบ หยุดหายใจเป็นระยะสั้น ๆ ได้ หรืออาจถึงเเก่ชีวิตได้ ดังนั้น ในเด็กเล็ก เมื่อมีอาการไอที่ดูเเล้วไม่ดีขึ้นเสียที พ่อเเม่ควรพามาพบเเพทย์ เพื่อตรวจรักษาต่อไป
  • ในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ที่ได้รับวัคซีนครบเเละได้รับวัคซีนกระตุ้นเเล้ว อาการมักจะเบาลงมาก หรืออาจไม่มีอาการเลยก็ได้

โรคไอกรนสามารถรักษาได้ โดยการให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม โดยเริ่มให้ตั้งเเต่ช่วงเเรกๆที่โรคเริ่มเเสดงอาการออกมา ยาจะทำงานได้ดีที่สุดในช่วง 7 วันเเรกที่มีอาการ เเต่หากเริ่มยาช้า เช่น เริ่มให้ยาปฏิชีวนะ เมื่อผู้ป่วยมีอาการไอรุนเเรงเเล้ว ยาปฏิชีวนะนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นหรือหายเร็วขึ้นมากเท่าไรนัก ในเด็กเล็กบางราย อาจจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเเละอาจต้องให้น้ำเกลือเมื่อมีอาการไอจนทานไม่ได้ ไอจนอาเจียนมากหรือเบื่ออาหารมาก

การป้องกันที่ดีที่สุด สำหรับโรคไอกรน คือการฉีดวัคซีน โดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้ออกคำแนะนำในปี 2565 ว่า เด็กไทยควรได้รับวัคซีนป้องกันไอกรนเมื่อตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และได้รับการกระตุ้นที่ 18 เดือนและ 4-6 ปี และหลังจากนั้นอีกเป็นระยะ ๆ เช่นเมื่อเด็กอายุ 11-12 ปีและทุก ๆ 10 ปีเป็นต้น

ซึ่งจะเห็นได้ว่า กว่าเด็กจะได้รับวัคซีน 3 เข็ม ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน และดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า ในเด็กเล็ก มักจะมีอาการที่รุนแรงกว่าเด็กโต เพื่อป้องกันเด็กเล็กไม่ให้ป่วยหนัก จึงมีคำแนะนําให้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ระหว่าง 27-36 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนไอกรน 1 ครั้ง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคไอกรน และส่งต่อภูมิคุ้มกันไปยังทารกในครรภ์ได้ และผู้ใหญ่ที่อยู่ในบ้านที่มีเด็กทารกอยู่ ก็ควรพิจารณารับวัคซีนด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นพาหะนำโรคมาสู่บุตรหลาน

นอกจากนี้ หากมีผู้ที่สัมผัสโรคไอกรนใกล้ชิด หรือผู้ที่สัมผัสโรคและมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงสูง หรือมีคนในบ้านเป็นโรคไอกรน อยู่อาศัยบ้านเดียวกับผู้ป่วยโรคไอกรน แพทย์อาจพิจารณาสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคได้อีกด้วย ซึ่งเช่นเดียวกับผู้ป่วย การกินยาปฏิชีวนะที่เร็วตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่สัมผัสโรค ก็จะสามารถช่วยป้องกันได้ดีกว่า

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 15 มิ.ย. 2022

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ชวิศาร์  รัศมีหิรัญ

    พญ. ชวิศาร์ รัศมีหิรัญ

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    Pediatrics Asthma, Pediatrics Chronic Lung Disease, โรคหัวใจแต่กำเนิด, Acquired Heart Disease
  • Link to doctor
    พญ. ณธิชา เศรษฐ์ธนา

    พญ. ณธิชา เศรษฐ์ธนา

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    Pediatrics Critical Care Medicine, Pediatric Respiratory Problem, ECMO in Children, Child Health Supervision, Child Injury, Breastfeeding, Well Child Care and Vaccination, Pediatrics Checkup, Pediatrics Acute Respiratory Distressed and Failure
  • Link to doctor
    นพ. จุฬา คูอนันต์กุล

    นพ. จุฬา คูอนันต์กุล

    • กุมารเวชศาสตร์
    • กุมารเวชศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    • กุมารเวชศาสตร์โรคระบบการหายใจ
    Pediatrics, Pediatrics Pulmonary, Pediatrics Critical Care Medicine, Pediatrics Asthma, Pediatric Respiratory Problem