ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ (Premature Rupture of Membranes)

ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ คือภาวะน้ำเดินหรือน้ำคร่ำรั่วก่อนที่จะปวดท้องคลอด หากถุงน้ำคร่ำแตกหลังอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ แพทย์มักแนะนำให้ทำการคลอดทันที

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ (PROM)

ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ คือ ภาวะน้ำเดินหรือน้ำคร่ำรั่วก่อนที่จะปวดท้องคลอด หากถุงน้ำคร่ำแตกหลังอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ แพทย์มักแนะนำให้ทำการคลอดทันที แต่ในกรณีที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ แพทย์จะพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการคลอดก่อนกำหนด รวมถึงภาวะแทรกซ้อนหากยืดอายุครรภ์ต่อไป เช่น การติดเชื้อ โดยการตัดสินใจของแพทย์นั้นจะเป็นไปตามการประเมินความเสี่ยงและความเหมาะสมทางการแพทย์เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารกในครรภ์ 

ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์คืออะไร (PROM)

ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ (Premature Rupture of Membranes: PROM) เกิดจากการที่ถุงน้ำคร่ำแตกรั่วก่อนเริ่มมีอาการปวดท้องคลอด ซึ่งน้ำคร่ำทำหน้าที่ป้องกันทารกในครรภ์จากการติดเชื้อ รองรับการเคลื่อนไหวของทารก และช่วยในการพัฒนากระดูกและกล้ามเนื้อ เมื่อถุงเยื่อหุ้มน้ำคร่ำฉีกขาด น้ำคร่ำอาจค่อย ๆ ไหลหรือทะลักออกมาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คลอดก่อนกำหนด และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ 

ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ก่อนอายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์คืออะไร?

ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ เรียกว่า Preterm Premature Rupture of Membranes (PPROM) ซึ่งแพทย์จะพิจารณาว่าจำเป็นต้องคลอดทารกทันทีหรือสามารถยืดอายุครรภ์ออกไปก่อนได้ เพราะการยืดอายุครรภ์ออกไปหลังจากถุงน้ำคร่ำแตกแล้วจะอาจทำให้แม่และบุตรเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ สูงขึ้น แต่การคลอดก่อนกำหนดก็มีความเสี่ยงเช่นกัน แพทย์จะทำการประเมินอย่างรอบคอบเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับแม่และทารกในครรภ์ 

ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์เกิดขึ้นได้บ่อยแค่ไหน

ราว 10% ของหญิงตั้งครรภ์มีภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์หลังอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ (PROM) ซึ่งราว 95% จะคลอดบุตรทันที ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ก่อนอายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ (PPROM) พบได้ราว 3% ของหญิงมีครรภ์ และมักพบในผู้ที่ตั้งท้องแฝด 

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์มีอะไรบ้าง?

หากน้ำเดินก่อนกำหนด ทั้งแม่และทารกมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย โดยอาจเกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูก ในกรณีที่อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ ทารกอาจคลอดก่อนกำหนด ส่งผลต่อการพัฒนาของระบบทางเดินหายใจ เสี่ยงต่อภาวะหายใจลำบากจากปอดพัฒนาไม่สมบูรณ์ (Respiratory Distress Syndrome) และส่งผลต่อการรักษาอุณหภูมิของร่างกาย อีกทั้งท่าทางของทารกในขณะนั้นอาจไม่เหมาะกับการคลอด ทำให้คลอดลำบาก 

อะไรคือสาเหตุของภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์

สาเหตุหลักของภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์คือการที่ถุงน้ำคร่ำอ่อนแอลงเนื่องจากการบีบตัวของมดลูก ซึ่งมดลูกจะมีการบีบตัวโดยที่หญิงตั้งครรภ์อาจไม่รู้สึกหรือสังเกตได้  

ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ก่อนอายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์มักมีสาเหตุมาจากโรคหรือภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด โรคที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดที่ส่งผลต่อมดลูก เช่น โรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos Syndrome: EDS) แต่ในบางรายก็ไม่สามารถหาสาเหตุได้ 

อาการของภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์มีอะไรบ้าง 

หญิงตั้งครรภ์จะรู้สึกว่ามีน้ำค่อย ๆ ไหลหรือไหลทะลักออกมาอย่างควบคุมไม่ได้จากทางช่องคลอด ซึ่งต่างจากการปัสสาวะ หากไม่แน่ใจ อาจใช้กระดาษทิชชู่ซับของเหลวดังกล่าว ถ้าไม่มีสีหรือกลิ่น มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นน้ำคร่ำ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที  

อะไรที่เพิ่มความเสี่ยงของภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ 

ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์จะสูงขึ้นมีภาวะที่ส่งผลให้เยื่อถุงน้ำคร่ำอ่อนแอ ดังนี้ 

  • การเจาะน้ำคร่ำ  
  • เคยมีประวัติภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์หรือคลอดก่อนกำหนด 
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย 
  • การตั้งครรภ์แฝด 
  • ภาวะน้ำคร่ำมาก (ครรภ์มานน้ำ) 
  • ปากมดลูกสั้น 
  • เลือดออกทางช่องคลอด 

วิธีการตรวจวินิจฉัยภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์มีอะไรบ้าง 

  • การตรวจ Sterile speculum exam โดยแพทย์จะสอดคีมปากเป็ดเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อเก็บตัวอย่างของเหลวไปทดสอบ แพทย์อาจยืนยันการฉีกขาดของเยื่อหุ้มถุงน้ำคร่ำได้ด้วยตาเปล่าหากพบน้ำคร่ำที่ปากมดลูกระหว่างการตรวจ
  • อัลตราซาวนด์ เพื่อตรวจดูท่าของทารกในครรภ์และวัดปริมาณน้ำคร่ำ
  • กระดาษลิตมัส (Nitrazine paper) เป็นการใช้กระดาษลิตมัสวัดค่าความเป็นกรดด่างหรือค่า pH ของช่องคลอด โดยจะหยดตัวอย่างของเหลวจากช่องคลอดลงบนกระดาษลิตมัส หากกระดาษเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน นั่นหมายความว่าของเหลวดังกล่าวมีค่า pH สูงกว่า 6.0 แสดงว่าของเหลวดังกล่าวน่าจะเป็นน้ำคร่ำ
  • การตรวจ Fern test เป็นการนำของเหลวไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่ามีรูปแบบคล้ายต้นเฟิร์นซึ่งเป็นลักษณะของน้ำคร่ำที่แห้งหรือไม่ 

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์มีอะไรบ้าง 

  • การคลอดก่อนกำหนด (หรือทารกคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์) ซึ่งส่งผลให้ทารกมีปัญหาทางระบบทางเดินหายใจ อุณหภูมิร่างกายลดลง เจริญเติบโตช้า นอกจากนี้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักมีปัญหาเรื่องพัฒนาการในภายหลัง 
  • การติดเชื้อ เช่น ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ 
  • ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด 
  • ภาวะสายสะดือถูกกดทับหรือภาวะสายสะดือย้อย   

ทั้งนี้แพทย์จะทำการประเมินความเสี่ยง ข้อดีข้อเสียของการคลอดก่อนกำหนดเปรียบเทียบกับการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ หากยืดการตั้งครรภ์ออกไป เพื่อกำหนดวันคลอดที่เหมาะสม  

ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ มีวิธีการรักษาอย่างไร

วิธีการรักษานั้นต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ สุขภาพของทารกในครรภ์ และความรุนแรงของอาการ โดยปกติแล้วจะมีการรักษาอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การทำคลอดและการรักษาแบบประคับประคองเพื่อยืดอายุครรภ์ โดยการรักษาแบบประคับประคองเพื่อยืดอายุครรภ์มีจุดมุ่งหมายที่จะยืดอายุครรภ์ โดยการนอนพักบนเตียง (bed rest) การใช้ยา และการเฝ้าระวังการติดเชื้อและภาวะเครียดหรือภาวะคับขันของทารกในครรภ์ (fetal distress) 

การรักษาภาวะถุงน้ำคร่ำแตกหลังอายุครรภ์ 37 สัปดาห์
หากน้ำเดินในช่วงอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์  การคลอดบุตรมักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระยะที่ปลอดภัยที่สุด แพทย์อาจให้ยาชักนำการคลอดหรือหญิงตั้งครรภ์อาจคลอดเองตามธรรมชาติ  

การรักษาภาวะถุงน้ำคร่ำแตกในช่วงอายุครรภ์ 34-37 สัปดาห์
แพทย์จะพิจารณาความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดเปรียบเทียบกับความเสี่ยงอื่น ๆ หากยังตั้งครรภ์ต่อไป หากจำเป็นต้องทำคลอด ทารกจะได้รับการดูแลในห้องอภิบาลทารกแรกเกิดวิกฤต (NICU) เพื่อความปลอดภัย 

การรักษาภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนอายุครรภ์  34 สัปดาห์
ภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดก่อนกำหนดจะสูงมากหากทารกในครรภ์มีอายุน้อยกว่า 34 สัปดาห์ แพทย์จะแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เช่น นอนพักบนเตียง นอกจากนี้ยังอาจให้ยาอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น คอร์ติสเตียรอยด์เพื่อให้ปอดของทารกพัฒนาได้เต็มที่ ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อและยืดอายุครรภ์ ยา Tocolytic (ยาระงับการหดรัดตัวของมดลูก) เพื่อหยุดการเจ็บครรภ์คลอด และแมกนีเซียมซัลเฟตเพื่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ แพทย์จะทำการเฝ้าระวังสัญญาณของการติดเชื้อและภาวะทารกเครียด โดยประเมินอัตราการเต้นของหัวใจและการเคลื่อนไหวของทารก  โดยทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์เพื่อยืดอายุครรภ์ให้ครบอย่างน้อย 34 สัปดาห์ แต่ในรายที่มีการติดเชื้อหลังถุงน้ำคร่ำแตก จำเป็นต้องทำการคลอดทารกทันที  

ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ป้องกันได้หรือไม่ 

แม้ว่าภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์จะไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ดูแลสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรง และงดสูบบุหรี่ 

คำถามที่พบบ่อย

  • หลังถุงน้ำคร่ำแตกต้องคลอดบุตรทันทีหรือไม่?
    การคลอดบุตรภายใน 24 ชั่วโมงหลังถุงน้ำคร่ำแตกช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามแพทย์จะพิจารณาความปลอดภัยของแม่และบุตรเป็นหลัก 
  • หลังถุงน้ำคร่ำแตกสามารถยืดการตั้งครรภ์ไปได้นานอีกเท่าไร?
    ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละบุคคลและอายุครรภ์ หากถุงน้ำคร่ำแตกก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ และเกิดการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจจำเป็นต้องคลอดทารกทันที
  • ทารกสามารถมีชีวิตรอดหลังถุงน้ำคร่ำแตกหรือไม่?
    ทารกในครรภ์สามารถมีชีวิตรอดได้แม้ว่าจะมีภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด โดยอัตราการรอดชีวิตนั้นขึ้นอยู่กับอายุครรภ์และปริมาณน้ำคร่ำที่เหลืออยู่ แพทย์จะติดตามภาวะคับขันของทารกและความเสี่ยงในการติดเชื้อเพื่อประเมินเวลาคลอดที่เหมาะสม 

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค 

ตลอดการตั้งครรภ์ ถุงน้ำคร่ำจะทำหน้าที่ห่อหุ้มและป้องกันทารก หากถุงน้ำคร่ำฉีกขาดหลังอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการคลอดบุตร หากถุงน้ำคร่ำฉีกขาดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ แพทย์จะทำการประเมินความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดกับภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างไรก็ตามหากมีภาวะน้ำเดิน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการประเมินและตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด 

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 19 มิ.ย. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. มัฏฐวัณณ์ จามิกร

    พญ. มัฏฐวัณณ์ จามิกร

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. ศรพิณ อามาตย์ทัศน์

    พญ. ศรพิณ อามาตย์ทัศน์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    รศ.นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์

    รศ.นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    รศ.นพ. บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ

    รศ.นพ. บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ศักนัน มะโนทัย

    ผศ.นพ. ศักนัน มะโนทัย

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์

    พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. ศศิวรรณ สุทัสน์มาลี

    พญ. ศศิวรรณ สุทัสน์มาลี

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    นพ. นพดล ไชยสิทธิ์

    นพ. นพดล ไชยสิทธิ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ธีระภัทร เจริญวิทย์

    ผศ.นพ. ธีระภัทร เจริญวิทย์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine, Fetal Anomalies, Fetal Cardiology