ภาวะรังไข่หยุดทำงาน (POI)
ภาวะรังไข่หยุดทำงาน (POI) คือภาวะที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของรังไข่ในผู้ใหญ่ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี มักเรียกกันว่า "การหมดประจำเดือนก่อนกำหนด"
วัยหมดประจำเดือนมักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 45 ถึง 55 ปี อย่างไรก็ตาม บางคนอาจเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าคนทั่วไป แพทย์จะเรียกกลุ่มผู้หญิงที่หมดประจำเดือนระหว่างอายุ 40 ถึง 45 ปีว่ากลุ่มที่ "หมดประจำเดือนเร็ว" ส่วนการหมดประจำเดือนที่เกิดขึ้นก่อนอายุ 40 เรียกว่ากลุ่มที่ "หมดประจำเดือนก่อนกำหนด" ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีบำบัดสำหรับมะเร็ง หรือกรณีที่พบได้ไม่บ่อย เช่น กรณีที่รังไข่ถูกตัดออกเพื่อป้องกันหรือรักษามะเร็ง ส่งผลให้เกิดวัยหมดประจำเดือน "จากการผ่าตัด" และหากประจำเดือนหมดก่อนอายุ 40 โดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แพทย์จะเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะรังไข่หยุดทำงาน
การวินิจฉัยภาวะรังไข่หยุดทำงาน มีลักษณะของรังไข่ดังนี้:
- รังไข่หยุดการตกไข่หรือมีการตกไข่ในปริมาณที่ต่ำมาก
- รังไข่หยุดผลิตฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน
ผลของภาวะนี้ทำให้ผู้ป่วยมีบุตรยาก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางคนยังอาจมีบางช่วงเวลาที่สามารถมีบุตรได้ ผู้ป่วยหลายคนได้รับผลกระทบทางจิตใจเมื่อถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะรังไข่หยุดทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ในอนาคต
สาเหตุของภาวะรังไข่หยุดทำงาน
ในกรณีส่วนใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของภาวะรังไข่หยุดทำงาน บางกรณีสามารถอธิบายได้ด้วยความผิดปกติทางพันธุกรรม การสัมผัสกับสารเคมี หรือภาวะภูมิต้านทานตนเอง แต่ส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
พันธุกรรม: ความผิดปกติของโครโมโซม ที่ทำให้เกิดภาวะรังไข่หยุดทำงาน ได้แก่
- กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner syndrome) คือ โรคจากความผิดปกติของโครโมโซมที่พบมากที่สุดในมนุษย์ ผู้หญิงที่เป็นโรคนี้จะมีโครโมโซม X เพียงแท่งเดียวจากสองแท่ง ซึ่งโรคนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะรังไข่หยุดทำงาน และสร้างปัญหากับระบบสืบพันธุ์ได้ หรืออาจเกิดจากการสูญเสียบางส่วนที่สำคัญของโครโมโซมเอกซ์
- กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์เปราะบาง (Fragile X syndrome) โรคนี้เป็นสาเหตุของความบกพร่องทางสติปัญญาที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยที่สุดทั่วโลก เกิดจากการมียีนผิดปกติบนโครโมโซม X โดยทั่วไป บุคคลที่เป็นพาหะของยีนผิดปกตินี้ อาจยังไม่ส่งผลต่อสติปัญญา สตรีที่ มีความบกพร่องของยีนนี้ ควรได้รับการตรวจก่อนการตั้งครรภ์ เพราะมีความเสี่ยงเกิดภาวะรังไข่หยุดทำงานได้ (Premutation)
นอกจากนี้ อาจเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมและพันธุกรรมอื่นๆ เช่น ผู้หญิงบางคนมีความผิดปกติของโครโมโซมโดยตรวจพบชิ้นส่วนของ โครโมโซม Y แม้ว่า โดยปกติโครโมโซม Y ควรเจอได้ในผู้ชายเท่านั้น
ภาวะรังไข่หยุดทำงานที่เกิดจากสารพิษ: (Toxin-induced ovarian insufficiency) มักเกิดจากการได้รับยาเคมีบำบัด หรือการฉายรังสี ซึ่งโดยทั่วไปมักใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง
ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ: หรือ ออโตอิมมูน (Autoimmune causes) หน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกันคือการจำแนกและกำจัดเซลล์แปลกปลอมหรือเซลล์สิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ มะเร็ง หรือความผิดปกติอื่นๆ ในร่างกาย แต่บางครั้งระบบภูมิคุ้มกันอาจมุ่งเป้าไปที่เซลล์ของร่างกายที่เป็นเซลล์แข็งแรงปกติ ทำให้เกิดโรคภูมิต้านทานตนเอง
อาการภาวะรังไข่หยุดทำงาน
ก่อนเกิดภาวะรังไข่หยุดทำงาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีพัฒนาการในช่วงเข้าสู่วัยสาวและมีประจำเดือนมาปกติ อาการที่พบได้บ่อยที่สุด ที่ทำให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ คือประจำเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติ
นอกจากนี้ อาจมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกและช่องคลอดแห้งเป็นหนึ่งในอาการของการขาดฮอร์โมนเพศหญิง อันมาจากภาวะรังไข่หยุดทำงาน เนื่องจากรังไข่ของผู้ป่วยสามารถสร้างฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนได้เพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้เลย บางคนอาจประสบกับภาวะช่องคลอดแห้งและผนังช่องคลอดฝ่อบางลง ทำให้เวลามีเพศสัมพันธ์มีอาการเจ็บและไม่เป็นที่พึงพอใจ
การวินิจฉัยภาวะรังไข่หยุดทำงาน
ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นเวลาสามเดือนขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดและตรวจเพิ่มเติมอื่น ๆ
แม้ว่าจะไม่ได้วางแผนตั้งครรภ์ ภาวะนี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วยได้ โดยผู้มีภาวะรังไข่หยุดทำงาน ที่ไม่ได้รับการรักษาฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน จะมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนและโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ดังนั้น การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ และรักษาอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เพื่อหาสาเหตุของรอบเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ ขาดหายไป หรือประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ ควรตรวจสอบข้อมูลต่อไปนี้
- อาการและอาการแสดงจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง เช่น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกกลางคืน อาการช่องคลอดแห้ง ฝ่อบาง
- ประวัติโรคประจำตัว การผ่าตัดรังไข่ การรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสง สมาชิกในครอบครัวที่มีประวัติทางการแพทย์เกี่ยวกับออโตอิมมูน
- ภาวะพร่องฮอร์โมนต่อมหมวกไต (Adrenal insufficiency)
- กลุ่มอาการโครโมโซมเอกซ์เปราะบาง
นอกจากการซักประวัติส่วนตัว รวมถึงประวัติครอบครัวโดยละเอียด และการตรวจร่างกายแล้วแพทย์จะสั่งตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนของผู้ป่วยด้วย
ในการวินิจฉัยภาวะรังไข่หยุดทำงาน ผู้ป่วยต้องมีระดับฮอร์โมน FSH (follicle-stimulating hormone) ที่เพิ่มขึ้น โดยระดับ FSH ที่สูงเป็นการบ่งชี้ว่าสมองพยายามสร้างฮอร์โมนไปกระตุ้นรังไข่ แต่รังไข่ไม่ตอบสนอง ข้อมูลนี้สำคัญมากเนื่องจากการหยุดทำงานของรังไข่อาจไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของรังไข่เอง แต่เกิดจากความผิดปกติที่สมองหรือต่อมใต้สมอง ซึ่งทำหน้าที่หลักในการควบคุมการทำงานของร่างกาย ทำให้การควบคุมรอบเดือนนั้นไม่เป็นไปตามปกติ
หากผลการตรวจเลือดพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะรังไข่หยุดทำงานแพทย์ควรทำการตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุที่เป็นไปได้ต่อไป ได้แก่ การตรวจโครโมโซม Karyotyping เพื่อตรวจสอบว่ามีความผิดปกติของโครโมโซมหรือไม่ การทดสอบแอนติบอดีต่อต่อมหมวกไต ฯลฯ
การรักษาภาวะรังไข่หยุดทำงาน
การดูแลตนเอง: การวินิจฉัยนั้นไม่ได้มีแค่ภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากภาวะนี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางร่างกายของผู้ป่วยได้โดยตรง เช่น ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
หนึ่งในเป้าหมายหลักของการรักษาภาวะรังไข่หยุดทำงาน คือการฟื้นฟูเอสโตรเจนที่รังไข่หยุดสร้างไป ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของร่างกาย นอกจากเรื่องกระดูกแล้ว ยังมีหลักฐานว่าการขาดเอสโตรเจนก่อนอายุ 45 ปีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และยังอาจส่งผลให้เกิดอาการของวัยหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน นอนหลับยาก และช่องคลอดแห้ง
ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ควรใช้เอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องใช้ร่วมกับโปรเจสติน (โปรเจสเตอโรนสังเคราะห์) เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจนำไปสู่มะเร็งมดลูกได้
การรักษาด้วยฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen therapy)
Estradiol เป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนขนิดที่ผลิตโดยรังไข่มากที่สุด บางคนเชื่อว่าการให้เอสโตรเจนประเภทนี้ จะใกล้เคียงกับธรรมชาติ มากที่สุด อย่างไรก็ตาม เอสโตรเจนประเภทอื่น ๆ สามารถใช้ได้และมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน โดย ผู้ป่วยแต่ละคน จะใช้ยาฮอร์โมนอะไรนั้น จะพิจารณาเป็นรายๆไป โดยควรใช้ภายใต้การดูแลและพิจารณาของแพทย์
ฮอร์โมนเอสโตรเจน มีทั้งในรูปแบบเม็ดยา แผ่นแปะผิวหนัง หรือวงแหวนสำหรับใส่เข้าไปในช่องคลอด
บุคคลที่พยายามป้องกันการตั้งครรภ์อาจต้องใช้ยาคุมกำเนิด เนื่องจากการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนขนาดต่ำไม่มีผลต่อการคุมกำเนิด เชื่อกันว่าบุคคลที่มี ภาวะรังไข่หยุดทำงาน มีโอกาสตกไข่ร้อยละ 4 ในแต่ละเดือน เนื่องจากรังไข่มักมีการทำงานเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดและไม่สม่ำเสมอ
การรักษาภาวะมีบุตรยาก
น้อยกว่า 10 เปอร์เซนต์ของ ผู้ที่มีภาวะรังไข่หยุดทำงาน จะสามารถตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้ปกติโดยไม่ต้องให้การรักษาเพิ่มเติม ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่ายารักษาภาวะเจริญพันธุ์ ต่างๆ จะช่วยเพิ่มการปฏิสนธิได้
การรักษาที่ประสบความสำเร็จนั้น คือ การปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) โดยใช้ไข่ผู้บริจาค (Donor oocyte)
ผู้ป่วยที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของปัญหา หากการตั้งครรภ์ประสบความสำเร็จ ภาวะรังไข่หยุดทำงาน อาจสร้างปัญหากับการตั้งครรภ์หรือทารกในครรภ์ได้อีกหลายประการ ในบางกรณี การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสม