เลือกหัวข้อที่อ่าน
- อาการของต้อเนื้อ
- สาเหตุของโรคต้อเนื้อ
- การตรวจวินิจฉัยต้อเนื้อ
- การรักษาต้อเนื้อ
- การป้องกันโรคต้อเนื้อ
ต้อเนื้อ
ต้อเนื้อ (Pterygium) เกิดจากความผิดปกติของเยื่อเมือกบุตา มีรูปร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยม ต้อเนื้ออาจเริ่มโตขึ้นจากที่บริเวณหัวตาหรือหางตาก็ได้ แต่มักพบบริเวณหัวตามากกว่า ต้อเนื้อสามารถเกิดขึ้นได้ในตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง โดยจะมีอาการตาแดง ระคายเคือง หากต้อเนื้อลามไปบนกระจกตาอาจรบกวนการมองเห็นได้ วิธีการรักษาต้อเนื้อ ได้แก่ การใช้ยาหยอดตา ขี้ผึ้งป้ายตา หรือการผ่าตัดหากผู้ป่วยเริ่มมีปัญหาการมองเห็นจากต้อเนื้อ
ต้อเนื้อ มีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยต้อเนื้อบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ ในระยะแรก ดวงตาข้างที่มีต้อเนื้อจะมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
- มีก้อนเนื้อสีชมพูคล้ายสามเหลี่ยมงอกเข้าสู่ตาดำ
- ตาแดง บวม ระคายเคือง
- แห้ง คัน และรู้สึกแสบ
- รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายหรือกรวดในตา
- น้ำตาไหลออกมามาก
ในระยะท้าย ๆ รอยโรคอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจทำให้เห็นภาพซ้อนหรือมองเห็นได้ไม่ชัดซึ่งเกิดจากต้อเนื้อทำให้เกิดสายตาเอียง หรือต้อเนื้อลุกลามจนบดบังกระจกตา
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
หากมีก้อนเนื้อในตาหรือการมองเห็นลดลง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ
ต้อเนื้อ มีสาเหตุเกิดจากอะไร?
สาเหตุของต้อเนื้อที่พบได้บ่อยที่สุดคือการโดนรังสียูวีหรือแสงแดดเป็นเวลานานและการที่ตาระคายเคือง จาก ลม ฝุ่น และอากาศแห้ง
การตรวจวินิจฉัยโรคต้อเนื้อ มีวิธีการอย่างไร?
จักษุแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยต้อเนื้อได้จากกล้องตรวจตา โดยจะทำการถ่ายภาพลูกตาเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงหรือดูว่าต้อเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือไม่ ตลอดจนทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อแยกโรคอื่นๆ ที่อาจมีความคล้ายคลึงกับต้อเนื้อได้ อาทิ มะเร็งของผิวดวงตา
การรักษาต้อเนื้อ มีวิธีการอย่างไร?
หากผู้ป่วยไม่มีอาการเคืองตาหรือปัญหาด้านการมองเห็น อาจไม่จําเป็นต้องได้รับการรักษาใด ๆ และอาจแค่มาพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามผลและดูการเปลี่ยนแปลงลักษณะและขนาดของต้อเนื้อ
หากมีอาการเคืองตา แพทย์ให้ใช้ยาดังต่อไปนี้
- น้ำตาเทียม ยาหดหลอดเลือด หรือขี้ผึ้งป้ายตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง
- ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์หรือขี้ผึ้งป้ายตาเพื่อรักษาอาการตาแดง บวม คัน และปวดตา
ขณะที่มีอาการ ผู้ป่วยควรงดใส่คอนแทกเลนส์ไปสักระยะ
แพทย์อาจแนะนําให้ทำการผ่าตัดหากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้
- ความสามารถในการมองเห็นลดลง
- เริ่มมีอาการสายตาเอียง
- ผู้ป่วยไม่ชอบลักษณะของดวงตาที่มีต้อเนื้อ
- อาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยาหยอดตาหรือขี้ผึ้งป้ายตา
ต้อเนื้อไม่สามารถหายได้เองและการผ่าตัดเป็นวิธีเดียวที่จะนำต้อเนื้อออกไปได้หมด แต่ไม่ได้รับรองว่าจะไม่กลับมาเป็นอีก
ต้อเนื้อ มีวิธีการป้องกันอย่างไร?
เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดต้อเนื้อ เราสามารถทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด ที่ที่อากาศร้อน มีฝุ่น หรือลมพัดแรง
- สวมแว่นกันแดดหรือหมวกปีกกว้างเพื่อป้องกันรังสียูวี
ต้อเนื้อไม่ถือว่าเป็นภาวะทางสายตาที่ร้ายแรงถึงแม้ลักษณะจะดูน่ากลัวก็ตาม บางรายอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา อย่างไรก็ตามบางรายอาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมหรือยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง หากต้อเนื้อโตขึ้นและรบกวนการมองเห็นควรทำการปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียของการผ่าตัด การสวมแว่นกันแดดหรือหมวกปีกกว้างสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดต้อเนื้อได้เช่นกัน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับต้อเนื้อ
- ต้อเนื้อ เกิดจากอะไร?
ต้อเนื้อ เกิดจากความผิดปกติของเยื่อเมือกบุตา มีรูปร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยม ต้อเนื้ออาจเริ่มโตขึ้นจากที่บริเวณหัวตาหรือหางตาก็ได้ แต่มักพบบริเวณหัวตามากกว่า ต้อเนื้อสามารถเกิดขึ้นได้ในตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง โดยจะมีอาการตาแดง ระคายเคือง - อาการของต้อเนื้อ เป็นอย่างไร
ดวงตาข้างที่มีต้อเนื้อ มีก้อนเนื้อสีชมพูคล้ายสามเหลี่ยมงอกเข้าสู่ตาดำ ตาแดง บวม ระคายเคือง แห้ง คัน และรู้สึกแสบ รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายในตา น้ำตาไหลออกมามาก - อะไรคือสาเหตุของโรคต้อเนื้อ?
สาเหตุของต้อเนื้อที่พบได้บ่อยที่สุดคือการโดนรังสียูวีหรือแสงแดดเป็นเวลานานและการที่ตาระคายเคือง จาก ลม ฝุ่น และอากาศแห้ง - โรคต้อเนื้อ รักษาได้ไหม?
หากไม่มีอาการเคืองตาหรือปัญหาด้านการมองเห็น อาจไม่จําเป็นต้องรักษา แต่ควรพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามผลและดูการเปลี่ยนแปลงลักษณะและขนาดของต้อเนื้อ แพทย์ให้ใช้น้ำตาเทียม ยาหดหลอดเลือด หรือขี้ผึ้งป้ายตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง โรคต้อเนื้อไม่สามารถหายได้เองและการผ่าตัดเป็นวิธีเดียวที่จะนำต้อเนื้อออกไปได้หมด แต่ไม่ได้รับรองว่าจะไม่กลับมาเป็นอีก