อาการ การรักษา PTSD ภาวะเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง - Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) - Symptoms and Treatment

PTSD ภาวะเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง

PTSD คือ ภาวะเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic Stress Disorder) สภาวะทางจิตใจหลังเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนร่างกาย จิตใจอย่างรุนแรง ทำให้รู้สึกเหมือนตกอยู่ในเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


PTSD คืออะไร

ภาวะเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง หรือ PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) เป็นสภาวะทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่กระทบกระเทือนร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง หลังเหตุการณ์ ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนตกเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำ ๆ เกิดภาวะเครียด วิตกกังวล รู้สึกผิดหรืออับอายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฝันเห็นภาพเหตุการณ์ซ้ำไปซ้ำมา และพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่เกิดเหตุหรือไม่พูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ป่วยรู้สึกทุกข์ทรมาณใจจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สร้างบาดแผลในใจ มักเป็นสถานการณ์อันตรายคุกคามต่อชีวิต มีความรุนแรงมากกว่าปกติ ซึ่งผู้ป่วยเป็นผู้เผชิญเหตุการณ์เองหรือเป็นพยานรับรู้เหตุการณ์ดังกล่าว เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ การสูญเสียคนที่รัก การโดนทำร้ายร่างกายและจิตใจบ่อย ๆ การได้รับบาดเจ็บหรือป่วยรุนแรง สงคราม ภัยธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ แผ่นดินไหว เป็นต้น

PTSD มีกี่ประเภท

  • โรคเครียดฉับพลัน (Acute Stress Disorder) มักเกิดขึ้นในช่วงเดือนแรกหลังเผชิญกับเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในใจ หากมีอาการนานเกินกว่า 1 เดือน อาจพัฒนาไปเป็น PTSD
  • โรคเครียดจากเหตุการณ์รุนแรงแบบซับซ้อน (Complex PTSD: CPTSD) เกิดขึ้นหลังเผชิญกับความบอบช้ำทางจิตใจอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เช่น สงคราม หรือถูกทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดทางทางเพศในวัยเด็กเป็นระยะเวลานาน ผู้ที่มีภาวะ CPTSD มักจะมีอาการของ PTSD ร่วมกับปัญหาด้านอารมณ์ ความรู้สึก และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

อาการของโรค PTSD มีอะไรบ้าง

  • ความคิดแทรกซ้อน (Intrusive Thoughts) เช่น ฝันร้าย ภาพเหตุการณ์กลับมาหลอกหลอน  ผู้ป่วยอาจเห็นภาพย้อนกลับ (flashback) จนรู้สึกว่ากลับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง 
  • การหลีกเลี่ยง เช่น หลีกเลี่ยงอะไรก็ตามที่ทำให้กลับไปนึกถึงเหตุการณ์นั้น ๆ อีก ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงเหตุการณ์หรือความรู้สึกของตนเองตอนที่ต้องเผชิญเหตุการณ์นั้น ๆ  
  • การรับรู้และอารมณ์เปลี่ยนไป ผู้ป่วยไม่สามารถจดจำรายละเอียดสำคัญของเหตุการณ์สะเทือนขวัญได้ คิดลบ โทษตนเอง หวาดกลัว โกรธ หงุดหงิดง่าย เลิกสนใจกิจกรรมที่เคยชอบ ปลีกตัวออกจากสังคม ไม่มีความสุข 
  • การตื่นตัวและตอบสนองเปลี่ยนไป หงุดหงิด สะดุ้ง ตกใจกลัวง่าย กระวนกระวาย ระแวดระวังมากผิดปกติ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาด้านการนอนหลับ

ผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงกระทบจิตใจมักมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ผู้ป่วย PTSD จะมีอาการต่อเนื่องยาวนานกว่า 1 เดือน และอาการมักรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ PTSD อาจส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้า มีปัญหาด้านความทรงจำ และผู้ป่วยอาจหันไปใช้ยาเสพติดเพื่อหลีกหนีและปิดกั้นความเป็นจริง

อาการของโรค PTSD มีอะไรบ้าง - Post Traumatic Stress Disorder (ptsd) 3

สาเหตุของ PTSD เกิดจากอะไร

ประชากรราว 61-80 % ต้องเคยเผชิญเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต และราว 5% - 10% จะพัฒนาไปเป็น PTSD ยังไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่ชัดว่าทำไมคนแต่ละคนถึงตอบสนองต่อเหตุการณ์รุนแรงต่างกัน แต่จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วย PTSD มีระดับฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่ผิดปกติ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสมอง

การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทและฮอร์โมน

ในขณะที่เผชิญหน้ากับความเครียด ผู้ป่วย PTSD จะมีระดับ Cortisol หรือฮอร์โมนความเครียดต่ำ และมีระดับ Corticotropin-releasing Factor (CRF) สูง โดย CRF จะไปกระตุ้นการหลั่งของ Norepinephrine ซึ่งกระตุ้นประสาทซิมพาเทติค (Sympathetic Nervous System) เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมที่จะสู้หรือหนี (Fight or Flight) หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น ส่งผลต่อการตอบสนองของร่างกายต่อเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัว นอกจากนี้ยังพบว่าการทำงานของสารสื่อประสาท เช่น สาร Gamma-aminobutyric acid (GABA) สารกลูตาเมต Glutamate สารเซโรโทนิน (Serotonin) เปลี่ยนไป

การเปลี่ยนแปลงภายในสมอง

  • สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งควบคุมแรงจูงใจ อารมณ์ การเรียนรู้ และความทรงจำ มีขนาดเล็กลง  
  • สมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์และการตอบสนองต่อความกลัว เกิดปฏิกิริยาตอบสนองมากเกินไป 
  • สมองส่วนหน้า ซึ่งควบคุมการตอบสนองด้านอารมณ์ของสมองส่วนอะมิกดาลา มีขนาดเล็กและตอบสนองต่อเหตุการณ์น้อยกว่าปกติ  

PTSD ในเด็ก มีอาการอย่างไร

เด็กมักไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกหรืออธิบายเหตุการณ์รุนแรงที่เผชิญมาได้ หลังเหตุการณ์เด็กอาจมีอาการกระวนกระวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นอาการของโรคสมาธิสั้น Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) จึงจำเป็นที่จะต้องพาเด็กไปพบกับจิตแพทย์เด็กที่มีชำนาญด้าน PTSD เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง

ความรุนแรงของอาการ PTSD

เมื่อเจอกับสิ่งที่กระตุ้นเตือนให้นึกถึงบาดแผลในใจ เช่น เสียงรถเบรก ข่าวเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ผู้ป่วยอาจกลับไปนึกถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ส่งผลให้อาการรุนแรงมากขึ้น

PTSD มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง

  • อารมณ์แปรปรวน
  • ความวิตกกังวล
  • โรคทางระบบประสาท เช่น ความจำเสื่อม 
  • การใช้ยาเสพติด รวมถึงการติดสุรา 
  • ความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อมีอาการ PTSD ควรไปพบแพทย์เมื่อไร

หากนึกถึงเหตุการณ์รุนแรงซ้ำ ๆ บ่อย ๆ นานกว่าหนึ่งเดือน จนไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ควรขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ การได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอย่างทันท่วงทีสามารถช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น

PTSD มีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร

แพทย์จะซักถามประวัติและตรวจร่างกาย จากนั้นจะประเมินสภาพจิตใจของผู้ป่วยตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM-5) ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PTSD นั้นจะต้องตรงตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

  • เคยเผชิญกับเหตุการณ์รุนแรงด้วยตนเอง
  • เคยเห็นเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้อื่น
  • เคยเห็นภาพเหตุการณ์รุนแรง 
  • สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์รุนแรงหรือรับทราบว่าบุคคลอันเป็นที่รักต้องเผชิญกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ผู้ป่วย PTSD มักมีอาการนานกว่าหนึ่งเดือน และอาการส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

Post Traumatic Stress Disorder (ptsd) - PTSD มีวิธีการรักษาอย่างไร

PTSD มีวิธีการรักษาอย่างไร

จิตบำบัด โดยเฉพาะการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เป็นวิธีการรักษาหลักของผู้ป่วย PTSD

  • Cognitive Processing Therapy เป็นการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมประเภทหนึ่งสำหรับผู้ป่วย PTSD โดยเฉพาะ ซึ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกด้านลบ เช่น ความรู้สึกอับอายหรือรู้สึกผิด ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญหน้ากับความทรงจำที่น่าทุกข์ทรมานใจได้ 
  • Eye Movement Desensitization and Reprocessing (EMDR) Therapy เป็นการบำบัดผ่านการฝึกการเคลื่อนไหวของดวงตาในรูปแบบเฉพาะระหว่างที่สมองกำลังประมวลผลถึงเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในใจ เป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างใหม่ แต่มีหลักฐานว่ามีประสิทธิภาพและได้ผลเร็วกว่าวิธีอื่น 
  • การบำบัดแบบกลุ่ม เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยพบปะกับผู้ที่ผ่านเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน ช่วยให้ผู้ป่วยเปิดใจ กล้าพูดถึงเหตุการณ์และความรู้สึกที่มีได้โดยไม่รู้สึกว่ากำลังถูกคนอื่นตัดสิน นอกจากนี้ครอบครัวบำบัด (Family Therapy) ก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยและคนในครอบครัวเข้าใจสถานการณ์และการต่อสู้ของผู้ป่วยมากขึ้น เสริมสร้างความเข้าใจในครอบครัว ส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  • การบำบัดด้วยการเผชิญหน้ากับความกลัว (Prolonged Exposure Therapy) ช่วยให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ในอดีตและรับมือกับอาการในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะควบคุมและรับมือกับอารมณ์หวาดกลัวที่มี 
  • Trauma-focused CBT ช่วยให้ทราบและเข้าใจการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียดและเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้มองเห็นปัญหา เรียนรู้วิธีจัดการกับอาการที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้แพทย์อาจจ่ายยาคลายกังวลหรือยาต้านเศร้า เช่น selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) หรือ serotonin and norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) เพื่อบรรเทาอาการ

เราสามารถป้องกัน PTSD  ได้หรือไม่

เราอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์รุนแรงได้เสมอไป แต่เราสามารถป้องกันตนเองจาก PTSD ได้หลังเผชิญเหตุการณ์นั้น ๆ เช่น

  • พูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวถึงเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ การเปิดใจพูดคุย แบ่งปันความรู้สึกสามารถช่วยลดความเครียดและสร้างความเข้าใจในครอบครัวมากขึ้น
  • เรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวและตอบสนองต่อเหตุการณ์น่าหวาดกลัวจะช่วยให้สามารถรับมือและเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้
  • ช่วยเหลือผู้ที่เคยตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เช่น อาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ การช่วยเหลือผู้อื่นสามารถช่วยเยียวยาจิตใจและสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง 

การใช้ชีวิตอยู่กับ PTSD

  • เข้ารับการรักษาตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ เพราะการรักษาจำเป็นต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล 
  • ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโรค PTSD เพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้าใจในตัวโรค
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ประโยชน์ หลีกเลี่ยงคาเฟอีนและนิโคตินซึ่งอาจทำให้อาการวิตกกังวลแย่ลง 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้ยาเสพติดเพื่อลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 
  • ทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมผ่อนคลายเพื่อคลายความเครียดวิตกกังวล

เมื่อคนที่เรารักเป็น PTSD

หลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในใจ คนที่เรารักอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป หงุดหงิด โกรธง่าย ซึมเศร้า โรค PTSD อาจทำให้คนรอบข้างเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ และการต้องรับรู้เรื่องราวที่ทำให้คนที่เรารักเกิดความเครียด อาจทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด เราอาจพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงเหตุการณ์นั้น รู้สึกสิ้นหวัง หรือรู้สึกผิดที่ไม่สามารถป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตามเราสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ PTSD เพื่อช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญ เป็นผู้รับฟังที่ดี ไม่กดดันให้ผู้ป่วยพูดถึงเหตุการณ์ในขณะที่ผู้ป่วยยังไม่พร้อม นอกจากนี้เราสามารถแนะนำและสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดกับจิตแพทย์ผู้ชำนาญการด้าน PTSD เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง หมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยเริ่มปลีกตัวออกจากสังคม ทั้งนี้ครอบครัวและผู้ที่อยู่รอบข้างควรดูแลตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะการช่วยเหลือผู้ป่วย PTSD อาจเป็นภาระที่หนัก ดังนั้น ควรหาเวลาพักผ่อน พูดคุยกับเพื่อน หรือหาที่ปรึกษาเพื่อบรรเทาความเครียด

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์

  • จดบันทึกอาการที่มีและระยะเวลาที่เป็น รวมถึงยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทาน 
  • จดคำถามที่ต้องการถามแพทย์ เช่น 
    • อะไรคือสาเหตุของอาการ PTSD
    • ภาวะเครียดจากเหตุการณ์รุนแรงเป็นอาการชั่วคราวหรือเรื้อรัง
    • ควรเข้ารับการรักษาด้วยวิธีใด 
    • เมื่อไรอาการถึงจะดีขึ้น
    • PTSD จะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่
    • ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น 
    • ควรบอกให้คนรอบข้าง เช่น เพื่อนที่ทำงานทราบถึงอาการที่เป็นหรือไม่ 
  • เตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่แพทย์อาจถาม 
    • เริ่มมีอาการผิดปกติครั้งแรกเมื่อไร 
    • เคยประสบหรือเห็นเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลในใจหรือไม่
    • คิดถึงเหตุการณ์ใดบ่อย ๆ หรือฝันร้ายบ้างหรือไม่ 
    • หลีกเลี่ยงที่จะทำกิจวัตรบางอย่าง พบเจอผู้คน หรือไปสถานที่บางแห่งบ้างหรือไม่ เพราะอะไร
    • มีปัญหาที่โรงเรียนหรือที่ทำงานหรือไม่ 
    • เคยคิดทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่ 
    • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติดบ้างหรือไม่ บ่อยแค่ไหน 
    • เคยได้รับการรักษาอาการทางจิตหรือโรคทางจิตเวชบ้างหรือไม่ หากเคย วิธีใดที่ช่วยให้อาการดีขึ้น

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

ภาวะเครียดจากเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ หรือ PTSD นั้นสามารถรักษาให้หายได้ การพูดคุยและการเข้ารับการบำบัดกับจิตแพทย์หรือนักบำบัดที่มีประสบการณ์ การรับประทานยา และการทำกิจกรรมที่ช่วยในการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตที่ปกติและมีความสุขได้อีกครั้ง

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 10 ธ.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

    พญ. ฐิติพร ศุภสิทธิ์ธำรง

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
  • Link to doctor
    นพ.   ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร

    นพ. ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร

    • จิตเวชศาสตร์
    จิตเวชศาสตร์
  • Link to doctor
    รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

    รศ.พญ. สุดสบาย จุลกทัพพะ

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
  • Link to doctor
    ศ.นพ. รณชัย   คงสกนธ์

    ศ.นพ. รณชัย คงสกนธ์

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์สิ่งเสพติด
    จิตเวชศาสตร์, จิตเวชศาสตร์สิ่งเสพติด
  • Link to doctor
    พญ. อรรัตน์ เชาว์กุลจรัสศิริ

    พญ. อรรัตน์ เชาว์กุลจรัสศิริ

    • จิตเวชศาสตร์
    • จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
    Child and Adolescent Psychiatry, จิตเวชศาสตร์