ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism)

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด เกิดจากการที่ลิ่มเลือดไปอุดกั้นการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดแดงในปอด เป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต การได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตได้

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด เกิดจากการที่ลิ่มเลือดไปอุดกั้นการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดแดงในปอด โดยมักมีสาเหตุมาจากการที่ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำลึกที่ขาหลุดและไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดกั้นที่ปอด ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดถือว่าเป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต การได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิตได้ และการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก ยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดได้

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด มีอาการอย่างไร

  • หายใจหอบเหนื่อย
  • เจ็บหน้าอก ซึ่งอาการแย่ลงเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ
  • ไอเป็นเลือด
  • เสียวแปลบที่หน้าอก คอ กราม ไหล่ และแขน
  • ผิวซีด ตัวเขียว
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • เหงื่อออกมาก
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • เวียนศีรษะ
  • เป็นลมหมดสติ

ควรพบแพทย์เมื่อไร

ควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการหายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก หมดสติแบบไม่มีสาเหตุ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดเป็นภาวะที่อันตรายรุนแรงแต่รักษาได้ การได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด มีสาเหตุจากอะไร

  • เลือดคั่งที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย มักจะเป็นที่แขนหรือขา เกิดจากการที่ไม่ขยับอวัยวะส่วนนั้นเป็นเวลานานเนื่องจากการผ่าตัดหรือการนอนพักบนเตียงเป็นเวลานาน
  • เส้นเลือดดำได้รับความเสียหายจากการที่กระดูกสะโพก อุ้งเชิงกราน หัวเข่า หรือขาหัก หรือการได้รับการผ่าตัดที่อวัยวะดังกล่าว
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจล้มเหลว และภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว
  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดมากขึ้นจากมะเร็งบางชนิด ฮอร์โมนบำบัด หรือยาคุมกำเนิด

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด มีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดจากอะไร

  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก
  • เส้นเลือดดำได้รับความเสียหายจากการผ่าตัด กระดูกหัก หรือเส้นเลือดขอด
  • การใช้ยาคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทน
  • การสูบบุหรี่
  • ค่าดัชนีมวลกายสูงกว่า 25
  • การตั้งครรภ์ การคลอดบุตรในระยะ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา
  • การใส่สายสวนหลอดเลือดดำส่วนกลางทางแขนหรือขา
  • การนั่งหรือไม่ขยับร่างกายเป็นเวลานาน

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด มีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง

ภาวะความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูงและภาวะความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูงเรื้อรังหากลิ่มเลือดค้างอยู่ในปอดและส่งผลทำให้เกิดพังผืดในเส้นเลือดแดงในปอด

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด มีวิธีการตรวจวินิฉัยอย่างไร

การตรวจวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดนั้นอาจทำได้ยาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคหัวใจและปอด

  • การตรวจเลือด: การตรวจเลือดช่วยทำให้ทราบถึงระดับ D-dimer ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการสลายตัวของละลายลิ่มเลือด หากค่า D-dimer สูงขึ้นนั้นเป็นข้อบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีลิ่มเลือดอุดตัน การตรวจเลือดยังสามารถตรวจระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดได้ หากมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด ระดับออกซิเจนจะน้อยลง นอกจากนี้การตรวจเลือดยังช่วยทำให้ทราบว่าผู้ป่วยมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่
  • การเอกซเรย์ทรวงอก ช่วยในการตัดสาเหตุอื่น ๆ ของอาการออกไป
  • การตรวจด้วยเครื่อง Duplex Ultrasounds : เป็นการใช้คลื่นเสียงตรวจหลอดเลือดเพื่อหาลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึกในหัวเข่า ต้นขา น่อง และแขน
  • การทำ CT Scan หลอดเลือดในปอด (CT pulmonary angiography): การถ่ายภาพหลอดเลือดในปอดด้วย CT Scan เป็นการสร้างภาพ 3 มิติเพื่อหาจุดที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดปอด
  • การตรวจ Ventilation-perfusion (V/Q) scan: การตรวจวิธีนี้ช่วยประเมินโอกาสที่จะเกิดภาวะความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง โดยระหว่างการตรวจแพทย์จะฉีดสารกัมมันตภาพรังสีเข้าไปในหลอดเลือดดำที่แขนเพื่อประเมินการไหลเวียนของเลือดและปริมาณอากาศในปอด
  • การฉีดสีเพื่อตรวจหลอดเลือดปอด (Pulmonary angiogram): เป็นการตรวจที่มีความแม่นยำที่สุดในการตรวจวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด แต่เนื่องจากความซับซ้อนและความเสี่ยง แพทย์มักจะตรวจด้วยวิธีนี้ในกรณีที่การตรวจด้วยวิธีอื่นไม่ให้ผลที่แน่ชัด โดยระหว่างการตรวจ แพทย์จะใส่สายสวนเข้าไปยังหลอดเลือดดำใหญ่บริเวณขาหนีบ แล้วสวนผ่านหัวใจไปยังหลอดเลือดปอด จากนั้นจะฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในสายสวน และตรวจเอกซเรย์เพื่อตรวจดูทิศทางของสารทึบรังสีในหลอดเลือดแดงปอด ผู้ป่วยบางรายอาจมีการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไประหว่างการตรวจ และสารทึบรังสีอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ไตจะได้รับความเสียหายในผู้ที่ไตทำงานไม่ปกติ
  • การตรวจ MRI: การตรวจ MRI เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องไตหรือผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับรังสี เช่น สตรีตั้งครรภ์

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด มีวิธีการรักษาอย่างไร

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยาต้านการแข็งตัวของเลือดช่วยลดการแข็งตัวของเลือด ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด โดยชนิดของยา ระยะเวลาที่ต้องรับประทาน และความถี่ในการนัดพบแพทย์เพื่อติดตามอาการขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ระหว่างที่รักษาด้วยการรับประทานยาอยู่นั้นแพทย์อาจให้เข้ารับการตรวจวัดการแข็งตัวของเลือด (Prothrombin Time Test) เพื่อดูระยะเวลาที่เลือดเริ่มแข็งตัว ช่วยให้แพทย์ประเมินปริมาณยาที่ผู้ป่วยควรรับประทานได้อย่างเหมาะสม
  • ถุงน่องประคองหลอดเลือดดำ (Compression Stockings): ถุงน่องประคองหลอดเลือดดำเป็นถุงน่องทางการแพทย์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของเลือดที่ขา ป้องกันการสะสมของเลือดที่บริเวณดังกล่าว ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการใช้ ระยะเวลาที่ต้องสวมใส่ถุงน่อง และการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม
  • ยาละลายลิ่มเลือด: ยาละลายลิ่มเลือด เช่น Tissue Plasminogen Activator มักใช้ในการรักษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วยวิกฤติภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยจะให้ในผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำหรืออาการไม่ทรงตัวเนื่องจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด ผลข้างเคียงของยาได้แก่ภาวะเลือดออก

เราจะป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดได้อย่างไร

  • การป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำในขาสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดได้
  • รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด ซึ่งแพทย์มักแนะนำในผู้ที่มีความเสี่ยงที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันทั้งก่อนและหลังผ่าตัด ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • สวมใส่ถุงน่องประคองหลอดเลือดดำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ขา
  • ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า pneumatic compression เพื่อนวดและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ขา
  • นั่งหรือนอนยกขาสูงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที การยกขาสูงระหว่างการนอนหลับมีประสิทธิภาพในการป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจสอดไม้หรือหนังสือใต้ขาที่นอนเพื่อยกที่นอนให้สูงขึ้น 4-6 นิ้ว
  • พยายามขยับตัวอยู่เสมอ ไม่นั่งหรืออยู่ในท่าเดิมนาน ๆ การขยับร่างกายหรือลุกเดินหลังผ่าตัดจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดได้ดีและทำให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
  • จำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ลดน้ำหนักและรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม

ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนพบแพทย์

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดนั้นมักเป็นภาวะฉุกเฉิน หากมีอาการหรือคิดว่ามีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด ควรรีบพบแพทย์โดยทันที

ก่อนไปพบแพทย์ ผู้ป่วยควรจดบันทึกอาการที่มี โรคประจำตัว อาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเมื่อไม่นานมานี้ ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ การเดินทางที่ต้องนั่งรถหรือเครื่องบินเป็นเวลานาน ประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว รวมถึงคำถามที่ต้องการถามแพทย์

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

หากเริ่มสังเกตว่ามีอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด ควรรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม เพราะภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดสามารถรักษาให้หายได้หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 19 มิ.ย. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ผศ.นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    ผศ.นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    • อายุรศาสตร์
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, อายุรศาสตร์โรคปอด, อายุรกรรมผู้สูงอายุ, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. เกษม สิริธนกุล

    นพ. เกษม สิริธนกุล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    โรคหอบหืดและไอเรื้อรัง, หายใจลำบาก, ไอเรื้อรัง, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคมะเร็งปอด, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ, โรคปอดบวม, คลินิกหยุดบุหรี่
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    พญ. วรวรรณ ศิริชนะ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    เวชบำบัดวิกฤต, อายุรกรรมทั่วไป, อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ
  • Link to doctor
    นพ. วรการ วิไลชนม์

    นพ. วรการ วิไลชนม์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน, โรคหอบหืดและไอเรื้อรัง, เครื่องช่วยหายใจ, วัณโรค
  • Link to doctor
    ศ.นพ. ยงยุทธ์ พลอยส่องแสง

    ศ.นพ. ยงยุทธ์ พลอยส่องแสง

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ชายวุฒิ สววิบูลย์

    ผศ.นพ. ชายวุฒิ สววิบูลย์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ, เวชบำบัดวิกฤต, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    นพ. วิรัช ตั้งสุจริตวิจิตร

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
  • Link to doctor
    นพ. ฐิติ ศรีเจริญชัย

    นพ. ฐิติ ศรีเจริญชัย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ, กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน, อายุรศาสตร์โรคปอด, เวชบำบัดวิกฤต
  • Link to doctor
    นพ. กันต์ โอโกโนกิ

    นพ. กันต์ โอโกโนกิ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    เวชบำบัดวิกฤต, อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ