อาการ สาเหตุ การรักษาพังผืดในปอด - Pulmonary Fibrosis: Symptoms, Causes and Treatment

พังผืดในปอด (Pulmonary Fibrosis)

โรคพังผืดในปอด (Pulmonary Fibrosis) คือโรคทางเดินหายใจ ซึ่งเนื้อเยื่อปอดที่อยู่ระหว่างถุงลมปอดเกิดเป็นแผล จนเนื้อเยื่อดังกล่าวหนาและแข็งตัว ทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผ่านออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดได้ไม่เพียงพอ

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


พังผืดในปอด

โรคพังผืดในปอด (Pulmonary Fibrosis) คือโรคทางเดินหายใจ ซึ่งเนื้อเยื่อปอดที่อยู่ระหว่างถุงลมปอดเกิดเป็นแผล จนเนื้อเยื่อดังกล่าวหนาและแข็งตัว ทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผ่านออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดได้ไม่เพียงพอ ปัจจัยที่ทำให้ปอดได้รับความเสียหายนั้น ได้แก่ การสัมผัสกับสารพิษบางอย่าง โรคบางโรค รังสีรักษา หรือยาบางชนิด

ความเสียหายของปอดที่เกิดจากโรคพังผืดในปอดไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ แต่การรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ สามารถช่วยให้ผู้ป่วยจัดการกับอาการและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ ยาและการบำบัดสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ในผู้ป่วยบางราย แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องทำการปลูกถ่ายปอด

อาการพังผืดในปอด เป็นอย่างไร?

  • หายใจเร็วและสั้น
  • ไอแห้งติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • รู้สึกเหนื่อยมากเวลากลางวัน
  • หายใจหอบเหนื่อยระหว่างหรือหลังออกกำลังกาย
  • น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

หากอาการแย่ลง ผู้ป่วยอาจมีอาการนิ้วมือนิ้วเท้าปุ้มและอาการตัวเขียว เนื่องจากปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ

สาเหตุของการเกิดพังผืดในปอด - Pulmonary Fibrosis

พังผืดในปอด เกิดจากสาเหตุอะไร?

  • การสัมผัสกับสารพิษและมลพิษ เช่น ผงถ่านหิน ฝุ่นข้าว แร่ใยหิน ฝุ่นหิน มูลสัตว์ในสภาพแวดล้อมหรือที่ทำงาน
  • รังสีรักษาสำหรับมะเร็งปอดหรือมะเร็งเต้านม โดยขอบเขตความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของโรคปอด ปริมาณเนื้อปอดที่สัมผัสกับรังสี ปริมาณรังสีที่ใช้ และมีการใช้เคมีบำบัดร่วมด้วยหรือไม่
  • ยาเคมีบำบัด เช่น ยา methotrexate และยา cyclophosphamide
  • ยาสำหรับโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยา amiodarone
  • ยาปฏิชีวนะ เช่น ยา nitrofurantoin 
  • ยาต้านการอักเสบ เช่น ยา rituximab และยา sulfasalazine
  • โรคต่าง ๆ เช่น โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผสม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคปอดอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ โรคซาร์คอยโดซิส โรคหนังแข็ง รคลูปัส

พังผืดในปอดบางชนิด เป็นโรคที่ไม่สามารถหาสาเหตุได้ ซึ่งอาจเกิดจากการสัมผัสกับเชื้อไวรัส ยาสูบ หรือเป็นโรคทางพันธุกรรม จากการวิจัยโรคกรดไหลย้อนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรคพังผืดในปอดแย่ลงอย่างรวดเร็ว แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาถึงความเกี่ยวข้องกับโรคนี้เพิ่มเติม

ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ทำให้เกิดพังผืดในปอด?

  • อายุ ผู้ใหญ่วัยกลางคนและผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคพังผืดในปอดมากกว่า
  • เพศ เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
  • การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองมีความเสี่ยงมากกว่า 
  • การสัมผัสกับมลพิษจากที่ทำงาน เช่น การทำเหมือง การทำฟาร์ม หรือการก่อสร้าง 
  • วิธีการรักษามะเร็งบางชนิด เช่น รังสีรักษา เคมีบำบัด
  • ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม โรคพังผืดในปอดบางชนิดอาจส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้

วิธีการตรวจวินิจฉัยพังผืดในปอด มีกี่วิธี?

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
    • แพทย์จะดูประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและประวัติสุขภาพของครอบครัว และทำการสอบถามอาการ พร้อมกับฟังเสียงปอดขณะผู้ป่วยกำลังหายใจ
  • การตรวจเลือด
    • การตรวจเลือดช่วยประเมินการทำงานของตับและไต และตัดโรคอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการได้
  • การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพถ่าย
    • การเอกซเรย์ปอด เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นว่ามีความผิดปกติของเนื้อปอดหรือไม่
    • การตรวจวินิจฉัยด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อดูขอบเขตความเสียหายของปอด ช่วยติดตามอาการและประเมินว่าอาการตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่
    • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อประเมินแรงดันในหัวใจห้องล่างขวา ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคพังผืดในปอด
  • การตรวจสมรรถภาพปอด
    • การตรวจสมรรถภาพปอด (PFT) เช่น การตรวจวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด (spirometry) การตรวจวัดหาความสามารถในการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดและวัดปริมาตรปอด 
    • การวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse oximetry) เพื่อวัดปริมาณออกซิเจนที่ไหลเวียนในเลือดด้วยการใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
    • การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกาย (Exercise stress test) เพื่อดูการทำงานของปอดและหัวใจ
    • การตรวจก๊าซจากหลอดเลือดแดง (Arterial blood gas test)
  • การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

การรักษาพังผืดในปอด ด้วยออกซิเจนบำบัด - Pulmonary Fibrosis

การรักษาพังผืดในปอด มีวิธีการรักษาอย่างไร?

โรคพังผืดในปอด เป็นโรคที่เป็นแล้วจะเป็นถาวร แต่การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยืดอายุการทำงานของปอดได้

  • ยา เช่น ยา pirfenidone และ ยา nintedanib เป็นยาต้านพังผืด ช่วยชะลอการเกิดพังผืดและการเกิดรอยแผลเป็นในปอด
  • ออกซิเจนบำบัด จะช่วยเพิ่มระดับออกซิเจน บรรเทาอาการหายใจหอบเหนื่อยและเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย 
  • การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ช่วยลดอาการเหนื่อยและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
  • การปลูกถ่ายปอด

ภาวะแทรกซ้อนเมื่อเป็นพังผืดในปอด

ภาวะความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง เกิดขึ้นจากพังผืดในปอดส่งผลให้หลอดเลือดแดงปอดมีขนาดเล็กลง ทำให้เกิดแรงต้านของหลอดเลือดในปอดและแรงกดในหัวใจห้องขวาล่างเพิ่มขึ้น ภาวะความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูงบางประเภท อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต 

  • โรคหัวใจเพราะปอด เกิดขึ้นจากการที่หัวใจห้องล่างขวาต้องออกแรงสูบฉีดเลือดมากเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ 
  • ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว เนื่องจากระดับออกซิเจนที่ต่ำมากจนเป็นอันตราย เป็นระยะสุดท้ายของโรคปอดเรื้อรัง
  • ปอดติดเชื้อ 
  • ลิ่มเลือดอุดตันในปอด
  • ปอดแฟบหรือลรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด
  • มะเร็งปอด

การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตและการรักษาตัวที่บ้าน

  • เลิกสูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้รับพลังงานเพียงพอ เพราะผู้ป่วยโรคพังผืดในปอดมักจะน้ำหนักตัวลดลง พยายามรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ 6 มื้อ แทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ปอดแข็งแรงและลดความเครียด 
  • พักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวม
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำและแผนการรักษาของแพทย์

นอนพักผ่อนให้เพียงพอ - Pulmonary Fibrosis

การเตรียมตัวก่อนไปพบแพทย์

จดคำตอบสำหรับคำถามที่แพทย์อาจถาม เช่น 

  • สังเกตเห็นอาการครั้งแรกเมื่อไร 
  • มีอาการอะไรบ้าง
  • มีโรคประจำตัว เช่น ข้ออักเสบมาก่อนหรือเปล่า
  • ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา รับประทานยาหรืออาหารเสริมบ้างหรือไม่ 
  • เคยทำงานในสถานที่ที่มีฝุ่นเยอะหรือไม่
  • สูบบุหรี่เป็นประจำหรือไม่
  • มีคนในครอบครัวเป็นโรคปอดเรื้อรังหรือไม่
  • เคยเข้ารับการรักษาด้วยรังสีรักษาหรือเคมีบำบัดหรือไม่

แนะนำให้พาเพื่อนหรือคนในครอบครัวไปด้วย เพื่อช่วยจำข้อมูลและเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เนื่องจากโรคพังผืดในปอดเป็นโรคที่ร้ายแรงและมีความซับซ้อน

คำถามที่ถามบ่อย

  • โรคพังผืดในปอดกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังต่างกันอย่างไร?
    ทั้งโรคพังผืดในปอดกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคร้ายแรงที่ทำให้หายใจได้ลำบากและอาการจะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป
    โรคพังผืดในปอด เกิดจากการสะสมของเนื้อเยื่อที่เป็นแผลและพังผืด ทำให้หายใจได้ไม่สะดวก สาเหตุที่แท้จริงของโรคนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
    โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เกิดจากการระคายเคืองและอักเสบของหลอดลมและถุงลมปอด ทำให้หายใจลำบากและมีเสมหะอุดกั้นในหลอดลม โรคหอบหืดและการสัมผัสกับมลพิษในปริมาณมากจะเพิ่มความเสี่ยงของกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เช่น ถุงลมโป่งพองและหลอดลมอักเสบ

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

ผู้ป่วยโรคพังผืดในปอด จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจกับแพทย์เป็นประจำ เพื่อติดตามอาการและผลการรักษา การใช้วิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกันจะช่วยส่งเสริมการทำงานของปอดและคุณภาพของชีวิต

พังผืดในปอดเกิดจากอะไร อาการ การรักษา - Pulmonary Fibrosis Infographic Th

บทความโดย

  • นพ. อมรพันธุ์ วงศ์กาญจนา
    นพ. อมรพันธุ์ วงศ์กาญจนา อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคปอด

เผยแพร่เมื่อ: 26 ธ.ค. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. ฐิติ ศรีเจริญชัย

    นพ. ฐิติ ศรีเจริญชัย

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ, กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน, อายุรศาสตร์โรคปอด, เวชบำบัดวิกฤต
  • Link to doctor
    ศ.นพ. ยงยุทธ์ พลอยส่องแสง

    ศ.นพ. ยงยุทธ์ พลอยส่องแสง

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    นพ. วิรัช ตั้งสุจริตวิจิตร

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ชายวุฒิ สววิบูลย์

    ผศ.นพ. ชายวุฒิ สววิบูลย์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ, เวชบำบัดวิกฤต, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. วรการ วิไลชนม์

    นพ. วรการ วิไลชนม์

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน, โรคหอบหืดและไอเรื้อรัง, เครื่องช่วยหายใจ, วัณโรค
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    ผศ.นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    • อายุรศาสตร์
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, อายุรศาสตร์โรคปอด, อายุรกรรมผู้สูงอายุ, อายุรกรรมทั่วไป
  • Link to doctor
    นพ. เกษม สิริธนกุล

    นพ. เกษม สิริธนกุล

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    โรคหอบหืดและไอเรื้อรัง, หายใจลำบาก, ไอเรื้อรัง, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคมะเร็งปอด, โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ, โรคปอดบวม, คลินิกหยุดบุหรี่
  • Link to doctor
    นพ. กันต์ โอโกโนกิ

    นพ. กันต์ โอโกโนกิ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    เวชบำบัดวิกฤต, อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    พญ. วรวรรณ ศิริชนะ

    • อายุรศาสตร์
    • อายุรศาสตร์ภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ
    เวชบำบัดวิกฤต, อายุรกรรมทั่วไป, อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติโรคระบบการหายใจ