กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) รู้สึกอยากขยับขาตลอดเวลา

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome)

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome หรือ Willis-Ekbom disease) เป็นโรคทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการนอน ซึ่งผู้ป่วยต้องการจะขยับขาเนื่องจากรู้สึกไม่สบายตัว เมื่อขยับแล้วถึงรู้สึกดีขึ้น โดยมักมีอาการขณะที่พักผ่อนหรือนอนหลับ

แชร์

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome หรือ Willis-Ekbom disease) เป็นโรคทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการนอน ซึ่งผู้ป่วยต้องการจะขยับขาเนื่องจากรู้สึกไม่สบายตัว เมื่อขยับแล้วถึงรู้สึกดีขึ้น โดยมักมีอาการขณะที่พักผ่อนหรือนอนหลับ สาเหตุของโรคนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล การควบคุมโรคนั้นทำได้โดยการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต การรับประทานยา หรือการรักษาโรคที่ส่งผลให้เกิดอาการ

ประเภทกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข

  • Early Onset คือ อาการของโรคขาอยู่ไม่สุขก่อนอายุ 45 ปี โดยมักมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ หรือภาวะขาดธาตุเหล็ก โดยเฉพาะภาวะเลือดออกประจำเดือนผิดปกติ ตั้งครรภ์ อาการมักค่อย ๆ แย่ลง 
  • Late Onset คือ อาการของโรคขาอยู่ไม่สุขหลังอายุ 45 ปี อาการมักแย่ลงอย่างรวดเร็วและเกี่ยวข้องกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคทางสมองและระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน.

Restless Legs Syndrome Banner 2

อาการขาอยู่ไม่สุข รู้สึกอย่างไร?

ความรู้สึกไม่สบายตัวจากโรคขาอยู่ไม่สุขมักเกิดขึ้นที่ขา แต่อาจเกิดขึ้นที่บริเวณอื่นของร่างกายได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยจะมีความรู้สึกดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเหมือนมีแมลงไต่ขา
  •  รู้สึกคัน ต้องเกา
  • รู้สึกปวดลึกในกล้ามเนื้อหรือแขนขา
  • รู้สึกแสบร้อนหรือเหมือนมีเข็มทิ่ม
  • รู้สึกปวดตุบ ๆ ที่ขา 
  • รู้สึกว่ากล้ามเนื้อตึง
  • รู้สึกว่าต้องขยับแขนขาเพื่อบรรเทาอาการไม่สบายตัว

ความรู้สึกดังกล่าวมักทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังนี้

  • รู้สึกไม่สบายขาและจำเป็นต้องขยับขา
  • รู้สึกไม่สบายตัวมากขึ้นขณะพักผ่อน
  • การขยับขาช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราว
  • ขากระตุกขณะหลับ

อาการของโรคขาอยู่ไม่สุขมักรบกวนการนอนหลับ เพราะผู้ป่วยต้องตื่นมาขยับขาบ่อย ๆ จนทำให้ง่วงนอนตอนกลางวัน เหนื่อยล้า อารมณ์แปรปรวน ไม่มีสมาธิ วิตกกังวล หรือแม้กระทั่งมีภาวะซึมเศร้า

เมื่อไรควรพบแพทย์

หากอาการของโรคขาอยู่ไม่สุขทำให้การนอนหลับไม่มีคุณภาพ ง่วงนอนตอนกลางวัน ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม

ขาอยู่ไม่สุขเกิดจากสาเหตุอะไร?

การขาดสารโดพามีน โรคขาอยู่ไม่สุขมีความเกี่ยวข้องกับปมประสาทฐาน (basal ganglia) ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยใช้สารสื่อประสาทที่เรียกกันว่าโดพามีน หากร่างกายขาดสารโดพามีนอาจส่งผลต่อการทำงานของปมประสาทฐาน

  • พันธุกรรม
  • ยา เช่น ยาแก้แพ้ ยาต้านเศร้า ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน  
  • การขาดธาตุเหล็ก 
  • โรคต่าง ๆ เช่น ภาวะโลหิตจาง โรคไต โรคเบาหวาน โรคปลายประสาทอักเสบ
  • การตั้งครรภ์ 
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน นิโคติน ความเครียด หรือการนอนไม่พอ

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้มีอาการขาอยู่ไม่สุข

  • อายุ: โรคขาอยู่ไม่สุขเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยแต่ความเสี่ยงจะสูงขึ้นตามอายุ
  • เพศ: มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 
  • โรคต่าง ๆ: โรคขาอยู่ไม่สุขมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับโรคอื่น ๆ เช่น 
    • ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ระดับธาตุเหล็กที่ต่ำนั้นทำให้อาการของโรคขาอยู่ไม่สุขแย่ลง 
    • โรคปลายประสาทอักเสบ มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และอาการขาอยู่ไม่สุขเป็นอาการหนึ่งของโรคปลายประสาทอักเสบ
    • รอยโรคที่กระดูกสันหลัง อาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังหรือการฉีดยาชาเข้ากระดูกสันหลัง 
    • โรคไตเรื้อรัง ซึ่งทำให้เกิดความไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายหรือภาวะโลหิตจาง 
    • โรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน
    • การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 แต่อาการมักดีขึ้นหลังคลอด

Sleep Test Banner 5

การตรวจกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข

  • การซักประวัติและการตรวจร่างกาย
    แพทย์จะซักถามอาการ ดูประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและครอบครัวสายตรงของผู้ป่วย และประเมินว่าผู้ป่วยมีอาการตรงตามหลักเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่ 
    • รู้สึกว่าต้องขยับขาเพื่อขจัดความรู้สึกไม่สบายตัว
    • ความรู้สึกไม่สบายตัวแย่ลงขณะพักผ่อน โดยเฉพาะในช่วงเย็นหรือค่ำ อาการจะดีขึ้นเมื่อได้ยืดเหยียด เดิน หรือขยับขา
    • อาการไม่ได้เกิดจากโรคอื่น ๆ
  • การตรวจเลือดและการตรวจทางระบบประสาท
  • การตรวจการนอนหลับ ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีการนอนหลับผิดปกติ

ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยโรคขาอยู่ไม่สุขในเด็กอาจทำได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถบอกเล่าอาการได้อย่างถูกต้อง จึงอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคสมาธิสั้นหรือภาวะปวดขาจากการเจริญเติบโต 

การรักษาอาการขาอยู่ไม่สุข

  • ผลิตภัณฑ์เสริมธาตุเหล็ก แนะนำให้รับประทานพร้อมวิตามินซี 
  • ยากันชัก 
  • ยา Dopamine agonists
  • ยา Dopamine precursors

การรับประทานยาสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ แต่การรับประทานยาที่เพิ่มสารโดพามีนเป็นเวลานานอาจทำให้อาการแย่ลง

Restless Legs Syndrome Banner 3

การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตและการรักษาตัวเองที่บ้าน

  • แช่น้ำอุ่นและนวดขาก่อนเข้านอน
  • การประคบอุ่นหรือประคบเย็นเพื่อบรรเทาความรู้สึกที่แขนขา 
  • นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7 ชั่วโมงทุกคืนและเข้านอนเป็นเวลา
  • ออกกำลังกายเพื่อช่วยบรรเทาอาการ แต่ไม่ควรออกกำลังกายเข้มข้นหรือออกกำลังกายช่วงเย็น
  • ลดการบริโภคคาเฟอีน งดการดื่มชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มช็อกโกแลตเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์เพื่อดูว่าอาการดีขึ้นหรือไม่
  • สวมใส่ปลอกรัดเท้าและ vibrating pad สำหรับผู้ป่วยโรคขาอยู่ไม่สุขโดยเฉพาะ

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์

  • จดบันทึกอาการ โรคประจำตัว และยาที่กำลังรับประทาน
  • พาเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวไปด้วยเพื่อช่วยจำข้อมูล
  • จดคำถามที่ต้องการถามแพทย์ เช่น 
    • โรคขาอยู่ไม่สุขเกิดจากอะไร
    • จำเป็นต้องเข้ารับการทดสอบเพิ่มเติมหรือไม่ 
    • วิธีการรักษาแบบใดที่แพทย์แนะนำ
    • ควรจะจัดการกับโรคประจำตัวที่มีอยู่อย่างไร
    • อะไรที่ช่วยให้อาการดีขึ้น

เตรียมคำตอบสำหรับคำถามที่แพทย์อาจถาม

  • รู้สึกไม่สบายตัวจนต้องขยับขาหรือไม่ 
  • เมื่อขยับขาแล้วรู้สึกดีขึ้นหรือไม่
  • มักเริ่มมีอาการเมื่อไร
  • อาการแย่ลงในตอนกลางคืนหรือไม่
  • มีปัญหาเรื่องการนอนบ้างหรือไม่
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนเป็นประจำหรือไม่
  • ออกกำลังกายช่วงเย็นเป็นประจำหรือไม่
  • เคยได้รับการตรวจวินิจฉัยว่ามีภาวะขาดธาตุเหล็กหรือไม่

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

โรคขาอยู่ไม่สุขนั้นอาจรบกวนการนอนหลับและการใช้ชีวิตประจำวัน การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การหลีกเลี่ยงยาบางชนิด งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการออกกำลังกายเบา ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพการนอนและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 15 พ.ย. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    พญ. ฐาปนี สมบูรณ์

    พญ. ฐาปนี สมบูรณ์

    • ประสาทวิทยา
    • โรคลมชัก
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    โรคลมชักและการผ่าตัดโรคลมชัก, โรคความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ
  • Link to doctor
    ดร.พญ. จิรดา ศรีเงิน

    ดร.พญ. จิรดา ศรีเงิน

    • ประสาทวิทยา
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • โรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, โรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    ผศ.นพ. จิรยศ จินตนาดิลก

    • อายุรศาสตร์
    • เวชศาสตร์การนอนหลับ
    • เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
    • อายุรศาสตร์โรคปอด
    เวชศาสตร์การนอนหลับ, อายุรศาสตร์โรคปอด, อายุรกรรมผู้สูงอายุ, อายุรกรรมทั่วไป