รักษารากฟัน รากฟันอักเสบ ขั้นตอนการรักษา เจ็บไหม ที่ไหนดี - Root canal treatment: Treatment steps, Does it hurt, Where's the best

รักษารากฟัน รากฟันอักเสบ สาเหตุ อาการ ขั้นตอนรักษา

การรักษารากฟัน (Root canal treatment) คือ วิธีการรักษาทางทันตกรรมบริเวณเนื้อเยื่อในฟัน โพรงเนื้อเยื่อในฟัน หรือคลองรากฟัน ที่เกิดการอักเสบ ติดเชื้อจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปทำลายรากฟัน เนื้อเยื่อในฟัน

แชร์

การรักษารากฟัน (Root canal treatment)

การรักษารากฟัน (Root canal treatment) คือ วิธีการรักษาทางทันตกรรมบริเวณเนื้อเยื่อในฟัน โพรงเนื้อเยื่อในฟัน หรือคลองรากฟัน ที่เกิดการอักเสบ ติดเชื้อจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่เข้าไปทำลายรากฟัน เนื้อเยื่อในฟัน เนื้อฟัน เส้นเลือด หรือเส้นประสาทภายในซี่ฟัน จนทำให้เกิดอาการปวดฟัน ฟันผุ และเป็นหนอง โดยทันตแพทย์รักษารากฟันจะกรอกำจัดฟันผุ และเปิดเข้าไปกำจัดเนื้อเยื่อในฟันที่เกิดการอักเสบ ติดเชื้อโดย รอบเพื่อทำความสะอาด ซ่อมแซมรากฟัน ใส่ยา อุดคลองรากฟัน รวมถึงบูรณะฟันให้กลับมามีสุขภาพดี แข็งแรง สวยงาม และสามารถทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ

Root Canal Treatment Banner 3

รากฟันอักเสบ สาเหตุเกิดจากอะไร?

รากฟันอักเสบ หรือเนื้อเยื่อในฟันอักเสบมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีต้นเหตุจากฟันผุ ฟันแตกหัก ฟันร้าว โรคปริทันต์ชนิดรุนแรง หรือการได้รับอุบัติเหตุที่ทำให้ฟันได้รับแรงกระแทกจนส่งผลให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบ หรือการตายของเนื้อเยื่อในฟันที่หากปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานจะยิ่งทำให้ฟันและเนื้อเยื่อโดยรอบเกิดความเสียหายรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ทำให้การรักษามีความยากซับซ้อน มีโอกาสรักษาให้หายได้น้อยลง และอาจนำไปสู่ปัญหาที่เกี่ยวกับเหงือกและฟันซี่ข้างเคียงตามมา

ลักษณะฟันที่ต้องรักษารากฟัน

  1. ฟันผุลึกจนถึง หรือใกล้ถึงเนื้อเยื่อในฟัน
  2. ฟันแตกหัก ฟันร้าว 
  3. ฟันตาย ฟันที่ไม่มีเส้นเลือดไหลเวียนในโพรงประสาทฟัน 
  4. ฟันที่จำเป็นต้องแก้ไขแนวฟันเพื่อทำครอบฟัน 
  5. ฟันที่เป็นโรคเหงือกอักเสบรุนแรงหรือโรคปริทันต์จนทำให้ฟันตาย 
  6. ฟันสึก จากการพฤติกรรมการนอนกัดฟัน หรือการเคี้ยวที่รุนแรงจนทำให้ฟันสึกจนถึงโพรงเนื้อเยื่อในฟัน
  7. ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุ

อาการรากฟันอักเสบ เป็นอย่างไร?

อาการรากฟันอักเสบมีสาเหตุเกิดจากเนื้อเยื่อในฟันอักเสบ เส้นประสาทฟันภายในถูกกระตุ้นจนทำให้เกิดความเจ็บปวด สารอักเสบจะค่อย ๆ ทำให้เนื้อเยื่อในฟันอักเสบ เป็นหนอง และเกิดการตายของเนื้อเยื่อในฟัน จากนั้นจะค่อย ๆ ขยายขอบเขตลุกลามจนทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • อาการเสียวฟัน โดยจะมีอาการเสียวฟันในช่วงแรกเมื่อได้รับปัจจัยกระตุ้น เช่น เมื่อดื่มเครื่องดื่มร้อนเย็น หรือเมื่อเคี้ยวอาหาร โดยอาการเสียวฟันจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น และรุนแรงขึ้น
  • อาการปวดฟัน โดยอาจเริ่มจากการมีอาการปวดฟันค้างเป็นเวลานานเมื่อได้รับปัจจัยกระตุ้น ทั้งนี้อาการปวดฟันอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดตอนกลางคืนจนมีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง ปวดร้าวลึกถึงรากฟัน ปวดลามไปถึงบริเวณขากรรไกร ใบหน้า และฟันซี่อื่น ๆ 
  • เหงือกบวม ใบหน้าบวม เนื่องจากมีอาการอักเสบและ/หรือการสะสมของหนองในคลองรากฟัน
  • มีการบวมของขากรรไกรและใบหน้า อาจมีอาการอ่อนเพลีย และมีไข้ร่วม
  • ฟันเปลี่ยนสี สีฟันคล้ำ หรือสีฟันเข้มขึ้น อันเนื่องมาจากเส้นเลือดภายในฟันได้รับความเสียหาย

Root Canal Treatment Banner 5

การรักษารากฟันมีวิธีอย่างไร?

ทันตแพทย์จะทำการรักษารากฟันโดยการซักประวัติ ตรวจฟันและเนื้อเยื่อบริเวณฟันอย่างละเอียด ทำการ x-ray ช่องปากและฟัน เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของรากฟันอักเสบ ให้การพยากรณ์โรค และประเมินผลสำเร็จในการรักษาเพื่ออธิบายและให้ทางเลือกในการรักษาแก่ผู้เข้ารับการรักษา

ทันตแพทย์จะทำการรักษาคลองรากฟันโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ทันตแพทย์จะทำการใส่ยาชาเฉพาะที่ (Local Anastasia) เพื่อป้องกันความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างรักษา ในบางกรณีที่ผู้รับการรักษามีความกลัวหรือวิตกกังวลมาก ทันตแพทย์อาจพิจารณาให้ยาช่วยให้ผู้รับการรักษารู้สึกผ่อนคลาย เช่น ไนตรัสออกไซต์ (Nitrous oxide) ยาระงับความรู้สึกแบบรับประทาน (Oral sedatives) หรือยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ (Sedation) 
  2. ทันตแพทย์ใส่แผ่นยางกั้นน้ำลาย (Rubber dam) เพื่อแยกฟันที่จะทำการรักษากับเนื้อเยื่อช่องปากโดยรอบ
  3. ทันตแพทย์กำจัดฟันผุหรือรอยร้าว และกรอเปิดเพื่อให้เข้าถึงบริเวณโพรงเนื้อเยื่อในฟันและคลองรากฟัน และกำจัดเนื้อเยื่อในฟันที่อักเสบติดเชื้อ 
  4. ทันตแพทย์วัดความยาวรากฟันโดยใช้เครื่องมือวัดความยาวรากฟัน
  5. ทันตแพทย์ทำความสะอาดผนังคลองรากฟันและตกแต่งรูปร่างคลองรากฟัน ร่วมกับการล้างคลองรากฟันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  6. ทันตแพทย์ใส่ยาในคลองรากฟัน และอุดชั่วคราว
  7. เมื่อผู้รับการรักษาไม่มีอาการรากฟันอักเสบและสามารถเคี้ยวได้ตามปกติ ทันตแพทย์จะทำการอุดคลองรากฟันแล้วส่งผู้เข้ารับการรักษาสู่ขั้นตอนการบูรณะตัวฟันด้านบน เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาคลองรากฟัน
  8. ในกรณีที่มีการอักเสบติดเชื้อรุนแรง ทันตแพทย์จะทำการรักษาโดยการใส่ยาหรือทำความสะอาดเพิ่มเติมจนกว่าอาการรากฟันอักเสบจะหายเป็นปกติ แล้วจึงจะทำการอุดคลองรากฟัน
  9. ในกรณีที่อาการอักเสบไม่ได้แพร่ลงสู่เนื้อเยื่อรอบปลายรากฟัน ทันตแพทย์อาจทำการรักษาคลองรากฟันได้เสร็จสิ้นภายในครั้งเดียว

การดูแลหลังการรักษารากฟัน

หลังการรักษารากฟันเสร็จสิ้น ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำถึงข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้บริเวณที่ได้รับการรักษาได้รับความเสียหายเพื่อช่วยให้ผู้รับการรักษามีสุขภาพฟันที่ดีในระยะยาว การดูแลหลังการรักษารากฟันมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

  1. ทันตแพทย์จะให้ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวดบวม หรือปวดระบมบริเวณฟันซี่ที่ทำการรักษาตลอด 2-3 วัน หลังรับการรักษา
  2. หลีกเลี่ยงการใช้งานฟันด้านที่ทำการรักษา 1 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุอุดชั่วคราวหลุดแตก
  3. รักษาความสะอาดช่องปากและฟันด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันได้ตามปกติ
  4. หากวัสดุอุดฟันหลุด ให้กลับมาพบทันตแพทย์โดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียรั่วซึมเข้าสู่คลองรากฟัน
  5. ควรมาพบทันตแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้งเพื่อความต่อเนื่องในการรักษาและติดตามอาการ 
  6. เมื่อการรักษาคลองรากฟันเสร็จสิ้น ควรรีบทำการบูรณะตัวฟัน เช่น การทำครอบฟัน โดยไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน

Root Canal Treatment Banner 4

รักษารากฟันที่ไหนดี?

ศูนย์ทันตกรรมระบบดิจิตอลครบวงจร

การรักษารากฟันเป็นการรักษาอาการติดเชื้อที่บริเวณโพรงเนื้อเยื่อในฟัน คลองรากฟัน ซึ่งเป็นบริเวณที่ยากแก่การเข้าถึงเพื่อทำการรักษาให้หาย และเกี่ยวข้องกับการจัดการกับความเจ็บปวด ในการวินิจฉัยโรคอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทันตแพทย์ผู้ชำนาญการสหสาขา ผู้รับการรักษาจึงควรพิจารณาเลือกรักษารากฟันที่โรงพยาบาลที่มีศูนย์ทันตกรรมระบบดิจิตอลครบวงจร มีแล็บทันตกรรมดิจิตอล (Digital Dental Lab) ที่ทันสมัย พร้อมด้วยอุปกรณ์การแพทย์มาตรฐานสากลเพื่อให้การรักษาระบบคลองรากฟันที่มีความซับซ้อนมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาสถานพยาบาลในการรักษารากฟัน โดยศูนย์ทันตกรรมระบบดิจิตอลครบวงจรจะให้การวินิจฉัยที่ครอบคลุมด้วยทันตอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น

  • กล้องจุลทรรศน์ทางทันตกรรม (Dental Microscope) อุปกรณ์สำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นเหนือจากการมองด้วยตาเปล่า เพื่อหาคลองรากฟัน และประเมินรอยร้าว 
  • เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ (CT scan) เพื่อช่วยให้เห็นระบบคลองรากฟันและเนื้อเยื่อโดยรอบแบบ 3 มิติ ลดการบดบังซ้อนทับของภาพรังสีปกติซึ่งเป็นแบบ 2 มิติ ช่วยในการประเมินขนาดและตำแหน่งของรอยโรค และช่วยให้มองเห็นลักษณะและความซับซ้อนต่าง ๆ ของระบบรากฟันและคลองรากฟันให้มีความแม่นยำ ชัดเจน

ในผู้ที่ทันตแพทย์พิจารณาทำครอบฟัน การรักษารากฟันที่ศูนย์ทันตกรรมที่ติดตั้งแล็บทันตกรรมระบบดิจิตอลจะช่วยให้ทันตแพทย์สามารถออกแบบครอบฟันด้วยระบบดิจิตอล CAD/CAM และผลิตชิ้นงานครอบฟันที่มีคุณภาพ มีความเหมาะสมกับผู้รับการรักษาแต่ละบุคคลมากที่สุด

ทันตแพทย์รักษารากฟันที่มีประสบการณ์

การรักษารากฟันเป็นระบบการรักษาที่มีความซับซ้อน ทันตแพทย์จึงมีบทบาทสำคัญในทุกขั้นตอนการรักษาตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การพยากรณ์โรค ไปจนถึงขั้นตอนการรักษาเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด ในกรณีที่มีโรคร่วมอื่น ๆ หรือมีภาวะแทรกซ้อน ทันตแพทย์รักษารากฟันจะทำงานร่วมกันกับทีมทันตแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการ เช่น ทันตแพทย์ผู้ชำนาญการโรคเหงือกและใส่ฟันเพื่อร่วมวินิจฉัย วางแผนการรักษา รวมถึงประเมินทางเลือกในการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมเฉพาะบุคคล

วัสดุอุดฟัน หรือครอบฟันคุณภาพสูง มาตรฐานระดับสากล

เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการรักษารากฟัน ควรเลือกศูนย์ทันตกรรม หรือโรงพยาบาลที่มีการคัดเลือกวัสดุทันตกรรมคุณภาพสูง ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย FDA (Food and drug administration) รวมถึงมาตรฐานการปลอดเชื้อ (Sterilization) ขั้นสูงสุดเพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมา เช่น การติดเชื้อซ้ำที่บริเวณโพรงประสาทฟันหรือคลองรากฟันจนอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา เช่น ปวดฟัน เสียวฟัน หรือเหงือกอักเสบ

Root Canal Treatment Banner 2

ข้อดีของการรักษารากฟันคืออะไร?

การรักษารากฟันเป็นการรักษาทางทันตกรรมที่มีปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ มีอัตราความสำเร็จที่สูงถึงร้อยละ 98 ข้อดีของการรักษารากฟันมีดังนี้

  • บรรเทาและกำจัดอาการอันเกี่ยวเนื่องจากการติดเชื้อของฟัน
  • ป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อแพร่กระจายลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและฟันซี่อื่น ๆ
  • ช่วยให้สามารถกลับมาเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเดิม
  • ช่วยอนุรักษ์ฟันตามธรรมชาติ
  • ลดปัญหาการเกิดช่องว่างระหว่างฟันหากต้องถอนฟัน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันล้ม หรือโรคเหงือกอักเสบที่อาจเกิดขึ้น
  • ช่วยรักษากระดูกรอบรากฟัน ช่วยรักษาความอูมนูนของใบหน้าเอาไว้ได้

การรักษารากฟันเจ็บไหม?

เนื้อเยื่อในฟันเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทและเส้นเลือดจำนวนมาก เมื่อทันตแพทย์เข้าไปทำการรักษารากฟันอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ โดยความรุนแรงของอาการเจ็บปวดจะขึ้นอยู่กับระดับการอักเสบ โดยทันตแพทย์อาจพิจารณาใส่ยาชาเฉพาะที่ในขั้นตอนก่อนการรักษาเพื่อช่วยไม่ให้รู้สึกเจ็บระหว่างการรักษา โดยหลังการรักษาอาการเจ็บปวดจะค่อย ๆ ทุเลาลงเนื่องจากเนื้อเยื่อที่อักเสบและติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บปวดได้ถูกกำจัดออกไปแล้ว

รากฟันอักเสบ กี่วันหาย?

โดยปกติ ระยะเวลาในการฟื้นตัวหลังรับการรักษารากฟันอักเสบจะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ โดยอาจมีอาการปวดบวม อ่อนเพลีย มีไข้ร่วมในช่วง 2-3 วันแรกหลังรับการรักษา จากนั้นอาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ ทุเลาลงด้วยยาแก้ปวด อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการปวดรุนแรงอย่างต่อเนื่องโดยอาการไม่ทุเลาลง ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อตรวจอาการ และรับการรักษาอาการโดยเร็ว

รากฟันอักเสบ มีวิธีการป้องกันอย่างไร?

ทันตแพทย์แนะนำให้ตรวจสุขภาพช่องปากและฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจดูฟันผุ ฟันร้าว รวมถึงความผิดปกติอื่น ๆ ภายในช่องปากเพื่อให้ได้รับการรักษาหรือให้การป้องกันก่อนที่ฟันจะเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ ทั้งนี้การดูแลสุขภาพช่องปากและฟันโดยการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวันถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันไม่ให้ฟันผุที่อาจนำไปสู่การเกิดเนื้อเยื่อในฟันอักเสบได้ ทั้งนี้ควรหมั่นสังเกต หากรู้สึกมีอาการปวดฟัน เสียวฟัน มีเลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม หรือสัญญาณเตือนอื่น ๆ ควรรีบพบทันตแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อให้ได้รับการรักษาโดยเร็ว การรักษาที่ต้นตอของโรคตั้งแต่เมื่อเริ่มมีอาการ จะช่วยลดความเจ็บปวด ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น และทำให้สามารถกลับมาใช้งานฟันตามปกติได้อย่างรวดเร็ว

คำถามที่พบบ่อย

  • คำถาม: รักษารากฟันกี่วันเสร็จ?
    คำตอบ: โดยทั่วไป การรักษารากฟัน 1 ซี่ ใช้เวลาในการทำนัด 1-2 นัดหมาย (หรือ 1-2 วัน) เพื่อรักษาและติดตามอาการ โดยแต่ละครั้ง ทันตแพทย์จะใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความระดับความรุนแรงของอาการอักเสบติดเชื้อ สำหรับผู้ที่รากฟันเสียหายมาก ทันตแพทย์อาจพิจารณาทำนัดเพิ่มเติมเพื่อทำครอบฟันลงบนซี่ฟันเพื่อป้องกันไม่ให้รากฟันเกิดการอักเสบซ้ำ

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 28 ก.ย. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ทพญ. จิริหทัย พึ่งบุญ ณ อยุธยา

    ทพญ. จิริหทัย พึ่งบุญ ณ อยุธยา

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมการรักษารากฟัน
    ทันตกรรมรักษารากฟัน
  • Link to doctor
    ผศ.ทพ. ดร. ศุภศันส์ ทิศทวีรัตน์

    ผศ.ทพ. ดร. ศุภศันส์ ทิศทวีรัตน์

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมการรักษารากฟัน
    ทันตกรรมทั่วไป, ทันตกรรมรักษารากฟัน, ทันตกรรมหัตถการ
  • Link to doctor
    ทพญ. กุลนันทน์ ดำรงวุฒิ

    ทพญ. กุลนันทน์ ดำรงวุฒิ

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมการรักษารากฟัน
    ทันตกรรมทั่วไป, ทันตกรรมรักษารากฟัน
  • Link to doctor
    ทพญ. จอมขวัญ แสงบัวแก้ว

    ทพญ. จอมขวัญ แสงบัวแก้ว

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมการรักษารากฟัน
    ทันตกรรมทั่วไป, ทันตกรรมรักษารากฟัน
  • Link to doctor
    ผศ.ทพญ. อินทรา วงศ์เยาว์ฟ้า

    ผศ.ทพญ. อินทรา วงศ์เยาว์ฟ้า

    • ทันตกรรม
    • ทันตกรรมการรักษารากฟัน
    ทันตกรรมทั่วไป, ทันตกรรมรักษารากฟัน