เลือกหัวข้อที่อ่าน
- หลั่งนอก oral sex ติดโรคไหม
- อาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- เมื่อไหร่ที่ควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ขั้นตอนการตรวจ STD
- การแปรผลการตรวจ STD
- ตรวจ STD โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รพ. เมดพาร์ค
ตรวจ STD โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD Testing)
ตรวจ STD หรือ การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD testing) คือ การตรวจเพื่อยืนยันว่าติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ ช่วยให้ค้นหาโรคระยะแรกเริ่ม ทำให้ได้รับการรักษาเร็ว และป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่น การตรวจ STD ค้นหาเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต ที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ปาก หรือทวารหนักกับผู้ที่ติดเชื้อแล้วทำให้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม เอชพีวี หนองใน หูดหงอนไก่ หรือซิฟิลิส ทำให้มีอาการคัน ปัสสาวะแสบขัด ตุ่มน้ำใส หรือน้ำหนองไหลที่อวัยวะเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นอันตรายหากไม่ได้รับการรักษาให้หาย การพบแพทย์ที่ รพ. เพื่อตรวจ STD เมื่อมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยหรือมีอาการต้องสงสัย จะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีโอกาสหายขาดจากโรคได้
หลั่งนอก oral sex ติดโรคไหม
การหลั่งนอกแม้เพียงครั้งเดียวก็เสี่ยงมากพอที่ทำให้ติด HIV หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ เนื่องจากขณะสอดใส่ อวัยวะภายในได้สัมผัสกับสารคัดหลั่งของอีกฝ่ายแล้ว ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ HIV ให้รีบพบแพทย์ที่ รพ. โดยเร็วที่สุด (ห้ามเกิน 72 ชม.) เพื่อรับยาต้าน HIV ฉุกเฉิน (PEP)
เช่นเดียวกับการทำ Oral sex คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่า Oral sex ปลอดภัย และไม่ทำให้ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำ oral sex ทำให้ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายชนิด เช่น เริม ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม หรือหูดหงอนไก่ ผู้ที่ชื่นชอบการทำ oral sex หรือพึงพอใจให้คู่รักทำ oral sex ให้ ควรตรวจ STD ทุก ๆ 3-6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยไม่รู้ตัว
อาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ไม่มีอาการ
- คัน เจ็บ แสบที่อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก
- ปัสสาวะแสบขัด
- น้ำหนองไหล
- ตกขาว (มีกลิ่นผิดปกติ)
- เลือดออกผิดปกติ
- ช่องทวารหนักอักเสบ
- ติดเชื้อในช่องคอ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ปวดท้องน้อย (ผู้หญิง)
- แผลที่อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก
- ตุ่ม ก้อน ติ่งเนื้อที่อวัยวะเพศ หรือทวารหนัก
- ท่อปัสสาวะอักเสบ หรือทวารหนักอักเสบ
- ผื่นตามตัว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า
- ผมร่วง
- มีไข้
ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ควรตรวจ STD
- มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัย แม้หลั่งนอก
- ถุงยางอนามัยแตก ถุงยางอนามัยหลุดขณะมีเพศสัมพันธ์ รับเอาสารคัดหลั่งของคู่เพศสัมพันธ์
- รักสนุก มีไลฟ์สไตล์ทางเพศแบบ free sex, one night stand เซ็กส์หมู่ (swinging) หรือสลับคู่นอน
- ทำ oral sex ให้กับคู่นอนชั่วคราว หรือคู่รักข้ามคืน (เสี่ยงเริม ซิฟิลิส หนองใน หูดหงอนไก่)
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันกับผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือผู้ขายบริการทางเพศ
- มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่ของตน มีคู่นอนมากกว่า 1 คน ใน 3 เดือนที่ผ่านมา มีคู่นอนใหม่ภายใน 3 เดือนนี้
- ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง มีคู่นอนหลายคน (เสี่ยงหนองในแท้ หนองในเทียม ไวรัส HPV มะเร็งปากมดลูก)
- ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง มีคู่นอนหลายคน (เสี่ยงหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส ไวรัส HPV, HIV เริม)
รายการตรวจ STD โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- หนองในแท้ (Neisseria gonorrhoeae: NG)
- หนองในเทียม (Chlamydia trachomatis: CT)
- หนองในเทียม (Mycoplasma hominis: MH)
- หนองในเทียม (Mycoplasma genitalium: MG)
- หนองในเทียม (Ureaplasma urealyticum: UU)
- หนองในเทียม (Ureaplasma parvum: UP)
- เริม (Herpes simplex virus type 1: HSV 1)
- เริม (Herpes simplex virus type 2: HSV 2)
- ซิฟิลิส (Treponema pallidum: TP)
- แผลริมอ่อน (Haemophilus ducreyi: HD)
- พยาธิในช่องคลอด (Trichomonas vaginalis: TV)
- เชื้อราในช่องคลอด (Candida albicans: CA)
- แบคทีเรียในช่องคลอด (Gardnerella vaginalis: GV)
- แบคทีเรียในช่องคลอด (Group B streptococcus: GBS)
- ไวรัส HPV (Human Papillomavirus)
เมื่อไหร่ที่ควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ผู้ที่เพิ่งรับความเสี่ยงติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (ยกเว้น HIV ที่ต้องไป รพ. ทันที เพื่อรับยาต้านไวรัส) ให้เว้นระยะวินโดว์พีเรียด (Window period) หรือระยะเวลาตั้งแต่ที่รับเชื้อมาแต่ยังอยู่ในช่วงตรวจไม่พบเชื้อ จนถึงระยะเวลาที่สามารถตรวจพบเจอเชื้อได้ครั้งแรก มาเป็นเกณฑ์ก่อนเข้ารับการตรวจ ทั้งนี้ ผู้ที่เริ่มมีอาการบางราย อาจใช้ระยะฟักตัว (Incubation period) หรือ ระยะเวลาตั้งแต่ที่รับเชื้อมา จนถึงเริ่มมีอาการครั้งแรก ในการตัดสินใจเข้ารับการตรวจโดยเร็ว ดังนี้
- หนองในแท้ วินโดว์พีเรียด 2-6 วัน ระยะฟักตัว 1-14 วัน
- หนองในเทียม วินโดว์พีเรียด 2-6 วัน ระยะฟักตัว 7-21 วัน
- เริม วินโดว์พีเรียด 3-6 สัปดาห์ ระยะฟักตัว 2-12 วัน
- ซิฟิลิสระยะที่ 1 วินโดว์พีเรียด 3-12 สัปดาห์ ระยะฟักตัว 3-14 สัปดาห์
- หูดหงอนไก่ (ไม่มีวินโดว์พีเรียด) ระยะฟักตัว ไม่สามารถระบุช่วงเวลาได้ (อาจหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือเป็นปี)
- พยาธิในช่องคลอด (ไม่มีวินโดว์พีเรียด) ระยะฟักตัว 5-28 วัน
- ไวรัสตับอักเสบ B, C วินโดว์พีเรียด 3-6 สัปดาห์ ระยะฟักตัว 2 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ STD
- บันทึกวัน เวลา ประวัติการสัมผัสกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และอาการต้องสงสัย เพื่อเป็นข้อมูลให้กับแพทย์
- สำหรับผู้หญิง ให้งดการล้างช่องคลอด การใช้ครีมทาช่องคลอด หรือสารหล่อลื่นช่องคลอดชั่วคราว
- งดปัสสาวะ 1 ชม. ก่อนเข้ารับการตรวจ (สำหรับการตรวจปัสสาวะ)
ขั้นตอนการตรวจ STD
แพทย์จะพิจารณาวิธีการตรวจ STD (STD testing) ตามชนิดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต้องสงสัย ดังนี้
ตรวจเลือด (Blood test)
ตรวจ HIV ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ B ไวรัสตับอักเสบ C และเริม
แพทย์จะทำความสะอาดข้อพับแขน และใช้เข็มเจาะเก็บตัวอย่างเลือด เลือดจะถูกบรรจุลงในหลอดเก็บเลือด และจะถูกส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล
ตรวจปัสสาวะ (Urine test)
ตรวจหนองในเทียม พยาธิในช่องคลอด และหนองในแท้
แพทย์จะให้เก็บตัวอย่างปัสสาวะในปริมาณที่กำหนดลงในภาชนะสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ และนำส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล
ตรวจสารคัดหลั่ง (Swab test)
ตรวจ HPV หูดหงอนไก่ หนองในแท้ หนองในเทียม เริม ซิฟิลิส และพยาธิในช่องคลอด
แพทย์จะใช้วิธีการสวอบ (swab) เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งบริเวณช่องคลอดสำหรับผู้หญิง หรือตัวอย่างสารคัดหลั่งบริเวณองคชาตหรือท่อนำปัสสาวะสำหรับผู้ชาย และนำส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล
ตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture)
ตรวจซิฟิลิสระยะที่ 3 (ระยะแฝง) หรือ เริมระยะลุกลามไปยังสมองหรือไขสันหลัง
แพทย์จะให้ยาสลบเพื่อระงับความรู้สึก ทำความสะอาดบริเวณจุดเข็มเจาะ และใช้เข็มเจาะเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) ส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของโรงพยาบาล
การแปรผลการตรวจ STD
ผลการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
Negative
ผลการตรวจเป็นลบ ไม่พบการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
Positive
ผลการตรวจเป็นบวก พบการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเฉพาะทางเพิ่มเติม แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการรักษา และการปฏิบัติตนในระหว่างการรักษา รวมถึงการติดตามคู่นอนให้เข้ามารับการตรวจ
Inconclusive
ผลการตรวจไม่ชัดเจน ไม่สามารถสรุปผลการตรวจได้ เนื่องจากการเก็บตัวอย่างไม่เพียงพอ การติดเชื้อในระยะแรกเริ่ม หรือผู้ติดเชื้อใกล้หายดี ซึ่งแพทย์จะให้เก็บตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อตรวจซ้ำ
ผลการตรวจ STD ใช้เวลากี่วัน
ผลการตรวจ STD ขึ้นอยู่กับชนิดของการตรวจ บางชนิดสามารถทราบผลได้ภายใน 1 สัปดาห์ เช่น เริม (2-3 วัน) หนองในแท้ (1-3 วัน) ซิฟิลิส (2-5 วัน) ในขณะที่การตรวจบางชนิดสามารถทราบผลได้ภายในวันเดียว เช่น หนองในเทียม (ภายใน 24 ชม.) หรือ การตรวจ HIV ชนิดเร็ว (Rapid HIV Test) ที่สามารถทราบผลการตรวจได้ภายใน 20 นาที
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากไม่ตรวจ รักษา
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ เช่น เริม หนองในเทียม หรือหูดหงอนไก่ ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ชะล่าใจไม่เข้ารับการตรวจรักษา จนโรคพัฒนาเข้าสู่ระยะลุกลามและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตับอักเสบเรื้อรังทั้งในเพศหญิงและชาย มะเร็งปากมดลูก ทารกในครรภ์พิการ หรือภาวะมีบุตรยากในเพศหญิง หรือ ต่อมลูกหมากอักเสบ อัณฑะอักเสบ หรือมะเร็งทวารหนักในเพศชาย นอกจากนี้ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับการรักษา จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV มากยิ่งขึ้น การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ตรวจ STD โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รพ. เมดพาร์ค
คลินิกโรคติดเชื้อ รพ. เมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย มีความพร้อมให้การตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ HIV ในกรณีฉุกเฉินตลอด 24 ชม. ด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีประสบการณ์ด้านโรคติดเชื้อทั่วไป โรคติดเชื้อรุนแรง และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมด้วยทีมบุคลากรการแพทย์เฉพาะทาง ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มาตรฐาน ISO 15189 และ ISO 15190 และเทคโนโลยี MALDI-TOF ที่ทันสมัย ช่วยตรวจวิเคราะห์ ระบุชนิดของจุลชีพจากการเพาะเชื้อ และรายงานผลการตรวจได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำภายใน 20 นาที นำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพและตรงจุด ช่วยยับยั้งไม่ให้โรคแพร่กระจายลุกลาม และช่วยให้ผู้รับการรักษาสามารถหายจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้เร็ว