ผ่าตัดตาเหล่ ตาเข (Strabismus surgery) ชนิด อาการ การรักษา - Strabismus Surgery: Types, Symptoms, Procedure

ผ่าตัดตาเหล่ ตาเข (Strabismus surgery) ชนิด อาการ การรักษา

การผ่าตัดตาเหล่ ตาเข (Strabismus surgery) คือ การรักษาอาการตาเหล่ ตาเข หรือภาวะที่ตาทั้งสองข้างไม่มองขนานไปในทิศทางเดียวกัน โดยการผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อลูกตาเพื่อปรับสมดุลให้ลูกตาดำอยู่ในแกนตั้งและแกนนอนเดียวกัน

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ผ่าตัดตาเหล่ ตาเข (Strabismus surgery) 

การผ่าตัดตาเหล่ ตาเข (Strabismus surgery) คือ การรักษาอาการตาเหล่ ตาเข หรือภาวะที่ตาทั้งสองข้างไม่มองขนานไปในทิศทางเดียวกัน โดยการผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อลูกตาเพื่อปรับสมดุลให้ลูกตาดำอยู่ในแกนตั้งและแกนนอนเดียวกัน และมองเห็นไปในทิศทางเดียวกัน การผ่าตัดตาเหล่ ตาเข ช่วยแก้ไขภาวะกล้ามเนื้อตาไม่สมดุล กล้ามเนื้อตาเจริญผิดปกติ หรือกล้ามเนื้อลูกตาอ่อนแรง ที่อาจมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อตาผิดปกติแต่กำเนิด หรือระบบประสาทส่วนกลางบกพร่อง และยังช่วยรักษาอาการมองเห็นภาพซ้อนให้ดีขึ้น ภาวะตาเหล่ ตาเข สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้โดยเข้ารับการตรวจและรักษากับจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการทันทีที่เริ่มสังเกตเห็นอาการ

ทำไมต้องผ่าตัดตาเหล่ ตาเข

ตาเหล่ ตาเข ในเด็กเล็กก่อนวันเรียนที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เด็กมีอาการมองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อน และสูญเสียการมองเห็นภาพ 3 มิติ และนำไปสู่ภาวะ “สายตาขี้เกียจ” (Amblyopia) โดยเด็กจะเริ่มใช้ตาเพียงข้างเดียวในการมอง สมองจะเริ่มปรับตัวโดยการไม่สนใจภาพที่ได้รับจากตาอีกข้าง (Suppression) จนปิดรับสัญญาณภาพจากตาข้างที่เหล่ หรือเข

การผ่าตัดตาเหล่ ตาเข จากสาเหตุภาวะกล้ามเนื้อตาไม่สมดุล หรือกล้ามเนื้อตาเจริญผิดปกติ ช่วยรักษาอาการตาพร่ามัว การมองเห็นภาพซ้อน และอาการตาล้า ช่วยปรับสมดุลดวงตาให้อยู่ในตำแหน่งปกติ และช่วยรักษาความสามารถในการมองเห็นภาพ 3 มิติ

What Are the Types of Strabismus

ตาเหล่ ตาเข มีกี่ชนิด

  • ตาเหล่ ตาเขเข้าใน (Esotropia) เป็นตาเหล่ในแนวนอน ที่ตาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างมุดเข้าหาหัวตา หรือเขเข้าหาจมูก พบได้ในเด็กทารกที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป หรือเรียกว่า ตาเขเข้าในชนิดแรกเกิด (Infantile esotropia)
  • ตาเหล่ ตาเขออกนอก (Exotropia) เป็นตาเหล่ในแนวนอน ที่ตาข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเขไปทางหางตา มักเกิดร่วมกับภาวะสายตาสั้น ซึ่งอาจเกิดจากโรคบางโรค เช่น เลนส์ตาขุ่น วุ้นลูกตาขุ่น หรือจอประสาทตาผิดปกติ โดยอาจมีสาเหตุจากแผลเป็นที่ตาดำ ซึ่งเกิดจากการถูกวัตถุแปลกปลอมกระเด็นเข้าตา เคยได้รับอุบัติเหตุ หรือมีภาวะจุดรับภาพจอประสาทตาผิดปกติ
  • ตาเหล่ ตาเขขึ้นบน (Hypertropia) หรือตาลอยสูง เป็นตาเหล่ในแนวตั้ง ที่ตาข้างหนึ่งมองตรง ตาข้างหนึ่งเหล่ขึ้นบน ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อนอกลูกตา
  • ตาเหล่ ตาเขลงล่าง (Hypotropia) หรือตาลอยต่ำ เป็นตาเหล่ในแนวตั้ง ที่ตาข้างหนึ่งมองตรง ตาข้างหนึ่งเขลงล่าง ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อนอกลูกตา ทำให้ลูกตามุดลงล่าง
  • ตาเหล่หมุนเข้า หรือตาเหล่หมุนออก (Torsional) เป็นตาเหล่ที่หมุนเข้าใน หรือหมุนออกด้านข้าง
  • ตาเหล่ซ่อนเร้น (Phoria) หรือ “ตาส่อน” เป็นภาวะที่ถ้าลืมตา 2 ข้างแล้ว ลูกตาจะอยู่ตรงกลางเป็นปกติดี แต่ถ้าเอาอะไรมาบังตาข้างใดข้างหนี่ง ตาข้างนั้นจะเขไปจากตรงกลาง และถ้าเอาที่บังตาออก ตาข้างนั้นจะกลับมาอยู่ตรงกลางเหมือนเดิม ตาเหล่ซ่อนเร้น เป็นตาเหล่ที่มักทำให้มีอาการตาล้า
  • ตาเหล่เทียม (Pseudostrabismus) เป็นลักษณะทางกายวิภาคใบหน้าของเด็กบางคนที่ทำให้ดูเหมือนว่าเด็กมีอาการตาเหล่ ตาเข แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กไม่ได้มีความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อลูกตาหรือมองเห็นภาพซ้อนแต่อย่างใด เช่น เด็กมีช่วงสันจมูกกว้าง มีช่วงหัวตาโตและมีตาดำอยู่ชิดกับหัวตา ที่ดูราวกับว่าเด็กมีอาการตาเหล่เข้าใน

ตาเหล่ ตาเข มีสาเหตุจากอะไร

ในลูกตา 1 ข้าง ประกอบด้วยกล้ามเนื้อนอกลูกตา (Extraocular muscle) 6 มัด ที่ทำหน้าที่ควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวของลูกตาให้กลอกตาขึ้น-ลง ซ้าย-ขวา เพื่อให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้เป็นปกติ อาการตาเหล่ ตาเข เกิดจากโครงสร้างทางกายภาพของกล้ามเนื้อนอกลูกตาผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อนอกลูกตายาวผิดปกติที่ทำให้กล้ามเนื้อตาเสียสมดุล ทำงานไม่ประสานกัน และทำให้ไม่สามารถโฟกัสวัตถุในตำแหน่งเดียวกันได้ ส่งผลให้เกิดอาการตาเหล่ ตาเข หรือตาส่อน และยังอาจมีสาเหตุจากปัจจัย ดังต่อไปนี้

  • ภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive errors) สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง โดยมักพบตาเหล่ ตาเขเข้าใน ในเด็กที่มีสายตายาวปานกลาง เนื่องจากเด็กต้องใช้สายตาในการเพ่งมองเพื่อให้มองเห็นภาพได้ชัดขึ้น ส่วนเด็กที่มีสายตาสั้นหรือสายตาเอียง อาการดังกล่าวอาจทำให้กล้ามเนื้อตาเสียสมดุลจนทำให้เกิดอาการตาเหล่ ตาเข
  • ระบบประสาทส่วนกลางบกพร่อง (Central nerve system disease) โดยทั่วไป ระบบประสาทส่วนกลางทำหน้าที่ควบคุม สั่งการ กล้ามเนื้อนอกลูกตาให้ทำงานเป็นปกติ หากระบบประสาทส่วนกลางบกพร่องจะทำให้กล้ามเนื้อนอกลูกตาเป็นอัมพาต และยังทำให้พัฒนาการทางร่างกายและสมองล่าช้า ความผิดปกติดังกล่าว อาจมีสาเหตุจากโรคบางโรค เช่น สมองพิการ (Cerebral palsy) ที่อาจเกิดจากเส้นสมองคู่ที่ 3, 4 หรือ 6 เป็นอัมพาต หรือ โรคหัดเยอรมัน
  • พันธุกรรม (Genetic) ตาเหล่ ตาเข ที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ทำให้เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อนอกลูกตา และทำให้มีอาการตาเหล่ ตาเขตั้งแต่วัยเด็ก หรืออาจมีอาการตอนโต เช่น พังผืดกล้ามเนื้อตา (Congenital fibrosis syndrome) นูแนนซินโดรม (Noonan syndrome) หรือ เอ็ดเวิร์ดซินโดรม (Edward’s syndrome)
  • โรคตา (Eye diseases) โรคตาที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Macular degeneration) และกล้ามเนื้อตาเสียสมดุล และอาจทำให้มีอาการตาเหล่ ตาเขได้ เช่น โรคไทรอยด์ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกสมอง หรือมะเร็ง 
  • อุบัติเหตุทางตา (Ocular trauma) ภาวะสมองได้รับการกระทบกระเทือนรุนแรง เช่น กะโหลกศีรษะแตก เบ้าตาแตก เลือดออกในสมอง หรือโรคหลอดเลือดสมอง

Strabismus Surgery Banner 2
(ซ้าย) ตาเหล่ ตาเขออกนอก (ขวา) สายตาปกติ

ตาเหล่ ตาเข มีอาการอย่างไร

  • ดวงตาทั้งสองข้างไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน ดวงตาทั้งคู่ไม่อยู่ในแนวเดียวกัน
  • ดวงตาทั้งสองข้างไม่เคลื่อนไปในทิศทางเดียว หรือทำงานไม่ประสานกัน
  • ตาเขข้างหนึ่ง หลับตาข้างหนึ่ง หรือกระพริบตาบ่อย ๆ เมื่ออยู่ท่ามกลางแสงจ้า 
  • หลับตาข้างหนึ่ง เมื่อมองวัตถุ อ่านตัวหนังสือ หรือป้ายประกาศที่อยู่ระยะใกล้หรือไกล 
  • เอียงคอ เอียงศีรษะ เมื่อมองวัตถุ มองคู่สนทนา หรือมองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
  • การมองเห็นคลาดเคลื่อน กะระยะผิดพลาด เดินชนเข้ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
  • ปวดหัว ปวดตา อ่านหนังสือลำบาก มีปัญหาในการอ่านหนังสือ ตาเหนื่อยล้า
  • เมื่อโตขึ้น เริ่มมีอาการตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน ตาขี้เกียจ

Strabismus Surgery Banner 4

การวินิจฉัยก่อนการผ่าตัดตาเหล่ ตาเข

จักษุแพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดตาเหล่ ตาเข ที่เกิดจากกล้ามเนื้อตาเจริญผิดปกติ กล้ามเนื้อตาไม่สมดุล รวมถึงตาเหล่ ตาเข ที่มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียการมองเห็นภาพ 3 มิติ และไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการอื่น โดยจักษุแพทย์จะตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ซักประวัติ (Medical history) อายุที่เริ่มเห็นตาเหล่ มีการเอียงคอร่วมด้วยหรือไม่ ตาเหล่ข้างเดียวหรือสลับข้าง ตาเหล่เวลามองใกล้หรือไกลหรือทั้งสองอย่าง ประวัติตาเหล่ในครอบครัว ประวัติทางการแพทย์ และประวัติอุบัติเหตุ
  • ตรวจสุขภาพตา (Eye examination) ตรวจจอประสาทตา เส้นประสาทตา เส้นเลือดในตา ตรวจหาโรคทางตา เช่น จอประสาทตาเสื่อม กระจกตาเสื่อม ต้อหิน เบาหวานขึ้นตา หรือมะเร็งจอตา
  • ตรวจวัดระดับการมองเห็น (Visual acuity) ตรวจวัดระดับสายตา ตรวจระดับการมองเห็นวัตถุระยะใกล้หรือไกล ตรวจความคมชัดของสายตา
  • ตรวจวัดค่าสายตา (Refraction) ตรวจหาภาวะสายตาผิดปกติ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ตรวจหาค่าสายตาว่าอยู่ที่เท่าไหร่
  • ตรวจ Light reflex testing เป็นการตรวจโดยการให้มองไปที่แหล่งกำเนิดของแสง เช่น ไฟฉายที่วางห่างออกไปประมาณ 1-3 ฟุต และตรวจดูการตกกระทบของแสงที่ม่านตา หากแสงตกที่ม่านตาสมดุลกันทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่มีอาการตาเหล่ แต่หากแสงตกที่ม่านตาไม่สมดุลกันทั้งสองข้างแสดงว่ามีอาการตาเหล่ ตาเข
  • ตรวจ Cover testing เป็นการตรวจโดยให้มองนิ่งไปที่วัตถุ และนำกระดาษมาบังตาข้างหนึ่งไว้ หากมีการเคลื่อนที่ของตาข้างที่ไม่ถูกบัง แสดงว่ามีอาการตาเหล่ ตาเข

The Strabismus Surgery Procedure 01

ขั้นตอนการผ่าตัดตาเหล่ ตาเข

การผ่าตัดตาเหล่ ตาเข รพ. เมดพาร์ค ใช้มาตรฐานสากลในการรักษา (Glod standard) โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความสำเร็จในการรักษาเป็นสำคัญ โดยสามารถทำการผ่าตัดได้ในเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป ซึ่งจะเป็นการผ่าตัดเล็กที่ไม่ต้องนอน รพ. และสามารถกลับบ้านได้หลังฟื้นจากยาสลบและจักษุแพทย์ตรวจประเมินอาการแล้วไม่พบภาวะแทรกซ้อน

  • วิสัญญีแพทย์จะให้ยาชาและยาสลบก่อนการผ่าตัด เมื่อยาออกฤทธิ์แล้วจึงเริ่มการผ่าตัด
  • จักษุแพทย์จะใช้เครื่องมือถ่างขยายดวงตา เพื่อเปิดเปลือกตาให้กว้างขณะทำการผ่าตัด จักษุแพทย์จะหมุนตำแหน่งลูกตาให้ไปในทิศทาง ซ้าย-ขวา บน-ล่าง เพื่อให้เห็นตำแหน่งกล้ามเนื้อนอกลูกตาที่จะทำการผ่าตัด 
  • จักษุแพทย์ผ่าตัดกล้ามเนื้อนอกลูกตา โดยเปิดแผลผ่าตัดขนาดเล็กที่เยื่อบุตาขาวเพื่อทำการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาให้มีความสมดุล
  • หากกล้ามเนื้อนอกลูกตาหย่อนเกินไป จักษุแพทย์จะตัดกล้ามเนื้อบางส่วนออก เพื่อทำให้กล้ามเนื้อนอกลูกตาตึงขึ้น แต่หากกล้ามเนื้อนอกลูกตาตึงเกินไป จักษุแพทย์จะถอยกล้ามเนื้อนอกลูกตาออกจากจุดเกาะเดิม เพื่อให้กล้ามเนื้อนอกลูกตาหย่อนลง
  • เมื่อตำแหน่งตาดำมีความสมมาตรดีแล้ว จักษุแพทย์จะเย็บปิดแผลผ่าตัดให้สนิท หยอดยาตา และปิดครอบตาเอาไว้ การผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชม. โดยประมาณ ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของแต่ละบุคคล

การดูแลตนเองหลังการผ่าตัดตาเหล่ ตาเข

  • จักษุแพทย์จะทำนัดเพื่อติดตามผลการรักษาในวันถัดไป
  • ทานยาตามแพทย์สั่งเพื่อลดอาการปวด และอาการอักเสบที่อาจเกิดขึ้น
  • ห้ามขยี้ตา บีบตา ใส่ที่ครอบตาเวลานอน 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการขยี้ตาโดยไม่ตั้งใจ
  • หยอดยาตาตามเวลาทุกครั้งตามแพทย์ระบุ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ การอักเสบ และระคายเคือง
  • ระวังไม่ให้น้ำเข้าตา งดการล้างหน้า 2 สัปดาห์ งดการว่ายน้ำ 2-3 เดือน 
  • งดการออกกำลังกายหนัก การยกของหนัก 2 สัปดาห์
  • พบจักษุแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้งเพื่อติดตามอาการ และประเมินผลการรักษา

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดตาเหล่ ตาเข

การผ่าตัดตาเหล่ ตาเข เป็นการผ่าตัดเล็กที่มีความปลอดภัยสูง โดยมีอัตราความสำเร็จในการผ่าตัดที่ระหว่างร้อยละ 80-90 ขึ้นอยู่กับอายุ ชนิดของตาเหล่ ตาเข และความยากซับซ้อน ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดตาเหล่ ตาเข ได้แก่ การติดเชื้อ เลือดคั่งในตา และมองเห็นภาพซ้อน ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ และหายไป โดยจักษุแพทย์จะให้คำแนะนำในการรักษาต่อไป

ข้อดีของการผ่าตัดตาเหล่ ตาเข

  • เป็นการผ่าตัดเล็ก เจ็บน้อย หายไว
  • ไม่ต้องนอน รพ. แผลหายเร็ว สามารถใช้สายตาได้เร็ว
  • มีความปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงต่ำ ภาวะแทรกซ้อนต่ำ
  • รักษาการมองเห็นภาพซ้อน อาการตาล้า
  • ป้องกันภาวะตาขี้เกียจ การสูญเสียการมองเห็นภาพ 3 มิติ
  • เนื้อเยื่อเสียหายน้อยมาก เสียเลือดน้อยมาก
  • ปรับปรุงบุคลิกภาพ และคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
  • ขจัดข้อจำกัดในการใช้ชีวิต เพิ่มโอกาสในการใช้ชีวิต

Strabismus Surgery at Med Park Hospital

การผ่าตัดตาเหล่ ตาเข โรงพยาบาลเมดพาร์ค

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กรุงเทพ ประเทศไทย นำโดยทีมจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการระดับอาจารย์แพทย์ที่มีประสบการณ์สูงในการผ่าตัดตาเหล่ ตาเข ทุกชนิด ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคจักษุ กล้ามเนื้อตาผิดปกติ หรือภาวะตาเหล่ ตาเข ที่มีความยากซับซ้อนด้วยความใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอนทั้งก่อนและหลังการรักษา พร้อมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์และอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาตรฐาน FDA ผสานเทคนิคการผ่าตัดขั้นสูงของจักษุแพทย์ที่มีความแม่นยำ รวดเร็ว และปลอดภัย ช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้การดูแลติดตามผลหลังการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้รับการรักษามีการมองเห็นเป็นปกติ อาการตาเหล่ ตาเขดีขึ้น ปราศจากภาวะแทรกซ้อน แผลผ่าตัดหายเร็ว มีสุขภาพดวงตาแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 18 ต.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ผศ.พญ. วรวลัญช์ หงส์เลิศนภากุล

    ผศ.พญ. วรวลัญช์ หงส์เลิศนภากุล

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาเด็ก
    • กล้ามเนื้อตา
    การผ่าตัดต้อกระจกในผู้ใหญ่และเด็ก, โรคตาเขและการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา, จักษุวิทยาทั่วไปในผู้ใหญ่และเด็ก, ภาวะสายตาผิดปกติ, ตาขี้เกียจ, ต้อกระจก, โรคต้อเนื้อ, โรคต้อลม, โรคตาแห้งและโรคผิวกระจกตา, โรคกล้ามเนื้อตา
  • Link to doctor
    พญ. วิมลทิพย์ ลยานันท์

    พญ. วิมลทิพย์ ลยานันท์

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาเด็ก
    จักษุวิทยาทั่วไปในผู้ใหญ่และเด็ก, โรคกล้ามเนื้อตา, โรคตาเขและการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา
  • Link to doctor
    MedPark Hospital Logo

    พญ. ณัฐฐิญา ลายลักษณ์ศิริ

    • จักษุวิทยา
    • จักษุวิทยาเด็ก
    Ophthalmology, จักษุวิทยาทั่วไปในผู้ใหญ่และเด็ก, โรคกล้ามเนื้อตา, โรคตาเขและการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา