อาการ สาเหตุ และการรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) - Tonsillitis, Symptoms, Causes and Treatment

ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)

ต่อมทอนซิลอักเสบ มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่การติดเชื้อแบคทีเรียก็อาจทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบได้เช่นกัน

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


ทอนซิลอักเสบ

เมื่อมีอาการเจ็บคอ กลืนแล้วเจ็บ ทอนซิลบวมอักเสบ และต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโต นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมทอนซิลคือต่อม 2 ต่อม มีลักษณะเป็นวงรี อยู่ตรงด้านในลำคอ

ต่อมทอนซิลอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แต่การติดเชื้อแบคทีเรียก็อาจทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบได้เช่นกัน

การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบนั้นต้องอาศัยการวินิจฉัยโรคเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง การผ่าตัดต่อมทอนซิลเป็นการรักษาที่นิยมทำในอดีต แต่ปัจจุบันจะทำการผ่าตัดต่อเมื่อมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบซ้ำ ๆ หรืออาการไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือมีโรคแทรกซ้อนรุนแรง

ต่อมทอนซิลที่ปกติ และต่อมทอนซิลที่อักเสบ - Healthy tonsillitis and Tonsillitis stones

ลักษณะต่อมทอนซิลที่ปกติ และต่อมทอนซิลที่มีการอักเสบ

อาการต่อมทอนซิลอักเสบ

ต่อมทอนซิลอักเสบมักพบในเด็กวัยก่อนเข้าเรียนและวัยรุ่น โดยมีอาการดังนี้

  • เจ็บคอ อาจปวดร้าวไปบริเวณหูได้
  • กลืนลำบาก
  • มีไข้
  • ปวดศีรษะ
  • มีกลิ่นปาก
  • เสียงแหบ
  • ปวดท้อง
  • คอแข็ง
  • ต่อมทอนซิลบวม
  • มีเมือกสีขาวหรือเหลืองเคลือบต่อมทอนซิล
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต

ในเด็กที่ยังไม่สามารถอธิบายอาการของตนเองได้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการ ดังต่อไปนี้

  • น้ำลายไหลมากผิดปกติเพราะมีปัญหาการกลืน
  • ไม่รับประทานหรืออยากอาหาร
  • มีอาการงอแงผิดปกติ

ควรพบแพทย์เมื่อใด

เมื่อคุณมีอาการของต่อมทอนซิลอักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องหากมีอาการต่อไปนี้

  • มีอาการเจ็บคอต่อเนื่อง ไม่หายภายใน 1-2 วัน
  • มีอาการเจ็บคอพร้อมเป็นไข้
  • มีปัญหาการกลืน
  • อ่อนเพลียและงอแงมากผิดปกติ

ควรรีบไปพบแพทย์หากท่านหายใจหรือกลืนลำบากและเริ่มมีอาการน้ำลายไหลมากผิดปกติ

อาการของโรคต่อมทอนซิลอักเสบมักพบในเด็กวัยก่อนเข้าเรียนและวัยรุ่น Tonsillitis

สาเหตุที่ทอนซิลอักเสบ

ไวรัสเป็นสาเหตุที่มักก่อให้เกิดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ในกรณีที่การติดเชื้อเกิดจากแบคทีเรีย สเตร็ปโตคอกคัส (ชนิดเอ) เป็นสายพันธุ์ที่มักก่อให้เกิดอาการคออักเสบ แต่แบคทีเรียหรือสเตร็ปโตคอกคัสสายพันธุ์อื่นก็อาจเป็นสาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบได้เช่นกัน

ทำไมต่อมทอนซิลถึงอักเสบ

ต่อมทอนซิลเป็นด่านแรกที่ป้องกันการบุกรุกของเชื้อโรคที่เข้าสู่ทางปาก การได้รับเชื้อโรคไวรัสและแบคทีเรียเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ โดยระบบภูมิคุ้มกันของต่อมทอนซิลมักจะลดลงหลังวัยเจริญพันธุ์ ทำให้ผู้ใหญ่ไม่ค่อยพบต่อมทอนซิลอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ

  • อายุ โดยทั่วไปต่อมทอนซิลอักเสบมักพบในวัยเด็กและการติดเชื้อแบคทีเรียมักเกิดในเด็กอายุ 5-15 ปี
  • การสัมผัสเชื้อโรค เด็กในวัยเรียนมีแนวโน้มที่จะสัมผัสเชื้อโรคต่าง ๆ ที่ทำให้ป่วย เช่น โรคต่อมทอนซิลอักเสบ เพราะมักใกล้ชิดเพื่อน
  • ภาวะแทรกซ้อน ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น
  • การติดเชื้อบริเวณรอบต่อมทอนซิล
  • หนองบริเวณช่องคอส่วนลึกหลังต่อมทอนซิล
  • ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • การติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอกคัส

โอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่พบไม่บ่อยนั้นจะสูงขึ้นหากรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ครบ หรือไม่รักษาต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอกคัสหรือสายพันธุ์อื่น ๆ

  • โรคไตอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส
  • Scarlet Fever
  • ไข้รูมาติก (Rheumatic Fever)
  • ข้ออักเสบหลังการติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส

การป้องกัน

เชื้อไวรัสและแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบแพร่เชื้อติดต่อกันได้ แต่สามารถป้องกันการติดต่อของโรคได้ หากท่าน

  • หมั่นล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • งดการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกันหรือแบ่งทานอาหารร่วมกัน
  • เปลี่ยนแปรงสีฟันทุกครั้งหลังทราบว่าต่อมทอนซิลอักเสบ

เพื่อป้องกันไม่ให้ท่านแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

  • ควรเตือนให้ล้างมือหลังไอหรือจาม
  • ให้ใช้กระดาษทิชชูป้องปิดปากเวลาไอหรือจาม
  • ให้พักอยู่บ้านระหว่างเจ็บป่วย

การวินิจฉัยต่อมทอลซิลอักเสบ

การตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรคจะทำโดยการ

  • ตรวจคอด้วยอุปกรณ์พร้อมไฟส่อง พร้อมตรวจหูและจมูกเพื่อหาอาการติดเชื้อ
  • ตรวจว่ามีอาการของไข้อีดำอีแดงซึ่งสัมพันธ์กับคออักเสบหรือไม่
  • คลำต่อมน้ำเหลืองว่าโตหรือไม่
  • ตรวจม้ามเพื่อหาสาเหตุโรคว่าเกิดจากโรคโมโนนิวคลิโอซิส ซึ่งทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบหรือไม่

การเก็บเชื้อในลำคอ

แพทย์จะเก็บสารคัดหลั่งในลำคอ ส่งไปยังห้องแล็บเพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอกคัส

หากผลเป็นบวก สาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบมักเกิดจากแบคทีเรีย และผลจะเป็นลบหากการติดเชื้อเกิดจากเชื้อไวรัส

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

แพทย์อาจสั่งให้ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจากตัวอย่างเลือดของบุตรหลานของท่านเพื่อวัดจำนวนเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆระดับของเซลล์เม็ดเลือดสามารถทำให้ทราบได้ว่าการติดเชื้อเกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย สำหรับการวินิจฉัยอาการคออักเสบไม่จำเป็นต้องตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเสมอไป แต่การตรวจช่วยให้วินิจฉัยสาเหตุของโรคได้หากผลตรวจของโรคคออักเสบเป็นลบ

 การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบโดยการดูแลตัวเองที่บ้าน ดื่มน้ำมากๆ Tonsillitis

การรักษาทอนซิลอักเสบ

เมื่อทอนซิลอักเสบต้องดูแลตัวเองที่บ้านอย่างไร?

การดูแลตัวเองที่บ้านช่วยบรรเทาอาการและทำให้ฟื้นตัวจากต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียได้เร็วขึ้น ถ้าเป็นทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส การดูแลตัวเองที่บ้านเป็นวิธีรักษาเพียงวิธีเดียว แพทย์จะไม่จ่ายยาปฏิชีวนะ อาการมักหายได้เองภายใน 7-10 วัน ที่บ้านผู้ปกครองควรจะดูแลดังนี้

  • ดูแลให้บุตรหลานนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่
  • ให้บุตรหลานดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้คอชุ่มชื้น
  • ให้บุตรหลานรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น ซุปหรือน้ำแกงอุ่น น้ำอุ่นผสมน้ำผึ้ง หรือไอติมเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ
  • ให้บุตรหลานกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ ผู้ปกครองสามารถทำน้ำเกลือ โดยผสมน้ำอุ่น ประมาณ 8 ออนซ์ หรือ 1 ถ้วยกับเกลือครึ่งช้อนชา
  • เปิดเครื่องทำความชื้นเพิ่มความชื้นในอากาศ อากาศแห้งทำให้คอระคายเคือง
  • ระวังไม่สูดดมควันบุหรี่หรือไอจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เพราะอาจทำให้ระคายคอ
  • ปรึกษาแพทย์หากต้องการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอและไข้

ยารักษาทอนซิลอักเสบ คือยาปฏิชีวนะ

แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะ สำหรับต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ควรรับประทานยาให้ครบและหมดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นหรือหายแล้ว ต่อมทอนซิลอักเสบอาจแย่ลงหรือการติดเชื้ออาจกระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไข้รูมาติก หรือ โรคไตอักเสบเฉียบพลันในกรณีที่ไม่รับประทานยาให้ครบทั้งหมด

การผ่าตัดต่อมทอนซิล

การผ่าตัดเป็นการรักษาโรคต่อมทอนซิลเรื้อรัง เกิดซ้ำ หรือเกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่ตอบสนองกับยาปฏิชีวนะ อาการต่อมทอนซิลอักเสบจะจัดว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นบ่อย เมื่อเกิดขึ้น

  • อย่างน้อย 7 ครั้งในปีที่ผ่านมา
  • อย่างน้อย 5 ครั้งต่อปีในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา
  • อย่างน้อย 3 ครั้งต่อปีในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา

แพทย์จะทำการผ่าตัดเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น

  • ปัญหาการกลืน
  • ปัญหาการหายใจ
  • ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
  • เกิดหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ

การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์

ปรึกษาแพทย์หากบุตรหลานของท่านมีอาการต่อมทอนซิลอักเสบ เช่น กลืนลำบาก เจ็บคอ หรืออาการอื่น ๆ และอาจจำเป็นต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมกับแพทย์ด้านโสตศอนาสิกวิทยา

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

  1. คำถาม: ต่อมทอนซิลอักเสบ คืออะไร?
    คำตอบ: ต่อมทอนซิลคือต่อม 2 ต่อม มีลักษณะเป็นวงรี อยู่ตรงด้านในลำคอ เมื่อมีอาการเจ็บคอ กลืนแล้วเจ็บ ทอนซิลบวมอักเสบ และต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโต นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ 

  2. คำถาม: ต่อมทอนซิลอักเสบ เกิดจากอะไร?
    คำตอบ: ไวรัสเป็นสาเหตุที่มักก่อให้กิดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ในกรณีที่การติดเชื้อเกิดจากแบคทีเรีย สเตร็ปโตคอกคัส (ชนิดเอ) เป็นสายพันธุ์ที่มักก่อให้เกิดอาการคออักเสบ แต่แบคทีเรียหรือสเตร็ปโตคอกคัสสายพันธุ์อื่นก็อาจเป็นสาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบได้เช่นกัน

  3. คำถาม: ทำไมต่อมทอนซิลถึงอักเสบ?
    คำตอบ: ต่อมทอนซิลเป็นด่านแรกที่ป้องกันการบุกรุกของเชื้อโรคที่เข้าสู่ทางปาก การได้รับเชื้อโรคไวร้สและแบคที่เรียเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ โดยระบบภูมิคุ้มกันของต่อมทอนซิลมักจะลดลงหลังวัยเจริญพันธุ์ ทำให้ผู้ใหญ่ไม่ค่อยพบต่อมทอนซิลอักเสบ

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 19 เม.ย. 2022

แชร์