คลอดลูกธรรมชาติ (Vaginal Delivery)

การคลอดธรรมชาติ เป็นการคลอดปกติผ่านทางช่องคลอด ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำและปลอดภัยต่อทั้งบุตรและมารดา

แชร์

เลือกหัวข้อที่อ่าน


คลอดธรรมชาติ คืออะไร

การคลอดธรรมชาติ เป็นการคลอดบุตรผ่านทางช่องคลอด โดยปกติจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อทารกพร้อมจะกระตุ้นให้ร่างกายสตรีตั้งครรภ์เกิดกระบวนการคลอด และคลอดบุตรออกมาได้ตามธรรมชาติ ในบางรายแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาเพื่อชักนำให้เกิดการเจ็บครรภ์ เช่น ทารกในครรภ์เลยกำหนดเวลาคลอด เป็นต้น

ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติมีอะไรบ้าง

การคลอดธรรมชาติประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ การเจ็บครรภ์ การเบ่งคลอด และการคลอดรก

1. การเจ็บครรภ์เริ่มขึ้นเมื่อมดลูกเริ่มบีบตัวจนปากมดลูกเปิดกว้าง 10 ซม. โดยขั้นตอนนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่ ระยะเริ่มต้น (Early labor) ระยะเร่ง (Active labor) และระยะเปลี่ยนผ่าน(Transitional labor)

  • ระยะเริ่มต้น (Early labor) เป็นช่วงที่มดลูกเริ่มบีบตัว ปากมดลูกเริ่มเปิดและบางลง โดยจะเปิดกว้าง 5 ซม.
  • ระยะเร่ง (Active labor) มดลูกเริ่มบีบตัวแรงมากและบ่อยขึ้น โดยแต่ละครั้งอาจนานถึง 1 นาที เกิดขึ้นทุก ๆ 3 นาที ความเจ็บปวดในช่วงนี้เป็นช่วงที่สตรีมีครรภ์อาจขอยาบล็อกหลังระงับปวด แพทย์อาจให้ยาออกซิโทซิน (oxytocin) เร่งการเจ็บครรภ์
  • ระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional labor) เป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิดกว้างเกือบถึง 10 ซม มดลูกจะบีบตัวแรงและเร็วนานกว่า 1 นาที ร่างกายเริ่มมีอาการตอบสนอง เช่น เหงื่อออก อาเจียน ตัวสั่น เป็นอาการเบื้องต้นก่อนเบ่งคลอด

2. การเบ่งคลอด เริ่มขึ้นเมื่อปากมดลูกเปิดถึง 10 ซม. จนถึงช่วงที่ทารกออกมาทางช่องคลอด มดลูกบีบตัวรุนแรงและเริ่มอยากเบ่งคลอด มีแรงกดปวดเหมือนปวดอุจจาระ ซึ่งอาจนานเพียงไม่กี่นาทีหรือหลายชั่วโมง สำหรับผู้ที่เคยคลอดธรรมชาติมาก่อน ขั้นตอนนี้มักเกิดขึ้นจบลงอย่างรวดเร็ว

3. การคลอดรก เกิดขึ้นหลังจากคลอดทารกออกมาสำเร็จแล้ว เป็นการคลอดรกที่ค้างอยู่ภายในออกมา ซึ่งอาจกินเวลานานถึง 30 นาที

ความเสี่ยงของการคลอดธรรมชาติมีอะไรบ้าง

  • การคลอดล้มเหลว เกิดขึ้นเมื่อการเจ็บครรภ์ช้าหรือหยุดลง ปากมดลูกไม่เปิดเพิ่ม ในกรณีนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ยาออกซิโทซิน (oxytocin) เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกและเร่งการเจ็บครรภ์ หรืออาจต้องเปลี่ยนไปผ่าคลอด
  • หัวใจทารกในครรภ์เต้นผิดปกติ อาจเกิดจากการที่มีแรงกดที่สายสะดือหรือศีรษะของทารก หรือรกเสื่อมสภาพ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง
  • การตกเลือด อาการเลือดออกมากระหว่างหรือหลังคลอดเป็นอันตราย ในบางรายอาการตกเลือดอาจเกิดขึ้นหลังคลอดแล้วหลายชั่วโมง ส่วนใหญ่เกิดจากมดลูดหดรัดตัวไม่ดี
  • ช่องคลอดฉีกขาด เนื้อเยื่อรอบ ๆ ช่องคลอดและทวารหนักอาจฉีดขาดได้ระหว่างการคลอดบุตร ซึ่งต้องได้รับการรักษา

เมื่อไหร่ที่ไม่ควรคลอดธรรมชาติ

แพทย์จะไม่แนะนำให้คลอดธรรมชาติและอาจให้คลอดโดยการผ่าตัดแทน ในกรณีที่

  • ทารกอยู่ในท่าก้น
  • มารดามีภาวะรกเกาะต่ำหรือปัญหาเรื่องรก
  • มารดามีรอยโรคเริมที่อวัยวะเพศ
  • มารดามีโรคประจำตัวเรื้อรัง

ข้อดีของการคลอดธรรมชาติมีอะไรบ้าง

  • ข้อดีสำหรับมารดา
    • ฟื้นตัวเร็ว
    • สามารถให้นมบุตรได้ทันที
    • ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ การเสียเลือดมากหลังคลอด เป็นต้น
  • ข้อดีสำหรับทารก
    • ความเสี่ยงของโรคทางระบบทางเดินหายใจลดลง
    • เสริมพัฒนาการของระบบภูมิคุ้มกัน
    • โอกาสสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้น

การคลอดธรรมชาติเจ็บหรือไม่

การคลอดธรรมชาตินั้นอาจสร้างความเจ็บปวดได้ วิธีในการจัดการความเจ็บปวดที่เป็นที่นิยมคือการบล็อกหลัง ซึ่งจะทำให้รู้สึกชาตั้งแต่เอวลงไป หรืออาจเลือกการฉีดยาแก้ปวดเข้าเส้นน้ำเกลือหรือใช้แก๊สทางการแพทย์ดมลดปวด เป็นต้น

ผลข้างเคียงจากการคลอดธรรมชาติมีอะไรบ้าง

หลังคลอดธรรมชาติ มารดาอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจดังนี้

  • เต้านมคัด
  • ปวดท้อง เนื่องจากมดลูกหดรัดตัว
  • ท้องผูก
  • ริดสีดวง
  • มีน้ำคาวปลาจากช่องคลอด
  • อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ
  • เจ็บบริเวณช่องคลอดจากแผลคลอด
  • ปวดศีรษะ ร้อน ๆ หนาว ๆ หรือเหงื่อออกมากเนื่องจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนไป
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเนื่องจากระดับฮอร์โมนไม่สมดุล มารดาอาจรู้สึกเศร้า ร้องไห้บ่อย หากมีอาการนานไม่หายหรือรุนแรงขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

ต้องใช้เวลานานเท่าไร ถึงจะฟื้นตัวจากการคลอดธรรมชาติ

ระยะเวลาการฟื้นตัวขึ้นอยู่กับกระบวนการคลอด ช่องคลอดฉีกขาดหรือฉีกขาดรุนแรงหรือไม่ โรคแทรกซ้อนช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด เป็นต้น

หากช่องคลอดมีแผล การทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเข้าห้องน้ำ การนั่ง หรือยืนก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บไม่สบายตัวได้ ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีอาการบวม คัน ช้ำ และเจ็บที่ช่องคลอดเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์หลังคลอด สตรีหลังคลอดอาจปรึกษาแพทย์ว่าจะประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการได้หรือไม่ คุณแม่หลังคลอดควรให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองและให้เวลากับร่างกายของตนเองได้พักฟื้น

แม้ว่าเนื้อเยื่อช่องคลอดจะมีความยืดหยุ่นก็อาจฉีกขาดและต้องการการซ่อมแซมหากการคลอดบุตรนั้นเร็วและรุนแรง 70% ของคุณแม่มือใหม่มักประสบปัญหาช่องคลอดหรือปากมดลูกฉีกขาดได้ระหว่างที่เจ็บครรภ์และคลอดตามธรรมชาติ แต่บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่เลือดมาหล่อเลี้ยงมาก จึงทำให้หายได้เร็ว มีรอยแผลน้อย ความเสี่ยงที่การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำ

น้ำคาวปลาจะออกนานเท่าไร หลังคลอดตามธรรมชาติ

ปกติจะมีน้ำคาวปลา 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ทั้งนี้คุณแม่หลังคลอดอาจมีเลือดออกหลายสัปดาห์หลังคลอด หากมีเลือดออกในปริมาณมากหรือผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

เมื่อไรถึงจะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้

ร่างกายของคุณแม่หลังคลอดบุตรต้องการเวลาพักฟื้น จึงแนะนำให้พักอย่างน้อย 6 สัปดาห์ก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ เมื่อไปพบแพทย์หลังคลอดคุณพ่อคุณแม่อาจพูดคุยปรึกษาแพทย์ถึงเรื่องการมีสัมพันธ์และวิธีการคุมกำเนิดเพิ่มเติม

ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนคลอดธรรมชาติ

ก่อนคลอด สตรีมีครรภ์อาจศึกษาหาข้อมูลเรื่องการเจ็บครรภ์ ขั้นตอนการคลอด เทคนิคการจัดการกับความเจ็บปวด และการดูแลตนเองหลังคลอด นอกจากนี้ยังควรจัดเตรียมกระเป๋าสำหรับไปโรงพยาบาล โดยเตรียมเสื้อผ้า เครื่องใช้อาบน้ำ ขนมของว่าง หรืออุปกรณ์ที่ช่วยให้ผ่อนคลายไปด้วย

คำแนะนำจากแพทย์โรงพยาบาลเมดพาร์ค

การคลอดบุตรนั้นเป็นเหตุการณ์และประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งสำคัญ การคลอดตามธรรมชาติถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ คุณแม่ที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลเมดพาร์คสามารถวางใจได้ว่าจะได้รับการดูแลใส่ใจอย่างดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และลูกน้อย

เผยแพร่เมื่อ: 20 มิ.ย. 2024

แชร์