6 วิธีปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพลิ้นหัวใจ 6 Lifestyle Modifications for Your Heart Valve Health

6 วิธีปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพลิ้นหัวใจ

หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ภายในหัวใจประกอบไปด้วยห้องหัวใจ 4 ห้องและลิ้นหัวใจ 4 อันซึ่งคอยเปิดปิดควบคุมการไหลเวียนของเลือด

แชร์

6 วิธีปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพลิ้นหัวใจ

หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ภายในหัวใจประกอบไปด้วยห้องหัวใจ 4 ห้องและลิ้นหัวใจ 4 อันซึ่งคอยเปิดปิดควบคุมการไหลเวียนของเลือด อันได้แก่

  • ลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic valve)
  • ลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral valve)
  • ลิ้นหัวใจพัลโมนารี (Pulmonary valve)
  • ลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid valve)

หากลิ้นหัวใจได้รับความเสียหายหรือติดเชื้อ ก็อาจทำให้เป็นโรคลิ้นหัวใจได้ ตัวอย่างเช่น

  • โรคลิ้นหัวใจตีบ
  • โรคลิ้นหัวใจแล่บ เนื่องจากลิ้นหัวใจมีการยืดตัว ทำให้ปิดได้ไม่สนิท
  • โรคลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งในบางกรณีอาจมีสาเหตุมาจากโรคลิ้นหัวใจแล่บ

เพื่อรักษาสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงและลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ เราขอแนะนำการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ 6 ข้อง่าย ๆ ที่คุณสามารถทำได้เองหรืออาจจะชักชวนคนรู้จักให้ทำด้วยก็ได้

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ช่วยส่งเสริมสุขภาพในระยะยาวและช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ รวมไปถึงการเกิดโรคหัวใจ

  • รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชหลากหลายชนิดเป็นประจำ
  • เลือกแหล่งโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเปลือกแข็ง พืชตะกูลถั่ว หรือจากปลาและอาหารทะเล มากกว่าเนื้อสัตว์
  • ลดการรับประทานเกลือ น้ำตาล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันชนิดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไขมันสัตว์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม
  • รับประทานอาหารให้พอดีกับพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละวัน ไม่รับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย
  • เมื่อต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรปฏิบัติตามแผนการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพตามที่ได้วางแผนเอาไว้
  1. การออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกําลังกายระดับปานกลางถึงมากเป็นประจํา เช่น เต้นรํา วิ่ง จ็อกกิ้ง หรือเดินเร็วสามารถเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายและใจ  การออกกําลังกายช่วยเสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ ช่วยควบคุมหรือลดน้ำหนัก ลดความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ซึ่งเป็นอันตรายต่อหัวใจ ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ ทำให้รู้สึกสดชื่น และลดความเครียดได้ โดยในวัยผู้ใหญ่ควรออกกําลังกายแบบแอร์โรบิกหรือคาร์ดิโอเป็นเวลา 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ที่ระดับหนัก (Intensity) ปานกลางถึงมาก และออกกำลังกายแบบต้านแรงหรือยกน้ำหนัก (Resistance or weight training) 2-3 วันต่อสัปดาห์

  1. สุขอนามัยช่องปาก

จากงานวิจัยคนที่แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 นาทีจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจต่ำกว่าคนที่ไม่แปรงถึง 3 เท่า การแปรงฟันและดูแลช่องปากอย่างถูกวิธีเป็นประจำจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพช่องปากและหัวใจ แนะนำให้พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและช่องปากเป็นประจำสม่ำเสมอ (อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง)

  1. เลิกสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่หรือการใช้ยาสูบเป็นอันตรายต่ออวัยวะเกือบทุกชนิด และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด สารเคมีในควันบุหรี่สามารถทําลายหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ควันบุหรี่มือสองยังเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่รอบข้าง การเลิกสูบบุหรี่ดีต่อสุขภาพของตัวผู้สูบเอง และยังดีต่อผู้ใกล้ชิดคนอื่น ๆ ด้วย

  1. ความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ

การเรียนรู้และเข้าใจถึงสาเหตุและอาการของโรคหัวใจจะช่วยให้ทุกคนสามารถรู้จักแยกแยะอาการของโรคและป้องกันการเกิดโรคได้

อาการของโรคลิ้นหัวใจ ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจหอบเหนื่อยง่าย
  • หัวใจเต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ
  • วิงเวียน เป็นลมหมดสติ
  • อ่อนเพลีย
  • มีไข้
  • น้ำหนักขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  1. การตรวจสุขภาพประจําปี

โดยปกติแล้วโรคลิ้นหัวใจมักจะไม่มีอาการในระยะแรก ๆ ดังนั้นการตรวจสุขภาพประจําปีสามารถช่วยให้ตรวจพบลักษณะบ่งชี้ของโรคลิ้นหัวใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากเริ่มมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว ผู้ป่วยควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและเริ่มวางแผนการรักษาหรือปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้



บทความโดย
นพ.ไพศาล บุญศิริคำชัย
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
เฉพาะทางด้านการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ
ประวัติแพทย์

เผยแพร่เมื่อ: 08 ม.ค. 2023

แชร์