ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าเสื่อม - Ankle Sprains

ข้อเท้าพลิก ปัญหาเล็ก ๆ ที่อาจรุนแรงถึง ข้อเท้าเสื่อม

ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง การบาดเจ็บที่ดูเหมือนเป็นเรื่องทั่วไป ที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ จนหลายคนมองว่าเป็นการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ทำให้หลายครั้งที่เมื่อข้อเท้าพลิก มักละเลยการปฐมพยาบาล

แชร์

ข้อเท้าพลิก ปัญหาเล็ก ๆ ที่อาจรุนแรงถึง ข้อเท้าเสื่อม

ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง การบาดเจ็บที่ดูเหมือนเป็นเรื่องทั่วไป ที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ จนหลายคนมองว่าเป็นการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ทำให้หลายครั้งที่เมื่อข้อเท้าพลิก มักละเลยการปฐมพยาบาล หรือดูแลการบาดเจ็บนี้อย่างไม่ถูกต้องนัก ความจริงแล้ว ข้อเท้าพลิก สามารถก่อให้เกิดการบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรงมาก และควรได้รับการดูแลรักษาให้ถูกวิธี มิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ถึงขั้น ข้อเท้าเสื่อม ตามมาได้

ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง ส่งผลอย่างไร?

สาเหตุเกิดจากอุบัติเหตุ มักพบมากในนักกีฬา ที่ต้องใช้ข้อเท้ามาก โดยเฉพาะในกีฬาที่มีการกระแทก เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล จะทำให้ข้อเท้าพลิกได้ง่าย หรือในกลุ่มคนมีที่ภาวะข้อเท้าหลวม ก็สามารถทำให้ข้อเท้าพลิกได้ง่ายเช่นกัน สำหรับความรุนแรง จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  • รุนแรงน้อย: เอ็นอักเสบเล็กน้อย แต่ยังไม่ฉีกขาด ปวดบวมเล็กน้อย ยังเดินได้
  • รุนแรงปานกลาง: เอ็นฉีกขาดบางส่วน ปวดบวมมากขึ้น ขยับลำบาก มีปัญหาตอนลงน้ำหนัก
  • รุนแรงมาก: เอ็นฉีกขาดทั้งหมด ลงน้ำหนักไม่ได้ ขยับไม่ได้ หรือเดินไม่ได้เลย

ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับระดับของการบาดเจ็บและอุบัติเหตุ เช่น ข้อเท้าพลิกธรรมดา เจ็บนิดหน่อย จะอยู่ในระดับความรุนแรงน้อย หากข้อเท้าพลิกแรงขึ้น อาจอยู่ในระดับความรุนแรงปานกลาง เอ็นฉีกขาดบางส่วน แต่ถ้าประสบอุบัติเหตุรุนแรง เช่น ตกบันได รถมอเตอร์ไซค์ล้ม เอ็นฉีกขาดทั้งหมด ก็จะอยู่ในระดับความรุนแรงมาก

วิธีประคบข้อเท้าพลิก - Ankle Sprains

มื่อข้อเท้าพลิก อย่าประคบผิด ๆ ถูก ๆ

สิ่งที่หลายคนพลาดกันบ่อย คือการปฐมพยาบาลเมื่อข้อเท้าพลิก โดยมักจะประคบอุ่นก่อน ซึ่งความจริงเป็นวิธีที่ผิด เพราะเมื่อบาดเจ็บ เอ็นฉีก จะมีการอักเสบ เลือดออก มีอาการบวม จึงต้องประคบเย็นเพื่อลดอาการอักเสบและบวมดังกล่าวก่อน หากประคบอุ่นแต่แรก ยิ่งกระตุ้นให้เลือดไหลเวียน บริเวณที่อักเสบก็จะยิ่งบวม 
ถัดมาคือการพันผ้า ที่มักจะพันผ้ารัดแน่นจนเกินไป จะยิ่งทำให้บวมเข้าไปใหญ่ หลักการพันที่ถูกต้องคือต้องกระชับ ไม่แน่นหรือหลวมจนเกินไป โดยหลักปฏิบัติเมื่อเกิดการบาดเจ็บที่แนะนำคือ PRICE

  • P = Protection หรือการป้องกัน หากเกิดการบาดเจ็บควรหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ก่อน ไม่ให้มีการบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้น
  • R = Rest หรือการพัก 
  • I = Ice หรือการประคบเย็น ประคบน้ำแข็ง 10-15 นาที ทุก 6 ชั่วโมง
  • C = Compression หรือการพันผ้า บริเวณที่บาดเจ็บเพื่อลดการเคลื่อนไหว
  • E = Elevation หรือการยกปลายเท้าให้สูงขึ้น เพื่อลดอาการบวม

ข้อเท้าพลิก - Ankle Sprains

แค่ข้อเท้าพลิก อาจแย่กว่าที่คิดจริงหรือ?

บางครั้ง ข้อเท้าพลิก อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง เอ็นขาดทั้งหมด กระดูกร้าว กระดูกหัก ตามที่กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ ยังอาจทำให้กระดูกอ่อนในข้อเท้าเกิดการบาดเจ็บหรือเป็นแผลที่กระดูกอ่อนได้ พอมีการบาดเจ็บในกระดูกอ่อน ก็อาจทำให้กระดูกอ่อนสึก

วิธีสังเกต ว่าข้อเท้าพลิกที่เจอ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ได้แก่

  • ตอนข้อเท้าพลิก ได้ยินเสียงดัง ป๊อป 
  • มีอาการเจ็บรุนแรงจนกลับไปทำกิจกรรมต่อไม่ได้
  • เดินลงน้ำหนักไม่ได้
  • ปวด และข้อเท้าบวมมาก

อาการเหล่านี้อาจหมายถึงมีเอ็นฉีกเยอะมาก ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการ แพทย์อาจแนะนำให้ใส่เฝือกอ่อนแล้วรอดูประมาณ 2 สัปดาห์ หากอาการไม่ดีขึ้น ยังขยับลำบาก ต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจ MRI เพื่อดูว่าบริเวณที่บาดเจ็บอยู่ในเฉพาะบริเวณเอ็นข้อเท้าหรือไม่ หรือบาดเจ็บลามขึ้นไปสูงกว่านั้น

กรณีที่มีการบาดเจ็บที่กระดูกอ่อน อาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและดุลยพินิจของแพทย์ผู้ชำนาญการ

ปล่อยเรื้อรัง ไม่ดีแน่

ปัจจัยที่ทำให้อาการข้อเท้าพลิกธรรมดากลายเป็นอาการมากกว่าปกติ ผิดปกติ ส่วนใหญ่มาจากการรักษาที่ไม่เหมาะสม หรือปล่อยทิ้งไว้เรื้อรัง เช่น หากข้อเท้าพลิกแล้วรักษาไม่ดี ไม่ได้รับการทำกายภาพที่ถูกต้อง พันข้อเท้าอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะข้อเท้าหลวม ที่เอ็นสมานกันหลังบาดเจ็บแต่เป็นการสมานในลักษณะที่เอ็นหย่อน

อธิบายง่าย ๆ คือ เมื่อมีความเสียหายของเส้นเอ็น เส้นเอ็นจะใช้เวลาในการสมานตัวเองประมาณ 4-6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับระดับของการบาดเจ็บ แล้วถ้าช่วงแรกข้อเท้าไม่ได้รับการพันหรือล็อกให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสม แต่กลับขยับเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้การสมานของเส้นเอ็นทำได้ไม่ดี เส้นเอ็นหย่อน และเกิดข้อเท้าหลวมตามมาได้ แล้วถ้าข้อเท้าพลิกบ่อย ๆ เกิดความเสียหาย อักเสบบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ก็ลามมาเป็นพังผืดในข้อเท้าได้อีกด้วย 

ยิ่งในกรณีที่มีการบาดเจ็บไปถึงกระดูกอ่อน หากปล่อยไปเรื่อย ๆ จะเกิดการอักเสบ พอกระดูกอ่อนสึกมากขึ้น มีอาการปวดบวม และหากเกิดข้อเท้าหลวมเป็นเวลานาน ๆ อาจส่งผลให้ข้อเท้าผิดรูป และเกิดข้อเท้าเสื่อมตามมาได้

รักษาข้อเท้าพลิก - Treatment of Ankle Sprains

เมื่อเกิดข้อเท้าพลิกที่รุนแรง ทางการแพทย์ช่วยอย่างไรได้บ้าง?

เมื่อเกิดข้อเท้าพลิก บาดเจ็บ ควรมาพบแพทย์ก่อนในเบื้องต้น เพื่อให้แพทย์ประเมินระดับความรุนแรง พิจารณาใส่เฝือก ใส่เฝือกอ่อน หรือสวมรองเท้าบูต พอพ้นช่วงอักเสบ ก็สามารถทำกายภาพ บริหารเส้นเอ็นรวมถึงเส้นประสาทการรับรู้ที่ข้อเท้า วิธีเหล่านี้ช่วยให้กลับมาเป็นปกติได้

กรณีเป็นมาก ๆ ระดับความรุนแรงมาก หรือมีภาวะข้อเท้าหลวม ควรรีบมารักษา ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งแพทย์จะทำการเปิดแผลเล็ก ๆ แล้วเย็บเส้นเอ็นที่หลวมให้กลับมาตึงเหมือนเดิม ในบางรายที่มีพังผืด แพทย์สามารถส่องกล้องเพื่อรักษาไปพร้อม ๆ กันได้

หากมีกระดูกอ่อนสึกไปแล้ว แพทย์จะซ่อมโดยการผ่าตัดส่องกล้องเช่นเดียวกัน และหากข้อเท้าพลิกจนเกิดปัญหาข้อเท้าผิดรูป แพทย์ก็ต้องผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมปรับแนวกระดูกให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสม 

ดังนั้น ถ้าไม่อยากผ่าตัด ก็ต้องดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 15 พ.ย. 2023

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    นพ. กฤษฎิ์ พฤกษะวัน

    นพ. กฤษฎิ์ พฤกษะวัน

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า
  • Link to doctor
    นพ. ภัทร จุลศิริ

    นพ. ภัทร จุลศิริ

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า
    Minimally Invasive Technique of Foot and Ankle Surgery, ผ่าตัดส่องกล้องข้อเท้า, Limb Length Discrepancy Correction
  • Link to doctor
    นพ. อัครเดช พิทักษ์วีระกุล

    นพ. อัครเดช พิทักษ์วีระกุล

    • ศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
    • การผ่าตัดเท้าและข้อเท้า