การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก
เมื่ออายุมากขึ้น ความหนาแน่นของมวลกระดูกของคนเรามักจะน้อยลง กระดูกเปราะบางมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงจะเป็นโรคกระดูกพรุนสูงขึ้น โดยผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะมีความเสี่ยงที่จะกระดูกหักได้ง่ายแม้ว่าจะได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย โรคกระดูกพรุนนับว่าเป็นภัยเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการหรือสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติใด ๆ จนกว่ากระดูกจะหัก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นที่บริเวณกระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงจึงควรได้รับการตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูกอยู่เสมอ
การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูกนั้นเหมาะสำหรับ
- ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนและผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้ชายที่อายุ 70 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่น้ำหนักน้อยกว่า 58 กิโลกรัม
- ผู้ที่มีประวัติกระดูกหักในช่วงวัยผู้ใหญ่
- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
- ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์
- ผู้ที่สมาชิกในครอบครัวสายตรงมีประวัติกระดูกสะโพกหักจากการได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย
การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูกนั้นจะตรวจประเมินกระดูกในบริเวณที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคกระดูกพรุนสูง อันได้แก่
- กระดูกสันหลังบั้นเอว
- กระดูกต้นขา
- แขนท่อนปลาย
การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูกจะช่วย
- ประเมินว่าผู้ป่วยมีความหนาแน่นมวลกระดูกต่ำหรือไม่ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์กระดูกหัก
- ประเมินอัตราความเสี่ยงที่กระดูกอาจจะหักได้ในอนาคต
- ตรวจยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน
- ตรวจสอบว่าการรักษาโรคกระดูกพรุนได้ผลดีหรือไม่
การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูกนั้นแตกต่างจากการสแกนกระดูก ซึ่งแพทย์จะทำเพื่อตรวจวินิฉัยกระดูกที่หัก ติดเชื้อ เป็นมะเร็ง และความผิดปกติอื่น ๆ ของกระดูก
การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูกประเภทต่าง ๆ
- Dual-energy X-ray absorptiometry (DXA)
เป็นการตรวจมวลกระดูกบริเวณข้อมือ สะโพกและกระดูกสันหลัง สามารถคาดการณ์ความเสี่ยงที่กระดูกจะหักในอนาคต ตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน และตรวจดูว่าอาการนั้นตอบสนองต่อการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ผลที่ได้นั้นมีความแม่นยำสูง - Quantitative computed tomography (CT)
มักใช้ในการวัดมวลกระดูกสันหลัง ไม่นิยมใช้ตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน - การตรวจอัลตราซาวด์
ใช้ตรวจดูความหนาแน่นของกระดูกส้นเท้าและความเสี่ยงที่กระดูกจะหัก
วิธีเตรียมตัวก่อนการตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก
ก่อนเข้ารับการตรวจ
- ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบหากเพิ่งได้รับการฉีดสารทึบรังสีหรือกลืนแร่มาเนื่องจากการตรวจ CT สแกนหรือการตรวจเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพราะสารทึบรังสีอาจมีผลต่อผลการตรวจ
- งดรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม 24 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
- ไม่สวมใส่เครื่องประดับใด ๆ เช่น ตุ้มหู ในวันที่เข้ารับการตรวจ
ระหว่างที่เข้ารับการตรวจ
แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนบนโต๊ะตรวจระหว่างที่เครื่องทำการสแกนร่างกายเพื่อวัดมวลกระดูกด้วยรังสีเอกซ์เรย์ในระดับต่ำ โดยจะใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที
หลังเข้ารับการตรวจ
แพทย์จะอธิบายผลการตรวจ โดยผลที่ได้จะแสดงค่าเป็น ค่า T score และ Z score โดยค่า T score นั้นจะเป็นค่าที่เปรียบเทียบมวลกระดูกของผู้เข้ารับการตรวจกับมวลกระดูกโดยเฉลี่ยของผู้ใหญ่วัย 30 ปี ส่วนค่า Z score จะเป็นค่าที่เปรียบเทียบมวลกระดูกของผู้เข้ารับการตรวจกับมวลกระดูกโดยเฉลี่ยของผู้ที่มีอายุเท่ากัน เพศเดียวกัน โดยปกติแล้วแพทย์จะพิจารณาค่า T score เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนในชายวัน 50 ปีขึ้นไปและหญิงวัยหมดประจำเดือน
- ค่า T score +1 ถึง -1 = ความหนาแน่นของมวลกระดูกปกติ
- ค่า T score -1 ถึง -2.4 = ความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำ
- ค่า T score -2.5 หรือต่ำกว่า = โรคกระดูกพรุน
ข้อจำกัดของการตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก
- การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูกไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลังคด ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังมาก่อน และผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ เพราะผลที่ได้นั้นอาจไม่แม่นยำ
- เนื่องจากมีการใช้รังสีในการตรวจ จึงไม่เหมาะกับสตรีมีครรภ์
- การตรวจจะช่วยทำให้ทราบว่ากระดูกนั้นมีความหนาแน่นน้อยลง แต่ไม่สามารถตรวจหาสาเหตุของโรคได้ ผู้เข้ารับการตรวจต้องเข้ารับการตรวจหาสาเหตุอีกครั้งหนึ่ง
วิธีป้องกันโรคกระดูกพรุน
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หากได้รับการตรวจวินิจฉัยว่ามีความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำ ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนยังควรต้องออกกำลังกาย บริโภคแคลเซียมและวิตามินดีมากขึ้น รวมถึงรับประทานยารักษาโรคกระดูกพรุนเพื่อลดความเสี่ยงของการที่กระดูกจะหักในอนาคต