องขึ้นเครื่องบินได้ไหม ปลอดภัยหรือไม่ - Can You Fly When Pregnant? Is it safe?

คนท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม ปลอดภัยหรือไม่

เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ จะมีหลายอย่างเกิดขึ้นกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสรีระ อาหารการกิน การออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งท่านอนที่เคยนอนหลับได้สนิทก็อาจหลับได้ไม่สบายเหมือนแต่ก่อน

แชร์

คนท้องขึ้นเครื่องบินได้ไหม ปลอดภัยหรือไม่

เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ จะมีหลายอย่างเกิดขึ้นกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสรีระ อาหารการกิน การออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งท่านอนที่เคยนอนหลับได้สนิทก็อาจหลับได้ไม่สบายเหมือนแต่ก่อน การเดินทางท่องเที่ยวก็เช่นกัน หญิงตั้งครรภ์อาจเริ่มสงสัยว่าการโดยสารเครื่องบินนั้นเป็นอันตรายต่อบุตรในครรภ์หรือไม่ เราจึงได้รวบรวมคำแนะนำเพื่อทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินนั้นปลอดภัยและสะดวกสบายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

การตั้งครรภ์ที่ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ

  • เป็นการตั้งครรภ์ที่มารดามีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมไม่ได้ เช่น โลหิตจางรุนแรง โรคหัวใจ 
  • ตั้งครรภ์แฝด ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ 
  • มีประวัติหรือปัจจุบันรกมีความผิดปกติ เช่น รกเกาะต่ำ 
  • เลือดออกทางช่องคลอดหรือเสี่ยงแท้ง 
  • มีประวัติแท้ง แท้งนอกมดลูก คลอดก่อนกำหนด หรือภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด 
  • มีประวัติความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ ลิ่มเลือดอุดตัน 
  • ปากมดลูกหลวม มดลูกบีบตัวบ่อยต้องรับประทานยาคลายมดลูก 

ทั้งนี้แพทย์จะไม่แนะนำให้สตรีมีครรภ์เดินทางไปยังประเทศหรือบริเวณที่มีอัลทิจูดสูงกว่า 12,000 ฟุตเหนือพื้นผิวโลก รวมถึงบริเวณที่มีโรคระบาดรุนแรง หรือจำเป็นต้องฉีดวัคซีนแบบเชื้อเป็นก่อนเดินทาง 

ขณะอยู่บนเครื่องบิน ความดันโลหิตและการเต้นของหัวใจอาจสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งไม่เป็นอันตราย นอกจากนี้เมื่อเดินทางไปถึงสนามบิน จะมีการตรวจสแกนร่างกายด้วยเครื่องสแกน (Body Scan) ตามกฎการรักษาความปลอดภัยที่สนามบิน ซึ่งเป็นการตรวจที่ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์ ถ้าหากกังวลใจ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ตรวจร่างกายด้วยมือหรือเครื่องตรวจจับโลหะแทนได้  

ผู้ที่เดินทางด้วยเครื่องบินไม่บ่อยนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องการสัมผัสรังสี แต่ผู้ที่ต้องเดินทางบ่อย ๆ เช่น นักธุรกิจ นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอาจสัมผัสกับรังสีเกินกว่าระดับที่ปลอดภัย เมื่อตั้งครรภ์จึงควรขอรับคำแนะนำจากแพทย์  

คำแนะนำในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์

อันดับแรกหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการประเมินสุขภาพร่างกายและครรภ์ว่าพร้อมสำหรับการเดินทางหรือไม่ และปรึกษากับแพทย์เจ้าของไข้ก่อนเดินทาง 

ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก 

ในไตรมาสแรกนี้ สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินได้ สามารถเดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะได้ ไม่ส่งผลอันตรายต่อบุตรในครรภ์ แต่หากมีภาวะแท้งคุกคาม ควรหยุดการเดินทางไว้ก่อน 

ในช่วงไตรมาสนี้ หญิงตั้งครรภ์มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือแพ้ท้อง (morning sickness) จึงควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเดินทาง แพทย์อาจจ่ายยาต้านการอาเจียนหรือเวียนศีรษะติดตัวไปด้วย 

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่สอง 

เป็นช่วงอายุครรภ์ 14-28 สัปดาห์ การเดินทางในไตรมาสนี้ดีที่สุด เพราะอาการแพ้ท้องมักบรรเทาลงหรือไม่คลื่นไส้อาเจียนแล้ว ครรภ์ไม่โตจนเกินไป ยังเดินได้สะดวก การโดยสารเครื่องบินในไตรมาสนี้ ควรระวังเรื่องร่างกายขาดน้ำ ปรึกษาแพทย์เรื่องถุงน่องทางการแพทย์เพื่อป้องกันลิ่มเลือดในขาว่าจำเป็นหรือไม่ และควรค้นหารายชื่อและเบอร์ติดต่อโรงพยาบาลในจุดหมายปลายทางเตรียมไว้ในกรณีฉุกเฉิน  

อย่างไรก็ตามผู้ที่ตั้งครรภ์แฝด ควรงดการเดินทางในช่วงนี้ เนื่องจากเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน 

ตั้งครรภ์ไตรมาสที่สาม หรือ ตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย

ในไตรมาสนี้ ผู้ที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงเรื่องคลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ หรือรกเกาะต่ำ ยังสามารถโดยสารเครื่องบินได้ก่อนอายุครรภ์จะครบ 36 สัปดาห์  แต่ควรเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ไม่ไกลนัก และการเดินทางสะดวกสบาย ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับใบรับรองแพทย์ก่อนเดินทาง ในไตรมาสนี้ต้องระมัดระวังเรื่องลิ่มเลือดอุดตันที่ขา แนะนำสวมถุงน่องป้องกันและหมั่นขยับขา ข้อเท้าขณะนั่ง และลุกเดินบ่อย ๆ ไม่อั้นปัสสาวะ เพราะการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะอาจก่อให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ 

การวางแผนเดินทางขณะตั้งครรภ์

ก่อนเดินทางด้วยเครื่องบิน หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาสูตินารีแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์สูง ทั้งนี้ผู้ที่มีอายุครรภ์ครบ 36 สัปดาห์จะไม่ได้รับอนุญาตให้โดยสารเครื่องบิน และควรซื้อประกันการเดินทางและตรวจสอบว่าประกันครอบคลุมกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนการเดินทางฉุกเฉินเนื่องจากภาวะต่าง ๆ เช่น เลือดออก ปวดท้อง หรือบุตรในครรภ์ดิ้นน้อยลงหรือไม่ โดยผู้ที่ครรภ์เป็นพิษ ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์ หรือมีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดไม่ควรเดินทาง 

ก่อนเดินทาง

ควรไปพบแพทย์เพื่อขอใบอนุญาตให้เดินทางจากแพทย์ และสอบถามแพทย์เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ 

  • การฉีดวัคซีนก่อนเดินทาง เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด เป็นต้น  
  • ถุงน่องทางการแพทย์หรือถุงน่องประคองหลอดเลือดดำเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดขณะอยู่บนเครื่องบิน 
  • ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้หรือเมารถเมาเรือ 
  • การป้องกันอาการท้องอืดและท้องเสีย เมื่อเครื่องบินปรับระดับการบิน แก๊สในลำไส้อาจขยายตัว มีอาการปวดท้อง จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีแก๊สก่อนขึ้นเครื่อง การเดินทางไปต่างประเทศอาจทำให้สัมผัสกับแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย จึงควรพกยาแก้ท้องเสียไปด้วย 
  • ขอคำแนะนำเรื่องแพทย์และโรงพยาบาลในจังหวัดหรือประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทาง เพราะแพทย์อาจรู้จักเพื่อนแพทย์ท่านอื่น ๆ หรือเข้าถึงเครือข่ายแพทย์ในจุดหมายปลายทางได้ 

นอกจากนี้ยังควรแจ้งสายการบินให้ทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ได้ตามความจำเป็น ทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น 

ขณะที่อยู่บนเครื่อง

  • งดรับประทานถั่ว กะหล่ำปลี บรอกโคลี และเครื่องดื่มอัดแก๊ส เพราะอาจทำให้ท้องอืด มีลมในท้อง 
  • สวมใส่เสื้อผ้าสบายตัว และสวมถุงน่องทางการแพทย์หรือถุงน่องประคองหลอดเลือดดำเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น 
  • คาดเข็มขัดนิรภัยใต้ครรภ์ตลอดเวลา เพราะเครื่องบินอาจตกหลุมอากาศได้ในตอนที่เราคาดไม่ถึง 
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เนื่องจากอากาศในเครื่องบินมีความชื้นต่ำ ทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ง่าย การขาดน้ำทำให้เลือดข้น เลือดไหลเวียนไปยังมดลูกน้อยลง เพิ่มความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โดยดื่มน้ำเปล่าจะดีที่สุด  
  • ควรลุกเดินทุก ๆ 30-45 นาที เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ขณะที่นั่งอยู่ควรงอและเหยียดข้อเท้าและยกเท้าให้สูงเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการบวมและเส้นเลือดขอด 
  • เลือกที่นั่งริมทางเดินเพื่อจะได้ลุกไปห้องน้ำหรือลุกเดินได้ง่าย หรือที่นั่งแถวหน้าสุดของแต่ละโซน (bulkhead seat) เพราะมีที่วางขากว้าง หรือนั่งบริเวณปีกเครื่องบินซึ่งมีการสั่นสะเทือนน้อย 
  • พกของว่างที่มีประโยชน์ เช่น ถั่วผสมผลไม้อบแห้ง แครกเกอร์แป้งไม่ขัดสี ผลไม้ หรือเนยถั่วไว้ในกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง 
  • นำแอลกอฮอล์ล้างมือ สเปรย์แอลกอฮอล์ แผ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อแบคทีเรียติดตัวไปด้วยเพื่อทำความสะอาดถาดวางอาหาร รีโมท และที่วางแขน ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ เท่าที่ทำได้ ไม่สัมผัสหน้า และควรสวมใส่หน้ากากอนามัย

บทความโดย

เผยแพร่เมื่อ: 11 ก.ค. 2024

แชร์

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ธีระภัทร เจริญวิทย์

    ผศ.นพ. ธีระภัทร เจริญวิทย์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine, Fetal Anomalies, Fetal Cardiology
  • Link to doctor
    ผศ.นพ. ศักนัน มะโนทัย

    ผศ.นพ. ศักนัน มะโนทัย

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์

    พญ. กมลภัทร วิจักขณ์พันธ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    รศ.นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์

    รศ.นพ. ธีระพงศ์ เจริญวิทย์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    นพ. นพดล ไชยสิทธิ์

    นพ. นพดล ไชยสิทธิ์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    รศ.นพ. บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ

    รศ.นพ. บุญชัย เอื้อไพโรจน์กิจ

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. ศรพิณ อามาตย์ทัศน์

    พญ. ศรพิณ อามาตย์ทัศน์

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. ศศิวรรณ สุทัสน์มาลี

    พญ. ศศิวรรณ สุทัสน์มาลี

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine
  • Link to doctor
    พญ. มัฏฐวัณณ์ จามิกร

    พญ. มัฏฐวัณณ์ จามิกร

    • สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
    • เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
    Obstetrics and Gynecology, Maternal and Fetal Medicine