อาการบาดเจ็บยอดฮิตในนักวอลเลย์บอล
เจ็บแบบไหนต้องพักนาน จะป้องกันอย่างไร?
วอลเลย์บอล เป็นอีกหนึ่งกีฬายอดนิยมที่คนไทยเริ่มหันมาสนใจ และร่วมส่งแรงเชียร์ให้กับกองทัพนักกีฬาทีมโปรดในทุกการแข่งขัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ที่มีการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลระดับโลก “SPONSOR WOMEN’S VOLLEYBALL NATIONS LEAGUE THAILAND 2023” ทีมนักวอลเลย์บอลกีฬาทีมชาติไทยก็ทำผลงานได้ค่อนข้างดี และมีโอกาสลุ้นเข้ารอบสำคัญ แต่เราอย่าลืมว่า ยิ่งลงแข่งบ่อยเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงในการบาดเจ็บได้บ่อยขึ้นเช่นกัน
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ในสัปดาห์ที่ 3 และแข่งขันในวันอังคารที่ 27 มิถุนายน-วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม 2566 กองเชียร์อย่างเรา นอกจากนั่งเฝ้ารอลุ้นแล้ว ก็อยากให้ดูกีฬาแบบได้ความรู้ควบคู่กันไปด้วย วันนี้ นายแพทย์สุนิคม ศุภอักษร ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค จะมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับ อาการบาดเจ็บ ที่มักเกิดกับนักกีฬาวอลเลย์บอล จะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย
เล่นกีฬาวอลเลย์บอล ร่างกายส่วนไหนรับภาระ
กีฬาวอลเลย์บอล ไม่ใช่กีฬาประเภทที่ต้องปะทะกันระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่าย เพราะสนามจะแบ่งฝั่งด้วยตาข่าย แต่ผู้เล่นก็จำเป็นต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอด โดยเฉพาะการกระโดด และการเคลื่อนไหวบริเวณหัวไหล่ ทั้งเสิร์ฟ ตบ เซต บล๊อก
ในขณะที่มือและแขน ก็ต้องใช้สำหรับปะทะกับลูกบอลเป็นหลัก นิ้วมือ ข้อมือ และแขนก็จะเป็นส่วนที่ใช้งานอยู่ตลอดเช่นกัน
แต่เมื่อพูดถึงเรื่องการบาดเจ็บ หลายคนคงเข้าใจว่าอาการบาดเจ็บจะเกิดเฉพาะกับอวัยวะดังกล่าว ที่ต้องใช้งานเป็นหลักในการแข่งขัน ในความเป็นจริงแล้วมีหลายอวัยวะและหลายส่วนของร่างกายทีเดียว ที่มักถูกมองข้าม แต่กลับเป็นอวัยวะที่บาดเจ็บได้บ่อย
การบาดเจ็บของนักวอลเลย์บอล
แบ่งเป็น 4 ตำแหน่งที่พบบ่อย สอดคล้องกับลักษณะการเคลื่อนไหว และใช้งานขณะเล่นหรือแข่งขัน ดังนี้
บาดเจ็บที่ข้อเท้า
อาการบาดเจ็บที่ข้อเท้า มักเกิดในลักษณะ ข้อเท้าพลิก ข้อเท้าแพลง (Ankle sprain) เป็นการเกิดแบบเฉียบพลัน และพบได้บ่อยสุดในการเล่นกีฬาวอลเลย์บอล เนื่องจากนักกีฬาต้องกระโดดบ่อย ๆ ในจังหวะที่เท้าลงถึงพื้น อาจเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น เหยียบเท้าของผู้เล่นอื่น ทำให้เสียการทรงตัว ข้อเท้าพลิก และแพลงได้นั่นเอง ซึ่งการบาดเจ็บนี้จะพบได้ในฝ่ายรับมากกว่า เนื่องจากอีกฝ่ายกระโดดตบลูกบอลหน้าตาข่ายแล้วเท้าลงมาถึงพื้นก่อน ในขณะที่ฝ่ายรับที่กระโดดบล็อกหน้าตาข่ายทีหลัง ก็จะลงถึงพื้นทีหลัง แล้วอาจไปเยียบเท้าของอีกฝ่ายที่ล้ำเข้ามา
- การรักษา: การบาดเจ็บนี้มีโอกาสทำให้นักกีฬาต้องพักฟื้นนาน ควรเริ่มจากพักการเล่น ประคบเย็น (กรณีอาการเฉียบพลัน) รับประทานยาลดการอักเสบ และทำกายภาพบำบัด
- การป้องกัน: สามารถใช้อุปกรณ์พยุงข้อเท้า (Semi rigid ankle support) รวมไปถึงการฝึกการทำงานร่วมกันของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (Coordination Training) และโค้ชหรือเทรนเนอร์ควรสังเกตนักกีฬา ว่ามีการกระโดดไปข้างหน้าหรือไม่ เพราะการกระโดดลักษณะนี้จะทำให้ล้ำไปในเขตของฝั่งตรงข้ามได้ จึงต้องฝึกให้นักกีฬากระโดดขึ้นไปตรง ๆ และลงถึงพื้นในตำแหน่งก่อนกระโดด จะช่วยลดโอกาสที่เท้าของนักกีฬาจะลงมาเหยียบเท้าของผู้เล่นอื่นได้
บาดเจ็บที่ข้อเข่า
อาการบาดเจ็บที่ข้อเข่า เป็นอีกหนึ่งบริเวณที่มีโอกาสบาดเจ็บได้ง่าย โดยจะแบ่งเป็น 2 อาการ ได้แก่
- เอ็นลูกสะบ้าอักเสบ (Patellar Tendinitis) เป็นการบาดเจ็บเรื้อรังจากการใช้งานซ้ำ ๆ ที่พบได้บ่อยในนักกีฬาวอลเลย์บอล เพราะเป็นกีฬาที่ต้องกระโดด และทำให้เกิดการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ สะสมเรื่อย ๆ จนเกิดอาการอักเสบขึ้นมา
- เอ็นไขว้หน้าบาดเจ็บ (ACL) เป็นเส้นเอ็นถูกใช้งานเมื่อเราต้องเคลื่อนไหวที่อาศัยความเร็ว คอยป้องกันไม่ให้กระดูกหน้าแข้งเคลื่อนไปด้านหน้า ในนักกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวรวดเร็ว เปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ไปมาจึงมีโอกาสบาดเจ็บในบริเวณนี้ได้ง่าย อาการนี้พบไม่บ่อย แต่เป็นอาการบาดเจ็บที่รุนแรง หากเกิดขึ้นนักกีฬาต้องพักยาว ในกีฬาวอลเลย์บอล มักเกิดขึ้นเมื่อนักกีฬากระโดดแล้วลงสู่พื้นอย่างไม่มั่นคง ไม่เหมาะสม เกิดเข่าบิด หรือผิดท่าทาง ก็ทำให้บาดเจ็บได้ มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ด้วยโครงสร้างทางสรีระและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- การรักษา: ต้องพักเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูจากการบาดเจ็บ ประคบเย็น (กรณีอาการเฉียบพลัน) หากมีอาการปวดมากสามารถรับประทานยาแก้อักเสบ และทำกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนนี้ หรือรับการผ่าตัดในกรณีที่อาการบาดเจ็บรุนแรง
- การป้องกัน: นักกีฬาควรฝึกฝนการกระโดดและลงสู่พื้นอย่างถูกต้อง รวมไปถึงฝึกการเคลื่อนไหวและฝึกกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวให้แข็งแรงด้วย
บาดเจ็บที่หัวไหล่
เนื่องจากวอลเลย์บอล เป็นกีฬาที่ใช้ไหล่เยอะ จึงอาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บประเภทเรื้อรัง หรืออาจเกิดการกดเบียดของโครงสร้างภายในข้อไหล่ (Shoulder impingement syndrome) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเรายกไหล่สูงแล้วกระดูกหัวไหล่ไปเบียดกับกระดูกสะบัก ถ้าใช้งานซ้ำ ๆ บาดเจ็บซ้ำ ๆ ก็เกิดเป็นอาการอักเสบ และปวดได้
- การรักษา: พักผ่อน รับประทานยาแก้อักเสบ และทำกายภาพบำบัด
- การป้องกัน: เน้นบริหารกล้ามเนื้อบริเวณเส้นเอ็นข้อไหล่ (Rotator cuff) รวมไปถึงบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ สะบัก เพื่อให้การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อหัวไหล่และสะบักสัมพันธ์กัน
การบาดเจ็บที่นิ้วมือ
เป็นการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง แต่พบได้บ่อย เพราะมักเกิดจากลูกบอลไปกระแทกนิ้วมือ ในจังหวะบล็อกลูก หรือเซตลูก มีโอกาสทำให้นิ้วซ้น ฟกช้ำ เอ็นนิ้วมือฉีกขาด หรือกระดูกนิ้วมือหักได้
- การรักษา: ประคบเย็น รับประทานยาแก้อักเสบ หากบาดเจ็บรุนแรงต้องเอ็กซเรย์เพื่อดูว่ากระดูกหักหรือไม่
- การป้องกัน: สามารถดามนิ้วมือด้วยการใช้เทปพันนิ้วมือกับนิ้วข้างเคียง เพื่อให้นิ้วมือไม่โยกไปมา สามารถใช้ได้ในกรณีที่บาดเจ็บแล้ว หรือในกรณีป้องกันก็ได้
และสำหรับการแข่งขัน SPONSOR WOMEN’S VOLLEYBALL NATIONS LEAGUE THAILAND 2023 ครั้งนี้ โรงพยาบาลเมดพาร์ค ร่วมสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ผู้มีความชำนาญเฉพาะทาง ด้านเวชศาสตร์การกีฬา (Sports Medicine) พยาบาล อุปกรณ์ และรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมให้การช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง
บทความโดย
นพ.สุนิคม ศุภอักษร
ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ
ประวัติแพทย์