“ปวดหัวแล้วทำไมไม่กินยาล่ะ”
“ลาหยุดทำไม ไม่ได้เป็นอะไรมากนี่นา”
“ปวดหัวก็ไปนอนสิ เดี๋ยวก็ดีขึ้น”
แม้ว่าไมเกรนจะเป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่คนรอบข้างอาจไม่เข้าใจถึงอาการและความรุนแรง และอาจคิดว่าผู้ป่วยพูดถึงอาการรุนแรงเกินจริง แต่อันที่จริงแล้ว ไมเกรนไม่ใช่อาการปวดศีรษะทั่ว ๆ ไป แต่เป็นโรคทางระบบประสาท เมื่อเริ่มปวด อาการปวดอาจยาวนานนับชั่วโมงหรือต่อเนื่องหลายวัน
เมื่อไมเกรนส่งผลต่อสุขภาพจิต
นอกจากอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนแล้ว ไมเกรนยังส่งผลด้านอารมณ์ต่อผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยไมเกรนมักถูกคนรอบข้างเข้าใจผิดว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก ผู้ป่วยจึงอาจรู้สึกโดดเดี่ยวและเครียดว่าไม่มีใครเข้าใจ อีกทั้งยังกังวลว่าไมเกรนอาจจะกำเริบอีก ไมเกรนเรื้อรังจึงอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วย ราว 60% ของผู้ป่วยไมเกรนเรื้อรังมักเป็นโรควิตกกังวล โดยครึ่งหนึ่งมีอาการซึมเศร้า และประมาณ 25% เป็น PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือสภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง
ควรทำอย่างไรให้คนรอบข้างเข้าใจ
ผู้ป่วยสามารถสร้างความเข้าใจให้แก่คนรอบข้างได้โดยพูดคุยอธิบายอาการของไมเกรนและผลกระทบของโรค โดยอ้างอิงข้อเท็จจริงและผลการตรวจวินิจฉัย เพราะไมเกรนอาจเกิดขึ้นได้นานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมด้านสังคม เช่น ไปทำงาน ไปรับประทานอาหารกับเพื่อน ๆ หรือทำกิจกรรมที่ชอบได้
ทั้งนี้ควรพูดคุยสื่อสารอย่างเปิดเผยให้สมาชิกในครอบครัว เช่น สามี ภรรยา และบุตร เข้าใจถึงตัวโรคมากขึ้น เพราะระหว่างที่ปวดไมเกรน ผู้ป่วยอาจต้องการความช่วยเหลือเรื่องงานบ้าน ทำอาหาร หรือต้องการอยู่เพียงตามลำพังในห้องมืด ๆ ไม่มีแสงสว่างมากระตุ้นอาการ เมื่อต้องอธิบายให้ลูก ๆ เข้าใจควรเลือกใช้คำที่เข้าใจได้ง่าย และย้ำให้ลูกเข้าใจว่าพ่อหรือแม่ต้องการเวลาพักผ่อนตามลำพังเมื่อมีอาการ เพื่อไม่ให้ลูกน้อยใจหรือเข้าใจผิดว่าพ่อหรือแม่ไม่ต้องการให้เวลากับลูก
หากจำเป็นต้องไปทำงาน ควรแจ้งให้ที่ทำงานทราบถึงอาการที่มี รวมถึงความจำเป็นในการหยุดพักเพื่อจัดการกับไมเกรน พูดคุยกับที่ทำงาน ขอปรับเปลี่ยนตารางการทำงานหรือทำงานนอกเวลางานแทนเพื่อชดเชยเวลาที่ลาป่วยไป
การดูแลสุขภาพจิต
การจัดการกับความเครียด การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการรับประทานอาหารครบห้าหมู่ สามารถช่วยลดความถี่ของไมเกรนและยังช่วยในเรื่องสุขภาพจิตได้เช่นกัน
- จัดการกับความเครียด จัดสรรเวลาในแต่ละวันเพื่อทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การนั่งสมาธิ โยคะ งานอดิเรกที่ชอบ เป็นต้น เพื่อจัดการระดับความเครียด
- นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับมากเกินไปหรือน้อยเกินไปอาจกระตุ้นไมเกรนได้ ผู้ป่วยควรเข้านอนและตื่นให้เป็นเวลา ไม่ดูโทรทัศน์หรือโทรศัพท์ก่อนนอน
- รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของไนเตรท คาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจไปกระตุ้นไมเกรนได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรสังเกตว่าอาหารชนิดใดที่กระตุ้นอาการ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีปฏิกิริยาต่างกัน โดยทั่วไปควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นสาเหตุของไมเกรน เช่น ฮอทดอก ชีสที่ผ่านการบ่ม ไวน์แดง และถั่วเหลือง
ท้ายที่สุดนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่าไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจธรรมชาติและความรุนแรงของไมเกรน แต่การให้ข้อมูลแก่คนรอบข้างก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมาก ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความเห็นอกเห็นใจและความช่วยเหลือมากขึ้น สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และลดความวิตกกังวลเรื่องคนใกล้ชิดไม่เข้าใจในตัวโรค การพูดคุยสื่อสารเรื่องไมเกรนจึงช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่โดดเดี่ยวและจัดการกับไมเกรนและสุขภาพจิตได้ดียิ่งขึ้น